จับตาประมูลคลื่น 900 MHZ เมื่อกสทช.ดันประมูลอีกครั้ง


เพิ่มเพื่อน    


ทุกวันนี้ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง กลายเป็น ปัจจัยพื้นฐานของการใช้ชีวิต ดังนั้นคลื่นความถี่สูงจึงมีความสำคัญสำหรับการรองรับการใช้งานดาต้าจำนวนมากที่ต้องการความรวดเร็ว 

อย่างไรก็ดีแม้ว่า ความต้องการคลื่นความถี่สูงจะมีมากเพียงใด แต่การใช้งานคลื่นความถี่ต่ำ ก็ไม่สามารถมองข้ามได้เช่นเดียวกัน  เพราะคลื่นชนิดนี้ เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของการสื่อสาร  แม้ว่าในพื้นที่ชุมชนเมืองคลื่นความถี่สูงมีความจำเป็น แต่ตามชานเมือง ต่างจังหวัด ชนบท และพื้นที่ชายขอบ ยังจำเป็นต้องใช้งานคลื่นความถี่ต่ำ อย่างคลื่น 850 MHz หรือ 900 MHz อยู่

เพราะคลื่นนี้ สามารถส่งสัญญาณได้ไกล และทะลุทะลวงดีกว่าคลื่นที่มีความถี่สูง ดังนั้นคลื่นในกลุ่มนี้ ถูกนำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคมในพื้นที่ห่างไกล และยังคงมีความจำเป็นมาก สำหรับประชาชนที่จะต้องใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน

 

 

ดังนั้นการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมจะเปิดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz รอบใหม่อีกครั้ง คงจะต้องมีการจับตาเป็นพิเศษ เพราะเป็นคลื่นที่มีความสำคัญระดับชาติ  และที่ผ่านมาการเปิดประมูลคลื่นนี้ล่มมาแล้วถึง 2 ครั้ง เนื่องจากวางเงื่อนไขหลายประการ จนทำให้ไม่มีเอกชนรายใดเข้าร่วมประมูล

แต่ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการ กสทช. เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมาจึงตัดสินใจปรับปรุงสาระสำคัญของเงื่อนไขการประมูลคลื่น 900 MHz ขนาด 5 เมกกะเฮิรตซ์ ออกมาใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากเงื่อนไขประมูลเดิม  โดยตัดทิ้งเงื่อนไขที่สร้างความกังวลออกไป  โดยสิ่งที่แก้ไขประกอบไปด้วย  

1.ราคาเริ่มต้นการประมูลจาก 35,998 ล้านบาท เพิ่มเป็น 37,988 ล้านบาท โดยราคาที่เพิ่มขึ้น 2,000 บาท  กสทช. อ้างว่า เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำระบบป้องกันการรบกวนสัญญาณ

2. มีการเปลี่ยนแปลงลงทุนระบบป้องกันสัญญาณรบกวน เป็นต่างฝ่ายต่างลงทุนของตัวเอง จากเดิมผู้ชนะประมูลในครั้งนี้เป็นผู้ลงทุน

3.หากผู้ชนะประมูลคือผู้ใช้คลื่น 850 อยู่เดิม มีสิทธิ์ใช้คลื่นเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยมีสิทธิ์ใช้คลื่น 5 เมกะเฮิรตซ์ในย่าน 839-844 เท่านั้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ทั้งนี้หากมองทั้งสามข้อ ก็เห็นได้ชัดว่า บอร์ด กสทช. ได้พิจารณาถี่ถ้วนแล้วว่า เงื่อนไขเดิมนั้น เป็นอุปสรรคในการเข้าร่วมประมูลจริงๆ และหากต้องการหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน ก็ต้องสร้างเงื่อนไขที่สามารถก่อให้เกิดการแข่งขันได้  แต่ยังน่าจับตาประเด็นที่แค่ราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่น 900 MHz ของไทยในครั้งนี้ โดยนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หนึ่งใน กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม ได้เคยให้ความเห็นไว้ว่าสาเหตุที่การประมูลคลื่น 900 MHz ที่ผ่านมาถูกเมิน ทั้งที่เป็นบล็อกสุดท้ายคุณสมบัติทางเทคนิคดีกว่าแต่กลับขายไม่ออก เพราะราคาเริ่มต้นประมูล 35,998 ล้านบาท ที่ตั้งไว้สูงกว่าราคาประเมินเกือบ 3 เท่า และเป็นราคาที่แพงที่สุดทำลายสถิติโลก

และการประมูลคลื่น 900 MHz ของไทยปี 2561 จะทำลายสถิติต่อไป ซึ่งแพงกว่าคลื่น 900 MHz ของฮ่องกงที่ประมูลไปเมื่อปี 2553 ซึ่งอย่าลืมว่าฮ่องกงเป็นเกาะเล็กๆ ที่มีความต้องการใช้งานสูงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรต่อพื้นที่ซึ่งหนาแน่นกว่าไทยมาก และคลื่น 900 MHz หนนี้ยังแพงกว่าอินเดียที่ประมูลไปเมื่อปี 2557 ทั้งนี้มีรายงานจากสมาคมจีเอสเอ็ม พบว่าราคาประมูลคลื่น 900 เทียบต่อจำนวนประชากรนั้น ประเทศไทยมีราคาแพงที่สุดในโลกถึง 3.91ดอลลาร์สหรัฐ  ต่อเมกะเฮิรตซ์ต่อหัวของประชากร ขณะที่รองลงมาคืออินเดีย 3.57ดอลลาร์สหรัฐ  และฮ่องกง 3.02 ดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งสุดท้ายภาระจะตกกับผู้บริโภคและกลายเป็นอุปสรรคต่อการนำประเทศพัฒนาสู่ดิจิทัล

 

ภาพจากรายงาน GSMA

 

ส่วนใครที่เชื่อมโยงว่าการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในครั้งนี้ เพื่อยอมให้กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เพียงเจ้าเดียว อาจจะเป็นมุมมองที่แคบเกินไป เพราะจริงๆแล้ว เงื่อนไขที่ปล่อยออกมาก่อนหน้านี้ ก็เป็นสิ่งคนในวงการทุกบริษัทมีความเป็นห่วงอยู่แล้ว แต่พอมีการปรับปรุงเงื่อนไขใหม่ ก็น่าจูงใจให้ผู้ประกอบการรายอื่นก็สามารถเข้ามาแข่งขันได้ด้วยเช่นเดียวกัน

แต่สิ่งที่น่าจับตาเพิ่มก็คือ ช่วงกรอบระยะเวลาในการดำเนินการจัดประมูล ที่ค่อนข้างรวบรัดกว่าเดิม จากปกติ การดำเนินการประมูลทุกขั้นตอนจะใช้เวลาเกือบ 45 วันในการดำเนินงาน แต่สำหรับการประมูลรอบนี้ ใช้เวลาแค่ไม่เกิน 30 วัน  โดยกรอบที่วางไว้ ก็คือ กำหนดวันประมูลไว้ที่ 20 ต.ค. 2561 แต่หากเป็นกรณีที่มีผู้ยื่นขอประมูลเพียงรายเดียว กสทช.จะขยายระยะเวลาออกไป เพื่อเชิญชวนผู้ที่สนใจอีกครั้งและขีดเส้นตายวันประมูลวันสุดท้ายที่เลื่อนไม่ได้แล้วไว้ที่  วันที่ 3 พ.ย.61

การที่ กสทช. ลดระยะเวลาในการประมูลลง ก็แสดงให้เห็นว่า กสทช. ก็ไม่ต้องการให้การประมูลมีการยืดเยื้อออกไป จนอาจจะไปชนกับคำสั่งคุ้มครองการใช้คลื่น 850 MHz ของดีแทค ที่ศาลปกครองกลาง ที่ขีดเส้นไว้ถึงวันที่ 15 ธ.ค.เท่านั้น  ลองคิดดูว่า หากมีการประมูลล่าช้า จนพ้นกลางเดือน พ.ย.ไป กว่าจะมีการชำระเงิน และ มอบใบอนุญาต ก็จะไปกระชั้นชิดกับเวลาคุ้มครองพอดี  ซึ่งกสทช. ก็คงไม่อยากจะไปสร้างปัญหาชนปัญหาอีก

จากนี้คงต้องจับตาภาคเอกชนแล้วว่า มีความสนใจในการประมูลครั้งนี้แค่ไหน  ซึ่งข้อปัญหาอุปสรรคที่เคยกังวลไว้ก็ค่อนข้างคลี่คลายไปหมดแล้ว ถ้าดูจากร่างประกาศที่จัดทำออกมาจะติดอย่างเดียว ก็คือ เรื่องวงเงินเริ่มต้นประมูล ที่ภาคเอกชน ยังมองว่า สูงเกินไป  แต่เชื่อว่า ยังไง กสทช. ก็คงไม่สามารถจะลดวงเงินลงได้อีกแล้ว

อย่างไรก็ดี แม้ว่า คลื่น 900 MHz จะมีความสำคัญมาก แต่ในวงการโทรคมนาคม ขณะนี้ ซึ่งมีการแข่งขันกันอยู่ สามบริษัทหลัก ก็คือ  เอไอเอส ทรูมูฟ และดีแทค ซึ่งสองค่ายแรกนั้น ได้ถือครองคลื่น 900 MHz ไปแล้ว เจ้าละ 10 เมกะเฮิรตซ์  ซึ่งก็นับว่า เพียงพอต่อการให้บริการ  จะเหลือก็เพียงแต่ ดีแทคค่ายเดียว ที่ยังไม่ได้ถือครองคลื่นย่านความถี่ต่ำ ก็คงมีความจำเป็นที่จะต้อง คว้าคลื่น 900 MHz มาไว้ให้ได้ แม้ว่าจะมีแค่ 5 เมกะเฮิรตซ์ น้อยกว่าคู่แข่งก็ตามแต่ในฐานะของโอเปอเรเตอร์แล้ว ก็จะต้องทำทุกวิถีทาง ที่จะช่วยให้ลูกค้าได้ใช้งาน ได้อย่างสะดวก ราบรื่น และซิมไม่ดับ  

ซึ่งปัจจุบัน ดีแทค ก็มีลูกค้าคลื่น 850 MHz เดิมที่ต้องดูแลอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการประมูลคลื่น 900 MHz จึงเป็นสิ่งมีความหมายสำหรับ ดีแทคมาก  ขณะที่อีกสองค่ายที่เหลือ ดูแนวโน้มแล้วน่าจะขอวัดใจประเมินเงินในก่อนการประมูลครั้งนี้ และเชื่อว่ามีแนวโน้มเก็บกระแสเงินสดไว้ ลงทุนในด้านอื่นๆมากกว่า

 

 

สอดรับนาง “อเล็กซานดรา ไรช์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทค ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ก่อนหน้านี้ว่า ดีแทคสนใจจะเข้าประมูลคลื่น 900 MHz อย่างมาก ถ้าเงื่อนไขประมูลที่เคยกังวลถูกตัดออกไป ทั้งการติดตั้งระบบป้องกันคลื่นรบกวน และการให้ใช้คลื่น 850 MHz ระหว่างเปลี่ยนอุปกรณ์โครงข่ายให้รองรับคลื่น 900 MHz โดยระบุในเงื่อนไขการประมูล ไม่ใช่แค่มติ กสทช.

จากนี้ คงต้องติดตามการเคลื่อนไหว ต่อการประมูลคลื่น 900 MHz จะมีค่ายใด เข้ามาแย่งแข่งขันกันบ้าง หากทุกเจ้า มีคลื่นที่สูสีกัน การแข่งขันในวงการโทรคมนาคม ก็น่าจะดุเดือดขึ้นอีกแน่  ซึ่งแน่นอน ลูกค้าจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"