สกัดสืบทอดอำนาจ หึ่งเพื่อไทยเดินเกมขวาง'ประยุทธ์'-ดัน'มาร์ค'นั่งนายกฯ


เพิ่มเพื่อน    

    "บิ๊กตู่" ไม่กลัวแรงเสียดทานหลังประกาศจุดยืนทางการเมือง บอก 4 ปีเริ่มปรับตัวได้ ลดดุเดือด   เสียงนุ่นนวลควบคุมอารมณ์ดีขึ้น ไฟเขียว "รมต." ร่วมงานพลังประชารัฐ "สุริยะ" เปิดบ้านดูดอดีต ส.ส.ชลบุรีเข้ากลุ่มสามมิตร "แม้ว" ผวาเครือญาติโดนตามเช็กบิล หันชู "หญิงหน่อย" นำทัพ สะพัด! "เพื่อไทย" เดินเกมจับมือ "ประชาธิปัตย์" ส่ง "โภคิน" คุย "มาร์ค" ชูนั่งนายกฯขวางรัฐบาลทหาร "ปชป." เลือกหัวหน้าพรรคยังวุ่น เสียงส่วนใหญ่มั่นใจ "อภิสิทธิ์" เหนือคู่แข่ง "ธนาธร" ขึ้นเวทีนิวยอร์ก ลั่นสู้เพื่อนำประชาธิปไตยคืนมา
    มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องภายหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศท่าทีสนใจงานการเมืองเพราะรักประเทศชาติ แต่จะไม่ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช.
    เมื่อวันอังคาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวหลังการประชุม คสช. และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าได้หารือกันในที่ประชุม คสช.ว่าเราจะทำอย่างไรให้การปฏิรูปประเทศและการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ชาติจะได้รับการสืบต่อในการทำงานวันข้างหน้าต่อไปได้ ถือเป็นกลไกของการบริหารซึ่งจะต้องพิจารณาต่อไป 
    "ในวันข้างหน้าเราจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผมก็ต้องพยายามทำในสิ่งที่ทำวันนี้ให้สามารถต่อเนื่องได้ ไม่ได้หมายความว่าจะไปสืบทอดอำนาจอะไร เพียงแต่เมื่อเรามี พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติออกมาแล้ว เป็นกฎหมายก็ต้องทำ เพราะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญด้วย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ถามว่า นายกฯ คิดว่าจะทนกับแรงเสียดทานจากนักการเมืองที่รุมโจมตีอย่างไร และจะควบคุมอารมณ์เมื่อเข้าสู่การเมืองได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยืนยันว่าตนไม่กลัว เพราะตนอยู่กับพวกท่านมา 4 ปีแล้ว ตนก็อดทนและพยายามทำความเข้าใจ แต่บางครั้งก็มีนิดหน่อย หงุดหงิดบ้างอะไรบ้าง ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่ตนก็ปรับตัวมาโดยตลอด 4 ปี ก็มีการพัฒนามากพอสมควร 
    "จะเห็นได้ว่าเสียงของผมวันนี้นุ่มนวลขึ้นใช่หรือไม่  ไม่ดุเดือด ไม่อะไรทั้งนั้น พอแล้ว เพราะไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นอะไรต่างๆ ผมก็จำเป็นต้องควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องทางการเมือง เพราะไม่เช่นนั้นเดี๋ยวผมตายก่อน ผมเครียดมากๆ ผมก็ตายเอง ก็ไม่มีใครตายสักคน เพราะทุกคนมารุมผมอยู่คนเดียว แต่ผมก็รับได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายกฯ กล่าวว่า สำหรับคำที่ว่าตนสนใจงานการเมืองนั้น อย่าไปตีความกันให้มากนักเลย คำพูดที่พูดออกไปนั้นหมายความว่าสนใจว่ามันจะเดินหน้าไปอย่างไร มีความคืบหน้าอย่างไร โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นห่วงและกังวลก็คือ สิ่งที่ทำมาแล้ว การปฏิรูปขั้นที่ 1 ของเรา กฎระเบียบ กฎหมาย รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทที่จะทำ จะได้รับการดำเนินการอย่างต่อเนื่องหรือไม่ สนใจตรงนี้มากกว่า 
    "ถ้าผมสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ ผมจะเข้าไปได้อย่างไร จะมาด้วยกลไกอะไร จะต้องดูทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย พ.ร.บ.การเลือกตั้ง และทุกๆ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องที่ออกมาในช่วงนี้ ก็ต้องพิจารณาอีกครั้ง สิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรที่จะปฏิรูปให้ได้ ทั้งการปฏิรูปยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปการเมืองให้มีธรรมาภิบาล สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถสร้างขึ้นได้ง่ายๆภายใน 1-2 วัน หรือ 1-2 ปี จำเป็นต้องใช้เวลาอย่างต่อเนื่อง และผมไม่ได้สงวนไว้สำหรับตนเองเพียงอย่างเดียว ทุกคนจะต้องช่วยกัน ผมอยากเห็นการทำงานให้เป็นผลสัมฤทธิ์มากขึ้น" นายกฯ กล่าว
รมต.เล่นการเมืองได้
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขณะนี้เราอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน เพราะฉะนั้นบรรดานักการเมือง พรรคการเมือง ต้องเอาสิ่งที่ตนพูดไปคิด แล้วต้องมองว่าเราจะมีส่วนร่วมอย่างไรในการปฏิรูปที่จำเป็นต้องใช้คนหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ประชาชน ผู้ประกอบการธุรกิจ ขอร้องว่าอย่ามองเพียงการเมืองอย่างเดียว
    ซักว่า ตกลงนายกฯ จะไปสังกัดอยู่กับพรรคการเมืองใด พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของอนาคต ยังไม่ได้ไปตรงไหนสักอันเลย ถ้าจะพิจารณาก็ต้องดูว่าจะต้องไปเป็นสมาชิกพรรคใดหรือไม่ และต้องพิจารณาว่าจะไปร่วมกับเขาได้แค่ไหน อย่างไร  และสมมติว่าตนจะไปเป็นนายกรัฐมนตรี จะมาได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องดูใหม่ทั้งหมด ต้องศึกษา เพราะตนไม่ใช่นักการเมืองมาก่อน จำเป็นต้องศึกษาว่าเป็นอย่างไร ปัญหาอยู่ที่ว่าใครจะเป็นหรือไม่เป็น จะทำให้บ้านเมืองสงบได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งหมดก็อยู่ที่ประชาชนที่จะต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร 
    ถามว่า สบายใจขึ้นหรือไม่ หลังประกาศจุดยืนว่าสนใจงานการเมือง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สบายใจมาตลอด ทำไมคุณต้องมาสนใจมากมายนัก คุณรักเป็นห่วงตนใช่หรือไม่ ตนต้องสบายใจ เพราะอยู่ด้วยแรงศรัทธาในการทำงานของตัวเอง คณะทำงาน และรัฐบาลตนต้องศรัทธาเขาทุกคน ถ้าเราไม่สร้างความศรัทธาความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน อะไรก็ไม่เกิด ก็ทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้งไปทั้งหมด
    ถามถึงกรณีที่นักการเมืองมองว่าการไม่ปลดล็อกการเมือง รวมถึงการที่ ครม.ลงพื้นที่และการประชุมครม.สัญจรเป็นการหาเสียงล่วงหน้า นายกฯ กล่าวว่า เรื่อง ครม.สัญจรพูดไปหลายครั้งแล้ว ครม.สัญจรเอาเงินไปแจกเขาหรือเปล่า ตนก็ไม่ได้แจกเขานะ ถามสิ ทำทั้งประเทศหรือเปล่า ตนทำทุกกลุ่มจังหวัดและทุกจังหวัดไม่ใช่หรือ ไม่ใช่ไปจังหวัดนี้เพื่อเอาเงินไปให้ ไม่ใช่เลย เป็นเรื่องการทำงานตามแผน ตามโครงการที่มีอยู่แล้ว และไปฟังข้างล่างมาเพื่อปรับแก้ให้ตรงกัน ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์จัดทำโครงการเพิ่มเติม รวมถึงโครงการเดิมที่ทำอยู่แล้ว ก็ไปสร้างการรับรู้ว่ามีอยู่แล้วไม่ต้องขอ 
    เมื่อถามว่า ลุ้นพรรคพลังประชารัฐที่จะเปิดตัวในวันที่ 29 ก.ย.นี้หรือไม่ เนื่องจากมีรัฐมนตรีในรัฐบาลไปร่วมด้วย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่ตอบ ก็เป็นเรื่องของพลังประชารัฐ แต่คนในรัฐบาลเขาไปช่วยก็ไปช่วย แต่ไม่ได้ทำให้ระบบอะไรมันเสียหาย ไม่ผิดกฎหมายเขาทำได้หมด ทุกรัฐบาลเขาทำมาแบบนี้หรือเปล่า รัฐบาลก่อนๆ มีหรือไม่ ถ้ามีก็จบ จะมาถามอะไร
    ซักอีกว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลพิเศษ อาจถูกมองเรื่องความเหมาะสม นายกฯ ย้อนถามว่า ใครจะฟ้อง คุณจะฟ้องผมเหรอ คุณทำไมไม่มองว่ารัฐบาลนี้เข้ามา แม้ไม่ปกติแต่ก็เข้ามาบริหารราชการจนได้รับการยอมรับจากต่างประเทศทั่วโลก ทำไมไม่มองตรงนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำได้อย่างที่ผมทำไหม แก้ปัญหาต่างๆ ให้เขาไหม ปลดล็อกอุปสรรคต่างๆ ได้ไหม สร้างคอนเนกทิวิตีทางกายภาพอย่างไร้รอยต่อ ที่มีอนาคตชัดเจน มีการบริหารจัดการน้ำ รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดิน แก้ปัญหาผู้บุกรุก แก้ปัญหาทุจริตได้ชัดเจน การเลือกตั้งที่ผ่านมา ทำได้อย่างผมทำหรือไม่ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ มีใครทำบ้าง จัดระเบียบจราจรใน กทม. ซึ่งเราก็ต้องดูแลผู้ได้รับการจัดระเบียบด้วย 
    "นี่คือสิ่งที่รัฐบาลคิด เพียงต้องเปิดพื้นที่ให้โปร่งใสชัดเจน เอาคนที่แสวงประโยชน์ทางรายได้ ไม่ให้เกิดผลกระทบซึ่งกันและกัน ผมไม่ได้ทำเพื่อเอาใจใคร แต่ทำเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงโอกาส นั่นคือความเท่าเทียมด้วยกฎหมาย แต่ถ้าไม่มีกฎหมายไม่มีพื้นฐานก็ทำไม่ได้”นายกฯ กล่าว
    ถามว่า ล่าสุดมีพรรคการเมืองใดทาบทามขอเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ หรือยัง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่มีเลย เขาจะทาบหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ เมื่อทาบมาตนจะรับหรือเปล่าก็ยังไม่รู้เหมือนกัน ขอดูก่อน 
'สรวุฒิ' ซบกลุ่มสามมิตร
    ต่อมา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ตอนหนึ่ง ระบุว่า ช่วงท้ายการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ ได้ปรารภว่า "เมื่อวันจันทร์ที่ผมบอกว่าสนใจการเมือง เพราะนักข่าวถามกันมานานแล้ว มีคนถามเรื่องนี้ผมบ่อยว่าสนใจการเมืองหรือไม่ ก็ไม่อยากอ้อมแอ้ม อย่างนั้นตอบไปเลยดีกว่าว่าสนใจ" ส่วนใครถ้าจะสมัคร ส.ส.ต้องลาออกกี่วัน หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ขั้นตอนเหล่านี้เลยเวลาไปแล้ว
     พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า นายกฯ ยังได้บอกว่าเนื่องจากเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง คาดหวังหน่วยงานราชการช่วยทำความเข้าใจประชาชนให้ชัดเจนว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น และสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำกำลังทำอะไรให้กับชาวบ้านให้เข้าใจได้ง่ายๆ อย่าให้ถูกบิดเบือน อย่างเรื่องหนี้สาธารณะ มีบางคนพยายามไปตีความว่าถ้าเอาหนี้คนทั้งประเทศไทยมาหาร แสดงว่าทุกคนเป็นหนี้ ซึ่งหลักคิดไม่ผิด แต่เคยมีหรือเอาหนี้สาธารณะมาหารให้ใครต่อใครไปใช้ 
    มีรายงานว่า ในการประชุม ครม. นายกฯ ยังได้บอกว่ารัฐมนตรีคนไหนที่สนใจงานการเมืองหรือใครจะไปสนับสนุนพรรคการเมืองไหน ขอพิจารณาด้วยความระมัดระวัง ให้คิดให้ดี รอบคอบ ระมัดระวัง ใครจะไปเล่นการเมืองหรือสนับสนุนพรรคทำให้ถูกระเบียบ อย่าให้กระทบต่อหน้าที่การงานและภารกิจที่รับผิดชอบอยู่ และขอให้ทุกคนโชคดี
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์สนใจงานการเมืองเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดที่ใครจะสนใจเรื่องการเมือง และยังไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เพราะตามกฎหมาย แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะลงเล่นการเมือง ก็ไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ หากจะไปร่วมงานทางการเมืองสามารถทำได้ เพราะไม่ได้ลงเลือกตั้ง
    ถามว่า จะทำให้กระแสสังคมมองไม่ดีหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า แล้วแต่ว่าจะมีหรือไม่ แต่ทุกคนมีตำแหน่ง ก็ต้องทำหน้าที่ของตนเอง ทั้งหมดเป็นเรื่องของนายกฯ ไม่ใช่เรื่องของตน แต่ส่วนตัวไม่สนใจการเมืองในลักษณะเช่นนั้น แต่สนใจที่จะทำงานแบบเดียวกับที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นงานการเมืองเช่นกัน 
     ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ในส่วนของตนตอนนี้ขอทำงานตามที่นายกฯมอบหมายให้ดีที่สุด ยังไม่มีความคิดในเรื่องอื่น
    เช่นเดียวกับนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่สนใจทำงานการเมืองต่อ คิดว่าพอแล้ว เหนื่อย แต่ในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ก็บอกรัฐมนตรีแต่ละคนใครที่สนใจทำงานการเมืองต่อไปถือว่าเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ แต่ขอให้ทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่าให้กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ 
    วันเดียวกัน ที่บ้านพักของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร นายสรวุฒิ เนื่องจํานงค์ อดีต ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้มาเข้าพบพร้อมหารือในประเด็นการเมือง โดยมีนายภิรมย์ พลวิเศษ เลขาฯ กลุ่มสามมิตร ร่วมหารือด้วย จากนั้นมีการถ่ายภาพพร้อมกับบักทึกคลิปวิดีโอจำนวนหลายคลิป 
    นายสุริยะกล่าวว่า ตั้งแต่ตนกลับมาทำงานการเมืองในนามกลุ่มสามมิตร ได้มีโอกาสพูดคุยกับอดีตส.ส.หลายคน ซึ่งนายสรวุฒิ อดีต ส.ส.ชลบุรี เป็นคนหนุ่มไฟแรง มีความคิดสร้างสรรค์และทำงานในเชิงรุก สิ่งที่ประทับใจคือ การทำงานที่ต้องการผลักดันสินค้าเกษตร ทั้งมัน มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์ม เพื่อให้มีราคาดีขึ้น และให้เกษตรกรในเขตพื้นที่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น 
    "ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาก็ได้พูดคุยกันตลอด ให้นำเสนอนโยบายที่จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรชาว จ.ชลบุรี ผมจึงเห็นว่าถ้าเราได้นายสรวุฒิเข้ามาร่วมงานกับเรา จะทำให้กลุ่มสามมิตรมีศักยภาพเพิ่มขึ้นมากๆ" นายสุริยะกล่าว  
    ส่วนนายสรวุฒิกล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ผู้ใหญ่ของกลุ่มให้ความเมตตาและพูดคุยในหลายๆ เรื่อง ในฐานะที่ตนเป็น ส.ส. เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน อาทิ ปัญหาปากท้อง พืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ปัญหาการประมง รวมทั้งการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทางกลุ่มสามมิตรมีข้อเสนอไปกับรัฐบาล ซึ่งตนมีความประทับใจในการทำงานของผู้ใหญ่ในกลุ่ม เพราะปัญหาที่ได้ปรึกษาไป ท่านได้นำไปแก้ไขอย่างทันท่วงที แม้บางเรื่องจะยากใช้เวลาในการทำงาน แต่ก็ไม่ได้ละเลย มีการติดตามการทำงานอย่างสม่ำเสมอ สิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตนตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ตนมีความรักและความผูกพันมาโดยตลอด
    "สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้เราต้องการความสงบเรียบร้อยในการบริหารบ้านเมือง และต้องการมืออาชีพในเรื่องเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาปากท้องประชาชน จึงเชื่อมั่นว่าพลังของกลุ่มสามมิตรและพลังของประชาชนที่มาร่วมกับพวกเราจะทำให้ประเทศชาติเดินหน้า และทำให้ปัญหาต่างๆ ที่สะสมมาคลี่คลายลงในเวลาอันสั้น" นายสรวุฒิกล่าว
พท.จับมือ ปชป.ขวางตู่
    ที่พรรคเพื่อไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเปิดรับสมัครสมาชิกพรรค โดยมีสมาชิกพรรคเดินทางมาสมัครสมาชิกอย่างบางตา ขณะเดียวกันบรรดาแกนนำพรรค แกนนำ ส.ส.แต่ละภูมิภาค ทยอยเดินทางเข้ามายังพรรค เพื่อหารือเตรียมความพร้อมในการพิจารณาข้อบังคับของพรรคใหม่ ตามที่พรรคได้นัดหมายจัดประชุมสมาชิกพรรคในวันที่ 26ก.ย. โดยมีทั้งอดีต ส.ส. สมาชิกพรรค เดินทางเข้ามาในพรรคกันอย่างคึกคัก 
    จากนั้นมีอดีต ส.ส.บางส่วนจับกลุ่มวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง และเรื่องหัวหน้าพรรคหลังจากคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยที่เกี่ยวพันไปถึงนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กระชั้นเข้ามา ส่งผลต่อผู้ที่จะมาทำหน้าที่นำพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอีกครั้ง 
    "ก่อนหน้ามีข่าวว่าคนในตระกูลชินวัตร วงศ์สวัสดิ์ ทั้งลูกเขยและหลานชายนายทักษิณจะมาเป็นคนนำพรรค แต่เมื่อมีสัญญาณเล่นแรงจากฝั่ง คสช. นายทักษิณจึงต้องปรับเปลี่ยนท่าทีจากรุกเป็นตั้งรับ เอาคนนอกตระกูลเข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งชื่อที่โดดเด่นขึ้นมาอีกครั้งคือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หลังจากกระแสดร็อปลงไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากคุณหญิงสุดารัตน์ไม่ใช่คนในตระกูลชินวัตร ดามาพงศ์ วงศ์สวัสดิ์ ที่มีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับนายทักษิณ โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เตรียมจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยในวันที่ 26 ก.ย." แหล่งข่าวระบุ
    มีรายงานด้วยว่า พรรคเพื่อไทยมีการขยับเดินเกมประสานหาแนวร่วมทุกทิศทาง นอกจากเครือข่ายรัฐบาล คสช.ที่ถือเป็นคู่แข่งในสนามเลือกตั้งครั้งหน้าแล้ว พรรคอื่นๆ ได้มีการไปพูดคุยเจรจาไว้เกือบทั้งหมด แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์โดยมีนายโภคิน พลกุล เป็นผู้ไปร่วมพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่สำนักกฎหมายธรรมนิติ 
    "มีการคุยกันถึงขั้นว่าจะยกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้คนในพรรคประชาธิปัตย์ แม้พรรคเพื่อไทยจะได้เสียงมาเป็นลำดับที่หนึ่ง มาจับมือกันเป็นรัฐบาล เพื่อเป็นการล้มเครือข่ายรัฐบาล คสช. ที่มีฐาน 250 ส.ว.ลงไปให้ได้ก่อน" แหล่งข่าวระบุ
    ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้าหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่
    นายอลงกรณ์กล่าวว่า เบื้องต้นมีความเห็นพ้องต้องกันเรื่องการให้สิทธิ์สมาชิกเดิมกว่า 2.5 ล้านคนที่ต้องพ้นสภาพไปเพราะคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 มีสิทธิ์ร่วมหยั่งเสียงได้ โดยนับคะแนนแบบ 1 คน 1 เสียงเท่ากัน รวมถึงการเปิดให้ผู้เข้าชิงดีเบตแสดงวิสัยทัศน์ แต่โดยรายละเอียดทั้งเกณฑ์การรับรองจากอดีต ส.ส.หรือสมาชิกพรรค น้ำหนักการหยั่งเสียงว่าจะใช้เกณฑ์ผู้ได้คะแนนสูงสุด หรือจะต้องได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้หยั่งเสียงทั้งหมด จะต้องมีการหารือระหว่าง 3 ฝ่ายอีกครั้งคือ ฝ่ายตนเอง ฝ่ายนายอภิสิทธิ์ และฝ่าย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ในช่วงวันที่ 29 หรือ 30 ก.ย.นี้
    มีรายงานความคืบหน้าการแข่งขันชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เวลานี้มีผู้เสนอตัวลงแข่งขันกับนายอภิสิทธิ์กับ นพ.วรงค์ และนายอลงกรณ์ ว่าสมาชิกพรรคหลายคนมองว่าทุกคนที่ลงแข่งขันกันดีหมด แต่การเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้ ต้องดูว่าใครจะสามารถนำพาพรรคไปสู่การเลือกตั้งได้ ซึ่งนายอภิสิทธิ์น่าที่จะมีโอกาสได้รับเลือกมากที่สุด เนื่องจากยังสามารถที่จะนำมาพรรคไปได้ 
    "ที่ผ่านมาไม่เคยพาพรรคไปถึงขั้นลงเหว แม้หลายคนจะรู้สึกอึดอัดกับการทำงานของนายอภิสิทธิ์ที่ไม่ยอมแก้ปัญหาในบางเรื่อง และมีปัญหาในเรื่องของคนรอบข้าง รวมถึงการไม่ยอมนำผู้ใหญ่ในพรรคที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยพรรคก็ตาม และเห็นว่าหากนายอภิสิทธิ์กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกสมัย ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อให้พรรคประสบความสำเร็จในการสู้ศึกเลือกตั้งมากกว่าที่ผ่านมา" แหล่งข่าวระบุ 
    ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “หัวเลี้ยวหัวต่อประชาธิปไตยไทย” บนเวที Concordia Summit การประชุมคู่ขนานของการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก ซึ่งเวทีดังกล่าวมีนักการเมืองและบุคคลสำคัญระดับโลกจำนวนมากได้รับเชิญให้ขึ้นพูด เช่น อิวังกา ทรัมป์ บุตรสาวและที่ปรึกษาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ และนายจอห์น ฮิคเกนลูเปอร์ ผู้ว่าการมลรัฐโคโลราโด ซึ่งกำลังจะลงสมัครประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2020 รวมถึงเจ้าหญิงแมรี มกุฎราชกุมารีเดนมาร์ก
    นายธนาธรกล่าวตอนหนึ่งว่า เราผู้ที่ถูกขโมยประชาธิปไตยไป และกำลังต่อสู้เพื่อทวงคืนกลับมา รู้ดีที่สุดว่าประชาธิปไตยคือสิ่งที่บอบบางแค่ไหน ประชาธิปไตยไม่อาจได้มาโดยใช้กำลัง นั่นคือวิถีของเผด็จการ ประชาธิปไตยต้องเป็นของประชาชน และเพื่อประชาชนเสมอ นั่นคือเหตุผลที่เราต่อสู้สุดกำลังเพื่อนำมันกลับมา เพราะอนาคตของประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมจะต่อสู้เพื่อมันหรือไม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"