มหาเธร์: เงื่อนไขก่อนการหยุดยิงภาคใต้


เพิ่มเพื่อน    

        นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด แห่งมาเลเซีย มาเยือนไทยช่วง 24-25 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้พบกับนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวข้อหลักของการปรึกษาหารือคือ ความร่วมมือของมาเลเซียในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทย

        ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษนายกฯ มหาเธร์อีกครั้งในวาระนี้ อีกบางตอนที่พูดคุยกันเรื่องภาคใต้ที่น่าสนใจคือ

        สุทธิชัย : มีข้อเสนอให้มีการหยุดยิงหรือสร้างเขตปลอดภัยที่เริ่มต้นด้วยพื้นที่หรือเขตใดเขตหนึ่งก่อน และหากสำเร็จก็สามารถขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ให้มีการหยุดยิงได้กว้างขึ้นได้ นั่นคือสิ่งที่ท่านเสนอไว้ใช่ไหมครับ

        มหาเธร์ : เราจะต้องดำเนินการทีละขั้นตอน เราไม่สามารถบรรลุจุดมุ่งหมายทั้งหมดในจังหวะเดียวได้ ก็ต้องแสดงถึงประโยชน์ของการหยุดยิง หากพวกเขาตระหนักว่าเป็นประโยชน์สำหรับพวกเขาแล้ว ผมคิดว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะยอมรับแนวทางที่เราเสนอ

        สุทธิชัย : เขาอาจเสนอประเด็นสิทธิปกครองตนเอง ซึ่งอาจตีความได้หลายอย่าง ท่านมีความเห็นอย่างไร

        มหาเธร์ : เรามีตัวอย่างมากมายที่เราสามารถทำตามได้ อินโดนีเซียมีตัวอย่างให้เห็น ในภาคเหนือที่ประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น ในอาเจะห์และยอร์กยาการ์ตา ซึ่งก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย แต่พวกเขามีอำนาจในการปกครองส่วนของประเทศส่วนนั้น แน่นอนว่าเราสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับทั้งรัฐบาลและบางกลุ่ม แต่ต้องพูดคุยกัน

        สุทธิชัย : และแน่นอนว่าเรื่องของการพัฒนาและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนก็เป็นเรื่องสำคัญ ท่านเคยพูดกับผมเมื่อครั้งที่แล้วว่าเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่สำคัญที่สุด เราจะทำอย่างไรให้มาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ภาคใต้ดีขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพอย่างไร?

        มหาเธร์ : แน่นอน จะต้องมีบางอย่างที่เป็นผลประโยชน์ต่อพวกเขาถึงจะยอมหยุดการยิง แต่ถ้าพวกไม่เห็นว่าจะได้ประโยชน์ด้านมาตรฐานการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น ผมก็คิดว่าพวกเขาจะไม่สนใจการหยุดยิง

        สุทธิชัย : ที่ผ่านมามีความสงสัยว่าผู้ก่อเหตุร้ายที่หนีข้ามจากฝั่งไทยมักได้รับการดูแลจากฝั่งมาเลเซีย ท่านได้สะสางความระแวงสงสัยนี้อย่างไร

        มหาเธร์ : คุณก็รู้ว่ามีคนที่ถือ 2 สัญชาติอยู่ ที่ถือทั้งสัญชาติมาเลเซียและก็ถือเอกสารของไทยด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเข้ามาจัดการปัญหาการถือ 2 สัญชาติ เพราะว่าคนเหล่านี้เกี่ยวโยงกัน อาจจะมีญาติอยู่ที่กลันตันฝั่งมาเลเซียและที่ภาคใต้ของไทย เพราะฉะนั้นจึงมีการไปมาหาสู่กันตลอด ถ้าถามว่าคนเหล่านี้อยากจะก่อความไม่สงบหรือไม่ บางทีเราก็ไม่รู้ แต่ความจริงคือ ที่ชายแดนเราเจอคนมาเลเซียอยู่ในฝั่งไทยและเราก็เจอคนไทยที่ฝั่งมาเลเซีย

        สุทธิชัย : ใช่ครับ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็รักสันติ

        มหาเธร์ : ครับ

        สุทธิชัย : พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณนั้นตามปกติวิสัย ที่ผมรู้เพราะว่าผมก็เกิดในพื้นที่แถบนั้น ท่านก็ด้วย ใช่ไหมครับ ท่านก็ทราบดีว่าที่ชายแดน คนข้ามฝั่งไปตอนเช้าและกลับมาตอนเย็น แต่คนส่วนใหญ่รักสันติ

        มหาเธร์ : ใช่ครับ

        สุทธิชัย : ท่านแก้ปัญหาด้านการถือ 2 สัญชาติอย่างไรครับ ไม่ให้กระทบกับความสัมพันธ์ของผู้คน

        มหาเธร์ : ถึงแม้ว่าจะถือสัญชาติเดียวก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะข้ามพรมแดนเพื่อเยี่ยมญาติหรือทำอย่างอื่นไม่ได้ พวกเขาอาจจะมีญาติอยู่ที่อีกฝั่งหนึ่ง ถ้าพวกเขาอยากจะข้ามแดน เราไม่ห้าม คนไทยหรือคนมาเลเซียก็มีญาติอยู่อีกฝั่งพรมแดนเช่นกัน เรายังมีคนไทยที่อาศัยในมาเลเซียนานแล้วด้วย

        สุทธิชัย : หลายชั่วอายุคน?

        มหาเธร์ : ใช่ครับ หลายชั่วอายุคน บางคนก็พูดไทย เป็นคนมาเลเซียที่พูดไทย

        สุทธิชัย : ครับ

        มหาเธร์ : แล้วเราก็มีคนที่เรียกตัวเองว่า ซัมซัม ซึ่งเป็นคนเชื้อสายมาเลย์ แต่ภาษาที่พวกเขาพูดคือภาษาไทย

       สุทธิชัย : ครับ ซัมซัม เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เรามีความเกี่ยวดองกันใกล้ชิดมาก และที่จริงแล้ว ความสัมพันธ์ของคนทั้ง 2 ฝั่งก็มั่นคงมาก ยกเว้นแต่ว่า พอเกิดความรุนแรงขึ้น มันจะเป็นชนวนของปัญหาได้

        มหาเธร์ : เราเองก็หวังไม่ได้หรอกว่าจะไม่มีคนหัวรุนแรง ยังไงก็มีอยู่แล้ว ซึ่งยากที่จะเปลี่ยนความคิดพวกเขา แต่เราก็ต้องทําอะไรสักอย่าง เพราะถ้าไม่ลองทำก็จะแก้ปัญหาไม่ได้

        สุทธิชัย : ครับ ท่านไม่กลัวว่าคนหัวรุนแรงจากข้างนอกจะเข้ามาแทรกซึมในภาคใต้ของไทยหรือ

        มหาเธร์ : เรื่องนี้มันก็เป็นไปได้ครับ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ก่อการร้ายรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในประเทศอื่น ที่ชักชวนคนในพื้นที่ไปเข้าร่วม ที่มาเลเซียเราก็มีปัญหานี้ แล้วผมคิดว่าที่ภาคใต้ของไทยก็อาจจะมีเช่นกัน

       สุทธิชัย : เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่แก้ปัญหาความรุนแรงในปัจจุบัน มันก็อาจจะกลายเป็นการก่อการร้ายข้ามประเทศก็ได้ใช่ไหมครับ

        มหาเธร์ : ใช่ครับ

        สุทธิชัย : มาเลเซียกำลังร่วมมือกับอินโดนีเซียและสิงคโปร์ ต่อต้านปัญหาเกี่ยวกับไอเอสอยู่ใช่ไหมครับ

        มหาเธร์ : ครับ เราต้องร่วมมือกัน เพราะว่าคนเหล่านี้ไหวตัวเร็ว สามารถย้ายจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง ค่อนข้างใหญ่ เราไม่รู้ว่าถือพาสปอร์ตประเทศอะไร บางทีก็แอบเข้ามา

        (พรุ่งนี้ : มหาเธร์กับปัญหาโรฮีนจา)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"