แจ้งเดือนก.ย.ฝนยังตกชุก ศูนย์ฉก.เตือนน่านเสี่ยงภัย


เพิ่มเพื่อน    

    "บิ๊กฉัตร" รายงาน "นายกฯ" ตลอดเดือน ก.ย.ฝนยังตก ระบุภาคอีสานน้ำเยอะต้องเร่งระบาย ห่วงพื้นที่น้ำแล้งขอทำฝนหลวงแก้ปัญหา กำชับ ก.เกษตรฯ คุยชาวนา 12 ลุ่มเจ้าพระยา หลังเก็บเกี่ยวข้าวขอใช้ท้องนาเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ "ศูนย์เฉพาะกิจฯ" สั่งทุกหน่วยเตรียมพร้อม เตือน จ.น่านรับมือฝนตกหนักเสี่ยงน้ำท่วม "ปภ." แจ้ง 8 จว.ยังประสบอุทกภัย
    เมื่อวันที่ 3 ก.ย. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเข้ารายงานสถานการณ์น้ำต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ได้รายงานให้นายกฯ ทราบช่วงเดือน ก.ย.จะยังมีฝนอยู่ แต่กรมอุตุนิยมวิทยายืนยันค่าเฉลี่ยทั้งประเทศยังต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ เพราะจุดที่มีฝนมากยังเป็นจุดเดิมๆ โดยพื้นที่ที่มีน้ำเยอะอยู่แล้ว เช่นภาคอีสานจะต้องเร่งระบาย แต่ให้คำนึงถึงฤดูกาลต่อไปที่น้ำอาจจะแล้ง ขณะที่บางพื้นที่ไม่มีฝนมาระยะหนึ่งแล้วได้ขอนายกฯ ให้ปฏิบัติการฝนหลวงในจุดที่ขาดแคลนน้ำ ซึ่งนายกฯ เห็นด้วย 
    พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ทั้งหมดนี้จะมีความชัดเจนประมาณกลางเดือน ก.ย.ว่าจะเก็บน้ำไว้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร โดยพื้นที่ชลประทานไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เป็นห่วงแต่พื้นที่นอกเขตชลประทาน และปีนี้นายกฯ สั่งการให้รีบแจ้งสถานการณ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมการไว้ 
    "พื้นที่ 12 ลุ่มเจ้าพระยาจะขอความร่วมมือเหมือนปีที่แล้ว เมื่อน้ำเยอะให้ใช้บางระกำโมเดล เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้วให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ ถ้าเขาจะทำนาอีกก็จะขอไว้ โดยให้เอาน้ำเข้าไปแล้วปล่อยปลา ซึ่งประชาชนตอบรับดีเพราะมีรายได้ดีจากการจับปลา" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว
    ถามว่าต้องชดเชยให้พื้นที่ดังกล่าวหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่าไม่ต้องเพราะปีที่แล้วก็ไม่ได้ชดเชย  เนื่องจากพอเราเอาน้ำเข้าไปประชาชนจะได้ประโยชน์ และเมื่อเอาน้ำออกไปแล้วการปลูกข้าวรอบต่อไปจะมีต้นทุนถูกลง เพราะมีปุ๋ยเพิ่มจากน้ำและวัชพืช ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังทำความเข้าใจกับประชาชน ยืนยันไม่มีการปล่อยน้ำไปก่อน ต้องให้ชาวนาเกี่ยวข้าวให้เสร็จก่อน
    ขณะที่นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์น้ำว่า วันนี้ (3 ก.ย.) ประเทศไทยมีปริมาณฝนลดลง ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีปริมาณฝนมากกว่าภาคอื่นๆ โดยฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบมีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ ได้แก่ จ.น่าน  155.5 มม. ภาคใต้ จ.พังงา 60.5 มม. นครศรีธรรมราช 57.5 มม. กระบี่ 53 มม. ระนอง 42 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.บึงกาฬ 56.4 มม. ศรีสะเกษ 54 มม. อุบลราชธานี 40 มม. ส่งผลให้แม่น้ำในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออกมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น
    นายสำเริงกล่าวว่า ศูนย์เฉพาะกิจฯ ได้คาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่ลำน้ำสายสำคัญๆ ได้แก่ ลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่ แม่น้ำป่าสัก อ.หล่มสัก  อ.หนองไผ่ อ.เมืองเพชรบูรณ์ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ และแม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณตลาดเก่า อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ อ.เมืองปราจีนบุรี อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี โดยขอให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวติดตามประกาศของกรมชลประทานเรื่องสถานการณ์น้ำแม่น้ำปราจีนบุรีอย่างต่อเนื่อง 
    "เช่นเดียวกับแม่น้ำน่าน อ.แม่จริม อ.บ่อเกลือ อ.เวียงสา อ.ท่าวังผา อ.เมืองน่าน จ.น่าน มีความเสี่ยงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จากฝนตกหนักใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ส่วนที่แม่น้ำโขงขณะนี้ยังคงมีแนวโน้มน้ำสูงขึ้น มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งที่ จ.หนองคาย จ.นครพนม และ จ.มุกดาหาร และต้องเฝ้าระวังบริเวณ จ.บึงกาฬ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี" นายสำเริงกล่าว
    ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจฯ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นอ่างขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ ปัจจุบันคงเหลือ 5 แห่ง ได้แก่ 1.เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 560 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น  108% ปริมาณน้ำไหลเข้า 3.54 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 0.51 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 7.03 ล้าน  ลบ.ม. มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร 2.เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 756 ล้าน ลบ.ม.  คิดเป็น 106% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 1.02 ม. ลดลง 2 ซม. ปริมาณน้ำไหลเข้า 14.94 ล้าน  ลบ.ม. ลดลง 2.81 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 15.74 ล้าน ลบ.ม.
    3.เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 8,367 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 94% ปริมาณน้ำไหลเข้า  57.04 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 7.52 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 52.33 ล้าน ลบ.ม. โดยในวันพรุ่งนี้ (4  ก.ย.61) จะเริ่มปรับแผนการระบายน้ำเป็นวันละ 58 ล้าน ลบ.ม.ไปจนถึงวันที่ 10 ก.ย.61 ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่ระบายยังไม่เกินความจุของลำน้ำแควน้อย แต่อาจมีพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบางแห่งได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เอ่อสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 50 ซม. ซึ่งเน้นย้ำหน่วยเกี่ยวข้องแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยทราบถึงแผนการระบายน้ำด้วย
    4.เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 16,144 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 91% ปริมาณน้ำไหลเข้า 50.66 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 3.5 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 25.97 ล้าน ลบ.ม. และจะเริ่มปรับแผนการระบายน้ำผ่านเขื่อนท่าทุ่งนาเป็นวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่ 7-13 ก.ย.61 โดยปริมาณน้ำที่ระบายยังไม่เกินความจุของลำน้ำแคว แต่อาจมีพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบางแห่งได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เอ่อสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 60 ซม. ที่ได้มีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควใหญ่ทราบถึงแผนการระบายน้ำล่วงหน้าแล้ว 5.เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 194 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น  87% ปริมาณน้ำไหลเข้า 6.87 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 0.46 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออกวันละ 6.16  ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.8 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 0.95 ม. เพิ่มขึ้น 10 ซม.
    ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สรุปสถานการณ์อุทกภัยว่า ขณะนี้ยังมี 8 จังหวัดประสบอุทกภัย รวม 34 อำเภอ 160 ตำบล 1,126 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30,407 ครัวเรือน 76,994 คน ได้แก่ จ.นครพนม น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีสงคราม อำเภอนาหว้า อำเภอนาทม อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน อำเภอธาตุพนม และอำเภอเมืองนครพนม ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มทรงตัว จ.บึงกาฬ น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่  อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอโซ่พิสัย อำเภอปากคาด อำเภอศรีวิไล อำเภอบึงโขงหลง  อำเภอเซกา และอำเภอพรเจริญ ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มทรงตัว จ.สกลนคร น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคำตากล้า อำเภอนิคมน้ำอูน อำเภอพรรณานิคม อำเภออากาศอำนวย และอำเภอบ้านม่วง ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จ.เพชรบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด และอำเภอบ้านแหลม ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง 
    ที่ จ.นครนายก น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา และอำเภอองครักษ์ ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มทรงตัว จ.ชัยภูมิ น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบำเหน็จณรงค์ และอำเภอจัตุรัส ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง จ.กาฬสินธุ์ น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่  อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอกมลาไสย และอำเภอฆ้องชัย ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง และ จ.อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขื่องใน และอำเภอเมืองอุบลราชธานี ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"