ฮักนะโขงเจียม-แวะจิบกาแฟกลางนา


เพิ่มเพื่อน    

(ชมวิวแม่น้ำโขงที่บ้านตามุย)

    ถ้าให้เลือกนิยามเรียกจังหวัดอุบลราชธานีสักหนึ่งประโยคสั้นๆ คำว่า “เมืองแม่น้ำโขง” น่าจะเป็นชื่อที่เหมาะกับอุบลฯ มากที่สุดชื่อหนึ่ง เพราะด้วยความที่เป็นจังหวัดที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง แม่น้ำที่คอยหล่อเลี้ยงชีพชาวอุบลฯ และคนอีสานมาตั้งแต่อดีตกาล
    ที่หยิบนิยามเมืองแม่น้ำโขงมาพูดก็เพราะอยู่ๆ ก็นึกถึงการไปเยือนอุบลฯ เมื่อไม่นานมานี้ตอนที่ได้รับคำเชิญชวนจากเพื่อนๆ พี่ๆ ในแวดวงเดียวกันให้ไป มีความตั้งใจไปที่บ้านตามุย ตำบลห้วยผึ้ง อำเภอโขงเจียม เพื่อร่วมงานเปิด “โครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP VILLAGE) 8 เส้นทาง 10 หมู่บ้าน” ซึ่งเป็นโครงการที่ประกาศชวนนักท่องเที่ยวที่สนใจเรื่องราวของธรรมชาติและวัฒนธรรม หรือไปเช็กอินถิ่นอารยธรรมอีสานใต้และสัมผัสวิถีชีวิตริมแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังบอกว่ามีสินค้าโอท็อปและกิจกรรมน่ารักๆ ของชาวบ้านให้ได้ชมเยอะ เราเลยไม่รีรอที่จะตอบตกลงไป
    ตอนที่ถึงอุบลฯ ฝนก็โปรยปรายลงมาเล็กน้อย เม็ดฝนที่ตกลงมามันทำให้ได้กลิ่นไอของดิน ชวนนึกถึงสมัยเด็กที่เคยเล่นกับดินกับหญ้า บรรยากาศเก่าๆ ตอนช่วงเรียนประถม ที่เล่นทำอาหาร เล่นขายของกับเพื่อนๆ ขณะที่กำลังเดินทางมุ่งหน้าไปโขงเจียม ผู้ร่วมทริปด้วยกันมีประมาณ 4-5 คน พี่คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าโขงเจียมมีชื่อเสียงเรื่องของบรรยากาศที่โรแมนติก หลายๆ คนที่ไปมักจะประทับใจ จนต้องมาอีกครั้ง เพราะนอกจากจะมีทิวทัศน์ที่สวยงามแล้วบรรยากาศยังดีอีกด้วย
    โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวอากาศเย็นสบายทั้งวัน เหมาะกับการนั่งชมวิวมองไปทางฝั่งประเทศลาว มีภูเขาสูงต่ำสลับทับซ้อนกันอย่างสวยงาม และนั่งมองแม่น้ำโขงสิ้นสุดในเขตแดนไทยก่อนที่จะไหลเข้าสู่เขตของประเทศลาว เหมือนแม่น้ำโขงไหลเข้าไปยังอ้อมกอดของภูเขา เคลิบเคลิ้มไปกับคำบอกเล่าได้สักพักก็มอออกไปข้างทาง เห็นปริมาณน้ำที่สูงจนเอ่อล้นตลิ่งขึ้นมา เพราะช่วงที่ไปนั้นฝนตกภาคอีสานมากจนน่าวิตก
    หนึ่งชั่วโมงจากตัวเมืองอุบลฯ หลับบ้างตื่นบ้าง จู่ๆ เสียงพิณเสียงแคนผสานกับเสียงกลองจังหวะโจ๊ะๆ ชวนโยก พร้อมกับเยาวชนและพ่อๆ แม่ๆ สวมใส่ชุดผ้าถุงง่ายๆ ถือพวงมาลัยคอยต้อนรับนักท่องเที่ยว มาพร้อมกับวงฟ้อนรำจังหวะเร้าใจ นี่เป็นสิ่งแรกที่นับว่าเป็นการต้อนรับของชาวบ้านตามุย เป็นพิธีการเล็กๆ ที่ชาวบ้านจัดเตรียม ต้อนรับแขกผู้มาเยือน ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องปกติที่ชาวบ้านทำ แต่พอดีช่วงที่ไปเป็นวันที่หมู่บ้านจัดกิจกรรมเปิดหมู่บ้านท่องเที่ยวโอท็อป ก็เลยมีพิธีการเป็นพิเศษขึ้น

(ชาวบ้านตามุยรำต้อนรับแขกมางานเปิดกิจกรรมโอท็อป)

    ที่ผ่านมา "บ้านตามุย" ไม่เคยเปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวมาก่อน แต่คนในพื้นที่และหมู่บ้านใกล้เคียงที่รู้จักที่นี่ ก็มักจะมาแวะเยือนเสมอ เพราะที่นี่มีจุดชมวิวให้ได้ถ่ายภาพแม่น้ำโขงได้แบบเต็มๆ ภายในหมู่บ้านอาจไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่น แต่ความน่าสนใจอยู่ที่บ้านหลายหลัง ผลิตสินค้าโอท็อปแบบของใครของมัน ไม่มีการเลียนแบบกัน ไม่ว่าผ้าถุงทอมือ ผ้าฝ้ายผืน หรือเสื่อทอด้วยใบเตย ยังมีอาหารแปรรูป และของอีกหลายๆ อย่างมากมาย จนทำให้หมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโอท็อป

(ชาวบ้านตามุยกับกระบวนการผลิตผ้าผืนงามที่บ้านตนเอง)

    จากปากคำของชาวบ้านตามุยเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะเป็นหมู่บ้านตามุย เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2401 มีกลุ่มคนจากบ้านนาโพธิ์ จำนวน 7 ครอบครัวมาอาศัยหาปลาที่ริมน้ำแถวบ้านท่าล้ง ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เคียงกัน แต่ด้วยความที่พื้นที่ตรงนี้มีความลาดชันมาก จึงมีการขยับขยายครอบครัวออกมาอยู่ในพื้นที่บ้านตามุยที่เป็นพื้นราบมากกว่าแทน เพราะสามารถปลูกผัก ทำเกษตรริมโขงได้ ส่วนชื่อ “ตามุย” ก็เรียกตามลำห้วยตามุย ซึ่งเป็นลำห้วยทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน แสดงถึงความอยู่เย็นเป็นสุขของคนในชุมชน
    บรรยากาศที่สวยงามของบ้านตามุย ยังมาจากการที่หมู่บ้านถูกขนาบข้างด้วยภูเขาและแม่น้ำ ด้านหน้าเลียบติดกับภูตามุย ส่วนด้านหลังเลียบติดกับแม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามคือ สปป.ลาว แขวงจำปาสัก ชาวบ้านที่นี่ยึดอาชีพหาปลา เก็บหาของป่าเพื่อกินและขาย ปลูกผักตามฤดูกาล เรียกว่าอาศัยแม่น้ำฝั่งโขงหล่อเลี้ยงชีวิต และยังมีการทำนาทำไร่อีกด้วย แต่เป็นพื้นที่น้อยนิด
    “แม่น้ำโขงหล่อเลี้ยงชีวิต เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและแหล่งทำมาหากิน สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว สายน้ำแห่งนี้จึงเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตผู้คนที่นี่มาตั้งแต่บรรพบุรุษและสืบทอดต่อลูกหลาน เด็กที่นี่ต่างเข้าใจว่า แม่น้ำโขงเป็นเส้นเลือดหลักหล่อเลี้ยงชีวิต หากมีแม่น้ำโขงพวกเขาก็จะมีที่อยู่อาศัย มีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ มีอาชีพ และยังเผื่อแผ่แบ่งปันไปถึงเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ในชุมชน ภาพของเด็กๆ บ้านตามุยที่คุ้นชินกับการหาหอย ช้อนกุ้ง เก็บผักริมโขงมาให้พ่อแม่ทำกับข้าว คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นทั้งความผูกพันและการพึ่งพิงแม่น้ำสายนี้ได้เป็นอย่างดี มาวันนี้วิถีชีวิตของคนที่นี่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แม้ว่าลูกหลานจะมีการโยกย้ายไปอยู่ต่างถิ่นบ้าง แต่ที่นี่ก็มีการพัฒนาหลายๆ อย่างในหมู่บ้านตนเอง เช่น การพัฒนาเป็นหมู่บ้านโอท็อปเพื่อการท่องเที่ยวในตอนนี้” ลุงคนหนึ่งเล่าให้พวกเราฟัง

(ชาวบ้านตามุยสาธิตทำผ้ามัดย้อม)

    สินค้าข้าวของเครื่องใช้ที่ชาวบ้านรวมกลุ่มกันผลิตน่าสนใจมาก ราคาไม่แพง ถูกกว่าที่ตลาดทั่วไป ที่นี่มีทั้งผ้าขาวม้า ทอผ้าฝ้าย ทอเสื่อใบเตย ผ้าห่มนวม พวงกุญแจแมลงทับ ส่วนอาหารการกินก็ไม่น้อยหน้า มีอาหารแปรรูปอย่างหน่อไม้ดอง ปลาแห้งชนิดต่างๆ ที่มาจากริมโขงนี่เอง แล้วยังมีกล้วยตาก กล้วยหอมหวีใหญ่ๆ ส้มโอเนื้อแน่นๆ ชาวบ้านบอกว่าปลูกริมโขงรสชาติจะดี
    พูดถึงสินค้าโอท็อปจากบ้านตามุย ไปไม่ไกลนัก ที่ "ผาแต้ม" ก็มีสินค้าโอท็อปมากมายให้เลือกซื้อ ทั้งพืชผัก สินค้าเกษตร ยิ่งถ้ามาในช่วงเทศกาลก็อาจได้ร่วมงานบุญในวันสำคัญทางศาสนาและงานประเพณีในท้องถิ่น ทั้งเทศกาลงานบุญเข้าพรรษา งานบุญออกพรรษา งานบุญบั้งไฟพญานาค งานบุญกฐิน งานบุญข้าวจี่ งานบุญข้าวประดับดิน และงานบุญสงกรานต์ หรืออาจจะได้ลงเรือล่องแม่น้ำโขงด้วย ถ้าอยากไปจริงๆ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โทร. 0-4535-1010 ได้เลย
    จากบ้านตามุย สถานที่ที่น่าสนใจอีกแห่งของในโขงเจียมก็คือ ร้าน “กาลครั้งหนึ่ง” เป็นร้านกาแฟผสานศิลปวัฒนธรรมริมโขง ตั้งอยู่ตรงถนนแก้วประดิษฐ์ ใกล้ๆ กับจุดชมวิวแม่น้ำสองสีและที่ว่าการอำเภอโขงเจียม ที่นี่เราแวะมาชิมกาแฟ ซึ่งเมนูก็คล้ายๆ กับร้านคาเฟ่อื่นๆ แต่ที่แตกต่างและน่าสนใจ ก็คือตัวร้านที่เป็นอาคารไม้เก่า ถูกตกแต่งสไตล์โบราณ พื้นที่โล่งๆ นั่งสบายๆ ได้นำเอาวิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่นของคนริมฝั่งน้ำโขงมาตกแต่ง ทั้งอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ การทอผ้าและย้อมสีธรรมชาติ วิถีชีวิตคนริมโขงถูกยกมาไว้ที่ร้าน นับว่าเป็นการให้ข้อมูลกับผู้ที่มาแวะเวียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น

(บรรยากาศของร้านกาลครั้งหนึ่งในโขงเจียม ตกแต่งด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนริมฝั่งน้ำโขง)

    นั่งที่ร้านกาลครั้งหนึ่งสักพักก็นึกขึ้นได้ว่า ไม่นานมานี้บนโลกโซเชียลฮือฮากันมาก มีการแชร์ภาพบรรยากาศของกระท่อมกลางท้องนา มีสะพานไม้เชื่อมและคลาคล่ำไปด้วยหนุ่มสาวมาถ่ายรูปกันอย่างคึกคัก มันเป็นแลนมาร์คแห่งใหม่ของชาวอุบลฯ ที่แห่งนี้มีชื่อว่าร้าน “มา นา เด้อ” ร้านกาแฟสไตล์ลอฟต์ อยู่กลางทุ่งนาสีเขียวบนเนื้อที่ 30 ไร่ ที่อำเภอเขื่องใน ซึ่งเพิ่งเปิดตัวช่วงเข้าพรรษาเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง

(บรรยากาศของร้าน “มา นา เด้อ” แลนมาร์คที่นิยมของหนุ่มสาว)

    จากร้านกาลครั้งหนึ่งจึงมุ่งหน้าสู่ "มา นา เด้อ" เพราะอยากจะอิงกระแสสักหน่อย ใช้เวลาเดินทางเกือบชั่วโมง ไปถึงจะเห็นผู้คนมากมาย เห็นตั้งแต่รถที่จอดข้างทางยาวหลายกิโลเมตรจนไม่มีที่ว่างจอด ร้านนี้เจ้าของร้านอยากให้เด็กรุ่นใหม่มาสัมผัสธรรมชาติเลยทำร้านนั่งชิลๆ บรรยากาศท้องทุ่งนาในพื้นที่บ้านเกิดเนื้อที่ 30 ไร่ แยกเป็นส่วนของตัวร้าน 8 ไร่ ส่วนของกระต๊อบนั่งเล่นและส่วนจำลองวิถีชีวิตของชาวนาในอดีต เราไม่ได้ชิมกาแฟของที่นี่เพราะคนเยอะมาก รอไม่ไหวเลยไปเดินเล่นแวะเก็บภาพท้องนาสักพัก ประมาณ 10-20 นาที จำนวนคนที่มาที่นี่ไม่ได้ลดลงเลย มีแต่เพิ่มขึ้น ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะหนุ่มสาว เรากำลังคิดว่าเป็นไปได้ที่คนเหล่านี้กำลังโหยหาอดีต วิถีชีวิตเดิมๆ เรียบง่ายอยู่หรือเปล่า และเชื่อว่าท้องนาก็เป็นหนึ่งในความทรงจำวัยเด็กของใครหลายๆ คนแน่ๆ
    จริงๆ ตอนที่ไปอุบลฯ ยังมีเรื่องราวน่าสนใจอีกเยอะ แต่เราเลือกหยิบไฮไลต์ของทริปมาเล่า ใครมีโอกาสก็หาเวลาไปเที่ยวอุบลฯ ถิ่นแม่น้ำโขงสักครั้ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"