“ฟังเพลงสุนทราภรณ์”...สร้างสุข ซาบซึ้งด้วยเนื้อหาแฝงปรัชญาชีวิต


เพิ่มเพื่อน    

    “สุขกันเถอะเรา เศร้าไปทำไม อย่ามัวอาลัย คิดร้อนใจไปเปล่า เกิดมาเป็นคน อดทนเถอะเรา อย่ามัวซมเซา ทุกคนเราทนมัน” เสียงเพลงสนุกสนาน แต่ไม่ลืมสอดแทรกปรัชญาการใช้ชีวิต ที่แต่งขึ้นด้วยความละเมียดละไม ทั้งวรรณศิลป์และคีตศิลป์ของ “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” ผู้ก่อตั้งวงดนตรี “สุนทราภรณ์” นั่นจึงทำให้บทเพลงสุดคลาสสิกดังกล่าวเป็นทำนองที่ตราตรึงใจคนหลัก 6 หลัก 7 เพราะบางรายถึงขึ้นฮัมเพลงโชว์ให้ลูกหลาน และร้องให้ต้นหมากรากไม้ฟังกันอยู่บ่อยๆ 
    อะไรเป็นเหตุผลให้เสียงเพลงของวงดนตรีสุดประณีตดังกล่าว ที่ก่อตั้งมาครบ 79 ปีเต็มในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน คุณอติพร สุนทรสนาน เสนะวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิสุนทราภรณ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เล่าให้ฟังถึงประโยชน์ที่คนสูงวัยจะได้รับจากการฟังเพลงสุดคลาสสิกดังกล่าว เพราะแว่วว่าเสียงดนตรีทุกประเภทสามารถบำบัดอาการซึมเศร้าได้ ทำให้แก่ช้าลงอีกด้วย 
    คุณอติพร ทายาทครูเอื้อ ผู้ก่อตั้งวงสุนทราภรณ์ เล่าว่าให้ฟังว่า ส่วนหนึ่งที่คนปู่ย่ามักชอบฟังเพลงสุนทราภรณ์ เพราะเกิดในยุคที่เพลงกำลังได้รับความนิยม หรือโตมากับเพลงสุนทราภรณ์ก็ว่าได้ ที่สำคัญผู้ฟังก็คิดว่าเพลงลักษณะนี้ค่อนข้างมีความสมบูรณ์ทั้งเรื่องของ “วรรณศิลป์” หรือคำร้อง นอกจากนี้ก็ยังโดดเด่นในแง่ของ “คีตศิลป์” หรือทำนอง เนื่องจากเป็นวงดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีค่อนข้างครบ ทั้งไวโอลิน, เปียโน, กีตาร์, กลอง, ทรัมเป็ต, เพอร์คัชชัน ฯลฯ ซึ่งตรงนี้อาจจะถือเป็นข้อแตกต่างกับวงดนตรีในปัจจุบัน พูดง่ายๆ ว่าเพลงของสุนทราภรณ์ค่อนข้างมีความละเมียดละไมในทุกมิติ ทั้งทำนองและปรัชญาชีวิตที่น่าสนใจ
 “ผู้ใหญ่ที่ได้ฟังเพลงสุนทราภรณ์จะทำให้เกิดความละเอียดอ่อนในจิตใจ เพราะในทุกบทเพลงจะมีปรัชญาชีวิตสอดแทรกอยู่ทั้งเพลงช้าและเพลงเร็ว เมื่อฟังแล้วท่านก็จะได้คิดตาม จากนั้นก็จะทำให้ผู้ฟังเกิดความซาบซึ้งใจหลังจากการกดเพลย์เครื่องเล่นเพลง นอกจากนี้ คนทุกเพศทุกวัยก็สามารถฟังเพลงสุนทราภรณ์ได้ แม้แต่ผู้สูงวัยที่อาจจะเรียนน้อย แต่ถ้าเป็นผู้ที่ชอบและรักในเสียงเพลง และใฝ่หาความรู้อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งฟังบ่อยๆ รับรองว่าฟังรู้เรื่องและเข้าใจอย่างแน่นอน เพราะอย่างที่บอกไปคือ ในเนื้อเพลงจะมีความพิเศษตรงที่ต้องตีความแง่มุมสอนชีวิตต่างๆ ที่บอกไว้ในเพลง ขณะเดียวกันก็สอดรับกับท่วงทำนองที่บรรเลงทั้งช้าและเร็ว โดยเครื่องดนตรีสุดคลาสสิกหลากหลาย อาทิ ไวโอลีน เป็นต้น”
    สำหรับบทเพลงที่ความหมายดีและสะท้อนแนวคิดให้กับผู้ฟังสูงวัยนั้น คุณอติพรยกตัวอย่างว่า มีทั้งเพลง “กังหันต้องลม” ที่คุณพ่อต้องการแต่งเพื่อที่จะบอกให้ผู้ฟังรู้ว่า ใน 1 วันนั้น กังหันมักจะถูกลมพัดหลายครั้งหลายหน ในขณะที่ใจคนเองก็หมุนเวียนเปลี่ยนไปมายิ่งกว่ากังหันลมเสียอีก นอกจากนี้ เพลง “เมื่อหวังยังมี” ซึ่งเพลงนี้มีจังหวะช้าสไตล์เพลงบูลส์ ซึ่งมีเนื้อร้องยากมากและมีความหมายดี ว่าจริงๆ แล้วชีวิตของมนุษย์เราทุกคนล้วนมีความหวังอะไรบ้างในชีวิต เพื่อทำให้ดำรงชีพอย่างมีความสุข ถึงแม้จะไม่สมหวังบางเรื่องก็ขอให้เริ่มต้นทำใหม่ หรือเพลง “โลกหมุนเวียน” ที่ขยับจังหวะขึ้นมานิดหนึ่ง โดยมีเนื้อหาบอกเล่าทุกสิ่งในโลกที่ย่อมมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทั้งใจของชายและหญิง หรือแม้แต่ความรวยจน นอกจากนี้ ทุกคนต้องตายด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อเกิดมาแล้วก็ให้ทำความดีเพื่อประโยชน์แก่สังคมและตัวเองเมื่อภายหลัง หรือแม้แต่เพลง “สุขกันเถอะเรา” ที่มีจังหวะสนุกสนาน และเป็นเพลงร้องง่ายๆ ก็ยังมีข้อคิดว่า ในชีวิตอย่าคิดหวังอะไรมาก แต่ให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในแต่ละวันจะดีที่สุด
“อันที่จริงแล้วประโยชน์ของการฟังเพลงจะให้ทั้งความเพลิดเพลิน และยังช่วยบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข แทนที่จะไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ก็สามารถเปิดเพลงฟังที่บ้านได้ เพราะนอกจากเพลงที่ให้แง่คิดแล้ว สุนทราภรณ์ยังมีเพลงสไตล์ท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ เช่น หาดสงขลา, ภูกระดึง, เชียงใหม่ ฯลฯ หรือแม้แต่เพลงสถานศึกษาก็มีให้เลือกฟังเพื่อความเพลิดเพลิน เพราะเรามีไม่ต่ำกว่า 2,000 เพลง” 
    ได้ยินอย่างนี้แล้ว ลูกๆ หลานๆ คนไหนไม่อยากให้ผู้สูงวัยอยู่บ้านแบบเหงาเปล่าเปลี่ยว รีบไปหาซีดีหรือดาวน์โหลดเพลงที่ท่านชอบมาให้ฟังกันด่วนๆ จ้า...จะเพลงสุนทราภรณ์ก็ดี หรือเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง ที่ชอบก็ไม่ว่ากัน...เวิร์กไหมค่ะ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"