ลุ้น‘มังคุด’ถล่มยัน19ก.ย. ‘กนช.’ดัน11โปรเจ็กต์น้ำ


เพิ่มเพื่อน    

  "บิ๊กตู่" ถก "กนช." ลุย 11 เมกะโปรเจ็กต์ 7.3 หมื่นล้าน แก้ท่วม-ภัยแล้ง ขยายยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี "ไต้ฝุ่นมังคุด" จ่อถล่มเหนือ-อีสานถึง 19 ก.ย. "เสรี" เตือนพายุเหลืออีก 3 ลูก แต่ฝนน้อยไม่ท่วมซ้ำปี 54 ห่วงเอลนีโญมากกว่า

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2561 โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน กนช., นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.), นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน, นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม 
    จากนั้นเวลา 11.30 น. พล.อ.ฉัตรชัยแถลงภายหลังการประชุมว่า การปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ได้ปรับชื่อใหม่เป็นแผนแม่บท เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขณะเดียวกัน ความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ พ.ศ..… อยู่ในวาระ 2-3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
    ขณะที่เรื่องการบริหารจัดการน้ำแต่ละปี รัฐบาลจัดสรรวงเงินกว่า 60,000 ล้านบาท ให้ 38 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่จะต้องผ่านการกลั่นกรองของ สทนช. และ กนช. เพื่อให้แผนการบริหารจัดการงบประมาณสอดรับกับแผนบริหารจัดการน้ำ ส่วนโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ปี 62-65 มี 31 โครงการ ที่จะครอบคลุมถึงการขาดแคลนน้ำและน้ำท่วม และใน 20 ปี รัฐบาลยังวางแผนระยะยาว โดยมีแผนดำเนินโครงการ 11 โครงการใหญ่ภายในปี 62 ขณะที่ปี 63 มี 12 โครงการ ส่วนโครงการที่เหลือจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 65
    พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวด้วยว่า ขอฝากนักการเมืองและรัฐบาลที่จะเข้ามาด้วยว่า แผนน้ำเกิดประโยชน์กับประชาชนจริงๆ หลายโครงการที่รัฐบาลนี้ดำเนินการต้องใช้เวลา 5 ปี 10 ปี หากไม่เดินต่องานทั้งหมดจะสะดุด เราลงฐานไปแล้ว ดังนั้นรัฐบาลชุดต่อไปควรจะต้องทำ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องช่วยเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลชุดต่อไปเดินหน้าตามแผนงานที่เราวางไว้
    ด้านนายสมเกียรติกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป และยังรับทราบแผนการทบทวนการขยายยุทธศาสตร์น้ำ จาก 12 ปี เป็น 20 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยจะเสนอกรอบเวลาประมาณเดือน ต.ค. นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการดำเนินโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบในปี 62 โดยพร้อมดำเนินการทั้งสิ้น 11 โครงการ วงเงิน 73,679 ล้านบาท
    นายวันชัยกล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ช่วงฤดูฝน คาดว่าจะหมดในช่วงเดือน ต.ค. โดยสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ต.ค. จะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว โดยพายุไต้ฝุ่นมังคุด คาดว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทย ให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นในภาคเหนือและอีสานตอนบน จนถึงวันที่ 19 ก.ย.นี้ ซึ่งในวันที่ 15 ก.ย.ต้องเฝ้าระวังที่ จ.นครนายก สระแก้ว ระยอง และตราด โดยจะมีฝนมากกว่า 50 มิลลิเมตร ส่วนวันที่ 16 ก.ย. จะมีแค่ จ.ตราด ระนอง และพังงา มีฝนมากกว่า 50 มิลลิเมตร วันที่ 17 ก.ย. ภาคเหนือ เช่น จ.เชียงราย น่าน เป็นต้น ซึ่งฝนที่จะตกภาคเหนือ อีสาน และตะวันออก จะทำให้บริเวณลุ่มน้ำมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง
    ต่อมาเวลา 17.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือน "พายุมังคุด” (MANGKHUT) ฉบับที่ 3 ว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 14 ก.ย. พายุไต้ฝุ่น “มังคุด” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกหรือด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 16.7 องศาเหนือ ลองจิจูด 125.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 204 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ และจะเคลื่อนลงทะเลจีนใต้ตอนบน ในช่วงวันที่ 14-15 ก.ย. หลังจากนั้น ผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน เข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีนตอนใต้ ในช่วงวันที่ 16-18 ก.ย. และอ่อนกำลังลงตามลำดับ 
    ซึ่งจะส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรง ทำให้บริเวณพื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ สำหรับบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักเกิดขึ้นได้ในช่วงวันที่ 17-19 ก.ย. ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่ม
    สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ในช่วงวันที่ 16-20 ก.ย. จะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงกว่า 4 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง และขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งให้ระมัดระวังคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง ในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
    นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยว่า ยังพบว่ามีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ซึ่งพายุดีเปรสชันบารีจัตสลายตัวไปแล้วเมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 13 ก.ย. ยังเหลือไต้ฝุ่นมังคุดกำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อยและจะลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน 
    โดยขณะนี้พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมาก 49 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม สมุทรสาคร นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง 
    นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ฝนปีนี้น้อยกว่าปี 54 มาก จึงไม่ต้องกลัวน้ำท่วม ล่าสุดปริมาณน้ำผ่าน จ.นครสวรรค์ ยังมีน้อยอยู่ โดยปีนี้ในอัตรา 3.1 พันล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปี 54 ในอัตรา 9 พันล้าน ลบ.ม. ต่างกันมากเกือบ 3 เท่าตัว ปีที่แล้ว 5 พันล้าน ลบ.ม. ดังนั้นปีนี้จะไม่ท่วมพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง ไม่ต้องกังวล ไม่กระทบกรุงเทพฯแน่นอน เพราะสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้ำน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่วนค่าเฉลี่ยฝนปีนี้ยังมากกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 30 ปี อย่างไรก็ตาม พายุโซนร้อนที่เกิดขึ้นมาบริเวณเอเชียใต้ในทุกปีมี 26 ลูก ซึ่งขณะนี้เกิดขึ้นแล้ว 23 ลูก ฉะนั้นจะเหลืออีก 3 ลูก ที่น่าจะมีพายุเกิดขึ้น ยังไม่รู้เส้นทางไปแนวใด ส่งผลกับไทยหรือไม่ ต้องเฝ้าระวัง ที่ผ่านมายังไม่มีพายุเข้าไทยโดยตรง ซึ่งเดือน ก.ย.เป็นช่วงพายุมากที่สุด ถ้าผ่านไปเดือน ต.ค.จะน้อยลง ดังนั้น 2 สัปดาห์นี้ยังเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตามฝนตกชุกช่วงนี้ส่งผลดีให้เก็บน้ำในเขื่อนได้มาก เพราะมีปรากฏการณ์เอลนีโญ พายุหมดเร็ว เป็นสัญญาณแล้งเกิดขึ้นตลอดช่วง 2 ปีข้างหน้าเข้าสู่วิกฤติภัยแล้งรุนแรงเช่นเดียวกับปี 58 เริ่มแล้งตั้งแต่เดือน ต.ค. พ.ย. นี้ ซึ่งเตือนเกษตรกรผลผลิตจะเสียหายจากภัยแล้ง การบริหารน้ำเขื่อนต้องสำรองไว้ใช้เกิดภัยแล้ง 2 ปีข้างหน้าด้วย.
       
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"