โรงเรียนเล็กๆ ในชนบท กับอนาคตของเด็กไทยไกลปืนเที่ยง


เพิ่มเพื่อน    

    ผมไปพูดคุยกับโรงเรียนชนบทเล็กๆ สองแห่งในจังหวัดขอนแก่นมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สิ่งแรกที่สัมผัสได้คือ ไม่ว่าเราจะตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษากี่ชุด และมีข้อเสนอยกเครื่องระบบของประเทศกี่ครั้ง ปัญหาพื้นฐานของโรงเรียนในต่างจังหวัดที่ห่างไกลปืนเที่ยงก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นเรื่องเป็นราวอยู่ดี
    เพราะเรามองจากข้างบน ไม่ได้ “ระเบิดจากข้างล่าง” ไม่ได้แก้ที่ต้นตอของปัญหา
    กระทรวงศึกษาธิการมองว่า หากเป็นโรงเรียนเล็ก นักเรียนน้อยกว่า 120 คน หาครูมาสอนไม่ได้ก็ให้ยุบหรือควบรวมกับโรงเรียนใกล้เคียงเสีย
    เป็นการแก้ปัญหาแบบมองจากข้างบนมุมเดียว
    ผมคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียน, ครูและนักเรียนทั้งสองแห่ง ความเห็นพ้องต้องกันคือ จะพยายามรักษาความเป็น “โรงเรียนชุมชน” ไว้ ไม่อยากให้ยุบหรือควบรวม หรือหากจะมีการแก้ปัญหาขาดแคลนครูก็ให้มีการโยกนักเรียนชั้นเดียวกันสลับกันไปมา แทนที่จะบังคับให้โรงเรียนเล็กแห่งหนึ่งต้องปิดตัวเพื่อให้นักเรียนต้องเดินทางไกลกว่าเดิมหลายกิโลเมตร โดยไม่มีอะไรรับรองว่าคุณภาพและมาตรฐานของการเรียนการสอนจะดีขึ้นกว่าเดิม
    “สำหรับชุมชนแล้ว โรงเรียนเป็นมากกว่าที่เรียนหนังสือสำหรับเด็ก แต่โรงเรียนเป็นศูนย์กิจกรรมของชาวบ้าน เป็นศูนย์กลางของการพบปะสังสรรค์ปรึกษาหารือกันสำหรับผู้ปกครองและคนในชุมชมเดียวกัน” ครูคนหนึ่งบอกผม
    หนึ่งในสองโรงเรียนที่ผมไปเยี่ยมกำลังจะเหลือผู้อำนวยการคนเดียว เพราะครูคนหนึ่งป่วยหนักต้องลาออก อีกสองคนเกษียณ ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ก็จะเหลือผู้อำนวยการคนเดียวที่ต้องทำหน้าที่บริหารด้วย สอนทุกชั้นเรียนของนักเรียนทั้งหมด 51 คน
    “ตอนนี้มีคนจบปริญญาตรีมาคนหนึ่ง ระหว่างรองานใหม่ก็จะมาสอนในฐานะอาสาสมัคร พอได้งานเขาก็คงจะออก จากนั้นเราก็ต้องรอให้ทางการส่งครูมา” ผู้อำนวยการบอกผม
    เมื่อไม่มีครูพละ แต่นักเรียน (ตั้งแต่ 5 ขวบถึง 12 ขวบ) ได้รับแรงบันดาลใจจาก “หมูป่าอะคาดามี” อยากจะเป็นนักฟุตบอล ศูนย์ข่าวของไทยพีบีเอสขอนแก่นมาทำงานชุมชนสัมพันธ์มาพบเข้าก็อาสามาเป็นโค้ชฟุตบอลให้
    โรงเรียนอีกแห่งในจังหวัดเดียวกันมีนักเรียน 42 คน มีครู 3 คน และกำลังจะเกษียณ 2 คน แต่เพราะผู้อำนวยการมีความกระตือรือร้นเรื่องไอที เรียนรู้วิธีการทำหุ่นยนต์ง่ายๆ ด้วยตนเอง จึงดิ้นรนหาวิธีสอนเด็กให้ทำหุ่นยนต์เอง
    นักเรียนชั้นประถมของโรงเรียนนี้ทั้งหญิงและชายในวัย 7-12 ขวบ เรียนรู้วิธีทำหุ่นยนต์จนชนะการแข่งขันในระดับจังหวัดและประเทศ
    จนล่าสุดสามารถไปคว้ารางวัลจากการแข่งขันนานาชาติที่ฮ่องกงมาได้อย่างน่าชื่นชมยิ่ง
    ความสามารถพิเศษนี้มิได้มาจากหลักสูตรของกระทรวงศึกษา มิได้มาจากหน่วยราชการท้องถิ่นใดๆ หากแต่เกิดขึ้นเพราะความพยายามของผู้อำนวยการเองที่ใส่ใจพร่ำสอนเด็กนักเรียนให้รู้จักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ง่ายๆ 
    ไม่น่าเชื่อครับว่าเด็กชั้นประถมของโรงเรียนเล็กๆ ในชนบทแห่งนี้ที่กำลังถูกสั่งให้พิจารณายุบหรือควบรวมตามนโยบายส่วนกลางจะสามารถเขียน coding เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์สั่งงานหุ่นยนต์ได้ ในขณะที่นักเรียนในโรงเรียนส่วนกลางมากมายยังคิดไม่ตกว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนสนใจเรื่องเทคโนโลยีให้มากขึ้น
    ผมคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนไกลปืนเที่ยงแห่งนี้ถึงเรื่อง STEM (science, technology, engineering, mathemathics) ได้อย่างสนุกสนาน และยังเสนอให้เพิ่มตัว E หรือ English เข้าให้เป็น STEEM เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้นักเรียน
    ผู้อำนวยการโรงเรียนคนนี้บอกว่า ต้องหางบซื้อ laptop มือสอง 2 เครื่อง เพื่อให้เด็กเรียน coding ด้วยการ “ทอดผ้าป่า” เรื่องขอเรี่ยไรเงินจากผู้ปกครองและชุมชนท้องถิ่น
    กระทรวงศึกษาธิการยังพูดถึงเรื่องการยุบและควบรวมโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อย แต่ก็ยังไม่มีมาตรการรองรับเพียงพอ อีกทั้งยังเป็นนโยบาย “เสื้อโหล” คือใช้มาตรการเดียวกันกับทุกโรงเรียนทุกแห่งโดยไม่ศึกษาสภาพที่แตกต่างกัน
    ผมจำได้ว่า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เคยบอกนักข่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ตนได้รับฟังผลการศึกษาสภาพจริงของโรงเรียนขนาดเล็ก ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ขณะนี้โรงเรียนขนาดเล็กของ สพฐ.มีอยู่ประมาณ 15,000 แห่ง 
    แต่ละแห่งมีปัญหาที่คล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน และการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่ผ่านมาก็มีหลากหลายวิธี ทั้งการควบรวม การยุบโรงเรียน แต่รัฐมนตรีก็ยอมรับว่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นทำให้การแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะคนคิดวิธีแก้กับคนแก้ปัญหาและคนเจอปัญหามันคนละคนกัน ดังนั้นตนจะมอบเป็นนโยบายว่า ต่อจากนี้ไปการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กจะต้องมาจากระดับล่าง คือ เขตพื้นที่ในการวิเคราะห์สภาพปัญหาของโรงเรียน
    ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เพราะหากเราไม่สามารถแก้ปัญหาเด็กเล็กๆ ในโรงเรียนเล็กๆ ในชนบท ก็อย่าได้หวังว่าเราจะปฏิรูปการศึกษาในระดับชาติได้เลย
    พรุ่งนี้คุยเรื่องนี้ต่อครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"