จีนกับญี่ปุ่นคืนดีกันจริงไหม?


เพิ่มเพื่อน    

                สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเขียนถึงความสัมพันธ์ของจีนและญี่ปุ่นที่แปรเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ เพราะแรงกดดันของนโยบายประธานาธิบดีโดนัล์ ทรัมป์

                ความสัมพันธ์สามเส้าของสหรัฐ, จีนและญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ดุลอำนาจใหม่ที่คนไทยควรจะต้องสนใจ เพราะจะมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไทยอย่างแน่นอน

                อาจารย์ปิติ ศรีแสงนาม แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกผมว่า ได้เขียนบทวิเคราะห์ในหัวข้อเดียวกันนี้ในเว็บไซต์ 101.World และส่งมาให้ผมอ่าน

                โดยตั้งหัวข้อที่น่าตื่นเต้นว่า จีน-ญี่ปุ่น-สหรัฐ : จากยุทธพิชัยสามก๊ก สู่ยุทธศาสตร์รับสงครามการค้า

                อาจารย์ปิติเขียนไว้บางตอนอย่างน่าสนใจว่าอย่างนี้

                ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ระดับโลกเหตุการณ์หนึ่งที่เราต้องจับตามอง คือการเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ แห่งประเทศญี่ปุ่น โดยมีกำหนดพบปะหารือทั้งกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงแห่งประเทศจีน ในระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2018 ซึ่งนับเป็นการเยือนจีนของผู้นำญี่ปุ่นครั้งแรกในรอบ 7 ปี หลังจากความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ตกต่ำที่สุดจากกรณีข้อพิพาทหมู่เกาะ Senkaku/Diaoyu ในปี 2012

                ในความเป็นจริง รอยร้าวระหว่างประเทศจีนกับญี่ปุ่นไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2012 เพราะตั้งแต่อดีต จีนมองว่าญี่ปุ่นคือตัวแทนของมหาอำนาจตะวันตกในมหาสมุทรแปซิฟิก ในขณะที่ญี่ปุ่นเอง เมื่อถูกแซงหน้าและเสียตำแหน่งเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ของโลกให้กับจีนไปในปี 2010 การขยายอิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของญี่ปุ่น ก็นับเป็นความท้าทายในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง

                โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อจีนริเริ่มโครงการระเบียงเศรษฐกิจ ที่จะเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งทางบกและทางทะเล ภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) นั่นทำให้หลายๆ ประเทศออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า โครงการนี้เป็นการขยายอิทธิพลของจีนไปทั่วโลกในภูมิภาค Indo-Pacific ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของโลก

                นั่นจึงทำให้ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน +6 ในปี 2017 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ นายกรัฐมนตรี Malcolm Turnbull แห่งออสเตรเลีย, นายกรัฐมนตรี Shinzo Abe แห่งญี่ปุ่น, นายกรัฐมนตรี Narendra Modi แห่งอินเดีย และ Rex Tillerson ตัวแทนประธานาธิบดี Donald Trump แห่งสหรัฐอเมริกา (วันนั้น Trump เดินทางมาถึงที่ประชุมแล้ว และขอไม่เข้าร่วมการประชุม ก่อนเดินทางกลับสหรัฐ ทำให้การประชุมล่าช้าไป 2 ชั่วโมง) ผู้นำทั้ง 4 ประเทศตกลงสร้างความร่วมมือระหว่างกันขึ้นมาใหม่ ต่อเนื่องจากเวทีการเจรจาเดิมที่เคยมีอยู่แล้ว แต่ร้างลาไปนานหลายปี

                ความร่วมมือนี้ถูกเรียกว่า ‘The Quad’ ตามชื่อความร่วมมือทางด้านความมั่นคงที่เคยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2007 ในนาม Quadrilateral Security Dialogue หรือ QSD (QSD 2007 เกิดขึ้นเนื่องจากการเสนอแนะของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ต่อรองกับ Dick Cheney ประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนั้น, นาย John Howard นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และ นายกรัฐมนตรีอินเดีย Manmohan Singh)

                นั่นยิ่งเป็นการผลักดันให้อาเซียนกลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนต้องการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายจีนที่ต้องการเชื่อมโยงเส้นทางการค้า และฝ่าย The Quad ที่ต้องการมีปฏิสัมพันธ์ในลักษณะเดียวกับจีน และในขณะเดียวกันก็ต้องการปิดล้อมจีน (Engage and Contain) ทั้งนี้ เนื่องจากอาเซียนตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ซึ่งแน่นอนว่าการเสนอให้สร้างความร่วมมือในลักษณะนี้ของ The Quad ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นที่มีรอยร้าวอยู่แล้ว ยิ่งแตกร้าวมากยิ่งขึ้น

                (พรุ่งนี้ : จีนกับญี่ปุ่นหันมาคืนดีกันด้วยเหตุใด?).


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"