ครม.อนุมัติ รถไฟฟ้า'เชียงใหม่- ภูเก็ต- พังงา'


เพิ่มเพื่อน    

11 ก.ย.61- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา      เป็นการกำหนดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่สามารถดำเนินกิจการได้เพียงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น อันเป็นการเพิ่มรูปแบบการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง และขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารของท่าอากาศยานในภูมิภาค

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงฯ เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน จังหวัดภูเก็ต สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาและออกแบบทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยว เส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากบริเวณสถานีรถไฟท่านุ่น จังหวัดพังงา ผ่านท่าอากาศยานภูเก็ตและสิ้นสุดที่บริเวณห้าแยกฉลอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 58.5 กิโลเมตร ซึ่งได้บรรจุไว้ในโครงการตามมาตรา PPP Fast Track ซึ่ง รฟม.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 22 ม.ค.-16 ก.พ. 2561 ซึ่งโดยรวมเห็นด้วยกับการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนระบบราง และให้ รฟม.เร่งดำเนินโครงการฯ

ประเมินเงินลงทุน 39,406 ล้านบาท มีโครงสร้างทางวิ่งระดับดินตลอดเส้นทาง ยกเว้นบริเวณสนามบินภูเก็ตจะเป็นสถานียกระดับ มีทั้งหมด 24 สถานี เป็นยกระดับ 1 สถานี ที่สนามบินภูเก็ต และใต้ดิน 1 สถานีที่สถานีถลาง มีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณ อ.ถลาง

ส่วนระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สนข.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ โดยเสนอจัดทำระบบหลักเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) ซึ่งเป็นโครงการตามมาตรการ PPP Fast Track และได้นำเสนอผลการศึกษาตามรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อคณะกรรมการกำกับการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2560 มี 3 เส้นทาง รวมระยะทาง 34.93 กม. ได้แก่ สายสีแดง ระยะทาง 12.54 กม. (บนดิน 5.17 กม. ใต้ดิน 7.37 กม.) มี 12 สถานี เส้นทางโรงพยาบาลนครพิงค์-ศูนย์ราชการเชียงใหม่-สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ (พ้นเขตสนามบิน ใช้ทางวิ่งบนดิน) -กรมการขนส่งทางบก-ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีหางดง วงเงินลงทุน 24,256.35 ล้านบาท โดยจะดำเนินการก่อสร้างก่อน 

สายสีน้ำเงิน ระยะทาง 11.92 กม. (บนดิน 3.15 กม. ใต้ดิน 8.77 กม.) มี 13 สถานี วงเงินลงทุน 30,514.79 ล้านบาท และสายสีเขียว ระยะทาง 10.47 กม. (บนดิน 2.55 กม. ใต้ดิน 7.92 กม.) มี 10 สถานี วงเงินลงทุน 25,548.54 ล้านบาท

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า รถไฟฟ้าภูเก็ตนั้น รฟม.ได้จ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษารูปแบบการเปิดให้เอกชนร่วมทุน (PPP) จะสรุปการศึกษาในเดือน พ.ย.และเสนอบอร์ด รฟม.เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) ต่อไป เบื้องต้นมีภาคเอกชนภูเก็ตพัฒนาให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุน ซึ่งเบื้องต้นจะใช้รูปแบบ PPP Net Cost เพื่อลดภาระการลงทุนภาครัฐ 

ส่วนรถไฟฟ้าเชียงใหม่อยู่ในขั้นตอนร่าง TOR จ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบการร่วมลงทุน คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 1 ปี


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"