ข้อคิดจากปุจฉาวิสัชนา กับมหาธีร์และอันวา


เพิ่มเพื่อน    

      ผมตระเวนขอนั่งคุยกับผู้นำระดับสากลให้รายการ "โลกป่วน" ทาง ThaiPBS ด้วยความมุ่งหวังจะได้ข้อคิดและเบื้องหลังของผู้นำระหว่างประเทศที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยที่ต้อง "รู้ทันโลก" เพื่อนำมาปฏิรูปประเทศของเรา

      ล่าสุดผมแวะเวียนไปเพื่อนบ้านมาเลเซียหลายรอบเพราะเกิดปรากฏการณ์ที่ก่อความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก

      วันชาติมาเลเซียคือ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ครบรอบ 61 ปีที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1957  หลังปกครองประเทศกลุ่มนี้มากว่า 130 ปีก่อนหน้านี้

      ผมแวะเวียนไปกัวลาลัมเปอร์อีกครั้งเพื่อร่วมฉลอง "การได้รับเอกราชครั้งที่สอง" (คำประกาศของนายกฯ มหาธีร์) เมื่อมหาธีร์จับมือกับศัตรูเก่าอย่างอันวา อิบราฮิม โค่น นาจิบ ราซัค ในการเลือกตั้งวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา

      สัมภาษณ์พิเศษนายกฯ มหาธีร์วัย 93 แล้ว ก็ต้องขอจับเข่าคุยกับอันวาวัย 71 คนละวันคนละเวลาและคำถามคนละชุด

      แต่มีเป้าหมายประการเดียว นั่นคือการหาคำนิยามของคำว่า "รุ่งอรุณใหม่แห่งมาเลเซีย" หรือ New  Dawn of Malaysia เพื่อเปรียบเทียบกับความเป็นไปด้านการเมืองและสังคมในประเทศรอบๆ บ้านเพื่อประเมินสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าสำหรับไทยเราเอง

      คำถามใหญ่ในใจของผมคือ คนสองคนที่เป็นศัตรูคู่อาฆาตขนาดหนักสามารถจับมือกับปรองดองสมานฉันท์กันด้วยเหตุผลและเป้าหมายอันใด

      วันชาติของมาเลเซียเรียก Hari Merdeka หรือวันแห่งเอกราช ตรงกับวันที่ 31 สิงหาคม คนละวันกับ Hari Malaysia หรือ "วันมาเลเซีย" ซึ่งตรงกับวันที่ 16 กันยายนของทุกปี

      "วันมาเลเซีย" Hari Malaysia หมายถึงวันประกาศจัดตั้ง Federation of Malaysia หรือสหพันธรัฐมาเลเซียอันประกอบด้วย มาเลเซีย, สิงคโปร์, บอร์เนียวเหนือ (ซาบาห์) และซาราวัก

      ประกาศอยู่ร่วมชายคาเดียวกันได้ 23 เดือน สิงคโปร์ก็ถูกขอให้แยกตัวออกไปเพราะความตึงเครียดระหว่างตุนกู อับดุล ราห์มาน ซึ่งเป็นนายกฯ คนแรกของมาเลเซีย กับลีกวนยิว นายกฯ ของสิงคโปร์

      วันที่ 9 สิงหาคม 1965 คือวันที่ลีกวนยิวออกทีวีด้วยน้ำตา ประกาศว่าต้องฉีกตัวออกจากสหพันธรัฐมาเลเซียด้วยความขมขื่น

      ตุนกู อับดุล ราห์มานมีความระแวงคลางแคลงว่า ลีกวนยิวมีความใฝ่ฝันที่เป็นอันตรายต่อการสร้างประเทศใหม่ที่จะให้คนจีนกับคนมาเลย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

      ตุนกู อับดุล ราห์มานมีเชื้อสายสยาม แม่เป็นคนไทย และได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ก่อนจะข้ามไปปีนังและได้ทุนเรียนมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในเวลาต่อมา จนกลายเป็น "บิดาแห่งมาเลเซีย" ด้วยการสร้างชาติใหม่หลังยุคอาณานิคมสิ้นสุดลงในย่านนี้

      มหาธีร์ย้ำคำว่า "อาณานิคมยุคใหม่" ในระหว่างไปเยือนจีนระหว่างวันที่ 17-20 สิงหาคมที่ผ่านมา

      แม้จะไม่ได้ระบุชื่อประเทศไหน แต่ท่านผู้เฒ่าก็ต้องการจะส่งสัญญาณถึงผู้นำจีนว่า เขาอยากให้จีนได้ตระหนักถึงความไม่สบายใจของมาเลเซียต่อการรุกหนักทางด้านเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคนี้ จนอาจจะเกิดภาวะ "พี่ใหญ่" ที่มีอำนาจบารมีมากเกินขอบเขต

      ดังนั้นในช่วงการเฉลิมฉลองวันชาติของมาเลเซียปีนี้ จึงมีการเอ่ยถึงคำว่า "เอกราช" และ "อาณานิคม" จากผู้นำมาเลเซียที่มีความหมายสำหรับยุคสมัยนี้อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

      ผมพูดคุยกับทั้งมหาธีร์และอันวาแล้วได้ข้อสรุปว่า การสร้างความปรองดองระดับชาตินั้นนอกจากจะต้องเปิดใจกว้าง พร้อมจะแยกความรู้สึกส่วนตัวออกจากเรื่องของชาติบ้านเมืองแล้ว

      สิ่งสำคัญที่สุดของการสร้างความสมานฉันท์ในบ้านเมืองคือ การแสวงหา "วาระแห่งชาติเพื่อการปฏิรูป" ประเทศที่ตรงกันและทุกฝ่ายทำทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น โดยตระหนักว่าหากขาดเสียซึ่งความร่วมมือของอีกฝ่ายหนึ่ง ความฝันและอุดมการณ์ของตนก็ไม่มีความหมาย

      และอาจตายไปด้วยความรันทดว่าความแค้นเคืองส่วนตนเป็นตัวทำลายความฝันที่จะรับใช้ชาติโดยสิ้นเชิง

      ตัวอย่างของมหาธีร์กับอันวาที่เคยเป็นศัตรูถึงขั้นไม่เผาผีกันแต่สามารถ "สงวนจุดต่าง แสวงจุดร่วม" ด้วยการตกลงกันว่า "วาระการปฏิรูปแห่งชาติ" หรือที่อันวาเรียกว่า "National Reform Agenda"  และนำพาประเทศกลับสู่เส้นทางสร้างอนาคตร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

      ทัศนคติแบบนักการเมืองนักเลือกตั้งไม่อาจจะสร้างปรากฏการณ์เช่นนี้ได้

      ข้อสรุปของผมคือ

      รัฐบุรุษเท่านั้นที่จะมีคุณสมบัติพอที่จะทำให้เรื่องที่เกือบเป็นไปไม่ได้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม...เพื่อชาติและบ้านเมืองอย่างแท้จริง!

      (เชิญชวนทุกท่านติดตามรายการ "โลกป่วน" ทาง ThaiPBS คืนพรุ่งนี้ (อังคาร) 22.00 น. เนื้อหาสัมภาษณ์อันวา อิบราฮิม "แมวเก้าชีวิตของการเมืองมาเลเซีย" ครับ!).


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"