สลายขั้วสกัด'คสช.' 'นปช.-พท.'ยุปชป.ทำสัญญาประชาคมต้านสืบทอดอำนาจ


เพิ่มเพื่อน    

    “ประยุทธ์” ชงทุกจังหวัดจัดเสวนาให้รู้จักคำว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง “ประวิตร” ทุบโต๊ะปลดล็อก 70 วันเพียงพอแล้ว วงเสวนาเลือกตั้ง “จตุพร” ตอกย้ำ 3 หนทุกสีเสื้อทุกฝ่ายต้องถอดหัวโขน จับเข่าคุยกันก่อนแล้วไปตกลงกับผู้มีอำนาจทำสัญญาประชาคม “เพื่อไทย” ชวน “ประชาธิปัตย์” จับมือเป็นฝ่ายค้านหาก คสช.สืบทอดอำนาจ “ชาติพัฒนา” ประกาศตัวไม่เอานายกฯ คนนอก “พลังประชารัฐ” เลื่อนประชุมพรรค “บิ๊กป้อม” เดือดซัดไอ้โรมไม่มีสิทธิ์จุ้นเรื่องน้องเฌอปราง
    เมื่อวันจันทร์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อสนับสนุนกลไกการปฏิบัติงานในโครงการเชิงยุทธศาสตร์/โครงการสำคัญระดับประเทศ พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "หนึ่งองศาขยับ ปรับเปลี่ยนประเทศไทย : กำลังคนคุณภาพกับการปฏิรูปประเทศเชิงบูรณาการ" โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ขอฝากหัวข้อสัมมนา เราจะพัฒนาภาคประชาชนได้อย่างไร จะพัฒนาการเมืองอย่างไรไปด้วย เราต้องเป็นคนนำ แต่ไม่ใช่นำไปว่าใคร แต่ต้องนำให้เข้าใจ เช่น ประชาธิปไตยควรเป็นอย่างไร การเลือกตั้งควรเป็นอย่างไร ท้องถิ่นที่ว่าด้วยเรื่องการกระจายอำนาจคืออะไร
    "ก่อนเลือกตั้งผมอยากให้ท้องถิ่นอบรมหรือหลักสูตรต่างๆ รัฐบาลพร้อมสนับสนุน ไม่ใช่เพื่อให้มารักผม เลือกตั้งใครก็ยังไม่รู้ แต่ให้เขารู้ว่าบ้านเมืองต้องไปอย่างไร ให้เขาถ่ายทอด และอธิบายว่าท้องถิ่นจะต้องทำอะไรกับประชาชน ให้เขาเข้าใจ ฉะนั้นต้องเสวนาลักษณะนี้ในทุกจังหวัด เอาข้าราชการ  ประชาชน และท้องถิ่นทุกประเภทมาคุยกัน ไม่อย่างนั้นคุยแต่ละพวกเกิดยาก เพราะไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง  เราต้องเร่งตรงนี้ภายใน 3 เดือน ต้องทำให้เร็ว ไม่อย่างนั้นเป็นปัญหาขัดแย้งไปหมด เดี๋ยวจะมีเลือกตั้งท้องถิ่นอีก ก็จะติดไปหมด เพราะที่ผ่านมาไม่ได้สนใจตรงนี้ การเมืองในพื้นที่หรือนักการเมืองก็ต้องสนใจตรงนี้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวว่า วันหน้าหากใครเขาบอกให้ทำนี่ทำโน่นให้ ต้องถามเขาว่าทำได้จริงหรือเปล่า เอางบประมาณจากที่ไหน กฎหมายมีหรือเปล่า ทำอย่างนี้จะเสียหายตรงไหน แต่ถ้ามันดีก็โอเค รับได้ แต่ถ้ามันไม่มีดี ทำไปก็เสียหายอีก เพราะทุกคนมองตัวเองเป็นหลัก นั่นเป็นสิ่งที่บ้านเมืองเราต้องเปลี่ยนแปลง
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองอยากให้ คสช.ปลดล็อกทางการเมืองเต็มที่ เนื่องจากเวลา 70 วันไม่เพียงพอว่า ยืนยันว่า 70 วันเพียงพอ เพราะพรรคการเมืองที่ยังไม่ได้ตั้งขึ้นมานั้นก็มีอีกหลายพรรค ดังนั้นยังมีเวลาอีก 30 วันในการกำหนดเรื่องพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้น ดำเนินการสมาชิกพรรค และทำไพรมารีโหวตทันเวลาอยู่แล้ว ส่วนที่เรียกร้องให้ปลดล็อก 100% ก็ทำได้ใน 70 วัน
    เมื่อถามว่าหากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.มีผลบังคับใช้แล้วจะประชุม คสช.ทันทีหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า รัฐบาลและ คสช.ได้เตรียมคลายล็อกไว้หมดแล้ว โดยภายใน 90 วันหลังจากนั้นทางพรรคการเมืองก็ต้องประชุมพรรค รวมถึงหาสมาชิกพรรคและทำไพรมารีโหวต ซึ่งทั้งหมดนี้จะดำเนินการได้ภายในเดือน  ธ.ค. ส่วนที่ตอนนี้พรรคการเมืองออกมาวิพากษ์วิจารณ์ คสช.กันเป็นจำนวนมากนั้น ก็แล้วแต่พรรคการเมืองว่าจะมองในลักษณะใด เพราะความจริง คสช.ก็ทำดีทุกอย่างอยู่แล้ว ส่วนคนที่วิพากษ์วิจารณ์ก็มีไม่กี่คน ไม่เห็นจะมีอะไร
ประวิตรไม่ตอบกรณีกำนัน
    เมื่อถามว่าล่าสุดผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อสะท้อนถึงอะไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าก็เป็นเรื่องที่ดี แต่เรื่องการเมืองที่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์อย่ามาถามตนเอง ขอให้ไปถาม พล.อ.ประยุทธ์คนเดียว ตอนนี้นายกฯ ยังทำงานไม่จบ ดังนั้นต้องทำงานให้จบก่อน
    ถามต่อถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย เปิดโรงเรียนการเมืองจะเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่าไม่ทราบ ในส่วนรายละเอียดต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นคนดูแล เพราะถ้าพูดไปก็จะกลายเป็นว่าให้การสนับสนุนนายสุเทพ
    ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้ปลดล็อกไม่ใช่แค่คลายล็อกว่า มีการพูดกันมาหลายครั้งแล้วขอให้ คสช.เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ว่าจะทำอย่างไร แต่ขณะนี้ยืนยันว่ายังไม่ทำ ซึ่ง คสช.เองมีเหตุผลอยู่ การที่ฝ่ายการเมืองออกมาระบุไม่มีอะไรจะต้องกลัว คสช.กลัว ส่วนเมื่อคลายล็อกแล้วขั้นตอนการหาสมาชิกควรทำอย่างไรไม่ให้เสี่ยงผิดคำสั่ง คสช.นั้น ก็ควรรวบรวมคำถามถามไปยัง กกต. ซึ่งถ้าเขาตอบได้ก็ตอบ ถ้าตอบไม่ได้เขาจะถาม คสช.ให้ เหมือนที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ อย่าถามผ่านทางสื่อเพราะจะไม่ได้รับคำตอบ
“จะ 20 50 70 หรือ 90 วัน เป็นประเด็นเล็ก แต่สื่อช่วยมาขยายให้เป็นประเด็นใหญ่ เพราะมันไม่มีความหมายอะไรเลยว่าจะกี่วัน” นายวิษณุตอบคำถามว่ากรอบเวลาหาเสียงชัดเจนหรือยัง
    ส่วนนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการออกกฎหมายควบคุมการหาเสียงในสื่อโซเชียลมีเดียว่า ปัจจุบันควบคุมได้แต่ไม่ครอบคลุมทั้งหมด โดยหากต้องการให้ชัดเจนครอบคลุมถึงการเลือกตั้งที่เป็นความผิดเฉพาะ ก็ควรกำหนดไว้ในกฎหมายที่จะเสนอมายัง สนช. และที่สำคัญควรเสนอมายัง สนช.ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป เพราะหากเสนอมาล่าช้าในช่วงการเลือกตั้งก็จะมีเพียงกฎหมายความมั่นคงปกติที่มีอยู่เท่านั้น โดยกฎหมายต้องไม่ปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนที่จะแสดงความคิดเห็น แต่ขณะเดียวกันโซเชียลมีเดียก็ต้องไม่ละเมิดเสรีภาพของทุกคนด้วย
    นายพรเพชรยังกล่าวถึงร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับว่า สนช.ยังไม่ได้รับ ซึ่งเข้าใจว่าอยู่ในกระบวนการการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และยังไม่แน่ใจว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือการเลือกตั้ง ส.ส.ประเภทใดจะเกิดขึ้นก่อนกัน แต่หากตั้งโรดแมปเลือกตั้ง ส.ส.เป็นวันที่ 24 ก.พ. คิดว่าเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งท้องถิ่นอาจไม่เกิดขึ้นก่อน เพราะการพิจารณากฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นต้องใช้เวลามากกว่า 2 เดือน ยังไม่รวมขั้นตอนการประกาศใช้บังคับ เว้นแต่จะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในบางระดับไปก่อนเท่านั้น
      นายพรเพชรยังกล่าวถึงทำงานของ สนช.ในช่วงท้ายว่า ได้วางหลักการเอาไว้ว่าทันทีที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง สนช.จะงดรับร่างกฎหมายฉบับใหม่เข้ามาพิจารณาในสภา เว้นแต่จะเป็นร่างกฎหมายที่มีความจำเป็นจริงๆ และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลขอให้พิจารณาเท่านั้น 
    วันเดียวกัน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา' 35  และเครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน ได้จัดเสวนา "อนาคตประเทศไทย ตายหรือตันก่อนการเลือกตั้ง"  โดยมีผู้แทนพรรคการเมืองและแกนนำมวลชนร่วมเสวนา 
จตุพรแนะตั้งวงคุย
     โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)  กล่าวว่า รู้สึกห่วงใยสถานการณ์บ้านเมือง เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกออกแบบให้มีเรื่องได้ตลอดเวลา  มีความเลวร้าย ตอนนี้มีการเรียกร้องให้คลายล็อก ปลดล็อก แต่ผู้บริหารบ้านเมืองต้องคลายล็อกจิตใจตัวเองให้ได้ก่อน บรรยากาศเหมือนก่อนการปฏิรูปการเมืองปี 2540 อาจทำให้บรรยากาศเลือกตั้งในปี  2562 เกิดความวุ่นวาย ถ้าไม่มาพูดคุยกัน เพียงแค่คำว่านายกฯ คนนอกหรือคนในก็เกิดเรื่องได้ เราควรคุยกันให้จบก่อน ไม่เช่นนั้นหลังเลือกตั้งจะมีเรื่องอีก
    “ผมไม่ได้สนใจใครจะแพ้จะชนะ สถานการณ์ 5 ปีที่ผ่านมาคนไทยกลัวคำว่าไม่สงบ เลยขอฝากไว้ทุกฝ่าย ผู้มีอำนาจ ถ้าใจกว้างควรชวนทุกฝ่ายเข้ามาร่วมหาทางออก เอาประชาธิปไตยให้ได้ก่อน เอาเรื่องส่วนรวมมาก่อนเรื่องส่วนตัว ถ้ายังดำรงอยู่เหมือนปัจจุบัน แม้เลือกตั้งแล้วก็ยังวิกฤติ แล้วเมื่อเกิดแล้วก็ยังไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในบ้านเมือง” นายจตุพรกล่าว
    นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า การเมืองในวันนี้เป็นแบบ 2 ก๊กกับอีก 1 กั๊ก โดยเราเป็นก๊กอิสระ เห็นด้วยกับแนวทางธรรมาธิปไตย แต่ไม่เอาแบบตะวันตกหรือประชาธิปไตยที่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงไม่กี่วินาทีตอนหย่อนบัตร ซึ่งเรายังไม่ระบุว่าจะเข้าร่วมกับเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ หรือทหาร    
    นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้แทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ในฐานะพรรคขนาดกลางที่ตกเป็นจำเลยว่าพรรคพร้อมเป็นรัฐบาลทุกรัฐบาล ขอเรียนว่าพรรคไม่เอานายกฯ คนนอก เราพร้อมเป็นฝ่ายค้านถ้าฝ่ายใหญ่ๆ จับมือเป็นรัฐบาล เราไม่ได้แต่อยากเป็นรัฐบาล ปี 2562 จะออกจากวังวนได้ เราต้องมาจับมือกัน ในอดีตเราเห็นเพียงแค่ 3 คำ อดทนไม่เป็น เย็นไม่พอ และรอไม่ได้ เลยเป็นเงื่อนไขให้ถูกปฏิวัติ กติกา 2560 แม้จะดีหรือไม่ดีอย่างไร เราแก้ไม่ได้แล้ว แต่มีอยู่อย่างเดียวคือเราจะเดินหน้าไปอย่างไร
      นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พรรคไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจจาก คสช. คนนอกมาเป็นนายกฯ ความหมายนี้รวมไปถึงจะมาเป็นหนึ่งในสามในบัญชีรายชื่อพรรคใดพรรคหนึ่ง เราไม่สนับสนุน หากผู้นำ คสช.จะมาตั้งรัฐบาล และไม่ว่าจะอยู่ในรอบแรกหรือรอบ 2 ที่ใช้เสียง 500 คนอยู่ในญัตติ แม้ผู้นำ คสช.ตั้งรัฐบาลได้ เราก็จะเป็นฝ่ายค้าน และพรรคเปิดโอกาสเป็นพันธมิตรพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ถ้าผู้นำ คสช.เป็นรัฐบาล เราก็ยินดีร่วมมือกับทุกพรรคที่ไม่รับผู้นำ คสช. พร้อมไปเป็นฝ่ายค้าน
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า อนาคตการเมืองไทยไม่มีทางตันหรือตาย แต่สิ่งที่จะเดินหน้าไปสู่ทางตันคือ คสช. เพราะในการเลือกตั้งเที่ยวนี้ คสช.เป็นทั้งผู้เขียนกติกา เป็นทั้งผู้กำกับการแข่งขันไปพร้อมกับการเป็นผู้เล่น และหลังเลือกตั้ง คสช.ยังมีอำนาจ เพราะยังถือมาตรา 44 ไปจนถึงขั้นตอนได้นายกฯ ตั้งรัฐมนตรี 
“ความกังวลที่กลัวว่าเหตุการณ์จะซ้ำรอยเดิม เกิดความแตกแยกขัดแย้งหรือไม่นั้น ส่วนตัวยังเห็นว่ามีทางออก 4 ประการ คือ 1.ทุกฝ่ายยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข   2.พรรคได้เสียงข้างมากเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล 3.ฝ่ายบริหารต้องไม่ใช้เสียงข้างมากตามอำเภอใจ เป็นเผด็จการรัฐสภา และ 4.ยึดมั่นหลักกฎหมาย หลักนิติรัฐ นิติธรรม หากดำเนินตามหลักทั้ง 4 จะไม่พาประเทศกลับไปสู่ความขัดแย้งเกิดวิกฤติ”
    จากนั้นเป็นการพูดคุยในรอบ 2 เพื่อรับฟังข้อเสนอแต่ละฝ่าย โดยนายจตุพรย้ำว่าถ้าพรรคการเมืองมาคุยให้จบ มาตกลง คือในสภาให้จับมือเพื่อให้ได้เสียงข้างมาก ไม่ใช่มาจากเสียงข้างน้อยเพื่อบีบรวมกันให้เป็นเสียงข้างมาก ถ้าเป็นเงื่อนไขนี้นายกฯ คนนอกก็แทบปิดประตูไปโดยปริยาย แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนก็อาจเปลี่ยนไป ที่เน้นให้คุยกันเพราะมีปัญหาปากท้อง แต่ที่ทุกคนยังอดทนเพราะกลัวว่าจะไม่สงบ โดยขอย้ำว่าต้องมีการคุยกัน เมื่อพรรคการเมืองคุยกันจบค่อยไปคุยกับผู้มีอำนาจ  แล้วตกลงเป็นสัญญาประชาคมเพื่อให้ประเทศเดินไปได้
    “รัฐธรรมนูญฉบับนี้เงื่อนไขหนักกว่า 2534 ที่เกิดพฤษภาทมิฬ ถ้าเราคุยกัน ไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนความเชื่อ ทั้งเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ แต่เราเคารพกติกา ถ้าซีกนักการเมืองจับมือให้ได้ก่อน เราก็สามารถหาทางออกจากวิกฤติได้ ไม่เชื่อคนนอกจะเข้ามาได้ ถ้าคนในไม่เปิดประตู คนนอกไม่มีสิทธิ์”นายจตุพรย้ำ   
พท.ชวน ปชป.เป็นฝ่ายค้าน      
    นายจาตุรนต์กล่าวว่า ปัญหาวันนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะมาแก้รัฐธรรมนูญ แต่เป็นความแตกต่างของ 2  ระบบ คสช.ใช้ความคิดตัวเองเพื่อสืบทอดอำนาจ หรือให้อีกพรรคมาแก้รัฐธรรมนูญให้ดีขึ้น เป็นทางแพร่ง 2 ทางที่สังคมไทยต้องเลือก ไม่ใช่แค่ใครจะมีเสียงเป็นที่หนึ่งหรือสอง แต่ปัญหาคือรัฐธรรมนูญ โดยพรรคนั้นต้องไม่สนับสนุนผู้นำ คสช. ไม่เอานายกฯ คนนอก ถ้าทั้งพรรคเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ก็ไม่ร่วมรัฐบาล ยินดีเป็นฝ่ายค้านร่วมกัน โดยยินดีที่จะเป็นวิปฝ่ายค้านร่วมกับนายจุรินทร์ด้วย
    จากนั้นเป็นช่วงเปิดให้มีการถามคำถาม โดยเมื่อถามจุดยืน ปชป.นายจุรินทร์กล่าวว่า หลักคือพรรคใดรวบรวมเสียงข้างมากได้ก็ไปตั้งรัฐบาล แต่ทั้งนี้ต้องดูอุดมการณ์ เสียงประชาชนให้มาเท่าไหร่ ก็จะเป็นคำตอบไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ แต่ถ้าจะให้พาดพิงไปถึงพรรคโน้นพรรคนี้คงไม่ได้
    นายจตุพรย้ำอีกครั้งว่า ที่บอกให้ทุกฝ่ายคุยกันก่อนเพื่อไม่อยากให้มีปัญหากันหลังเลือกตั้ง แม้พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไทยจะจับมือกัน เพียงพูดเท่านี้ก็มีปัญหาแล้ว แต่ตอนนี้เราจะรักษาประเทศไม่ให้บอบช้ำกันได้อย่างไร ผู้นำมวลชนไม่ได้ขัดแย้งเรื่องส่วนตัว ความขัดแย้งไม่มีใครผูกขาด คนที่อยู่ในสถานการณ์ต่อสู้กันมาควรมาป้องกัน เพราะต่างผ่านความตายกันมา ถ้าทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกัน เอาความเป็นส่วนตัวออก เอาบ้านเมืองไว้ก่อน มาคุยกัน เชื่อว่ามีทางออกสำหรับประเทศไทยเสมอ
    ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีต รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และอดีตนักศึกษาที่ต่อสู้รัฐประหาร 14 ตุลา 16 หรือไอ้ก้านยาว กล่าวว่า พรรคการเมืองทุกพรรคถ้าอยู่ในสายธารของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ต้องเปิดหัวใจไว้หนึ่งห้องเอาไว้คุยกันเองได้ เพื่อปกป้องพิทักษ์ระบอบ ไม่ใช่เอาความบาดหมางส่วนตัว บาดหมางพรรค จนกลายเป็นยืนคนละขั้ว เพราะอยู่ฝ่ายประชาชนด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นเราสมควรจะมีหัวใจสักห้องหนึ่งที่นั่งลงพูดคุยกันได้ว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถพิทักษ์ระบอบให้ลูกหลานเราใช้สืบไปได้ 
“หลังเลือกตั้งพยากรณ์ยาก อยู่ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะสามารถสร้างความเข้าใจระหว่างความขัดแย้งของสองขั้วสามขั้วให้ดีขึ้นหรือไม่ เป็นหน้าที่เลย รัฐบาลที่มีอำนาจในปัจจุบันสามารถทำให้ทุกคนพูดคุยกันในฐานะของคนไทยคนหนึ่ง คนไทยก็คือคนไทย จะขัดแย้งให้ตายก็คือคนไทย อยู่คนพรรค คนละขั้วก็คือคนไทย ไม่มีอะไรที่คุยกันไม่ได้เลย ฉะนั้นก็กราบเรียนถึงผู้มีอำนาจในปัจจุบันหากว่าสามารถมาเป็นตัวกลาง สร้างให้มีเวทีเพื่อที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีได้ ในทางกลับกันถ้ารัฐบาลเลือกข้างก็จะทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น ผมขออนุญาตเตือนสติด้วยความห่วงใยเท่านี้” นายประพัฒน์กล่าว
    สำหรับความเคลื่อนไหวของนักการเมืองนั้น ที่สำนักงาน กกต. นายจำรัส ไกยสิทธิ์ ประธานชมรมผู้ตื่นรู้ประชาธิปไตยภาคอีสานได้ยื่นหนังสือถึงประธาน กกต.ผ่านนางสาวจินตนา ศรีนุกูล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ รักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกิจการคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยขอให้ประธาน กกต.มีหนังสือแจ้งให้ คสช.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีความเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. หาก กกต.ไม่แจ้งต่อ คสช.ภายใน 15 วัน อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157       
    ขณะที่นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พท.กล่าวถึงการเดินสายหาแนวร่วมของกลุ่มสามมิตรว่า นักการเมืองแต่ละคนที่สามมิตรหามาเป็นพวก ส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ส.เก่าที่เป็นพวกตะวันใกล้ตกดินแล้วไปขุดขึ้นมาใหม่ จึงยากที่จะได้รับเลือก ต่างจากอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย วันนี้สามมิตรไม่ควรสร้างราคาเกินเหตุว่าคนในกลุ่มจะได้เป็น ส.ส.เท่านั้นเท่านี้ เพราะการพูดอะไรในตอนนี้เหมือนดูถูกประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 
ด้านนายชวน ชูจันทร์ ผู้ยื่นขอจดจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่าได้ทำหนังสือถึง กกต.เพื่อขอแจ้งเลื่อนการประชุมผู้ร่วมก่อตั้งพรรคจากเดิมวันที่ 15 ก.ย.ออกไปเป็นวันที่ 29 ก.ย.นี้ เวลา 08.30 น. ที่อิมแพค เมืองทองธานี เนื่องจากมีปัญหาการดำเนินการเกี่ยวกับคุณสมบัติในบางเรื่องที่ไม่ทัน โดยขณะนี้ยังไม่มีคนในคณะรัฐมนตรีรวมถึงกลุ่มสามมิตรติดต่อเข้าร่วมทำกิจกรรมกับพรรคแต่อย่างใด
บิ๊กป้อมซัดไอ้โรม
    สำหรับกรณีนายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งโพสต์ข้อความโจมตี น.ส.เฌอปราง อารีย์กุล กัปตันวง BNK48 ที่มาช่วยงานรัฐบาลในรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” นั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไอ้โรมจะไปจำกัดสิทธิ์เขาได้ยังไง เขาจะทำอะไรก็เป็นเรื่องของบุคคล โรมจะมาจำสิทธิ์บุคคลเขาเหรอ ก็ต้องช่วยกันให้กำลังใจเฌอปราง เขามาช่วยงานรัฐบาล ให้กำลังใจอยู่แล้ว คนที่จะมากำจัดสิทธิ์ว่าคนนั้นไม่ได้ คนนี้ไม่ได้ มันเรื่องอะไร"
    เมื่อสอบถามว่าเคยฟังเพลงของวง BNK48 หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าไม่เคย เพราะไม่มีเวลา เนื่องจากต้องทำงาน 
    ถามต่อว่า แบบนี้เป็นห่วงหรือไม่ว่าจะทำให้ดารานักแสดงไม่กล้ามาช่วยงานรัฐบาลและ คสช. เพราะกลัวโดนโจมตี พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "นายรังสิมันต์จะไปกำหนดห้ามเรื่องสิทธิมนุษยชนคนอื่นได้เหรอ และจะไปห้ามคนอื่นเขาได้เหรอ"
    ต่อมานายรังสิมันต์ได้โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้เรื่องนี้ว่า มีสถานะเป็นเพียงคนธรรมดา ไม่มีอำนาจอะไรในการไปบังคับใครให้ต้องทำหรือไม่ทำได้ และสิ่งที่เขียนไปทั้งหมดก็เพียงแต่แนะนำเฌอปรางด้วยความปรารถนาดี ที่ไม่อยากเห็นคนรุ่นใหม่ต้องไปแปดเปื้อนกับอำนาจเผด็จการ และที่ใช้คำว่าตราบาปก็เพื่อเตือนว่าการร่วมงานกับเผด็จการจะเป็นผลเสียต่อตัวเฌอปรางเองในระยะยาว 
“หวังว่าเทปที่จะออกอากาศในวันที่ 15 ก.ย.นี้จะเป็นเทปเดียว และเทปสุดท้ายที่เฌอปรางไปร่วมงานกับ คสช. หวังว่าหลังจากนี้เฌอปราง หรือบริษัทที่เป็นนายจ้างจะไม่ร่วมงานกับ คสช.อีก ขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นบทเรียนต่อตัวเฌอปรางเอง อย่าให้มันต้องเป็นตราบาปแก่ตัวเองไปมากกว่านี้เลย  เราต่างรู้ดีว่าการมาออกรายการของเฌอปรางอาจจะไม่ส่งต่อความนิยมไปให้กับ คสช.ได้ แต่ความเสื่อมเสียทั้งหลายที่ คสช.มี ย่อมส่งต่อมาแปดเปื้อนเฌอปรางไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” นายรังสิมันต์โพสต์ไว้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"