คปพ.รั้นต้านประมูลแหล่งก๊าซบงกช


เพิ่มเพื่อน    

    นายกฯ ระบุกังวลขุดเจาะน้ำมันไม่ได้ ทำกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ ขอทุกคนเปิดใจ อย่าฟังความข้างเดียว ย้ำทำให้ ปชช.ได้ประโยชน์ที่สุด  ขณะที่ ปตท.สผ.ยื่นประมูลแล้ว มั่นใจสร้างความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ด้าน "คปพ." ลั่นเอาผิดกราวรูด!
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคาร ถึงเหตุผลความจำเป็นและความชัดเจนในการผลักดันเดินหน้าประมูลสิทธิสำรวจแหล่งปิโตรเลียม แม้ว่าจะมีกลุ่มที่เห็นต่างออกมาคัดค้านว่า เรื่องนี้เราทราบกันดีว่ามีระยะเวลาเท่าไหร่ในการที่หมดอายุ ซึ่งน่าประมาณอีก 3 ปีกว่า แต่จริงๆ แล้วในการลงทุนแบบนี้ มันต้องใช้เวลาเตรียมการประมาณสัก 5 ปี ในการเตรียมการส่งมอบเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ให้กับรายใหม่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่าใครจะได้
    “ที่ผ่านมาเราพยายามสร้างความเข้าใจมาโดยตลอด ก็ขอให้ทุกคนเปิดใจและดูให้รอบด้าน อะไรที่ทำได้ ทำไม่ได้ สิ่งที่สำคัญที่ผมเป็นกังวลก็คือ ถ้ามันทำไม่ได้แล้วทำไม่ทัน ปริมาณแก๊ส ปริมาณน้ำมันที่เราขุดในประเทศก็จะลดลงทันที ก็จะทำให้พลังงานเราลดลงและจะมีผลในเรื่องของอุตสาหกรรมเราไปด้วย ดังนั้นประเด็นนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำ สิทธิประโยชน์ต่างๆ เราก็มุ่งหวังว่าสิทธิประโยชน์ภาครัฐจะต้องได้มากขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้”นายกฯ กล่าว
    ขณะที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ให้ความเห็นในช่วงเวลาการเปิดประมูลปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากบางกลุ่มว่า การประมูลแหล่งปิโตรเลียมในครั้งนี้ ควรเดินหน้าต่อไป และเมื่อกระทรวงพลังงานปักธงที่จะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) แล้ว ก็ต้องทำต่อ แต่สัดส่วนการแบ่งปันเหมาะสมหรือไม่ ตอบไม่ได้ แล้วแต่กรณี
    อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า 98% ทั่วโลกบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่สิ้นสุดสัมปทาน ซึ่งมีเอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอยู่ก่อนแล้ว จะใช้วิธีการเจรจาต่อรอง เพราะจะได้ประโยชน์สูงสุด สำหรับการประมูลครั้งต่อไป ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีแหล่งใหม่ให้สำรวจและผลิตอีกหรือไม่ แต่หากมี และกระทรวงพลังงานจะเปิดประมูล ยืนยันว่าใช้ระบบสัมปทานจะดีที่สุด เหมาะสมกับประเทศที่มีแหล่งผลิตน้อย และหายากอย่างประเทศไทย
    “การคัดค้านมีมาตลอด แต่ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะฟังมาก กระทรวงพลังงานเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามเสียงคัดค้านก็ไม่ไหว เพราะเราเสียเวลามากว่า 2 ปีแล้ว ตั้งแต่การแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อบรรจุเรื่อง PSC  ใส่เข้าไปตามเสียงเรียกร้อง แต่สุดท้ายก็เรียกร้องเรื่องอื่นต่ออีก การบริหารประเทศมีคนคัดค้านอยู่แล้ว แต่ต้องเดินหน้า การเอียงไปเอียงมา เปลี่ยนนโยบายไปมาไม่ส่งผลดี”
    นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ.ได้ยื่นประมูลแหล่งสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุ ทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ ซึ่งในส่วนของแหล่งบงกชนั้น ปตท.สผ.จะยื่นประมูลเอง โดยผู้ร่วมทุนรายเดิมตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลด้วย สำหรับแหล่งเอราวัณนั้น ปตท.สผ.เข้าร่วมประมูลกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากเป็นผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพ และมีการลงทุนในแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยอยู่แล้ว จึงมีความเข้าใจพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างดี
    “เราเชื่อมั่นว่าองค์ความรู้ ประสบการณ์และความชำนาญในการสำรวจ พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งบงกชตลอดระยะเวลา 25 ปี ทำให้เรายื่นข้อเสนอในการประมูลที่จะสามารถสร้างความต่อเนื่องในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ และสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศได้มากกว่า เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาว” นายสมพรกล่าว และว่า แหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของประเทศไทย มีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกันคิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติของประเทศ
    วันเดียวกัน เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) ได้ออกแถลงการณ์ ระบุช่วงหนึ่งว่า กรณีมีการอ้างว่าหากไม่ดำเนินการเปิดประมูลในวันนี้ การส่งมอบการผลิตปิโตรเลียมอาจจะขาดช่วง ทำให้จำเป็นต้องเร่งนำเข้าก๊าซและน้ำมันเพิ่มขึ้น จะกระทบต่อราคาพลังงานนั้น 
    คปพ.ขอชี้แจงว่า หากมีการขาดช่วงการผลิตปิโตรเลียมขึ้น ก็จะไม่กระทบประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลนี้ใช้นโยบายราคาน้ำมันอ้างอิงราคานำเข้าจากประเทศสิงคโปร์อยู่แล้ว ส่วนก๊าซหุงต้ม แม้ผลิตในไทย ก็อ้างอิงราคานำเข้าจากประเทศซาอุดีอาระเบีย ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ณ ปากหลุมผลิตที่ผ่านมาก็กำหนดไว้สูงกว่าราคาตลาดโลกที่สหรัฐถึงกว่าสองเท่า ดังนั้น ถึงหากแม้การผลิตและการส่งมอบจะขาดช่วงไปจนต้องนำเข้า ราคาพลังงานจะไม่สูงกว่าปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาแม้มีการผลิตปิโตรเลียมในประเทศได้ แต่ประชาชนก็ซื้อพลังงานในราคาสูงเสมือนนำเข้าอยู่แล้ว ดังนั้น กระทรวงพลังงานไม่อาจจะหยิบยกข้ออ้างว่าพลังงานจะแพงขึ้นหากชะลอการประมูลออกไป เพื่อจะหลีกเลี่ยงการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้ครบถ้วนได้แต่อย่างใด
    "เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จะดำเนินการทางกฎหมายต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุดต่อไป".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"