ศึกเลือกตั้งกลางเทอม 2018 : จากประชานิยมถึงระเบิดประชาธิปไตย


เพิ่มเพื่อน    

ภาพ : ระเบิดไปป์บอมบ์ที่ส่งทางไปรษณีย์

ที่มา : https://www.commondreams.org/views/2018/10/26/its-not-media-stoking-pipe-bomb-violence-mr-president-its-you

 

        วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นวันสำคัญถูกจารึกในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐอเมริกา เป็นวันเลือกตั้งกลางเทอมที่พรรคเดโมแครตหวังกลับมาครองเสียงข้างมากในสภา ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์หวังใช้ผลการเลือกตั้งเป็นเครื่องยืนยันว่าพลเมืองอเมริกันสนับสนุนนโยบายของตน และเห็นว่าน่าจะเป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย เป็นผู้นำที่พาประเทศให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง ดังคำขวัญที่ว่า “Make America Great Again”

ทรัมป์ให้สัญญาจะลดภาษีคนชั้นกลาง 10 เปอร์เซ็นต์ :   ในเวทีปราศรัยหาเสียงประธานาธิบดีทรัมป์นำเสนอนโยบายใหม่ๆ หลายข้อ หนึ่งในนโยบายที่เป็นข่าวคือสัญญาจะลดภาษีคนชั้นกลาง 10 เปอร์เซ็นต์โดยจะดำเนินการหลังเลือกตั้ง การปรับลดภาษีจำต้องผ่านรัฐสภาที่รีพับลิกันยังเป็นเสียงข้างมาก

        นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่าเป็นนโยบายหวังเจาะฐานเสียงคนชั้นกลางโดยเฉพาะ

        มีข้อมูลว่านโยบายปรับลดภาษีที่ผ่านมา รัฐบาลทรัมป์มุ่งให้ประโยชน์คนรวยกับบริษัทเอกชนเป็นสาเหตุสำคัญทำให้พรรครีพับลิกันไม่ได้ใจประชาชนกลุ่มรากหญ้า คนชั้นกลาง

        ถ้าคิดเข้าข้างทรัมป์ การตัดสินใจปรับลดภาษีคนรวยกับบริษัทเอกชนก่อนเป็นแนวทางของพรรครีพับลิกันอยู่แล้ว ทำให้สมาชิกพรรคสนับสนุนทรัมป์ชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ส่วนการเสนอปรับลดภาษีคนชั้นกลางหลังเลือกตั้งกลางเทอมเป็นแนวทางที่ถูกต้องเช่นกัน จำต้องใช้ไม้นี้เพื่อขอคะแนนเสียงจากชนชั้นกลางทั้งจากสมาชิกพรรคกับกลุ่มคนที่ไม่ยึดพรรค รวมความแล้วคือการจัดวางตำแหน่งการปรับลดภาษีเพื่อได้เปรียบในการเลือกตั้งแต่ละครั้งนั่นเอง

      ข้อวิพากษ์คือการปรับลดภาษีพร้อมกับเพิ่มรายจ่ายทำให้การขาดดุลรุนแรงกว่าเดิม ประธานาธิบดีทรัมป์พูดเรื่อยมาว่าให้ความสำคัญกับการแก้ขาดดุล แต่ความจริงแล้วตัวรัฐบาลทรัมป์นี่แหละที่กำลังซ้ำเติมปัญหาขาดดุลให้รุนแรงกว่าเดิม

        เมื่อไม่นานนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐรายงานว่าปีงบประมาณ 2018 รัฐบาลขาดดุลถึง 779,000 ล้านดอลลาร์ เป็นตัวเลขขาดดุลสูงสุดนับจากปี 2012 เป็นต้นมา ข้อมูลจากกระทรวงการคลังอีกชิ้นรายงานว่าปีนี้รัฐบาลทรัมป์กู้เงินเกือบ 1.34 ล้านล้านดอลลาร์ สูงกว่าปีก่อนเกือบ 2 เท่า และเนื่องจากรัฐบาลลดภาษี เพิ่มการใช้จ่ายจึงขาดดุลมากขึ้น ซ้ำเติมปัญหาที่รุนแรงอยู่แล้วให้รุนแรงกว่าเดิม

        เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) อดีตผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวว่า ทางแก้ที่ดีที่สุดคือขึ้นภาษีกับลดสวัสดิการคนวัยเกษียณ  

        ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีจะละเลยไม่เอ่ยถึงการขาดุลที่เพิ่มขึ้นเพราะรัฐบาลกู้เงินจำนวนมหาศาลพร้อมกับปรับลดภาษี

        คงไม่กล่าวเกินไปถ้าจะสรุปว่า สิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์กับพรรครีพับลิกันกำลังทำคือทำอย่างไรก็ได้ขอให้ชนะเลือกตั้ง ส่วนจะสร้างปัญหาให้กับอนาคต ให้กับชนรุ่นหลังหรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึง

      อีกทางที่เป็นไปได้คือทรัมป์หวังใช้ประเด็นลดภาษีคนชั้นกลางเพื่อหาเสียงโดยไม่คำนึงว่าจะปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ดังที่ทรัมป์ประกาศแล้วว่าการลดภาษีจะเป็นการตัดสินใจของสภา ดังนั้น หากที่สุดแล้วสภาไม่อนุมัติก็ไม่ใช่ความผิดของตน ณ ตอนนั้นไม่ว่าสภาจะอนุมัติหรือไม่ ทรัมป์ได้คะแนนเสียงไม่น้อยจากข้อเสนอนโยบายนี้ เป็นแผน “เอาแต่ได้โดยทิ้งปัญหาให้คนอื่น”

        เป็นนโยบายประชานิยมที่หวังใช้ภาษี “ซื้อเสียงประชาชน” ทิ้งภาระปัญหาให้กับคนรุ่นหลัง

ประธานาธิบดีที่พูดเท็จเป็นนิจ :

      ตั้งแต่เริ่มดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สื่อและนักวิชาการหลายคนเริ่มจับผิดคำพูดของทรัมป์ เนื่องจากมักพูดเท็จหรือพูดจริงปนเท็จ หลายครั้งพูดในเรื่องที่ใครๆ รู้ว่าเป็นเรื่องโกหก ฮิลลารี คลินตัน ถึงกับเอ่ยว่าประธานาธิบดีต่อต้านความจริงและเหตุผล เฉพาะเดือนสิงหาคม The Washington Post ชี้ว่าทรัมป์พูดเท็จหรือทำให้เข้าใจผิดถึง 125 ครั้ง และพูดเท็จถึง 5,000 ครั้งนับตั้งแต่เป็นประธานาธิบดี

        แต่ไม่ว่าสังคมจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ทรัมป์ยังคงเดินหน้าพูดความจริงปนความเท็จ พร้อมกับอ้างว่าตัวเองพูดถูกต้อง คนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับตนต่างหากที่พูดเท็จ เสนอข่าวเท็จ (fake news)

        ทรัมป์กล่าวว่าสาเหตุหนึ่งที่ประเทศของเรามีความโกรธแค้นจัดมาจากการที่สื่อรายงานข่าวไม่เที่ยงตรง บิดเบือน ตีตราว่าเป็น “พวกสื่อข่าวเท็จ” (The Fake News Media) “สื่อคือศัตรูของประชาชน” โหมกระแสความเกลียดชัง ความเคียดแค้นในสังคม

        เป็นความจริงที่สื่อมักนำเสนอข่าวลบเพราะผู้อ่านส่วนใหญ่ชอบเสพข่าวลบมากกว่าข่าวดี ข่าวลบเป็นหัวข้อสนทนาในสภากาแฟได้สนุกปาก แต่ควรมองย้อนกลับว่าอะไรเป็นที่มาของข่าวลบเกี่ยวกับรัฐบาล ผู้นำประเทศ

        ฮิลลารี คลินตัน กล่าวว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่เป็นดังผู้นำของคนอเมริกันทั้งประเทศ ใช้ถ้อยคำดูหมิ่นดูแคลนคนอเมริกันเชื้อชาติอื่น เกลียดชังคนบางกลุ่ม สร้างความเกลียดชัง ทำให้คนในชาติแตกแยก

        ส่วนอดีตประธานาธิบดีโอบามา กล่าวว่า ทรัมป์บั่นทอนประชาธิปไตย วิถีชีวิตของคนอเมริกัน ด้วยการปลุกเร้าการเหยียดเชื้อชาติ (racist) อำนาจนิยมที่ทำลายสถาบันประชาธิปไตย

        เป็นคำถามที่น่าคิดใช่ไหมว่าตำแหน่งผู้นำประเทศสามารถพูดเท็จได้เป็นนิจ พรรครีพับลิกันที่ท่านสังกัดไม่ได้ห้ามปราม (หรือห้ามแล้วแต่ไม่ได้ผล) เรื่องนี้สะท้อนสภาพระบอบประชาธิปไตยอเมริกา มีผลต่อความเชื่อมั่นว่ายังเป็นระบอบการปกครองที่เหมาะสมหรือไม่

        บางคนอาจเห็นด้วยกับคำพูดของคลินตันกับโอบามา บางคนอาจไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงพูดจริงปนเท็จต่อไป ผู้คนทั่วโลกเป็นพยาน ไม่เพียงคนอเมริกันหรือสื่อมวลชนเท่านั้น

ลูกระเบิดการเมืองวันนี้กับอนาคต :

      สัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเกิดเหตุฮือฮาเมื่อพบระเบิดไปป์บอมบ์ (pipe-bomb) กว่า 10 ชุดส่งทางไปรษณีย์ให้กับแกนนำนักการเมือง บุคคลสำคัญของพรรคเดโมแครต สำนักข่าวบางแห่งที่เสนอข่าวลบต่อประธานาธิบดี เป็นประเด็นวิพากษ์ต่างๆ นานา บ้างว่าเพราะทรัมป์ใช้ถ้อยคำรุนแรง หว่านความเกลียดชัง ปลุกเร้าให้คนร้ายก่อเหตุ อีกฝ่ายเห็นว่าเป็นแผนของเดโมแครตหวังสร้างสถานการณ์ให้คนเห็นอกเห็นใจ ออกไปเลือกตั้งเพื่อโค่นทรัมป์

        เป็นการยากที่จะฟันธงว่าเป็นแผนลับของใครหรือไม่ (แม้จับตัวผู้กระทำผิดได้ สุดท้ายมักลงเอยว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่มีใครบงการ) ที่พูดได้แน่นอนคือข่าวนี้กระตุ้นให้คนอเมริกันสนใจเลือกตั้ง ไม่ว่าผู้รับสื่อจะเป็นสมาชิกของพรรคใดหรืออยู่ในกลุ่มที่ปกติไม่ออกไปเลือกตั้ง

        ที่ควรเข้าใจคือไม่ว่าจะเป็นพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครตต่าง หวังให้ผู้มีสิทธิออกจากบ้านไปคูหาเลือกตั้ง เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการหาเสียงในทุกเวทีปราศรัย ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่าที่ผ่านมาคนอเมริกันไม่ค่อยสนใจเลือกตั้งกลางเทอม คนไปใช้สิทธิน้อย ดังนั้นไม่ว่าพรรคใดหากสามารถกระตุ้นให้คนออกไปสิทธิเพียงเท่านี้จะชนะ

        ถ้าไปป์บอมบ์เป็นเหตุให้ผู้คนตื่นตัวทางการเมืองและไปถึงคูหาเลือกตั้ง เช่นนี้จะเรียกว่าเป็น “ระเบิดส่งเสริมประชาธิปไตย” ก็น่าจะได้

      ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประชานิยม การโหมกระแสผ่านสื่อ จนถึงไปป์บอมบ์ล้วนกระตุ้นชักนำให้ผู้คนสนใจการเมือง บางคนที่เดิมไม่คิดไปเลือกตั้งอาจเปลี่ยนใจ พรรคใดจะชนะ ผู้ใช้สิทธิจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงจะรู้ผลในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

        คำถามที่ทิ้งให้กับอนาคตคือการเมืองจะรุนแรงกว่านี้หรือไม่ สังคมจะนิยมเสพความรุนแรงก้าวร้าวกว่านี้หรือไม่ มีข้อมูลบ่งบอกว่าสังคมอเมริกันพูดถึงความรักความเมตตาน้อยลง เป็นคำถามส่งไปถึงผู้มีอำนาจและผู้คนทั้งหลายว่าต้องการสังคมเช่นนี้หรือไม่ สังคมที่ทวีความรุนแรง แตกแยก พวกใครพวกมัน การโยนภาระปัญหาใหญ่ให้กับคนรุ่นหลังสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ยั่งยืนหรือ

        ความเกลียดชังเคียดแค้นต่ออีกฝ่ายคือลูกระเบิดการเมืองในอนาคต มีผลต่อสหรัฐและทุกประเทศทั่วโลก.

 

        เป็นธรรมดาที่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งผู้สมัครทุกคนทุกพรรคจะทุ่มเทใช้ทุกอย่างที่มีในช่วงนี้เพื่อให้ได้คะแนนเสียง ไม่ว่าจะด้วยนโยบายหรืออื่นๆ คำถามคือสิ่งที่ใช้จะเป็นโทษต่ออนาคตหรือไม่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"