3 หมู่บ้านจังหวัดปัตตานี สร้างความเข้มแข็งตามศาสตร์พระราชา


เพิ่มเพื่อน    

 

 

     หลังจากที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานตามแนวพระราชดำริ ได้ขยายพื้นที่การดำเนินงานพัฒนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2559 โดยเริ่มเข้าไปทำโครงการพัฒนาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 7 หมู่บ้าน แบ่งเป็น ปัตตานี 3 หมู่บ้าน ยะลา และนราธิวาส จังหวัดละ 2 หมู่บ้าน ที่จะเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ล่าสุดปิดทองหลังพระฯ ได้ลงพื้นที่ดูความคืบหน้าการดำเนินงานในพื้นที่ จ.ปัตตานี ทั้ง 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านละโพะ ต.ป่าไร อ.แม่ลาน, บ้านสุเหร่า ต.ท่าน้ำ อ.ปะนาเระ และบ้านแป้น ต.แป้น อ.สายบุรี 

 

ทัณทวัต พุทธวงค์ หัวหน้างานพื้นที่ต้นแบบจังหวัดชายแดนใต้ 


    นายทัณทวัต พุทธวงค์ หัวหน้างานพื้นที่ต้นแบบจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า ด้วยสภาพพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ การทำงานหรือการพัฒนาด้านต่างๆ ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก จึงจำเป็นต้องใช้คนในท้องถิ่นมาเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครพัฒนาหมู่บ้าน (อสพ.) ไปเรียนรู้กับคนในพื้นที่ต้นแบบของปิดทองฯ ที่ประสบความสำเร็จแล้วกระจายอยู่ทั่วประเทศเพื่อกลับมาพัฒนาชุมชนตนเอง โดยดำเนินการร่วมกันกับภาครัฐ ท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ เริ่มตั้งแต่ทำการสำรวจข้อมูลของชุมชน ข้อมูลทางด้านภูมิสังคม เศรษฐกิจ และกายภาพต่างๆ และดำเนินการตามศาสตร์พระราชาตั้งแต่ระดับครัวเรือน ด้วยการสร้างการมีอาชีพตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ การส่งเสริมอาชีพทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร โดยใช้หลักพึ่งพาตนเองขั้นอยู่รอด ครัวเรือนพึ่งพาตนเองได้ จัดการที่ดินทำกินของตนเอง หากทำการเกษตรก็ให้มีพืชผลพอกินตลอดปี แล้วก็ระดับชุมชน เน้นการรวมกลุ่มอาชีพ โดยอาศัยหลักพึ่งพากันเองในชุมชนและระดับพื้นที่ ภูมิภาค เน้นพัฒนาวิสาหกิจชุมชน โดยอาศัยหลักพึ่งพาซึ่งกันและกัน กับภายนอก โดยเฉพาะระบบตลาดในแบบขั้นยั่งยืน ส่วนกรอบงานพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ มีทั้งการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามแผนชุมชน แล้วก็พัฒนาเพื่อการเรียนรู้ 
    นายทัณทวัตกล่าวต่อว่า ส่วนพื้นที่ต้นแบบปัตตานีทั้ง 3 หมู่บ้าน พบว่า ด้านเศรษฐกิจ สังคม แต่ละครัวเรือนยังมีการซื้อกินเป็นหลัก สังเกตจากการที่มีรถขายผัก ขายของ เข้าไปในแต่ละหมู่บ้าน ค่อนข้างขายดิบขายดี หากนำมาคำนวณปริมาณการซื้อกินขั้นต่ำอย่างน้อยก็ครัวเรือนละ 20 บาทต่อวัน ส่วนด้านกายภาพบางพื้นที่ไม่สามารถทำประโยชน์อะไรได้เลย ทุกปีจะเกิดน้ำท่วม แล้วดินก็ไม่มีคุณภาพ ไม่มีสารอาหารสำหรับปลูกพืช บางปีน้ำประปาก็ไม่มีใช้ หลังจากปิดทองฯ เข้าไปจึงได้เริ่มจากขั้นพื้นฐานคือ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานน้ำ เพื่อให้คนในชุมชนมีน้ำใช้ทั้งเพื่อการเกษตร อุปโภค บริโภคในครัวเรือน แล้วก็มีการบริหารจัดการในพื้นที่การทำเกษตร ปศุสัตว์ ทั้งเกษตรแปลงรวม และขยายไปสู่การทำแปลงเกษตรรอบบ้าน ผลิตเพื่อบริโภค ลดรายจ่ายในครัวเรือน ขยายไปสู่การรวมกลุ่มการผลิตเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ 
    “ที่นี่ส่วนใหญ่รายได้มาจากการกรีดยาง พอยางราคาตก ก็ไม่มีรายได้อื่นเสริม แต่พอโครงการเข้ามาก็ช่วยในเรื่องการสร้างรายได้เล็กๆ ในครัวเรือน อาจจะไม่ได้มากมาย แต่สามารถทำให้ชาวบ้านอยู่ได้ จากที่ปลูกผักไม่เป็น ก็ปลูกเป็น อาจจะไม่ได้ทำในพื้นที่มากมายเท่ากับหน่วยงานอื่นๆ ที่เขาทำมาก่อน แต่ก็จะค่อยๆ ขยายพื้นที่” นายทัณทวัตกล่าว 
    สำหรับพื้นที่ต้นแบบหมู่บ้านละโพะ ตั้งอยู่ที่ ต.ป่าไร อ.แม่ลาน เป็นพื้นที่ราบลุ่มสลับภูเขา เหมาะแก่การเพาะปลูก มีพื้นที่เพื่อการเกษตรประมาณ 500 ไร่ พื้นที่ดินอุดมสมบูรณ์ และมีน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่ฤดูฝนจะประสบกับปัญหาน้ำท่วม ทำให้พื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย อีกทั้งยังปล่อยให้ที่นาร้าง บางปีไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในการเกษตร 

 

พงพันธ์ เขียวจันทร์ อสพ.ปิดทองฯ อ.แม่ลาน 


    นายพงพันธ์ เขียวจันทร์ อสพ.ปิดทองฯ ในเขตพื้นที่ อ.แม่ลาน กล่าวว่า ในการพัฒนาหมู่บ้านละโพะขั้นพื้นฐานได้แก้ปัญหาด้านน้ำ โดยร่วมกันซ่อมแซมคูไส้ไก่เพื่อการเกษตร และกระตุ้นเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการซ่อมแซมคูไส้ไก่ พื้นที่ 127 ไร่ ให้แก้ปัญหาพื้นที่นาร้าง วางแนวทางลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตปรับปรุงบำรุงดินโดยนำองค์ความรู้การทำนาแบบโยนกล้าที่ประสบความสำเร็จแล้วจาก จ.เชียงราย มาปรับใช้ในพื้นที่ ซึ่งมีพื้นที่ 20 ไร่ ของเกษตรกร 9 ราย เป็นแปลงต้นแบบ แล้วก็ทำเรื่องการเกษตร โดยเฉพาะที่โดดเด่นสุดคือการเพาะเห็ดฟางที่ได้จากคำแนะนำของปราชญ์ชาวบ้าน ใช้เวลาเพียงแค่ 15 วันก็ได้ผลผลิตแล้ว โดยได้มีการแนะนำให้ชาวบ้านเพาะเห็ดฟางบนดินด้วยทะลายปาล์ม วัสดุที่มีจำนวนมากในภาคใต้ วิธีการแค่นำทะลายปาล์มมาหมักแล้วเตรียมดิน แล้วเอาไปวางบนแปลงที่เตรียมไว้ มีการโรยผักตบชวา ปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆ ลงไปในแปลง แล้วขึ้นโครงคล้ายหลังคาเล็กๆ คลุมด้วยถุงดำบนแปลงเพื่อไม่ให้โดนแสง ซึ่งมีชาวบ้านเข้าร่วมประมาณ 10 คน ล่าสุดกำลังมีการขยายไปอีก 8 ราย แล้วทางโรงเรียนในพื้นที่ก็มีการนำไปสอนเด็กๆ แล้วเด็กๆ ก็นำไปต่อยอดที่บ้าน ตอนนี้ปิดทองฯ ได้มีการติดต่อกับพ่อค้าคนกลาง แต่ทางพ่อค้าต้องการวันละ 100 กิโลกรัม ตอนนี้ยังผลิตให้พ่อค้าที่ตลาดไม่ได้ ก็ต้องมีการขยายต่อไปอีก

เพาะเห็ดฟางด้วยทะลายปาล์มบนแปลงเล็กๆ

    “ พื้นที่นาหลายแห่งในหมู่บ้านกลายเป็นพื้นที่รกร้าง เนื่องจากเหลือแต่คนแก่ชราที่อยู่บ้าน เลยไม่สามารถจะลงแรงทำนาได้ ซึ่งการเพาะเห็ดนี่แหละ น่าจะเอื้อกับสภาพภูมิอากาศฝนแปด แดดสี่ ของภาคใต้ หรือพูดง่ายๆ คือ ถ้าปลูกยางอย่างเดียว ฝนตกแปดเดือนแล้วอีกสี่เดือนที่ไม่มีฝนก็น่าจะมีผลผลิตอื่นๆ ทำเกษตรผสมผสาน มีพืชผักสวนครัวให้เก็บไว้กินเองในครัวเรือน เหลือก็ขาย เกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเห็ดฟางจะออกผลผลิตเร็ว ทำให้ชาวบ้านที่นี่เริ่มสนใจเห็ดฟางมากขึ้น บางรายที่เริ่มเพาะเห็ดฟางลงทุนเพียงแค่นิดเดียวสัก 300 บาท ไม่รวมกับทะลายปาล์ม เพราะทางเราเป็นคนจัดการให้ แต่ผลผลิตได้ตั้ง 2,500 บาทก็มี ถือว่าคุ้มค่า” นายพงพันธ์ กล่าว

 

เกษตรกรเจ้าของแปลงเห็ดฟางในสวนยางพารา ที่บ้านละโพะ 

    ด้านนางวรรณวิภา แซ่ภู่ เกษตรกรเจ้าของแปลงเห็ดฟางในสวนยางพาราที่บ้านละโพะ เล่าให้ฟังถึงที่มาการทำแปลงเห็ดว่า ตนมีสวนยางพาราบนพื้นที่กว่า 2 ไร่ มีต้นยางพาราประมาณกว่า 200 ต้น ขายน้ำยางในราคา 3 กิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งราคาถูกกว่าเมื่อก่อน แต่พอได้ฟังคำแนะนำของน้องๆ อสพ.ให้ลองปลูกพืชผักสวนครัว แล้วก็ปลูกเห็ดเสริมจากการทำสวนยาง จึงได้เริ่มต้นทำแปลงเห็ดจำนวน 10 แปลงในพื้นที่สวนยางไปเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยลงทุนไป 3,000 บาท ได้ผลผลิตรอบแรก 60-70 กิโลกรัม เก็บไว้กินในครัวเรือนประมาณ 5 กิโลกรัม และที่เหลือก็นำไปขายให้กับครอบครัวอื่นๆ ทั้งลูกค้าที่รับซื้อน้ำยางจากสวนตนบ้าง รวมรายได้รอบแรกที่ผ่านมาก็ประมาณกว่า 4,000 บาท อนาคตก็มีแนวคิดอยากจะขยายเพิ่มอีก เพราะเห็ดใช้พื้นที่น้อย แต่ได้ผลคุ้มค่า
    ส่วนอีกหนึ่งพื้นที่หมู่บ้านต้นแบบในปัตตานีอย่างหมู่บ้านสุเหร่า ต.ท่าน้ำ อ.ปานาเระ นายกัสมัน แวกะจิ อสพ.ปิดทองฯ และหัวหน้าพื้นที่ เผยว่า การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบของที่นี่ มีการทำระบบน้ำ โดยการปรับปรุงฝายปาโจ เพื่อสามารถกระจายน้ำให้แก่ประชาชน 5 หมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ ต.ท่าน้ำ ส่วนด้านเกษตร ส่งเสริมให้มีโครงการเกษตรรอบบ้าน โครงการนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมทั้งหมด 51 ราย 5 หมู่บ้าน จัดตั้งกองทุนทั้งหมด 2 กองทุน คือ กองทุนเมล็ดพันธุ์ สมาชิกกลุ่มสามารถยืมเมล็ดไปเพาะปลูกได้ จ่ายหลังการเก็บเกี่ยวและกองทุนปุ๋ย สมาชิกกลุ่มต้องจ่ายเงินซื้อปุ๋ยที่ขายในราคาถูกกว่าท้องตลาด ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มเริ่มปลูกพืชแล้วบางส่วน เช่น ข้าวโพดหวาน ถั่วลิสง มันเทศ พริก อยู่ในระหว่างออกผลผลิต มะเขือ แตงกวา ผักบุ้ง แล้วก็มีการส่งเสริมเพาะเห็ดฟางด้วยทะลายปาล์มเหมือนกัน โดยมีสมาชิก 40 ราย และโรงเรียน 2 แห่ง อนาคตมีความคิดที่จะขยายพื้นที่น้ำ ทำแก้มลิง 2 แห่ง และทำฝายชะลอน้ำสำหรับเก็บน้ำใช้เฉพาะหน้าแล้ง เพราะน้ำไม่พอใช้

 

แพะพระราชทาน "พันธุ์แบล็คเบงกอล" ที่บ้านสุเหร่า 

    นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมในด้านปศุสัตว์อีกด้วย เพราะมีเกษตรกร 12 รายที่มีอาชีพเลี้ยงแพะมาหลายปี และแพะก็เป็นที่ต้องการในตลาดภาคใต้ จำนวนแพะที่เลี้ยงไว้ในพื้นที่ของชาวบ้านสุเหร่า กลับมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้า เพราะแต่ละวันจะมีลูกค้าจากจังหวัดอื่นในพื้นที่ชายแดนใต้มาหาซื้อแพะแทบจะทุกเดือน เพื่อนำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตอนเกิด แต่การเลี้ยงแพะ ชาวบ้านยังด้อยในเรื่องของการดูแลรักษา และการปรับปรุงคอก ทางปิดทองฯ จึงได้ให้เกษตรกร 5 ราย ไปศึกษาดูงานที่จังหวัดต่างๆ ที่มีการเลี้ยงแพะทั่วประเทศ แล้วเกษตรกร 5 รายยังได้รับมอบแพะพระราชทาน "พันธุ์แบล็คเบงกอล" จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผ่านมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2561 คนละ 5 ตัว จำนวนทั้งสิ้น 25 ตัว เป็นตัวเมีย 10 ตัว ตัวผู้ 15 ตัว ดังนั้น จึงได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านร่วมกับปศุสัตว์อำเภอ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปิดทองฯ สนับสนุนการก่อสร้างคอกแพะและประสานศูนย์แพะแกะยะลา จัดทำรูปแบบการวัดการเจริญเติบโตของแพะ เชื่อมโยงกับสูตรอาหารที่ใช้เลี้ยง ติดตามผลและประสานงานเรื่องสุขอนามัยของคอกแพะเคลื่อนที่ สามารถอัพเดตได้ให้เหมาะสมเพียงพอกับความต้องการ การตรวจสุขภาพแพะ เป็นตารางการเลี้ยงแพะในแต่ละวัน เช่น การสังเกตอาการเกิดโรคแพะ การรักษาเบื้องต้น เพื่อให้ชาวบ้านแจ้งมาที่ อสพ. ใช้แก้ไขปัญหาให้ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะส่งผลให้แพะสมบูรณ์ได้ราคาดี
    ในส่วนของเกษตรกรนางสุนีย์ ชุมนพรัตน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนแพะบ้านท่าน้ำ กล่าวว่า เดิมทีชาวบ้านในพื้นที่เลี้ยงแพะกันมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว จึงได้รวบรวมเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ รวมกลุ่มตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ต.ท่าน้ำ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 12 คน มีแพะทั้งหมดกว่า 100 ตัว รวมแพะพระราชทานแล้ว ทุกคนเลี้ยงแพะเป็นวิถีชีวิตประจำวัน แพะทุกตัวอยู่ในคอก สมบูรณ์ ปลอดโรค และเลี้ยงถูกต้องตามหลักศาสนา ไม่ปล่อยให้แพะออกไปหากินข้างนอก เพราะถ้าเลี้ยงปล่อยไปกินอาหารของชาวบ้าน จะไม่สามารถนำแพะไปทำพิธีกรรมต่างๆ ได้ การที่ปิดทองฯ เข้ามา เป็นเหมือนได้ขยายการเลี้ยงแพะเพื่อต่อยอดและสร้างความมั่นคงด้านอาชีพ ตนมองว่าตลาดแพะยังไปได้อีกไกล เมื่อก่อนไม่มีใครรู้ว่าอาหารชนิดใดที่มีโปรตีนกับแพะ แต่พอมีการร่วมมือกับนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ฝ่ายก็รู้เรื่องวิชาการมากขึ้น อย่างเช่นผักกระฉูด ที่หน้าตาคล้ายกับผักกระเฉดในพื้นที่ ต.ท่าน้ำมีจำนวนมาก แต่ไม่เคยรู้ว่าเป็นพืชที่มีโปรตีนสูง ถ้านำมาให้แพะกิน จะอุดมสมบูรณ์
    “ถ้าถามว่าเลี้ยงแพะแล้วดีอย่างไร ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่แค่ทางการค้าขาย สร้างรายได้ ถ้าเขาซื้อไปเลี้ยงก็เหมือนได้ขยายแพะออกไปในกลุ่มต่างๆ มากขึ้น ถ้าซื้อไปเลี้ยงอายุ 4 เดือน ราคาตัวละ 2,000 บาท ทั้งนี้ก็ขึ้นกับน้ำหนัก บางตัวอาจจะ 2,000-7,000 บาทก็มี” นางสุนีย์กล่าว
    ส่วนที่บ้านแป้น ตำบลแป้น อำเภอสายบุรี ที่เคยประสบปัญหาไม่มีน้ำประปาใช้ และสภาพของดินไม่อุดมสมบูรณ์ หัวหน้างานพื้นที่ต้นแบบจังหวัดชายแดนใต้ เผยว่า ปิดทองฯ ได้มีการจัดการด้านน้ำโดยการก่อสร้างฝายหิน มีการบริหารจัดการกลุ่มผู้ใช้น้ำ ติดมิเตอร์น้ำเพื่อเก็บเงินเป็นกองทุน ชาวบ้านมีแผนที่จะดำเนินการต่อเนื่องด้วยการสร้างฝายอนุรักษ์ในพื้นที่ต้นน้ำ การทำฝายเกษตร ด้านล่างของฝายมีแผนจัดทำโครงการน้ำดื่มในหมู่บ้านเพื่อลดรายจ่าย มีการส่งตัวอย่างน้ำไปตรวจ และขอแบบแปลนโรงน้ำดื่มจากปัตตานี เพื่อ อบต.แป้น ดำเนินการออกแบบ ด้านการเกษตร โครงการเกษตรลดรายจ่ายหลังบ้านควบคู่กับจัดตั้งกองทุนทำปุ๋ยหมักลดต้นทุนต่อยอดโครงการ 9101 ในเรื่องการเกษตร และกองทุนเมล็ดพันธุ์ดำเนินงานต่อเนื่องเป็นเรื่องของการส่งเสริมพืชประจำถิ่น อาทิ ข้าวพันธุ์เล็บนก โดยโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี เสนอมีความต้องการรับซื้อข้าวเล็บนก เดือนละ 300 กิโลกรัม โครงการส่งเสริมการจัดการสวนมะพร้าวเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตและนวัตกรรมการผลิตวัสดุปลูกพืชจากเปลือกมะพร้าว ต้นมะพร้าวร่วมโครงการ 565 ต้น 30 ไร่ สมาชิก 9 ราย ก่อนเข้าร่วมโครงการมีผลผลิต 22,600 ลูกต่อปี และตั้งเป้าหมายผลผลิตเมื่อเข้าร่วมโครงการ 33,900 ลูกต่อปี.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"