แก้ไพรมารีเอื้อบิ๊กตู่ ปชป.-พท.รุมจวกทำเพื่อพรรคใหม่หนุนเป็นนายกฯ


เพิ่มเพื่อน    

    “ปชป.-พท.” ประสานเสียงอัดคลายล็อก-แก้ไพรมารีฯ ชี้ทำเพื่อพรรคใหม่ที่หนุน “บิ๊กตู่” เท่านั้น “ภท.” เผยชาชินเพราะห้ามหาเสียงก็ไม่ต่างจากเดิม “จาตุรนต์” ประกาศเชิญทุกพรรคการเมืองจับมือโดดเดี่ยว “คสช.” เผยเป็นเรื่องด่วนที่สุด มองตรงกันทุกพรรคนโยบายเศรษฐกิจเป็นประเด็นหลักหาเสียงเลือกตั้งครั้งใหม่ ปชป.ชูกระจายรายได้ พท.เน้นเติบโตมั่นคง  ภท.ดันโครงการที่ประชาชนได้ประโยชน์แทนเมกะโปรเจ็กต์ 
    เมื่อวันพฤหัสบดี บรรดานักการเมืองต่างแสดงความคิดเห็นถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 คลายล็อกให้พรรคการเมือง 6 ข้อ 9 เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการทำไพรมารีโหวต ที่อาจใช้รูปแบบคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า รูปแบบดังกล่าวไม่สามารถเรียกว่าเป็นการทำไพรมารีโหวตได้ ซึ่ง คสช.ควรพูดความจริงกับประชาชน เนื่องจากการหยั่งเสียงแบบไพรมารีฯ ไม่ใช่ลักษณะเดียวกับการที่คณะกรรมการบริหารพรรคหรือคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครไปรับฟังความเห็น เพราะบทบัญญัติแบบนี้รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็มี ก็ไม่ได้เรียกว่าไพรมารีโหวตหรือไพรมารีโหวตฉบับย่อ ดังนั้น การจะทำอะไรควรให้ความจริงกับประชาชน ถ้าไม่อยากทำ ไม่พร้อมที่จะทำ คิดว่าไม่ควรทำ แล้วก็พูดตรง ๆ จะทำให้ประชาชนไม่สับสน
     นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ผู้มีอำนาจในปัจจุบันเข้ามาบอกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูประบบให้ดีขึ้น หลายครั้งแสดงความรังเกียจแนวทางแบบเดิม แต่พอจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ได้เห็นด้วย 100% แต่เจตนาที่จะทำ หลายพรรคการเมืองก็พร้อมทำ แต่ยังไม่ทันปฏิบัติก็มาเปลี่ยนแปลงแบบนี้ เหตุผลที่ทำให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบ คงเป็นเพราะหลายเรื่องที่เกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจที่มาทำการเมือง ซึ่งเปลี่ยนสภาพตัวเองจากกรรมการเป็นผู้เล่น ทำให้มีความคิดเปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับกติกา เนื่องจากไพรมารีฯ เป็นอุปสรรคต่อการดูด ดูดไม่สะดวก เพราะไปตกปากรับคำใครเขา แต่ต้องมาผ่านกระบวนการไพรมารีฯ  
    “วันนี้ปัญหาข้อกฎหมายมีข้อเดียว ซึ่งเป็นความบกพร่องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เอง คือ ควรเปิดโอกาสให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  แบ่งเขตเลือกตั้งได้เร็วๆ และให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมายได้ เมื่อแก้ไขตรงนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบไพรมารีโหวต เพราะพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อยู่แล้ว” นายอภิสิทธิ์กล่าว และว่า การใช้มาตรา 44 มาแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าหลักไม่แน่น เพราะเขียนเองลบเอง และหลายครั้งที่ใช้มาตรา 44 มาแก้ไข ก็มีปัญหาว่าหลายบทบัญญัติขัดกันเอง จึงอยากให้ดูตามหลักความเป็นจริง อย่าเอาเรื่องการเมือง ความได้เปรียบเสียเปรียบเข้ามา 
    นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการ ปชป. กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ คสช.จะพิจารณาปลดล็อก และเป็นโอกาสดีที่ คสช.จะวางรากฐานการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม โดยจังหวัดไหนที่มีประวัติเรื่องการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ก็ควรจับมือกับ กกต.ไปชำระล้างให้สะอาด ซึ่งพรรคพร้อมร่วมมือให้ข้อมูล กกต.และ คสช.
    "กฎหมายกำหนดอย่างไร ปชป.ยินดีทำตามนั้น เราเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ภายใต้กฎหมาย และมีบทเรียนให้เห็นแล้วว่า ใครที่ทำตัวนอกเหนือกฎหมาย ในที่สุดก็ได้รับโทษ ไม่ช้าก็เร็ว" นายจุติกล่าว และว่า ปชป.มีการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งมาก โดยเรื่องนโยบายพรรคก็เกือบเสร็จเรียบร้อย เพราะนายอภิสิทธิ์ได้เดินทางไปรับฟังปัญหาประชาชนในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา เราก็เชื่อว่าเราพร้อมตอบโจทก์แก้ปัญหาประเทศไทยได้
จี้ต้องเลิกห้ามชุมนุม
    ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) มองว่าเป็นเพียงการคลายล็อกบางเรื่อง แต่มีเรื่องที่สำคัญกว่า คือการทำนโยบาย ไม่ใช่จะให้ไปทำช่วงใกล้หาเสียง พรรคการเมืองต้องเตรียมทำในเรื่องดังกล่าวล่วงหน้า เพราะต้องประชุมหารือสมาชิกพรรค และบุคคลในอาชีพต่างๆ รวมถึงรับฟังความเห็นประชาชน ดังนั้นถ้า คสช.ไม่คลายล็อกคำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ก็ทำในสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ จะกลายเป็นพรรคการเมืองไม่มีเวลาสื่อสารนโยบายกับประชาชน และขอย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การหาเสียง แต่เป็นการเตรียมนโยบายของพรรค  
    นายจาตุรนต์ย้ำว่า คสช.เน้นเรื่องที่จำเป็นเฉพาะพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่บางพรรค เพื่อให้พรรคเหล่านั้นทำอะไรทันในช่วงเลือกตั้ง ดังนั้นการคลายล็อกเป็นการตัดสินใจการวางแผนกำหนดกติกาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของ คสช.เท่านั้น และมุ่งทำให้พรรคการเมืองเก่าที่มีอยู่อ่อนแอ ขาดการเชื่อมโยงกับประชาชน จึงไม่ได้เป็นการปฏิรูปการเมืองอย่างที่ คสช.กล่าวอ้าง ตรงกันข้าม กลับเป็นการทำลายระบบการเมืองของไทยให้ล้าหลังและเสียหาย
     “ทั้งหมดที่เป็นปัญหา เขาไม่ได้คิดแก้ปัญหา แต่ตั้งใจให้เป็นปัญหากับพรรคการเมืองเดิม โดยเฉพาะพรรคใหญ่ เลยวางระบบแบบนี้ ซึ่งการคิดแก้ไขและเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คสช.ไม่ได้ห่วงพรรคการเมืองเดิมแต่อย่างใด แต่เป็นห่วงพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งจะทำไม่ใช่เช่นเดียวกันกับระบบที่วางไว้ แล้วจะเกิดความยุ่งยาก เป็นการแก้เพื่อเอื้อพรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช.” นายจาตุรนต์กล่าวถึงการแก้ไขเรื่องไพรมารีโหวต
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย  (ภท.) กลับระบุว่า เป็นทิศทางที่ดีที่ทำให้ประชาชนและต่างประเทศเชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นตามโรดแมป ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งพรรคได้มีการเตรียมตัววางแนวคิดต่างๆ แล้วว่านโยบายจะออกมาอย่างไร แต่คงไม่ได้ล้อกับยุทธศาสตร์ 20 ปี 
    “ไม่มีอะไรที่พรรคต้องกังวล คลายล็อกก็เพียงทำให้ทุกอย่างเป็นทางการมากขึ้น ประชุมพรรคได้ ทุกอย่างทั้งหมดมาถูกปิดที่ข้อสุดท้าย คือห้ามหาเสียง พูดมา 8 ข้อ พอข้อ 9 บอกว่าห้ามหาเสียง จะปลด-ไม่ปลดก็คงเหมือนกัน เอาไว้หาเสียงได้แล้วค่อยว่ากัน ผมคิดว่า พรรคทุกพรรคก็คงชินชาแล้ว” นายอนุทินกล่าว และว่า พรรคเดินตามรัฐธรรมนูญ และหวังได้รับโอกาสเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ส่วนที่หลายคนเดาว่าพรรคต้องจับมือกับฝ่ายนู้นฝ่ายนี้เป็นรัฐบาลแน่นอน ผลสุดท้ายอาจทายผิดหมด
    นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ว่าที่หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการคลายล็อก ซึ่งพรรคได้ปรึกษาหารือเป็นการภายใน ว่าหลังจากคลายล็อกแล้วก็จะลงพื้นที่ 6 หัวเมืองใหญ่ อาทิ เชียงใหม่  พิษณุโลก อุบลราชธานี นครราชสีมา กรุงเทพมหานคร และนครศรีธรรมราช เพื่อพูดคุยรับปัญหา หาแนวร่วม รวมทั้งจัดตั้งสาขาพรรคให้ได้ 4 สาขา พร้อมเตรียมจัดทำไพรมารีโหวตตามกฎหมายเดิมหรือจะแก้ไขก็พร้อมปฏิบัติตาม
    วันเดียวกัน ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดงาน Thailand Focus 2018: "The Future is Now" โอกาสการลงทุน...ไม่ต้องรออนาคต พร้อมจัดงานเสวนาในหัวข้อ Political Roadmap : The Election Ahead โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มีไม่กี่คนที่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้ง แม้รัฐบาลบอกว่าจะจัดได้เร็วที่สุดคือวันที่ 24 ก.พ. หรือช่วงระหว่าง ก.พ-พ.ค. แต่ที่รู้สึกคือรัฐบาลดูไม่รีบร้อนอะไร แต่ระหว่างนี้ในฐานะพรรคการเมืองก็ดำเนินการบางอย่างที่จำเป็น โดยไม่ละเมิดกฎหมาย 
    “เศรษฐกิจของเราตอนนี้กำลังต้องการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการบริหารจัดการ ต้องพยายามคิดเรื่องการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมมาก่อนสิ่งอื่นใด และหากไม่จัดเลือกตั้งในครึ่งปีแรก ประเทศจะมีความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงของประเทศ เราจับความรู้สึกได้ว่าประชาชนเริ่มไม่พอใจกับสภาพเศรษฐกิจเป็นอยู่ตอนนี้ ซึ่งรัฐบาลไม่ควรเพิกเฉยต่อสัญญาณความไม่พอใจเหล่านี้” นายอภิสิทธิ์กล่าว
    ขณะที่นายจาตุรนต์กล่าวว่า ยิ่งทหารอยู่ในอำนาจนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งแย่สำหรับประเทศเท่านั้น ทำให้เราเสียโอกาสไปมาก ขณะที่ผ่านมายังไม่มีการปฏิรูปใดๆ เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลนี้จัดตั้งขึ้นมา นอกจากนั้นคนส่วนใหญ่บนท้องถนนยังบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี แม้รัฐบาลจะบอกว่าเศรษฐกิจโต แต่รัฐบาลต้องดูเรื่องของการกระจายรายได้บ้างว่าทั่วถึงหรือไม่ ดูเหมือนรัฐบาลกับประชาชนพูดกันคนละภาษา 
    “ในอนาคต ผมคิดว่านโยบายเศรษฐกิจจะเป็นนโยบายหลักของพรรค และเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องการการเติบโตและความมั่นคง เป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวังพอๆ กับการกระจายรายได้” นายจาตุรนต์กล่าว
ปลุกร่วมมือโดดเดี่ยว คสช.
    นายจาตุรนต์ยังกล่าวอีกว่า พรรคการเมืองควรมาร่วมมือใน 4 ประเด็นที่ตรงข้ามกับแผนยุทธศาสตร์ของทาง คสช. ที่พยายามจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง ประกอบด้วย 1.หาทางทำให้ คสช.ยกเลิกกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองดำเนินการใดๆ 2.พรรคการเมืองควรร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งเสรี 3.หาทางป้องกัน คสช.ไม่ให้ตั้งรัฐบาล โดยบอกให้ประชาชนรู้ว่าเราไม่สนับสนุนรัฐบาลทหาร และ 4.พรรคการเมืองควรจะมีจุดยืนร่วมกันเรียกร้องไม่ให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เอื้อให้ คสช.กลับมาเป็นรัฐบาล นี่เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองควรจะมาร่วมมือกัน เร็วที่สุดยิ่งดี
    นายอนุทินมองว่า ไม่คิดว่าจะมีการเลือกตั้งในครึ่งปีแรกในปีหน้า แต่ดูเหมือนว่าจะเลื่อนไปครึ่งปีหลังมากกว่า แต่หากทำก็จะเกิดความเสี่ยงต่อประเทศ ส่วนเรื่องเศรษฐกิจนั้น แม้จีดีพีจะโต 4.6% แต่เรากำลังมีปัญหา เพราะการกระจายรายได้ยังไม่ทั่วถึง มันไปหยุดอยู่ตรงไหนสักที่ที่ทำให้คนไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี เราควรมาคิดว่าน่าจะมีโครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนจริงๆ มากกว่าการไปลงทุนสร้างสิ่งต่างๆ ไม่จำเป็น 
    ขณะเดียวกัน นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เข้ายื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เรียกร้องให้พรรคปรับบทบาทพรรคและผู้นำเพื่อสืบสานเจตนารมณ์พฤษภา 35 โดยขอให้สร้างความสามัคคีปรองดองทำตามเสียงประชาชนแก้วิกฤติออกจากวังวนของเผด็จการทหาร ไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคร่วม คสช. อันเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ทั้งขอให้สนับสนุนและผลักดันการก่อสร้างอนุสรณ์สถานพฤษภา 2535 ให้สำเร็จ    
    นายอภิสิทธิ์กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ได้พูดชัดเจนแล้วว่าต้องการนำบ้านเมืองออกจากวิกฤติที่สืบทอดมาเป็นเวลาสิบปี ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญของพรรคการเมือง โดย ปชป.พร้อมเดินหน้าไปสู่เป้าหมายนี้ และได้แสดงจุดยืนแล้วว่าต้องเริ่มจากการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม หรือเสรีและเป็นธรรม หมายความว่าทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ได้มาตรฐานความเป็นประชาธิปไตย ผู้มีอำนาจต้องไม่ใช้อำนาจในทางไม่ชอบหรือเอารัดเอาเปรียบ กกต.ต้องทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการทำให้การเลือกตั้งสุจริต แก้ปัญหาการซื้อเสียง การปล่อยข่าวเท็จใส่ร้าย แม้จะยังไม่มีการเลือกตั้ง และต้องเชิญชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มาก ช่วยกันตรวจสอบ 
    “แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ ส.ว. 250 คนมีอำนาจในการเลือกนายกฯ ก็ขอให้วุฒิสภาเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งในความเห็นของพรรคใครที่รวบรวมเสียงได้เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร สมควรได้จัดตั้งรัฐบาล หากทำตามหลักการนี้ ก็จะเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย เป็นการเคารพสิทธิประชาชน และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการต่อสู้ของประชาชนในปี 2535 อีกทั้งพรรคมีแนวทางที่จะเสนอต่อประชาชนบนพื้นฐานหลักคิดประชาธิปไตย รวมถึงประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจ การวางบทบาทของรัฐที่เหมาะสมในวิถีประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม เพราะฉะนั้นหากมีใครที่มีแนวคิดไม่สอดคล้องกับแนวทางนี้ พรรคคงไม่ไปร่วมด้วย” นายอภิสิทธิ์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"