"เหมือนผมถูกสร้างให้เป็นแบบนี้ " ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร นักแต่งเพลงไทยให้เป็นดนตรีคลาสสิก


เพิ่มเพื่อน    

   

ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ผู้แต่งเพลง"ราตรีประดับดาว"เพลงหนึ่งในชุด"ซิมโฟนีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์"
 

 

ถ้าเป็นสมัยก่อนเมื่อ70-80ปีที่แล้ว หลายคนคงนึกภาพไม่ออกว่าเพลงไทย จะผสมผสานกับดนตรีคลาสสิกตะวันตกได้อย่างไร  โดยที่ไม่ทำให้ผู้เสพรู้สึก"ผิดกลิ่น"หรือได้รสชาติที่ผิดเพี้ยนไปจากแบบฉบับเดิม 

ในแง่เปรียบเปรย แม้เพลงไทยในรูปของดนตรีคลาสสิก จะได้ความผสมผสานไม่ถึงขั้น"สปาเก็ตตี้ผัดปลาเค็ม"  ที่ผนวกเอาความเป็นอาหารตะวันตก กับไทยมาใส่ไว้ด้วยกัน จนกลายเป็นรสชาติกลมกล่อมลงตัวอย่างเหลือเชื่อ  คือได้ทั้งกลิ่นอายนมเนย รสสัมผัสเส้นและเครื่องเทศแบบตะวันตก ขณะเดียวกันก็ได้ความหอม ระคนกลิ่นและรสความเค็มของปลาเค็ม ปะแหล่มๆ แบบไทยๆในเส้นสปาเก็ตตี้ไปด้วย  แต่เพลงไทยที่ได้กลายเป็นดนตรีคลาสสิก กลับเป็นผลลัพธ์ดนตรีสากลอีกรูปแบบที่มีความน่าสนใจไม่แพ้ เพลงคลาสสิกรุ่นใหม่ ๆ

แต่ในช่วง20-30ปีมานี้ วงการดนตรีคลาสสิกในไทยมีการขยับตัว ที่สำคัญคือ มีการนำเพลงไทยมาแต่งในรูปแบบดนตรีคลาสสิก และบรรเลงด้วยวงซิมโฟนีหลายเพลงด้วยกัน นักแต่งเพลงคลาสสิกคนไทย ที่มีชื่อเสียงและรู้จักกันดี ถ้าลองค้นในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็จะพบชื่อของ  ณรงค์ ปรางค์เจริญ, ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร, ประสิทธิ์ ศิลปะบรรเลง, สมเถา สุจริตกุล, ดนู ฮันตระกูล เป็นต้น

ในวันนี้ เราจะพูดถึงเฉพาะ ศาสตราจารย์ ดร.ณรงฤทธิ์ ธรรมบุตร อาจารย์ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจาก วงดุริยางค์เยาวชนไทยในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์   หรือ"  Thai Youth Orchestra :TYO  " ได้รับการเชื้อเชิญจากรัฐบาลสเปน   ให้ไปแสดงในงานเทศกาลดนตรีสากลของเยาวชนออเคสตราปีที่ 6 หรืองาน International Alicante of Youth Orchestra :FIJO  เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ) กระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้สนับสนุนหลัก  โดยการแสดงมีทั้งหมด6รอบ และในจำนวนนี้มี 3 รอบที่เป็นการแสดงเดี่ยวของวงTYO   ส่วนอีก 3รอบที่เหลือเป็นการแสดงร่วมกับวงดนตรีเยาวชน ที่มาจากประเทศ เวเนซูเอลา โปแลนด์ สเปน  

อาจารย์ ณรงค์ฤทธิ์ กำลังอธิบายให้อัครวัฒน์ ศรีณรงค์ ผู้อำนวยการวงและคอนดักเตอร์ TYO ฟังถึงจังหวะดนตรี

เพลงราตรีประดับดาวระหว่่างการซ้อมก่อนที่จะมีแสดงจริงที่ประเทศสเปน

 

ในรอบการแสดงเดี่ยวของวงTYO  ได้มีการนำเพลง"ราตรีประดับดาว" อันเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มาแสดงด้วย ซึ่งเพลงนี้ อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ ได้นำมาแต่งเรียบเรียงทางดนตรีใหม่ ให้กลายเป็นดนตรีคลาสสิกเพื่อแสดงในวงซิมโฟนี 

เพลงราตรีประดับดาว เป็นหนึ่งใน 4เพลงที่อยู่ในชุด “ซิมโฟนีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ “ที่อาจารย์ณรงฤทธิ์เป็นผู้ประพันธ์ทางดนตรี  ทั้ง4เพลงนี้ก็ประกอบด้วย ราตรีประดับดาว  บุหลันลอยเลื่อน  เขมรลออวงศ์ และแขกมอญบางขุนพรหม 

 

ด้วยความสามารถทางการประพันธ์ทางดนตรี ทำให้อาจารย์ณรงฤทธิ์ ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาคีตศิลป์ จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ในวัย 40 ต้นๆ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของรางวัลที่จะมอบรางวัลให้กับศิลปินรุ่นอายุ 30-50ปี  ซึ่งความสามารถด้านการประพันธ์ดนตรีของอาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ ไม่ได้เกิดขึ้นหลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ Michigan State University ประเทศสหรัฐอเมริกา  หรือหลังจากที่ได้มาเป็นอาจารย์ที่ จุฬาฯแล้วเท่านั้น แต่เริ่มตั้งแต่อายุ13 ปี หลังจากอาจารย์ได้ฟังเพลงจากคีตกวีเอกของโลกแล้ว ก็นำแรงบันดาลใจจากเพลงที่ได้ฟังมาแต่งเป็นเพลงในแบบฉบับของตนเอง

  "ตั้งแต่เด็กผมก็เริ่มสนใจดนตรีคลาสสิก ฟังแต่โมสาร์ท ฟังแล้วชอบมาก ประทับจิต ประทับใจ  เพลงป็อปไม่ค่อยได้ฟัง ฟังแต่เพลงคลาสสิก  เหมือนผมถูกสร้างให้มาเป็นแบบนี้ "อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์กล่าว

 

ส่วนการนำเพลงไทยทั้ง 4เพลง มาทำเป็นซิมโฟนี  อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์กล่าวว่า เพราะทั้ง 4เพลง เป็นเพลงของพระมหากษัตริย์   สองพระองค์ คือ เพลงบุหลันลอยเลื่อน เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่สอง เพลงราตรีประดับดาวและเพลงเขมรลออองค์ เป็นเพลงของ ในหลวงรัชกาลที่ 7และเพลงแขกบางขุนพรหม เป็นของเจ้านายผู้ใหญ่หนึ่งผู้มีอัจฉริยภาพทางดนตรีตะวันตกอีกพระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต มาใช้เป็นเนื้อหาแนวทำนองหลัก ในการสร้างสรรค์บทเพลงซิมโฟนีทั้ง 4ท่อน จึงเป็นที่มาของชุดซิมโฟนีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 

"เวลาที่เราแต่งเพลง  เหมือนเราสร้างหนัง เราจะแต่งเรื่องทั้งหมดมาเลยก็ได้ ว่าตัวละครแต่ละตัวเป็นยังไง  หรือบางครั้งเราจะสร้างหนังมาจากเรื่องจริงหรือที่เรียกว่า Based on true story. ก็ได้ สิ่งที่ผมทำคือ เอาเพลงไทยมาพัฒนาต่อให้กลายเป็นงานซิมโฟนีแบบตะวันตก  เหมือนสร้างหนังโดยใช้เรื่องนิดเดียว แต่มาขยายต่อให้ยาวขึ้น กลายเป็นภาพยนตร์ทั้งเรื่อง  ที่มีจุดกำเนิดโดยเพลงไทย    เพราะในความหมายซิมโฟนี ในความหมายของตะวันตก คืองานดนตรีขนาดใหญ่  ซึ่งมักแบ่งเป็นท่อนๆ  ในมุมมองของดนตรีตะวันตกถือว่างานซิมโฟนี    เป็นงานที่ใหญ่สุดในบรรดาเพลงคลาสสิกทั้งหมด นักแต่งเพลงระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น โมสาร์ท หรือบีโธเฟน ก็แต่งซิมโฟนีหลายๆเบอร์ ในกรณีของผม การทำเป็นงานซิมโฟนีชุดนี้มี 4มูฟเม้นท์ ก็เป็นการแบ่งเป็นท่อนๆ แต่ทั้งชุดได้ชื่อว่า ซิมโฟนีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  "อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์กล่าว 

อีกมุมหนึ่ง ณ มิวสิคฮอลล์ที่เมืองอาลิคันเต ประเทศสเปน

เมื่อถามว่า ทำไมถึงเลือกเพลงนี้ อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์กล่าวว่า เพราะตั้งใจใช้เพลงของพระมหากษัตริย์  ถือว่าเป็นศิริมงคลกับผู้ทำ และยังป็นเพลงมีชื่อเสียง มีท่วงทำนองที่ไพเราะ เอื้ออำนวยให้ไปสร้างเป็นงานซิมโฟนีขนาดใหญ่ได้   เวลาไปเล่นที่ไหน ก็เหมือนการเผยแพร่ชื่อเสียงประเทศไทย  ทำให้วงที่เล่นสามารถแสดงความเป็นมาตรฐานทางดนตรี และแสดงความเป็นไทยไปด้วยในเวลาเดียวกัน เหมือนเผยแพร่ความเป็นเราให้ประเทศอื่น รู้จักเรา ที่สำคัญแสดงให้เห็นว่านักประพันธ์ดนตรีที่เป็นคนไทย สามารถเขียนงานคลาสสิกได้ดีระดับสากล เป็นงานที่แสดงถึงความเป็นจุดกึ่งกลาง ระหว่างความเป็นเพลงไทย กับเพลงตะวันตก  และการที่เราได้พัฒนาเพลงไทยให้กลายเป็นเพลงซิมโฟนี ถือว่าเราได้ต่อยอดมรดกเพลงไทย ไม่ใช่การสร้างเพลงไทยโดยการอนุรักษ์  แต่การทำแบบนี้ ก็คือการอนุรักษ์รูปแบบหนึ่ง  คำว่าอนุรักษ์ คือการทำให้มีชีวิต  ในรูปแบบใด รูปแบบหนึ่ง 

 

" การที่TYO เลือกเพลงนี้มาเล่นงานทัวร์คอนเสิร์ตที่สเปน ก็เพราะเห็นแล้วว่าผลงานนี้เป็นงานที่มีมาตรฐานสูง เป็นงานที่มีมาตรฐานระดับสากล  "

 

แม้จะซึมซับ หลงใหลในดนตรีตะวันตก แต่ในแง่ของความเป็นไทยในตัว อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ ก็มีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ก่อนหน้านี้ในการสัมมนาโครงการวิจัยในหัวข้อเรื่อง “งานสร้างสรรค์ดุริยางคศิลป์ : วรรณกรรมเพลงไทยคลาสสิกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นชาตินิยมอันหมายถึงความเป็นไทยในดนตรีคลาสสิก อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ ตอบว่า ตลอด 4ปีที่เรียนที่จุฬาฯ ซึ่งห้องซ้อมดนตรีตะวันตกจะอยู่ติดกับห้องซ้อมดนตรีไทย ทำให้เวลาซ้อมเสียงจะตีกัน จึงมีการตกลงกับห้องซ้อมดนตรีไทยว่า จะผลัดกันซ้อมห้องละชั่วโมง และระหว่างที่รอซ้อมในชั่วโมงถัดไป ทำให้มีโอกาสได้ฟังดนตรีไทยจากห้องข้างๆ  ก็รู้สึกถึงความไพเราะของดนตรีไทย ทำให้แต่ดนตรีไทยมีอยู่ในตัวตลอด 4 ปี    ดนตรีไทยจึงอยู่ในตัวเองโดยธรรมชาติ ทำให้เมื่อลงมือประพันธ์เพลง  การประพันธ์ให้มีสำเนียงไทยมันเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ (อ้างจาก คอลัมภ์จุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 30 ธันวาคม 2560)

 

การผสมผสานระหว่างไทยกับตะวันตกได้อย่างลงตัว ทำให้มีการกล่าวยกย่องถึงงานของอาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ว่าสะท้อนความเป็นไทยในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นชื่อเพลง แรงบันดาลใจ ทำนอง จังหวะ แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังคงไว้ซึ่งเทคนิคการประสานเสียงดนตรีร่วมสมัยที่มีความเป็นสากล  เป็นการนำเสนอนำส่วนที่ดีที่สุดของแต่ละวัฒนธรรมดนตรีมารวมกันอย่างพอดี  มีความเรียบง่าย แฝงความซับซ้อน คลุกเคล้ากันอย่างลงตัว 

 

ขณะที่ บวรพงศ์ ศุภโสภณ คอลัมนิสต์ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีคลาสสิก  ได้กล่าวยกย่องผลงานของอาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ในคอลัมภ์ชื่อ"อาศรมมิวสิก : ซิมโฟนีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่วงทำนองไทยในฉันทลักษณ์ ‘โซนาตา’ ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 5สิงหาคม 2561 ว่า

 

"ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ได้ประยุกต์ใช้เนื้อหาแนวทำนองหลักของไทยกับฉันทลักษณ์การแต่งเพลงแบบสากลตะวันตก ได้อย่างพอเหมาะพอดีเกิดเป็นความหมายใหม่ในทางดนตรีซิมโฟนีที่ชัดเจน แนวทำนองเดิมที่ถูกตัดตอนให้สั้นลงกลายเป็นใจความสำคัญทางดนตรี (Motif)7พยางค์ ที่ตอกย้ำให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพทางดนตรีที่ชัดเจน "

 

แง่มุมนี้อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า ในต่างประเทศไม่ว่าบรามส์ หรือ ลิสต์  โชแปง  ล้วนเขียนงานคลาสสิกโดยใช้จังหวะหรือทำนอง รูปแบบดนตรีประเทศตัวเอง อย่างโชแปง เอาเพลงแดนส์ ที่เป็นทำนองจากเพลงประจำชาติ มาทำให้กลายเป็นดนตรีคลาสสิก  หลายคนได้สร้างงงานคลาสสิก โดยใช้เพลงประจำชาติมาใช้ จะเรียกว่าเป็นลัทธิชาตินิยมก็ได้  แม้กระทั่งดนตรีคลาสสิก อย่างไชคอฟสกี้ ก็มีผสมความปนรัสเซียเข้าไป  หรือแม้แต่ จอร์จ กรัชวิน (George Gershwin) ที่เป็นนักแต่งเพลงคลาสสิกอเมริกัน ก็ผสมความเป็นเมริกัน หรือดนตรีแจ๊ส เข้าไปอยู่ในดนตรีคลาสสิกได้ แม้แต่ในเอเชีย ดนตรีที่แต่งโดยชาวญี่ปุ่น ทาเคมิสึ ที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ก็ผสมความเป็นญี่ปุ่น เข้าไปอยู่ในดนตรีคลาสสิกของเขา หรืออย่าง"ทันดุน"ของจีนที่ดังมาก ก็สร้างงานคลาสสิกที่ผสมผสานความเป็นจีนเข้าไป  แต่ละคนผสมประสบการณ์ของตัวเองเข้าไปด้วย รวมทั้งนักแต่งเพลงเกาหลี ก็อยู่ในแนวเดียวกัน ส่วนประเทศไทย ไม่ค่อยมีการเอาเพลงไทยมาทำดนตรีคลาสสิก แต่แนวที่เอาดนตรีไทยมาผสมกับดนตรีสากล มาพัฒนาดนตรีไทยมีการทำกัน และจะต่อไปจะทำกันมากขึ้น  

"อย่างงานที่ผมทำ ถือว่าผมได้ทำแบบของตัวเอง เอาดนตรีไทย ให้กลายเป็นงานซิมโฟนี ที่ยังไม่มีใครทำ  คนอื่นๆก็มีวิธีการทำที่แตกต่างกัน  คนละแบบ อย่างของอาจารย์สมเถา สุจริตกุล ของอาจารย์ บรูซ แกสตัน วงฟองน้ำ หรือในแนวลูกทุ่งก็มี คือแต่ละคนสร้างงานดนตรีในแนวตัวเอง แต่ละคนที่เขียนงานขึ้นมาก็ใช้ประสบการณ์ของตัวเอง  คือ จริงๆแล้วการสร้างงานดนตรี ก็คือการเล่าประสบการณ์ของตัวเอง อย่างเช่น เราเป็นคนไทย เรามีประสบการณ์แบบคนไทย ไปที่ไหนเราก็อยากกินอาหารไทย หรือทำอาหารไทยกินเอง เป็นเรื่องธรรมดา ถึงแม้เราจะเล่นดนตรีตะวันตก เราก็เล่นในเชิงที่ผสมผสานความเป็นไทยได้ "

เมื่อถามว่า วงดนตรีคลาสสิกไทยจะไปได้ไกลแค่ไหน อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า การเป็นระดับโลก  จะต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่างวงTYO ที่มาเล่นต่างแดน ที่ประเทศสเปน ก็ไม่ใช่ว่าจะมากันได้ง่าย ต้องใช้งบประมาณ  ต้องใช้ทั้งการยอมรับ ต้องใช้พลังอย่างมหาศาล เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นแบบนี้  ไม่ใช่ประเทศไทยทำประเทศเดียว วงการดนตรีคลาสสิกทุกคนทุกประเทศต้องทำหมด  ทุกประเทศต้องแข่งกัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องพัฒนาทีละสเต็ป และการแข่งขัน คือต้องพยายามนำเสนอสิ่งที่เป็นจุดเด่นของตัวเองให้ได้รับการยอมรับ .

การบรรเลงเพลง"ราตรีประดับดาว"ของวงTYO ที่เมืองอาลิคันเต ประเทศสเปน

 

cr.: ภาพโดยอธิคม  วิเศษโอภาส (ภาพศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร)และเยาวนิศ เต็งไตรรัตน์(ภาพการแสดงคอนเสิร์ต)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"