จากมุมไบถึงบางกะเจ้า คนเก็บขยะเปลี่ยนโลก!  


เพิ่มเพื่อน    


    ผมเจอเขาที่บางกะเจ้าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สีหน้ายิ้มแย้ม เป็นมิตร และมีความมุ่งมั่นมาก
    เขาเป็น "นักเก็บขยะ" ที่เปลี่ยนโลกได้
    เพราะ Afroz Shah นักกฎหมายหนุ่มจากมุมไบของอินเดียคนนี้สามารถปลุกระดมคนเมืองมุมไบ ไม่ว่าจะเป็นชาวสลัมหรือดาราหนัง นักเรียน ผู้ปกครอง ให้มาช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อเก็บขยะ โดยเฉพาะที่เป็นพลาสติกริมชายหาดมุมไบชื่อ Versova Beach ยาว 2.5 กิโลเมตร จนกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก
    องค์กรสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติประกาศให้เขาเป็น "Champion of the Earth" หรือแชมเปียนแห่งโลกใบนี้ในปี 2016 ในฐานะเป็นผู้สร้างกระแสความตื่นตัวในหมู่ประชาชนเรื่องปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกได้สำเร็จอย่างน่าชื่นชม
    ซีเอ็นเอ็นให้เขาเป็น Indian of the Year 2017 หรือเป็นบุคคลแห่งปีของอินเดีย เพราะกิจกรรมของเขาได้สร้างความตื่นตัวในหมู่คนอินเดียได้อย่างน่าประทับใจ
    ผมสัมภาษณ์เขาที่บางกะเจ้าก่อนการประชุมเสวนาเรื่อง Sustainable Brands (SB) ซึ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง "แบรนด์ที่ยั่งยืน" แล้วยืนยันได้ว่าหนุ่มอินเดียคนนี้เป็นคนพูดจริงทำจริง
    เพราะพอนั่งลงสัมภาษณ์ แอฟรอสบอกว่าช่วยพาเขาไปจุดที่มีขยะ เขาจะลงมือเก็บขยะ และชักชวนให้แต่ละบ้านในย่านนั้นลงมือเก็บขยะเองทุกวัน
    "อย่าหวังพึ่งรัฐบาล อย่าหวังพึ่งทางการ อย่าชี้นิ้วไปที่คนอื่น การกำจัดขยะจะต้องเกิดขึ้นด้วยสองมือของเราทุกคนเท่านั้น เราจึงจะรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างจริงจัง" เขาบอกด้วยสีหน้าแห่งความกระตือรือร้น
    เขาทำสำเร็จที่มุมไบด้วยการเริ่มรณรงค์เมื่อเดือนตุลาคมปี 2015 หรือสามปีก่อนด้วยการออกไปเก็บขยะริมชายหาดเอง และชักชวนทุกคนที่อยู่แถวนั้นลงมือด้วยตัวเอง
    "ผมเกิดที่ริมหาดแห่งนี้ ผมไปทำงานที่อื่น วันดีคืนดีผมย้ายกลับมา เห็นกองขยะพะเนินเทินทึกอยู่ริมหาด ผมตกใจ นี่หรือคือที่พักอาศัยของมนุษย์ ทำไมเรายอมให้กองขยะใหญ่โตขึ้นทุกวัน เราหวังพึ่งเทศบาลหรือ เราหวังพึ่งนักการเมืองหรือ เราหวังไม่ได้ทั้งนั้น เราต้องถามตัวเองว่าทำไมเราไม่เริ่มทำเอง" เขาบอกผม
    เขาเริ่มด้วยการชวนเพื่อนบ้านวัย 84 ชื่อ Harbansh Mathur ลงมือเก็บขยะริมหาดก่อน (เสียชีวิตหลังจากร่วมรณรงค์เรื่องนี้ไม่นาน)
    จากนั้นก็เคาะประตูบ้านคนแถวนั้นทีละบ้านสองบ้านเพื่อเชิญชวนให้ออกมาช่วยกันเก็บขยะ
    จากนั้นทุกสุดสัปดาห์เขาจะชวนอาสาสมัคร ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน หรือดาราภาพยนตร์ และนักการเมืองมาช่วยกันเก็บขยะเพื่อสร้างความตระหนักไปทั่วเมืองมุมไบ
    เขาเรียกการรณรงค์ของเขาว่า A Date with the Ocean
    หมายถึงการ "นัดพบกับมหาสมุทร" ซึ่งก็คือการแสดงความรักและทะนุถนอมทะเล ไม่ยอมให้มนุษย์ทิ้งขยะอย่างไร้ความรับผิดชอบจนทำให้ทะเลเน่าเหม็น ทำลายทั้งทะเลและชุมชนมนุษย์

    เขาบอกผมว่าเราต้องตระหนักถึงความสำคัญในการ "รักทะเล" อย่างจริงใจและจริงจัง
    "ก็ไม่ต่างอะไรกับคนเราที่มีความรักต่อมนุษย์ด้วยกัน ถ้าเรารักใคร เราก็จะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องเขาหรือเธอใช่ไหม เราก็ต้องทำอย่างนี้กับทะเลด้วยเช่นกัน" เขาบอกผม
    แอฟรอส ชาห์มาถึงกรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนก็ลงมือหาจุดที่เก็บขยะทันที เพราะเขาเชื่อในการ "กระทำ" มากกว่าการ "เรียกร้อง" หรือ "ป่าวประกาศคำขวัญ" ใดๆ
    และเขาก็ชวนผมและคนอื่นๆ ไป ณ จุดบางกะเจ้าที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีขยะที่เป็นขวดพลาสติก, รองเท้า, เสื้อผ้า และขวดแก้วมากมาย
    ชาวบ้านที่นั่นบอกว่าส่วนใหญ่เป็นขยะที่น้ำพัดมาจากที่อื่น ไม่ใช่สิ่งที่ชุมชนทิ้งเอง
    แอฟรอสบอกว่าไม่สำคัญว่าขยะนั้นใครเป็นคนทิ้ง แต่หากทุกคนทุกบ้านออกมาเก็บขยะนั้นเองทุกวันด้วยสองมือ ก็จะสร้างความตระหนักในสังคมที่กลายเป็นนิสัยธรรมดา และไม่ช้าไม่นานคนก็จะมีความสำนึกในการทิ้งขยะอย่างรับผิดชอบเอง
    ว่าแล้วเขาก็เคาะประตูบ้านหลังหนึ่ง และเริ่มบทสนทนาเรื่อง "ช่วยกันเก็บขยะหน้าบ้านของเราคนละไม้คนละมือ" อย่างสุภาพอ่อนโยน
    เป็นตัวอย่างที่สมควรจะนำมาใช้ในบ้านเราอย่างยิ่ง
    ผมนัดกับเขาว่าจะไปเยี่ยมเขาที่มุมไบเพื่อบันทึกความเป็นไปที่น่าสนใจสำหรับผมอย่างยิ่ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"