วิกฤติโรฮีนจา ที่ผมสัมผัสมา!


เพิ่มเพื่อน    

      คนข่าวต้องเข้าถึงต้นตอของข่าว!  

      ผมเข้าค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาทางฝั่งบังกลาเทศมาแล้วหลังจากที่ติดตามข่าวสารมายาวนาน และได้พยายามหาโอกาสเข้าไปสัมผัสกับ คนไร้รัฐ กลุ่มนี้มาตลอด

      ด้วยจำนวนผู้ลี้ภัยกว่า 900,000 คน ถือว่าที่นี่เป็นค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่ที่สุดในโลกวันนี้

      ได้ตั้งวงคุยและเจาะลึกถึงเรื่องราวการ "หนีตาย" ของหลายครอบครัวจากฝั่งรัฐยะไข่ของเมียนมา...สรุปว่าเป็นความโหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ได้อย่างเหลือเชื่อจริงๆ

      คุณ ปู ไปรยา ในฐานะ Goodwill Ambassador หรือทูตสันถวไมตรีของ UNHCR หรือข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติร่วมทีมร่วมสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจากับผม

      เธอได้ยินได้ฟังเรื่องราวจากคนโรฮีนจาแล้วบอกว่าช็อก...ไม่เชื่อว่าเรื่องอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ในยุคนี้สมัยนี้   

      เธอบอกว่าการตัดสินใจครั้งแรกที่เสนอตัวเป็นอาสาสมัครช่วยงานผู้ลี้ภัยเมื่อ 4 ปีก่อน ก็เพราะได้เห็นข่าวเรื่องการหนีตายของชาวโรฮีนจานี่แหละ    

      เรื่องราวจากปากของชาวโรฮีนจาเองตอกย้ำถึงความน่าสะพรึงกลัวของการดำรงชีวิตอยู่ในรัฐยะไข่...เรื่องราวการฆ่าฟัน กักกัน ทรมาน ข่มขืน และจงใจสร้างบรรยากาศแห่งความน่ากลัวสำหรับคนที่ยังเหลืออยู่

        55% ของเกือบล้านคนที่ค่ายลี้ภัย Kutupalong ที่เมือง Cox’s Bazar ในอ่าวเบงกอลตรงข้ามรัฐยะไข่ของเมียนมาแห่งนี้เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 และ 42% อายุต่ำกว่า 11 อีกทั้งยังมีผู้หญิงและผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก

      สภาพของค่ายเป็นเพิงพักพิงชั่วคราวแยกเป็น 22 กลุ่ม มีความแออัดยัดเยียดและมีปัญหาการรักษาสุขภาพอนามัย รวมไปถึงการศึกษาสำหรับเยาวชนที่ยังห่างไกลจากความปกติอย่างยิ่ง

      ในภาวะฉุกเฉินของการต้องอยู่รอดในค่ายลี้ภัยที่ยังมี ภาวะฉุกเฉินซ้อน เข้ามาในรูปของภัยธรรมชาติที่น่าหวาดหวั่นไม่น้อย

      นั่นคือมรสุมตามฤดูกาลของอ่าวเบงกอลและพายุไซโคลนหนักหน่วง ที่สามารถกวาดเพิงที่พักราบเป็นหน้ากลองได้หากไม่มีการวางมาตรการป้องกันเอาไว้ทันท่วงที

      พื้นที่ของค่ายส่วนใหญ่เป็นดินโคลน ดังนั้นพอฝนลงทุกอย่างก็เฉอะแฉะ การเดินเหินสัญจรไปมามีอุปสรรคมากมาย สะพานไม้ไผ่ที่ทำจากฝีมือของผู้ลี้ภัยเองก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมเสี่ยงกับการเกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา

      บริเวณค่ายลี้ภัยแห่งนี้เคยอุดมไปด้วยป่าเขาเขียวขจี แต่หลังเหตุการณ์รุนแรงที่ทหารเมียนมาลงมือปราบปรามชาวโรฮีนจาอย่างหนักเริ่มตั้งแต่ 25 สิงหาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา เมื่อผู้ลี้ภัยหลั่งไหลข้ามเข้ามาจากรัฐยะไข่ ป่าไม้ก็ถูกทำลายเพื่อนำไปทำเป็นฟืนและการดำรงชีพของผู้ลี้ภัย

      UNHCR ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ตั้งแต่การตั้งจุดแรกรับไปถึงการช่วยสร้างเพิงที่พัก  ระดมอาหาร ยารักษาโรค น้ำสะอาด ส้วม และตะเกียงพลังแสงอาทิตย์ในบางจุด รวมถึงการร่วมกับชาวโรฮีนจาช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อทดแทนป่าที่หายไป

      เด็กๆ ผู้ลี้ภัยเรียนรู้สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของช้างป่าที่ครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ในบริเวณนี้ และเริ่มหายไปเมื่อผู้ลี้ภัยมาปักหลักอยู่ตรงนี้

      ผู้ลี้ภัยที่อยู่ในบริเวณเชิงเขาที่เผชิญภัยดินถล่มก็ถูกย้ายมาอยู่ในจุดใหม่ที่ถูกปรับที่ให้ราบขึ้น UNHCR มีพันธมิตรมาร่วมหลายองค์กร รวมถึงกาชาดบังกลาเทศ องค์กรระหว่างประเทศกับหน่วยงานการกุศลจากทั่วโลกผสมกับเงินบริจาคของเอกชนทั่วโลก

      แต่งบประมาณที่ต้องใช้เพื่อปรับคุณภาพมาตรฐานให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ยังขาดแคลนอยู่ไม่น้อย จึงมีการรณรงค์ให้มีการบริจาคจากเอกชนทั้งส่วนตัวและในฐานะบริษัทและองค์กรทุกภาคส่วน

      ติดตามรายละเอียดและเบื้องหลังของ วิกฤติโรฮีนจา จากที่ผมสัมผัสมาได้ในเร็วๆ นี้ทางรายการ ​​“โลกป่วน” ThaiPBS ครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"