โรคเสียการทรงตัวเกิด 1 ในล้าน รักษาไม่หายเกิดจากกรรมพันธุ์


เพิ่มเพื่อน    

cr:ภาพจาก Bangkok Health Research Center 

 

 

19ก.ย.61-จากกรณี พ.อ.วีร์ โรจนวงศ์ ทหารประจำกรมทหารสื่อสาร ช่วยราชการกองส่งกำลังบำรุง กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก ออกมาเปิดเผยเรื่องราวผ่านเพจ "เสธ.วีร์ ชีวิตไม่ยอมแพ้" ถึงอาการป่วยด้วยโรคสูญเสียการทรงตัว Spino Cerebellar Ataxia 3 หรือ SCA3 ในวัย 47 ปี โดยระบุว่าโรคนี้เกิดจากกรรมพันธุ์และรักษาไม่หาย เกิดความลำบากในการเคลื่อนที่ เคลื่อนไหว

 พญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการทรงตัวผิดปกติ มีสาเหตุมาจาก 2 อวัยวะที่ทำงานผิดปกติ คือ หู และสมองที่ควบคุมการทรงตัว ทำให้เกิดการทรงตัวไม่ดี จนเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้ลำบาก และเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุหกล้มจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ สำหรับความผิดปกติจากหูนั้น เนื่องจากหูทั้ง 2 ข้างเปรียบเสมือนตาชั่ง เป็นอวัยวะในการช่วยการทรงตัว หากมีความไม่สมดุลจะทำให้เกิดการเวียนศีรษะ ทรงตัวไม่ได้ โดยปัญหาการทรงตัวที่เกี่ยวกับหู เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน การอักเสบในหูชั้นใน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากปรับสมดุลในหูได้อาการก็จะดีขึ้น หรือหากรักษาก็จะกลับมาหายเป็นปกติได้
พญ.ทัศนีย์ กล่าวว่า ส่วนความผิดปกติจากสมองและระบบประสาทนั้น ส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวคือ สมองน้อยหรือซีรีบัม ซึ่งจะรับสัญญาณมาจากหูเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหว และมีส่วนเชื่อมโยงสมองน้อยไปยังสมองใหญ่ ซึ่งหากมีปัญหาที่สองส่วนนี้ก็จะทำให้เกิดการทรงตัวที่ไม่ดีได้ โดยปัญหาการเคลื่อนไหวและทรงตัวจากสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน หลอดเลือดสมองตีบตรงสมองน้อย การอักเสบของส่วนเชื่อมโยงสมองน้อยและสมองใหญ่ เป็นต้น สำหรับโรคสูญเสียการทรงตัว Spino Cerebellar Ataxia (SCA) เกิดจากความเสื่อมของสมองน้อย สาเหตุมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ลักษณะเด่นคือ จะถ่ายทอดไปยังลูกแบบ 50:50 ทำให้มีปัญหาเรื่องการทรงตัวและการเคลื่อนไหว ถือเป็นโรคที่พบได้น้อย อัตราการเกิดอยู่ที่ 1 ในล้านคน โดยโรคนี้มีทั้งหมด 11 ไทป์ ซึ่งกรณีข่าวดังกล่าวผู้ป่วยเป็นไทป์ที่ 3 หรือ SCA3

พญ.ทัศนีย์ กล่าวว่า โรค SCA ได้แต่ละชนิดหรือแต่ละไทป์นั้น จะมีอาการเรื่องการทรงตัวเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันไปเล็กน้อยในเรื่องของเวลาที่เกิดโรค เช่น บางชนิดจะเป็นตอนอายุน้อย บางชนิดเป็นตอนอายุมาก โดยบางกลุ่มอาจมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ หรือการมองเห็นผิดปกติร่วมด้วย ทั้งนี้ โรคดังกล่าวไม่สามารถรักษาให้หายได้ เนื่องจากเป็นการเสื่อมของสมองน้อยและส่วนเชื่อมสมอง ซึ่งจะเสื่อมไปเรื่อยๆ การรักษาจึงทำได้เพียงการประคับประคองและชะลอความเสื่อมของสมอง เช่น การทำกายภาพบำบัด การใช้ยาแก้อาการวิงเวียนศีรษะ หรือบางรายอาจมีการรับประทานวิตามินซี วิตามินอี ซึ่งเป็นแอนติออกซิแดนท์ เพื่อให้เกิดความเสื่อมของสมองน้อยลง เป็นต้น
พญ.ทัศนีย์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ได้พบบ่อย ดังนั้น จึงไม่ได้มีการตรวจคัดกรอง แต่หากพบว่าคนในครอบครัวมีประวัติเรื่องการสูญเสียการทรงตัวก็สามารถไปตรวจพันธุกรรมได้ว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ แต่หากตรวจพบว่าเป็นก็คือเป็นเลย ซึ่งอยู่กับว่าอยากรู้โรคเร็วมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ โรค SCA เมื่อสมองฝ่อไปมากๆ อาจทำให้กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงได้ สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้นั้น สิ่งที่ควรระมัดระวังคือ เรื่องของการเคลื่อนไหว ให้เคลื่อนไหวช้าๆ ไม่รีบ ใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ไม้เท้า หรือวอล์กเกอร์ และหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นให้รีบแจ้งแพทย์ที่ดูแล.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"