เมื่อผมไปเยี่ยม โรงเรียนหมูป่า


เพิ่มเพื่อน    

    ผมไปเยี่ยม “โรงเรียนหมูป่า” ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายมาครับ
    ไม่ได้ตั้งใจไปเจอ “หมูป่า” แต่ไปเจอผู้อำนวยการโรงเรียนและเพื่อนๆ ของหมูป่า เพื่อศึกษาทำความเข้าใจของบรรยากาศการเรียนการสอนที่นั่น
    พูดคุยกันแล้ว ผมพบว่า “โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์” เป็นสถาบันการศึกษาระดับมัธยมต่างจังหวัดที่น่าทึ่งมาก
    โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนกว่า 2,800 คน มีการสอนหลายภาษา เพราะตั้งอยู่ตรงชายแดนติดกับพม่าและใกล้กับจีน จึงมีนักเรียนต่างชาติพันธุ์ ทำให้มีความหลากหลายมากกว่าโรงเรียนในเมืองใหญ่อื่นๆ
    เพราะความเป็นโรงเรียนตรงชายแดนนี่แหละครับที่ทำให้นักเรียนที่นี่มีความกล้าที่จะเลือกเรียนภาษาต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ, จีน, ญี่ปุ่นหรือพม่าได้อย่างคล่องตัว
    และด้วยเหตุผลนี่อีกเช่นกันที่ทำให้เด็กที่นี่กล้าพูดกล้าแสดงออกมากกว่าเด็กในเมืองใหญ่ๆ ที่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับเพื่อนที่มีพื้นภูมิที่แตกต่างกัน
    และอาจจะเป็นเพราะความหลากหลายนี่เองกระมัง ที่ทำให้ผมสัมผัสได้ถึงความมี “ไหวพริบ” ในการสื่อสาร...อีกทั้งกล้าฝันมากกว่าเด็กไทยในบรรยากาศการเรียนการสอนอื่นๆ
    ผู้อำนวยการโรงเรียน คุณเคณศ พงษ์สุวรรณ บอกผมว่า ที่โรงเรียนนี้มีเด็กนักเรียนจากชาติพันธุ์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นจีน, พม่า, ไทยใหญ่, และชาวเขาต่างๆ จึงทำให้มีการผสมผสานของวัฒนธรรมที่ลงตัว
    ผมคุยกับเด็กนักเรียนมัธยม 5 และ 6 กลุ่มหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่มาจากยูนนานของจีน, พม่า, และไทยใหญ่ที่เป็นเพื่อนกับนักฟุตบอลจาก “หมูป่าอะคาเดมี” ที่ไปติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จนกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก
    จากหมูป่าทั้งหมด 13 คน มี 4 คนที่เป็นนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้
    และล่าสุดทั้ง 4 คนได้สัญชาติไทยไปแล้ว เพราะได้เดินเรื่องตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
    เด็กนักเรียนที่ผมคุยด้วยวันนั้นบางคนก็ยังอยู่ในกลุ่ม “หัวศูนย์” อันหมายถึงหมายเลขประจำตัวยังขึ้นด้วยเลข 0 
    แปลว่ายังเป็นคนไร้สัญชาติ ต้องเดินเรื่องตามขั้นตอนไปเรื่อยๆ จนขยับมาที่หมายเลขประจำตัวเริ่มด้วยเลข 8
    จากนั้นหากเบอร์ประจำตัวเริ่มด้วยเลข 1 เมื่อใด จึงจะได้สัญชาติไทย
    ขั้นตอนกระบวนการนี้ยืดเยื้อยาวนานพอสมควร แล้วแต่ว่าจะไปค้นหาเอกสารการเกิดและที่โยงใยไปถึงพ่อแม่ญาติพี่น้องต่างๆ อย่างไร
    ผมสังเกตว่าเด็กหลากหลายชาติพันธุ์เหล่านี้มีสีหน้าและท่าทีที่มุ่งมั่น ตั้งใจเรียน และทำกิจกรรมจนคุณครูเห็นความโดดเด่นทั้งเรื่องการแสดงออก, ภาษาและความสามารถในการเข้าสังคม อีกทั้งพัฒนาความเป็นผู้นำได้อย่างน่าสนใจ
    หมูป่าทั้ง 4 คนกลับมาเรียนหนังสือตามปกติแล้ว เพื่อนๆ ดีใจกันมาก ช่วงที่ยังมีปฏิบัติการช่วยหมูป่าออกจากถ้ำ ทั้งครูและนักเรียนก็ภาวนาให้สำเร็จ ลุ้นกันตัวโก่ง และเมื่อสำเร็จแล้วทุกคนก็โล่งอก ต้อนรับการกลับมาของหมูป่าอย่างยินดีปรีดายิ่ง
    ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกว่า เมื่อหมูป่าทั้ง 4 กลับมาก็ให้ใช้ชีวิตตามปกติ อาจจะมีการสอนวันเสาร์-อาทิตย์พิเศษเพื่อเสริมความรู้ที่ขาดหายไประหว่างที่ติดถ้ำ
    “แต่โดยทั่วไปแล้ว หมูป่าก็กลับมาใช้ชีวิตเป็นนักเรียนเหมือนเดิม ซนตามประสาของเด็ก ไม่มีปัญหาปมเด่นหรือปมด้อยอะไร ทั้งครูและเพื่อนๆ ก็ปฏิบัติต่อหมูป่าเหมือนเดิมทุกอย่าง ไม่ค่อยจะคุยเรื่องติดถ้ำด้วยซ้ำไป” ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกผม
    ที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่านั้นคือ การปรับตัวของครูและนักเรียนในภาวะที่เกิด “ความป่วน” หรือ disruption ทางเทคโนโลยี
    ผมถามนักเรียนว่า การเรียนการสอนได้เปลี่ยนไปได้อย่างไรบ้าง มีการปรับตัวกันมากไหม
    นักเรียนและผู้อำนวยการโรงเรียนตอบตรงกันว่า ทั้งครูและนักเรียนต่างปรับตัวกันมากขึ้น เพราะเด็กสามารถหาความรู้และข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทางออนไลน์ได้ ดังนั้นครูก็ต้องปรับวิธีการสอน แทนที่จะสอนตามหนังสือหน้าห้อง ก็ชักชวนให้นักเรียนได้ฝึกการพูดการวิเคราะห์
    “บางทีคุณครูก็ยังบอกว่าครูกับนักเรียนต่างคนต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน” หนึ่งในนักเรียน ม.6 เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศที่เปลี่ยนไปในห้องเรียน
    ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกผมว่า
    “จริงครับ เด็กทุกวันนี้เก่งมากขึ้น กล้าพูดกล้าแสดงออก ไม่เหมือนรุ่นผม อุตส่าห์ไปทำปริญญาโทมาถึงสองใบ แต่พูดภาษาอังกฤษสู้เด็กสมัยนี้ไม่ได้...ดีครับ นี่เป็นแนวโน้มที่ดีมากครับ เด็กรุ่นหลังต้องเก่งกว่าคนรุ่นเราครับ”
    ผมตั้งใจจะไปหาเพื่อนของ “หมูป่า” แต่ได้เจอสิ่งที่ทำให้ผมมีความหวังในบรรยากาศการเรียนการสอนของโรงเรียนของหมูป่ามากเลยครับ
    ทำให้ผมเข้าใจว่าทำไม “หมูป่า” จึงมีความมั่นใจ, อดทนและไหวพริบจนรอดมาได้อย่างมหัศจรรย์!. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"