วิชาชีวิต...ทางรอดเด็กและเยาวชน


เพิ่มเพื่อน    

ปัจจุบันสังคมได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในหลายมิติ และกำหนดให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ เพื่อเปิดพื้นที่สนับสนุนและส่งเสริมให้พลังคนรุ่นใหม่ๆ เติบโตอย่างมีสุขภาวะในทุกมิติ เพื่อก้าวขึ้นไปสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและส่วนรวม 

 

ล่าสุดมีการจัดกิจกรรม "วิชาชีวิต...ทางรอดเด็กและเยาวชน" เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2561 ขึ้น ที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยมี ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธาน พร้อมกิจรรมที่น่าสนใจ อาทิ นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วาดภาพสามมิติ บริเวณผนังอาคาร ลานกิจกรรมเกาะพญาไท, เสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองในการป้องกันและแก้ไขปัญหาปัจจัยเสี่ยงรอบตัว เหล้า บุหรี่ พนัน ท้องไม่พร้อม บูธกิจกรรมและการแสดงดนตรีของเยาวชน โดยมีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมกว่า 100 คน              

ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือของ สสส.และภาคีเครือข่าย อาทิ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก นักศึกษาคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมจัดกิจกรรมเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชน ทั้งในระบบการศึกษา นอกระบบการศึกษา รวมถึงเด็กเยาวชนที่เคยก้าวพลาดในชีวิตเพื่อให้สังคมได้เข้าใจและให้โอกาส

      

รวมทั้งนำเสนอแนวคิดเรื่อง "วิชาชีวิต หรือ ทักษะชีวิต" ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะด้านการศึกษา ได้ตระหนักถึงปัญหานำไปสู่การพัฒนาต่อยอดให้เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืนต่อไป รวมทั้งใช้โอกาสวันเยาวชนแห่งชาตินี้ ทำให้สังคมเห็นความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหา ที่เน้นให้เด็กและเยาวชนเป็นศูนย์กลางและมีส่วนร่วมมากขึ้น

               

ผู้จัดการ สสส.กล่าวต่อว่า ล่าสุดมีข้อมูลที่น่ากังวลโดยพบว่า เด็กและเยาวชนไทยเล่นพนันมากถึง 3.6 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีนักดื่มหน้าใหม่ 250,000 คนต่อปี รวมถึงในแต่ละปีมีเด็กและเยาวชนไทยเสียชีวิต เพราะอุบัติเหตุเฉลี่ยปีละ 2,510 ราย โดยจากสถิติคือช่วงอายุ 15-19 ปี ที่เสียชีวิตสูงสุด ขณะเดียวกัน เด็กไทยอายุ 15-24 ปี ติดบุหรี่แล้วกว่า 1,500,000 คน โดยมีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ก่อคดีเข้าสู่สถานพินิจฯ 30,000 คนต่อปี เกือบครึ่งเป็นคดียาเสพติด

               

ทั้งนี้ สสส.ได้ร่วมกับศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายฯ ทำการพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งต่อยอดในเรื่องทักษะชีวิตหรือวิชาชีวิต ที่ป้ามล ทิชา ณ นคร ได้ดำเนินการจนเกิดผลลัพธ์เชิงประจักษ์มากมายในบ้านกาญจนาภิเษก และนำมาประยุกต์ทดลองปฏิบัติจริงผ่านการวิจัยเชิงปฏิบัติการในโรงเรียนนำร่อง คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่เป็นองค์ความรู้แบบรูปธรรมในเร็วๆ นี้

               

นางทิชา ณ นคร (ป้ามล) ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ผู้ใหญ่มักสร้างวาทกรรมว่าเยาวชนคืออนาคต ทำให้ศักยภาพบางด้านไม่ถูกพัฒนา เพราะถูกผู้ใหญ่จัดแจงป้อนให้ คิดให้ หรือรอรับคำสั่ง ดังนั้นเราควรมองว่าเยาวชนคือปัจจุบัน และเยาวชนคือโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของสังคม ที่รัฐบาลควรสนับสนุนให้พวกเขามีพื้นที่เรียนรู้ ฝึกฝนต่อยอดทักษะต่างๆ อย่างเป็นระบบ มีนโยบาย มีงบประมาณ มีพื้นที่ที่ชัดเจน ก่อนที่เขาเหล่านี้จะเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นผู้ใหญ่เพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมต่อไป

               

ทั้งนี้ ที่บ้านกาญจนาภิเษกมีหลักสูตร “วิชาชีวิต’” ที่ช่วยหล่อหลอมจิตใจให้ลูกหลานที่นี่คืนกลับเป็นคนดีของสังคม เปิดโอกาสให้พวกเขาได้กลับตัวกลับใจ ด้วยความเชื่อที่ว่า มนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ ความบาดเจ็บของเขาเป็นเรื่องของการไม่มีตัวตน ไร้คุณค่า จึงต้องมีเครื่องมือทำงานให้เหมาะกับตัวตนของเขา วิชาชีวิตแบ่งออกเป็นกลุ่มสาระ 8 วิชา เหมือนหลักสูตรโรงเรียนทั่วไป เพียงแต่เนื้อหาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อาทิ วิชาผู้รอดบนความขาดพร่อง, วิชาความรุนแรงและอาชญากรรม, วิชากระตุ้นความเป็นมนุษย์ สำนึกดี ใฝ่ดี, วิชาการหลบหนีและผลลัพธ์ที่ตามมา หรือวิชาชมภาพยนตร์ เป็นต้น โดยทุกๆ กลุ่มสาระจะมีความยืดหยุ่นสูง ถูกประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ความเป็นจริงของสังคม

               

นายเอ (นามสมมติ) อายุ 19 ปี จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวถึงอดีตที่เคยก้าวพลาดจนทำให้ต้องมาอยู่ในสถานพินิจฯ ว่า ตั้งแต่โตมาใช้ชีวิตอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการพนัน เพราะพ่อเปิดบ่อน ส่วนตนเริ่มเล่นพนันตั้งแต่อายุ 10 ขวบ รวมทั้งติดสารเสพติดด้วย

               

เมื่อเงินขาดมือจึงใช้วิธีจี้ชิงทรัพย์ในร้านสะดวกซื้อ กระทั่งถูกตำรวจจับดำเนินคดี ส่วนครอบครัวเกิดปัญหาหนี้สินจากการพนันกว่า 2 ล้าน ต้องขายทรัพย์สินใช้หนี้จนหมด เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เราพ่อลูกกลับตัว  เห็นพิษภัยจากการพนันและอบายมุข ทำให้เลิกเล่นพนันเด็ดขาด ซึ่งการได้เข้ามาใช้ชีวิตที่บ้านกาญจนาภิเษก ยิ่งทำให้รู้จักคำว่าวิชาชีวิต ได้สติคิดบวกมากขึ้น มองสังคมมองปัญหาต่างๆ อย่างเข้าใจ หากพ้นโทษก็อยากขอโอกาสจากสังคมให้คนที่ก้าวพลาดที่พร้อมจะปรับตัวเปลี่ยนเป็นคนใหม่ ให้ได้ให้มีพื้นที่ยืนอย่างภาคภูมิใจในสังคม

               

ขณะที่น้องซี (นามสมมติ) อายุ 17 ปี กล่าวถึงปัญหาท้องไม่พร้อมที่เกิดขึ้นกับตัวเธอเองว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ปัจจุบันตนได้ใช้ชีวิตร่วมกับแฟนและช่วยกันทำงานเลี้ยงลูก ในช่วงที่ท้องอยู่ได้ปรึกษากับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ได้รับคำปรึกษาที่ดีว่าแม้จะตั้งท้องก็สามารถไปเรียนตามปกติได้ ขอเพียงเข้มแข็งรับมือกับสังคมในโรงเรียนให้ได้

               

ทั้งนี้ ขอฝากเป็นแง่คิดกับวัยรุ่นว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็อย่าทิ้งการเรียน ยังไงต้องทำหน้าที่เรียนหนังสือให้สำเร็จ เพื่ออนาคตที่ดีในวันข้างหน้า เมื่อเกิดปัญหาไม่ควรเก็บเรื่องไว้คนเดียว โดยส่วนตัวต้องการให้ทุกโรงเรียนมีครูหรือส่วนงานที่เป็นมิตรสามารถให้คำปรึกษาที่ดี ไม่ซ้ำเติมในวันที่ผิดพลาด และร่วมกันหาทางออกมากกว่าพยายามปกปิด หรือขจัดคนที่ก้าวพลาดออกไปจากโรงเรียนหรือพื้นที่นั้น

               

เชื่อว่ากิจกรรมในวันเยาวชนแห่งชาติจะทำให้สังคมเห็นความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหา ที่เน้นให้เด็กและเยาวชนเป็นศูนย์กลางและมีส่วนร่วมมากขึ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"