โจทย์ใหญ่สำหรับไทย ในฐานะประธานอาเซียนปีหน้า


เพิ่มเพื่อน    

        ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียนหมุนเวียนอีกครั้งหนึ่งในปีหน้า มีคำถามมากมายว่าเราจะฟื้นคืนความเป็นแกนนำขององค์กรภูมิภาคแห่งนี้ได้มากน้อยเพียงใด

        อาเซียนก้าวเข้าสู่ปีที่ 51 ในจังหวะที่การเมืองระหว่างโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างหนักหน่วงและรุนแรงถึงขั้นที่เราอาจจะกำลังมองเห็น “ระเบียบโลกใหม่” หรือ New World Order ที่ปรับเปลี่ยนดุลอำนาจของโลกได้อีกครั้ง

        สิบกว่าปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลหลายประการ โดยเฉพาะความขัดแย้งกันภายในประเทศและรัฐประหารที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของประเทศไทยในเวทีสากลอย่างยิ่ง

       ดร.บัณฑิต นิจถาวร ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความของท่านใน “กรุงเทพธุรกิจ” เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า บทบาทของไทยในเวที World Economic Forum ที่จัดที่กรุงฮานอยมีน้อยมาก

        WEF ที่จัดที่เมืองหลวงของเวียดนามครั้งนี้เป็นการฉลองความสำเร็จและศักยภาพของเศรษฐกิจอาเซียนที่ครบรอบ 50 ปีของการจัดตั้งเมื่อปีที่แล้ว

        อาจารย์บัณฑิตชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่ผู้นำของ 8 ใน 10 สมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญกับการประชุมครั้งนี้ และเข้าร่วมวงสนทนาเพื่อแสดงความเห็นด้วยตนเอง มีผู้นำของ 2 ประเทศในอาเซียนที่ไม่ได้มาร่วม

        จากประเทศไทยมีรองนายกฯ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นผู้แทนร่วมวงเสวนาระดับผู้นำประเทศ นอกจากนี้จากวิทยากรเกือบร้อยคนที่ได้รับเชิญมาให้ความเห็นในการประชุม 2 วัน มีวิทยากรจากเมืองไทยเพียง 3 ท่าน ตามโปรแกรมคือ คุณวิระไท สันติประภพ ผู้ว่าแบงก์ชาติ และคุณสันติธาร เสถียรไทย จากบริษัท SEA กรุ๊ป และอีกท่านเป็นผู้บริหารของ WEF (นักการเมืองหน้าใหม่มีคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ)

        อีกทั้งในบรรดาบริษัทรุ่นใหม่หรือ startups ในอาเซียนที่ได้รับเชิญมาเปิดตัวกว่า 80 บริษัท มีของไทยที่มาร่วมเปิดตัวเพียง 7 บริษัท เทียบกับอินโดนีเซียมีถึง 20 แห่ง และสิงคโปร์ 24 แห่ง

        ผมเห็นด้วยกับคุณบัณฑิตว่าไทยเราจะต้องเร่งฝีเท้าในการเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาค และ “บทบาทไทยที่หายไปในเวทีอาเซียน” นั้นจะต้องช่วยกันฟื้นกลับมาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องจากนี้ไป

        เมื่อไทยกลับมาเป็นประธานอาเซียนอีกครั้งในปีหน้า เราจะต้องสร้างพลังขับเคลื่อนทั้งในฐานะผู้นำและผู้ประสานให้เรื่องสำคัญๆ ของภูมิภาคได้รับการแก้ไขหรือถกแถลงเพื่อหาทางออกให้กับอาเซียนอย่างมีศักดิ์ศรีและยุทธศาสตร์ร่วม

        ปัญหาหรือข้อท้าทายของอาเซียนในขณะนี้มีเรื่องหลักๆ หลายประการ เช่น

        1.ทะเลจีนใต้

        2.โรฮีนจา

        3.ความสัมพันธ์ของมหาอำนาจกับอาเซียน

        4.การถ่วงดุลอำนาจระหว่างจีน, อเมริกา, รัสเซีย, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น

        5.ความคืบหน้าในการแสวงหาสันติภาพและทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์

        6.สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

        นี่เป็นเพียงไม่กี่หัวข้อที่เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออนาคตของอาเซียนและประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม

        ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เพราะความอ่อนแอภายในของเรา และอาการถดถอยในสถานภาพของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ไทยเราเกือบจะพยายามหลีกเลี่ยงการที่จะต้องนั่งลงคิดวิเคราะห์และหาสูตรการแก้ปัญหาเหล่านี้เพื่อใช้กับเราเองและนำเสนอสำหรับเพื่อนสมาชิกอาเซียนให้เกิดเอกภาพ หรือไม่ก็วิเคราะห์ร่วมกันเพื่ออย่างน้อยมองเห็นทางเลือกในแง่นโยบายสาธารณะ

        จุดยืนทางการของไทยเราในเรื่องต่างๆ เหล่านี้มักจะได้รับคำอธิบายจากคนของรัฐว่าเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน” ที่ไทยพยายามหลีกเลี่ยงไม่แสดงจุดยืนที่แน่ชัด

        หากการไม่แสดงจุดยืนเป็นนโยบายชัดแจ้งอันเกิดจากการพิเคราะห์ความตื้นลึกหนาบาง นั่นก็อาจเข้าใจได้ว่าอย่างน้อยเราก็ศึกษาหาข้อมูลและวางทิศทางให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

        แต่ที่ผมกลัวก็คือว่า การไม่แสดงจุดยืนของเราในประเด็นหลักๆ เหล่านี้นั้นเกิดจากการที่เราหลบหลีกปัญหา ไม่คิดไม่ไตร่ตรอง นั่งรอให้เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนแล้วมีปฏิกิริยาตาม โดยที่ไม่ได้วิเคราะห์หาทางเลือกสำหรับประเทศชาติที่เรียกว่า policy options

        ที่ผมกลัวคือแนวทาง “ตั้งรับ” มากกว่า “รุก”

        ในภาวะของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในเวทีระหว่างประเทศเช่นนี้ นโยบาย “ตั้งรับ” ย่อมหมายถึงการอ่อนแอ ขาดวิสัยทัศน์ และเป็นฝ่ายไล่ตาม

        พรรคการเมืองที่อาสาจะมาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้จะต้องตอบคำถามประชาชนว่าท่านวิเคราะห์สถานการณ์โลกอย่างไร

        และนโยบาย “รุก” ของท่านคืออะไร...เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินว่าจะไว้วางใจที่ให้ท่านบริหารประเทศในภาวะ “โลกป่วน” ได้หรือไม่อย่างไร.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"