เชื่อหรือไม่?สธ.-กษ.จับมือยันผักผลไม้ใช้สารเคมีปลอดภัย บริโภคได้แบบสบายใจ หายห่วง


เพิ่มเพื่อน    


28ก.ย.61-สธ.-กษ.จับมือแถลงยืนยันผลสำรวจพืชผักผลไม้ ที่ใช้สารเคมี ตกค้างอยู่ในระดับปลอดภัย  ส่วนเรื่องการพิจารณาแบน 3 สารเคมีอันตราย อยู่ในกระบวนการพิจารณา เป็นคนละเรื่องกับครัวโลก โดยกระทรวงเกษตรฯ ชี้ ยังจำเป็นต้องใช้สารเคมีต่อ เพื่อป้องกันโรคระบาดในพืช สามารถฆ่าศัตรูพืชได้อย่างรวดเร็ว ด้านสธ.ยังแนะนำวิธี ล้างผักผลไม้จากสารเคมี.

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย น.ส.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวความร่วมมือคุมเข้มสารพิษตกค้างในผักและผลไม้สด โดย นพ.ธเรศ กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า การรับประทานผักผลไม้มากกว่า 400-600 กรัมต่อวัน จะช่วยป้องกันโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือดได้ 31 % เส้นเลือดสมองตีบ19 % และโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น หากส่งเสริมให้คนไทยกินมากขึ้นจาก 100 กรัม เป็น 400 กรัมต่อวัน จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจาก 5.2 แสนล้านบาท เป็น 6.9 แสนล้านบาท หรือ 2.5% ของจีดีพี ดังนั้น สธ.จึงร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย ตั้งแต่ในฟาร์มจนถึงผู้บริโภค ต้องไม่มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเกินค่ามาตรฐาน ส่วนเรื่องการพิจารณาแบน 3 สารเคมีอันตราย ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต อยู่ในกระบวนการพิจารณา ซึ่งสธ..ยืนยันชัดเจนในหลักการ แต่เป็นคนละเรื่องกับเรื่องนี้

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากการสุ่มตรวจผักผลไม้สดที่โรงคัดบรรจุที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี 219 แห่ง ทั่วประเทศ รวม 715 ตัว อย่าง พบผ่านมาตรฐาน 612 ตัวอย่างหรือ 85.59% ไม่ผ่านมาตรฐาน 103 ตัวอย่างหรือ 14.41% ส่วนการสุ่มตรวจในห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก โดยแบ่งเป็นสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานความปลอดภัยเช่น สัญลักษณ์คิว (Q) หรือออแกนิก จำนวน 1,261 ตัวอย่าง พบว่า ไม่ผ่านมาตรฐาน 13.6% ส่วนสินค้าที่ไม่มีเครื่องหมายรับรองตรวจ 56 ตัวอย่าง พบไม่ผ่านมาตรฐาน 28.2%

น.ส.จารุวรรณ ลิ้มสัจจะสกุล รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังซื้อผัก ผลไม้ตามตลาดค้าส่งและตลาดสดจำนวนมาก ซึ่งจากการสุ่มตรวจตลาด 128 แห่ง ใน 26 จังหวัด รวม 481 ตัวอย่าง พบว่า ผ่านมาตรฐาน 64.9% ไม่ผ่านมาตฐาน 35.1% ซึ่งจากนี้กรมวิทย์ฯ จะเข้าไปสนับสนุนการตั้งจุดตรวจสอบในพื้นที่มากขึ้น ส่วนผลตรวจผักผลไม้ที่ใช้โครงการอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล ซึ่งนำร่อง 18 โรง ใน 12 จังหวัด รวม 162 ตัวอย่าง พบผ่านมาตรฐาน 77.8% ไม่ผ่านมาตรฐาน 22.2%

นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวว่า ผัก ผลไม้สดที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 100% มี 6 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่ง มังคุด ผักกาดขาวปลี ถั่วแขก และข้าวโพดหวาน พบสารพิษต่ำมาก ส่วนผักและผลไม้ที่พบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด 7 อันดับแรก คือ พริก ถั่วฝักยาว คะน้า มะเขือยาว มะเขือเปราะ มะเขือเทศ และ ส้ม ซึ่งส่วนใหญ่จะพบสารกำจัดศัตรูพืช เช่น ไซเปอร์เมทริน คาร์โบฟูราน และคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากเป็นพืชที่พบแมลงศัตรูพืชได้ง่าย ทั้งนี้ แม้จะพบการตกค้างของสารเคมีสูง แต่ไม่ใช่ว่าไม่ปลอดภัย ซึ่งจากการนำผักผลไม้ทั้ง 7 ชนิดมาประเมินความเสี่ยงความปลอดภัยตามมาตรฐานโคเด็กซ์ พบว่า ที่ไม่ปลอดภัยจริงๆ คือส้ม ซึ่งจาก 105 ตัวอย่าง พบไม่ปลอดภัย 4.8% อย่างไรก็ตาม การตรวจสารตกค้างเหล่านี้ตรวจที่ความเสี่ยงสูงสุด คือ ไม่ได้ล้างทำความสะอาดเลย ซึ่งในความเป็นจริงการรับประทานจะต้องมีการล้างทำความสะอาด รวมถึงปรุงสุกด้วย อย่างส้มเราก็ต้องปอกเปลือก

ผู้สื่อข่าวถึงการส่งเสริมการใช้สารทดแทนสารเคมี น.ส.จูอะดี กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนเป็นเรื่องของการเตรียมดินให้สมบูรณ์ จะช่วยให้ต้นพืชแข็งแรง ก็จะป้องกันโรคพืชได้ ซึ่งเรามีการส่งเสริมเรื่องนี้ให้เกษตรกร โดยมีการตั้งกลุ่มผลิตและใช้สารชีวภัณฑ์ รวมถึงหากพืชมีอาการป่วยระยะแรกก็สามารถใช้สารเหล่านี้ได้ เหมือนคนเราป่วยช่วงแรกๆ ก็ใช้สมุนไพรจากธรรมชาติช่วยดูแลได้ แต่หากเป็นมากหรือระบาดแล้วก็จำเป็นต้องใช้สารเคมี เพราะสามารถฆ่าได้อย่างรวดเร็ว แต่ข้อเสียคือแพง

เมื่อถามว่า หากไม่แบน 3 สารเคมีจะกระทบกับเรื่องครัวไทยสู่ครัวโลกหรือไม่ เพราะหลายประเทศแบนสารเหล่านี้แล้ว น.ส.จูอะดี กล่าวว่า เรื่อง 3 สารเคมี อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา เป็นคนละเรื่องกับครัวไทยไปครัวโลก ซึ่งขณะนี้ก็ขับเคลื่อนอยู่ โดยเกษตรกรที่ส่งออกต้องเข้าระบบ GAP เพื่อให้มีมาตรฐาน ไม่เช่นนั้นเขาก็จะไม่ซื้อ ส่วนการบริโภคภายในประเทศ การจะเข้า GAP ต้องเพิ่มต้นทุนและปรับเปลี่ยนวิธีการ จึงเป็นเรื่องของการส่งเสริมมากกว่า ก็มีการแนะนำให้ใช้สารทดแทนอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่บอกว่ายังมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีควบคู่กับสารชีวภัณฑ์ แต่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของ ครม.ไปแล้ว ดังนั้นจะเป็นการย้อนแย้งกันหรือไม่ และเป็นไปได้หรือไม่ว่าในอนาคตจะหาสารทดแทนโดยไม่ต้องใช้สารเคมีเลย นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า  พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาฯ จะเป็นทางเลือกของเกษตรกรที่ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี โดยใช้สารอินทร์ หรือสารสกัดชีวภัณฑ์ทดแทน แต่หากต้องการผลิตเพื่อให้ได้ปริมาณเยอะและมีคุณภาพดี ก็จำเป็นต้องใช้สารเคมีบางชนิดอยู่ ซึ่งสารเคมีมีหลายชนิดที่มีความอันตรายตั้งแต่สูง ปานกลาง น้อย ดังนั้นในการหาสารทดแทนบางอย่างก็ต้องมีการศึกษาว่ามีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันหรือไม่ มีจุดอ่อน หรือจุดแข็งอย่างไร ซึ่งหากมีสารทดแทนก็จะมีส่วนที่ทำให้การใช้สารเคมีลดลง อย่างสารคลอร์ไพริฟอส ที่มีการใช้กันเยอะ และเป็นสารที่กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาแบนหรือไม่แบน ซึ่งสารตัวนี้สามารถย่อยสลายในกระบวนการที่มีการล้าง การทิ้งไว้ก็สามารถย่อยสลายไป  ซึ่งขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังดูว่าหากมีการนำเข้าลดลงจำนวนการใช้ของเกษตรจะลดลงหรือมีการใช้สารทดแทนอย่างไร ซึ่งยังไม่มีการเก็บตัวเลขอย่างเชิงระบบ

เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรมีข้อมูลสารทดแทนใหม่ แต่ไม่ยอมส่งให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องสารเคมีทั้ง 3 ชนิด จะเป็นการยื้อเวลาเพื่อไม่ให้มีการแบน 3 สารเคมีหรือไม่ นายอุทัย กล่าวว่า ข้อมูลที่ส่งคือข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งมีอำนาจตัดสินได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรไปหามาตรการการจำกัดการใช้ เรามีหน้าที่ทำตามไม่ได้เป็นผู้เสนอว่าให้มีการยืดเวลาแต่อย่างใด ซึ่งขณะขั้นตอนการพิจารณาดังกล่าวอยู่ที่คณะกรรมการคณะกรรมการพิจารณาสารเคมีความเสี่ยงสูง โดยมีนายนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายก  เป็นประธาน หากมีการขอข้อมูลเข้ามามาเราก็พร้อมจะส่ง โดยขอยืนยันว่าข้อมูลที่มีอยู่คือข้อมูลที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่ข้อมูลเก่าแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเอกาสารข่าวการแถลงครั้งนี้ ยังมีการระบุห้อยท้ายคำแนะนำการล้างผักผลไม้ไว้ดังนี้ "ที่สำคัญ ก่อนการบริโภคผักและผลไม้สด ผู้บริโภคควรล้างผักและผลไม้สดให้สะอาดเพื่อลดการตกค้างสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ด้วยวิธีการดังนี้ (1) การล้างผักผลไม้ด้วยวิธีล้างน้ำไหล จะช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 25-65 (2) หากล้างในปริมาณมากใช้ผงฟูหรือเบคกิ้งโซดา ½ ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที ก่อนล้างน้ำสะอาด สามารถลดสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 90-95 หรือ (3) ใช้น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร      แช่ทิ้งไว้ 10 นาที ก่อนล้างน้ำสะอาด สามารถลดสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 60-84"เอกสารระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"