ศึกเลือกตั้งกลางเทอม 2018 : ถอดบทเรียนที่ได้ ชัยชนะของทรัมป์


เพิ่มเพื่อน    

              ไม่กี่วันก่อนเลือกตั้ง ผลโพลรายงานว่าพรรคเดโมแครตจะได้ ส.ส. เพิ่ม 23 ที่นั่ง ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ในขณะที่รีพับลิกันยังครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ในช่วงสุดท้ายของการหาเสียงประธานาธิบดีทรัมป์กับพรรครีพับลิกันของท่านเน้นหาเสียงให้กับวุฒิสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นแผนหรือเป็นการคาดการณ์ตามผลโพล ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้งทรัมป์เอ่ยเรื่องที่ต้องการได้ ส.ว.เพิ่มขึ้น ส.ส.ลดลง

“คลื่นน้ำเงิน” (Blue Wave) :

                ถ้าใช้ข้อมูลที่พูดแง่ลบต่อทรัมป์ 3 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้งทรัมป์ประกาศว่าหากรีพับลิกันแพ้ไม่ใช่ความผิดของตน ผลโพลหลายสำนักชี้ว่าคนจำนวนมากออกไปใช้สิทธิ์เพราะต้องการแสดงตนต่อต้านประธานาธิบดี ยกตัวอย่างผลโพลของ CNN ชี้ว่าร้อยละ 42 ของผู้ที่จะไปใช้สิทธิจะลงคะแนนเพื่อส่งสารแสดงตนบอกว่าผลงานรัฐบาลไม่เข้าตา ร้อยละ 28 ตั้งใจไปเลือกตั้งเพื่อสนับสนุนประธานาธิบดี และอีกร้อยละ 28 เช่นกันพูดว่าไม่ได้เลือกเพราะทรัมป์

                นักวิชาการบางคนเห็นว่าเป็นไปตามทิศทางเลือกตั้งปี 2006 ที่คนส่วนใหญ่เลือกตั้งเพื่อแสดงตนต่อต้านประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช (George W. Bush) เป็นการเลือกตั้งที่หยั่งเสียงความนิยมต่อประธานาธิบดีโดยตรง บางคนถึงกับกล่าวว่าทรัมป์คือพรรครีพับลิกัน พวกรีพับลิกันคือทรัมป์

                คะแนนนิยมต่อรัฐบาลเป็นอีกหลักฐานหนึ่ง ผลโพลการบริหารประเทศของทรัมป์จาก CNN ล่าสุดก่อนเลือกตั้งให้สอบตกถึงร้อยละ 55 ให้สอบผ่านเพียงร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับโพลต้นเดือนตุลาคมคะแนนสอบผ่านอยู่ที่ 41 สอบตก 52 เป็นคะแนนก่อนเลือกตั้งกลางเทอมที่ต่ำสุดย้อนหลังไปถึงสมัยประธานาธิบดีไอเซนฮาว

                อันที่จริงแล้วตั้งแต่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คะแนนนิยมต่อทรัมป์ไม่ถึงครึ่งเรื่อยมา ไม่มีใครสามารถปฏิเสธเรื่องนี้

                ด้วยการนำเสนอผ่านสื่ออย่างต่อเนื่อง บวกกับการรับรู้ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแส “คลื่นน้ำเงิน” (Blue Wave) หรือกระแสความคิดว่าพรรคเดโมแครต (แทนด้วยสีน้ำเงิน) จะชนะพรรครีพับลิกัน (สีแดง) อย่างถล่มทลาย

Blue Wave มีจริงแต่ไม่แรงพอ :

                เลือกตั้งรอบนี้ ส.ว.ที่ต้องเลือกมีทั้งหมดมี 35 ที่นั่ง (ปกติมีเพียง 33 ที่นั่ง อีก 2 ที่นั่งเป็นกรณีพิเศษ) ในจำนวนนี้ 24 ที่นั่งเดิมเป็นของพรรคเดโมแครต 2 คนเป็นผู้สมัครอิสระ แต่ขอสังกัดพรรคเดโมแครต ที่เหลืออีก 9 ที่นั่งเป็นของรีพับลิกัน

                ส่วน ส.ส.435 ที่นั่งต้องเลือกใหม่หมด (เพราะมีวาระเพียง 2 ปี) รีพับลิกันครองอยู่เดิม 235 ที่นั่ง เดโมแครต 193 ที่นั่ง (อีก 7 ที่นั่งว่างเนื่องจากลาออกหรือเหตุอื่นๆ)

                ผลการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรล่าสุดพรรคเดโมแครตได้ 225 ที่นั่ง รีพับลิกันได้ 197 ที่นั่ง ส่วนเลือกตั้งวุฒิสภาพรรครีพับลิกันได้ 51 ที่นั่ง เดโมแครตได้ 46 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งบ่งชี้ว่าในระดับ ส.ส. พวกเดโมแครตชนะจริง แต่ระดับ ส.ว.ไม่เป็นเช่นนั้น เป็นหลักฐานบ่งบอกว่ากระแส “คลื่นน้ำเงิน” มีจริงแต่ไม่แรงอย่างที่คิด และตัวประธานาธิบดีไม่มีผลต่อการเลือกตั้งมากอย่างที่คิดเช่นกัน หลายคนใช้สิทธิเลือกผู้แทนด้วยเหตุผลอื่นๆ อีกหลายข้อที่ไม่ใช่ “เอาทรัมป์” หรือ “ไม่เอาทรัมป์” เท่านั้น

                การที่ผู้สมัครจะชนะหรือไม่ สังคมอเมริกันยังมองเรื่องความนิยม คุณภาพ นโยบายระดับท้องถิ่นจากตัวผู้สมัคร รวมทั้งเทคนิควิธีหาเสียงของแต่ละพื้นที่

                ควรสรุปว่าทั้งรีพับลิกันกับเดโมแครตต่างได้รับชัยชนะ เพียงแต่ไม่บรรลุเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้

                ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือผู้สมัครหญิงจำนวนมากชนะเลือกตั้ง ส.ส. ว่าที่ ส.ส.หญิงเหล่านี้จำนวนไม่น้อยต่อต้านทรัมป์ (โดยเฉพาะจากเดโมแครต) ที่ผ่านมากลุ่มสตรีหลายกลุ่มเคยร่วมชุมนุมต่อต้านทรัมป์มาแล้วหลายครั้ง เป็นโอกาสดีที่ผู้หญิงจะแสดงพลังทางการเมืองตามครรลองประชาธิปไตย หากทำเช่นนี้ได้จริงนับเป็น “คลื่นชมพู” (Pink Wave) ที่น่ายกย่อง เป็นประเด็นที่น่าติดตามต่อไป

ผลการเลือกตั้งมีผลต่อการบริหารประเทศหรือไม่ :

                คำตอบคืออาจมีผลเพียงช่วงสั้นๆ และในบางประเด็นเท่านั้น

                หากคิดว่าผลการเลือกตั้งกลางเทอมเปรียบเสมือนประชามติ ส่งสารไปถึงรัฐบาลทรัมป์ดังที่หลายคนถูกปลุกให้ออกไปเลือกตั้งด้วยเหตุผลนี้ ควรเข้าใจว่านับตั้งแต่ได้รัฐบาลทรัมป์ ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาประชาชนได้ส่งเสียงเรื่อยมา มีโพลจากสำนักต่างๆ มากมาย แทบทุกโพลสรุปว่าทรัมป์ “สอบตก” ผลงานโดยรวมไม่เข้าตาประชาชน แต่รัฐบาลทรัมป์ยังคงเป็นรัฐบาลทรัมป์ ผลโพลที่ทำและนำเสนอเรื่อยมาเป็นหลักฐานในตัวเองว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทรัมป์ไม่สนใจเสียงประชาชนที่ตำราการเมืองประชาธิปไตยตะวันตกบอกว่าเสียงประชาชนคือ “เสียงสวรรค์” ทางการเมือง

                บางคนอาจยกประเด็นว่าในช่วงหาเสียงพวกเดโมแครตย้ำว่าต้องเลือกพวกตน เพราะทรัมป์มีข้อเสียร้อยแปดพันเก้า ความเข้าใจที่ถูกต้องคือ ผลการเลือกตั้งไม่ได้บอกว่าทรัมป์จะต้องเปลี่ยนนิสัยหรือเปลี่ยนแนวทางรัฐบาล ไม่มีกฎหมายบังคับว่าทรัมป์ต้องเปลี่ยน การหาเสียงโดยพยายามชี้ว่าทรัมป์มีข้อเสียเป็นวิธีหาเสียงเชิงจิตวิทยาเพื่อให้ต่อต้านทรัมป์

                กรณีที่มีผลจริงๆ คือเมื่อรัฐบาลต้องการใช้นโยบายที่ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา แต่กฎหมายปัจจุบันให้อำนาจประธานาธิบดีทำได้หลายอย่างมากกว่าอดีต

                ที่สำคัญคือพรรครีพับลิกันสนับสนุนทรัมป์

                เป็นไปได้ว่ารัฐบาลทรัมป์อาจยอมโอนอ่อนผ่อนปรนบางเรื่องบางจุด ปรับเปลี่ยนให้ตรงความประสงค์ของพวกเดโมแครตมากขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปกระแสเลือกตั้งกลางเทอมพ้นผ่าน เป็นไปได้ว่ารัฐบาลทรัมป์จะกลับมาเป็นเช่นเดิม

                ข้อสรุปคือ รัฐบาลทรัมป์สามารถดำเนินนโยบายประชานิยมต่อไป ประชาธิปไตยเชิงอำนาจนิยมจะหยั่งรากลงลึกในประเทศนี้ และควรพูดด้วยว่าคนอเมริกันส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับแนวทางนี้

                อีกประเด็นที่ควรเอ่ยถึงคือในช่วงหาเสียงมีการพูดถึงความร่วมมือระหว่างทรัมป์กับพรรครีพับลิกันอย่างชัดเจน ควรบันทึกไว้ว่าทรัมป์ไม่ได้ดำเนินนโยบายตามลำพัง ได้รับการสนับสนุนจากพรรค แม้สมาชิกพรรคบางคนไม่เห็นด้วยกับทรัมป์ในบางเรื่อง แต่โดยรวมแล้วพรรครีพับลิกันกับทรัมป์ทำงานร่วมกัน นั่นหมายความว่า หากมีเรื่องจะกล่าวโทษหรือชมเชย ไม่ควรกล่าวโทษหรือชมเชยประธานาธิบดีเพียงคนเดียว ต้องไม่ลืมเติมพรรครีพับลิกันเข้าไปด้วย เป็นที่มาของประโยคว่าบัดนี้พวกเดโมแครตสามารถถ่วงดุลอำนาจในรัฐสภาแล้ว

                นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าแนวทางของทรัมป์จะขยายออกไปสู่อีกหลายประเทศทั่วโลก และมีให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้วว่าฝ่ายขวาชาตินิยมในหลายประเทศชนะเลือกตั้ง การหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยมกำลังเป็นที่นิยม (การที่กลุ่มเหล่านี้เป็นที่นิยมมาจากหลายปัจจัย ทรัมป์เป็นเพียงปัจจัยสนับสนุนหนึ่ง)

สรุป :

                ตามสถิติพรรครัฐบาลมักเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในการเลือกตั้งกลางเทอม การเลือกตั้งครั้งนี้รีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาต่อ จึงไม่อาจกล่าวว่าพรรครัฐบาลแพ้หมดรูป ในทางกลับกันเป็นหลักฐานชี้ว่ากระแสต่อต้านประธานาธิบดีทรัมป์ไม่มีผลกระทบมากอย่างที่บางฝ่ายนำเสนอ คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยสนับสนุนทรัมป์กับตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน เป็นชัยชนะครั้งสำคัญของทรัมป์ น่าจะสามารถบริหารประเทศจนครบเทอม

                การบริการประเทศของทรัมป์จากนี้จะมีผลในอีก 2 ปีข้างหน้าเมื่อถึงเวลาต้องเลือกประธานาธิบดีอีกรอบ เมื่อนั้นพรรคเดโมแครตคงจะพูดไม่ต่างจากเดิม ที่มีเพิ่มเติมคือหลักฐานชี้ว่ารัฐบาลเลวร้ายเพียงไร ทำนองเดียวกับที่หาเสียงเลือกตั้งกลางเทอม

                ในขณะที่ทรัมป์กับพวกรีพับลิกันจะพูดว่าตนบริหารประเทศจนตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตสูงมากเพียงไร คนที่กำลังหางานเหลือที่คน พูดแต่ข้อดีละเลยข้อบกพร่อง ไม่เอ่ยปัญหาที่พยายามปกปิดเก็บซ่อน

                ข้อสรุปนี้จะถูกต้องหรือไม่ อีก 2 ปีจะได้รู้กัน

                ที่ควรบันทึกอีกเรื่องคือเป็นชัยชนะของระบบการเมืองอเมริกา ฝ่ายการเมืองเดินหน้าบริหารประเทศต่อไป.

-------------------------------

ภาพ : เดโมแครตสร้างม็อบ รีพันลิกันสร้างงาน

ที่มา : https://www.facebook.com/DonaldTrump/photos/a.488852220724/10161743052730725/?type=3&theater

                                                                       -------------------------------

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"