ติงอย่าชะล่าใจ พายุไต้ฝุ่นจ่ามี ลุ้นผ่านไต้หวัน


เพิ่มเพื่อน    

    "นายกฯ" ห่วงอากาศแปรปรวน เตือน ปชช.เตรียมรับมือ "อุตุนิยมวิทยา" แจ้งพายุไต้ฝุ่น "จ่ามี" ไม่กระทบไทย "สมิทธ" ติงอย่าเพิ่งชะล่าใจ ชี้รอพายุผ่านเกาะไต้หวันไปก่อน "ศูนย์เฉพาะกิจฯ" เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ระบุ 27-29 ก.ย.ร่องมรสุมพาดผ่านทำทั่วไทยมีฝนตก "สทนช." วางแผนบริหารจัดการน้ำรับภัยแล้ง 
    เมื่อวันที่ 24 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงสภาพอากาศในช่วงนี้ว่า เป็นห่วงสถานการณ์ฝนลมฟ้าอากาศในขณะนี้ ขอให้ทุกคนระมัดระวังด้วยเดี๋ยวจะไม่สบาย ตนเป็นห่วงประชาชนที่มีพายุเข้ามา ซึ่งตอนนี้สภาวะอากาศโลกเราเปลี่ยนแปลง หลายๆ พื้นที่ฝนเคยตกก็อาจจะไม่ตก บางพื้นที่ไม่เคยตกก็อาจจะตก ตกมากหรือน้อยเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เราต้องแก้ไขด้วยการบริหารจัดการน้ำให้ดี ประชาชนทุกคนก็ต้องเตรียมการรับมือ 
    "เราต้องอยู่กับธรรมชาติให้ได้ เราหลีกเลี่ยงธรรมชาติไม่ได้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็เคยมีรับสั่งมาแล้ว และวันนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ก็มีรับสั่งหลายเรื่องด้วยกัน ซึ่งรัฐบาลก็น้อมนำพระราโชบายมาปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ" นายกฯ กล่าว
    ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยารายงานสภาพอากาศว่า พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีปริมาณฝนน้อยลง ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้และภาคตะวันออกระวังอันตรายจากฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย 
    "พายุไต้ฝุ่นจ่ามี (TRAMI) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านเกาะไต้หวัน และเคลื่อนเข้าประเทศญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 29-30 ก.ย.61 ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทางด้วย โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย"
    กรมอุตุฯ ระบุว่า ส่วนพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีเมฆเป็นส่วนมากกับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ  60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36  องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
    อย่างไรก็ดี นายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นจ่ามีว่า สิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวตัดสินคือ เมื่อพายุเข้ามาในทะเลจีนใต้ตอนที่ผ่านไต้หวันจึงจะรู้ชัดเจนว่าพายุดังกล่าวจะเข้ามาที่ไทย หรือมีผลกระทบกับไทยหรือไม่ ดังนั้นตอนนี้จะประมาทหรือบอกว่าตัวพายุจะไม่มีผลกระทบกับไทยไม่ได้
    "ช่วงนี้พายุที่เกิดขึ้นมักมีความรุนแรงถึงขั้นเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นและเกิดขึ้นถี่มาก เป็นเพราะอากาศทั่วโลกผิดปกติ เพราะภาวะปรากฏการณ์โลกร้อน และปรากฏการณ์รัศมีดวงอาทิตย์เข้าใกล้โลกมากขึ้น  เกิดสภาวะพลังงานนอกโลกมีการเปลี่ยนแปลง และการระเบิดของดวงอาทิตย์ถี่มากขึ้น ทั้งหมดจึงทำให้สภาพอากาศมีความรุนแรงมากขั้น เกิดผลกระทบไปหมด" นายสมิทธกล่าว
    อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า กรณีที่ฝนตกหนักจนน้ำท่วมช่วงนี้เกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำเท่านั้น ยังไม่ใช่อิทธิพลพายุจ่ามีแต่อย่างใด อย่างที่บอกจะทราบแน่ชัดว่าพายุลูกดังกล่าวจะผ่านเข้าไทยหรือไม่ ต้องรอให้ผ่านเกาะไต้หวันก่อนจึงจะทราบผลแน่ชัด
    ขณะที่นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.ต่อเนื่องถึงวันที่ 26 ก.ย. ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม บริเวณแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่ แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง 
    "ในช่วงวันที่ 27-29 ก.ย.นี้ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง จะทำให้ภาคกลาง ภาคตะวันออก  และภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง" ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติกล่าว
    วันเดียวกัน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 8/2561 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2561/2562
    นายสมเกียรติกล่าวว่า เบื้องต้นที่ประชุมได้มอบหมายหน่วยงานในพื้นที่พิจารณาดำเนินการใน 4  แนวทาง คือ 1.บริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 2.เตรียมความพร้อมของเครื่องจักร  เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และรถยนต์บรรทุกน้ำให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันทีหากมีการร้องขอ 3.เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่ พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง และ 4.การแจ้งเตือนเกษตรกรล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย เพื่อวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับน้ำที่มีอยู่ และกำกับดูแลให้เป็นไปตามแผนการปลูกพืชฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร
    "หลังกรมอุตุฯ ประกาศสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือน ต.ค.และเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว สทนช.ได้มีการทบทวนขอปรับเกณฑ์การเฝ้าระวังปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำตั้งแต่ภาคกลางถึงภาคเหนือ จากเดิมเฝ้าระวังที่ร้อยละ 80 ของความจุอ่างเก็บน้ำ เป็นร้อยละ 95 ของความจุอ่างเก็บน้ำ  เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำที่ใกล้สิ้นสุดฤดูฝนแล้ว สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 60 ของความจุอ่างเก็บน้ำ สทนช.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำบัญชีรายชื่อและจัดลำดับความสำคัญเพื่อส่งให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรนำไปจัดแผนการปฏิบัติการฝนหลวง และเร่งดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป" เลขาธิการ สทนช.กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"