ชงแพ็กเกจอุ้มราคายาง


เพิ่มเพื่อน    


     ชาวสวนยางเดินหน้ารวมพลแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ ชี้เดือดร้อนจริงไม่มีการเมือง “กฤษฎา” ประชุมด่วน เตรียมชง ครม. 20 พ.ย.ออกแพ็กเกจใหญ่อุ้มราคายาง ระยะสั้นใช้งบ 20,200 ล้านเยียวยา-ดันราคารับซื้อ
     สถานการณ์ราคายางพาราเมื่อวันพุธที่ 14 พฤศจิกายน ที่ราคาน้ำยางสดตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 28-31 บาท, ยางก้นถ้วย 12-15 บาท และยางแผ่น กก.ละ 32-35 บาท ทำให้กลุ่มชาวสวนยางยังคงเดินหน้ารวมพลกดดันรัฐบาลให้แก้ไขปัญหา โดยกลุ่มชาวสวนยางจังหวัดนครศรีธรรมราชได้นัดรวมพล 5 จุด และเคลื่อนขบวนรถมุ่งหน้าสหกรณ์สุราษฎร์ธานี (โคออป) ขณะที่กลุ่มเกษตรกรสวนยาง อ.เวียงสระ สุราษฎร์ธานีเองก็รวมตัวบริเวณแยกใกล้ห้างโลตัสเวียงสระ เพื่อรอติดตามความเคลื่อนไหวจากชาวสวน จ.นครศรีธรรมราช 
     นายศักดิ์สฤษดิ์ ศรีประศาสตร์ แกนนำเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพารารายย่อยภาคใต้ กล่าวว่า ชาวสวนยางที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ และสุดทนกับความลำบากที่เกิดขึ้น ชาวบ้านอยากจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้รัฐบาลได้รับรู้ และในวันที่ 20 พ.ย.ที่ จ.ตรัง ก็เตรียมจัดกิจกรรมมารวมตัวกันด้วย
    “การรวมตัวครั้งนี้ไม่ใช่ขับไล่รัฐบาล เพราะถ้าใครไม่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ก็แค่ไม่เลือกในการเลือกตั้งสมัยหน้า ไม่มีการเมืองเกี่ยวข้อง หรือมีเบื้องหลังใดๆ ทั้งสิ้น แต่เพราะเดือดร้อนจริงๆ” นายศักดิ์สฤษดิ์ระบุ
     นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยแห่งประเทศไทย ระบุว่า ที่ผ่านมาชาวสวนยางได้ยื่นเรียกร้องขอความช่วยเหลือมาตลอด แต่กลับเงียบไม่มีความก้าวหน้าใดๆ จึงต้องเคลื่อนไหวแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
     ด้านนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ สั่งให้กระทรวงเกษตรฯ แก้ปัญหาราคายางพาราภายใน 7 วันนั้น จากการประชุมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และบริษัทผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ 5 ราย ก็ได้ข้อสรุปว่า จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณค่าชดเชยการขาดรายได้แก่ชาวสวนยางพารา ซึ่งขึ้นทะเบียนกับ กยท. 1,400,000 ครัวเรือน จากเดิมที่เคยจ่ายไร่ละ 1,500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ โดยจ่ายให้ทั้งเจ้าของสวนและผู้รับจ้างกรีดยาง ซึ่งปกติแล้วชาวสวนยางแบ่งสัดส่วนกันร้อยละ 60:40 ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะเพิ่มจำนวนให้มากกว่าไร่ละ 1,500 บาท หรือยังคงอยู่ที่ไร่ละ 1,500 บาท แต่เพิ่มจำนวนไร่ต่อครัวเรือนให้มากกว่า 15 ไร่ ซึ่งไม่ต่างจากการช่วยเหลือเมื่อปี 2560 โดยใช้งบกว่า 10,200 ล้านบาท 
     นายกฤษฎากล่าวว่า ยังจะทำระบบรักษาเสถียรภาพราคายางพารา โดยราคาที่เกษตรกรควรขายได้ขณะนี้ สำหรับราคาน้ำยางสด กก.ละ 37 บาท ยางก้อนถ้วย กก.ละ 37 บาท ยางแผ่นรมควัน กก.ละ 40 บาท โดยกำหนดงบไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยเบื้องต้นจะใช้งบของ กยท. หากไม่เพียงพอจะเสนอของบกลาง และหากภาคเอกชนรับซื้อต่ำกว่าราคาดังกล่าว รัฐจะชดเชยให้กิโลกรัมละ 2 บาท ทั้งนี้ กยท. จังหวัดจะเข้าไปดูแลปริมาณการขายอย่างเข้มงวด ไม่ให้มีการแจ้งเกินจริง ทั้งนี้ ระบบรักษาเสถียรภาพราคายางพาราจะดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์ราคายางพาราที่ตกต่ำอยู่จะดีขึ้นในระดับที่เกษตรกรคุ้มทุน
     “ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าต้องกระตุ้นการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น ร่วมกับลดปริมาณน้ำยางดิบลงให้ได้ จากปัจจุบันกรีดน้ำยางออกสู่ตลาดปีละ 4,500,000 ตัน สมควรลดลงเหลือ 4,000,000 ตัน” นายกฤษฎากล่าว และว่า ไทยส่งออกยางพาราได้ปีละ 4,000,000 ตัน ที่เหลืออีก 1,500,000 ตันอยู่ในประเทศ แต่ใช้ไม่หมด จึงล้นตลาดกดราคามาตลอด จากนี้ไปไม่สามารถพึ่งการส่งออกเป็นหลักได้ เนื่องจากมีหลายประเทศที่ปลูกยางพาราเพื่อส่งออกเช่นกัน ดังนั้นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางจึงเป็นแนวทางที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะการสร้างแรงจูงใจด้วยมาตรการลดภาษี 
     นายกฤษฎากล่าวต่อว่า ยังมีมาตรการที่ทำควบคู่กัน คือให้ กยท.ประสานงานกับกระทรวงต่างๆ เพื่อจัดทำเครื่องนอน ทั้งที่นอนและหมอนจากยางพารา มอบให้โรงพยาบาล โรงเรียนประจำ สถานสงเคราะห์ ค่ายทหาร และเรือนจำ โดยให้ กยท.รับซื้อน้ำยางดิบจากเกษตรกรราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 37 บาท โดยจะเสนอของบกลางมาดำเนินการ ซึ่งปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณจากที่หน่วยงานเหล่านี้ต้องจัดสรรงบเพื่อซื้อเครื่องนอนมาสนับสนุนการใช้ยางพารา โดยตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางสดให้ได้ 170,000 ตันในปีงบประมาณนี้ ซึ่งจะเริ่มรับซื้อทันทีที่ทราบปริมาณความต้องการใช้ ส่วนยางค้างสต๊อกที่เริ่มเสื่อมคุณภาพประมาณ 104,000 ตัน จะนำไปทำแผ่นปูพื้น โดยสั่งการให้ กยท.เร่งสำรวจข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย กยท.จะผลิตให้แก่โรงเรียนและสนามกีฬาที่ต้องการ
     “ยังได้ประสานงานกระทรวงการคลังเพื่อให้พิจารณาว่าสามารถออกประกาศระเบียบพัสดุว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการการใช้ยางพาราในภาครัฐเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่ยังมีงบประมาณสำหรับสนับสนุนโครงการนี้อีกกว่าหมื่นล้านบาทมาซื้อยางพาราไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ตามเป้าหมาย 200,000 ตัน จากปัจจุบันใช้ไปเพียง 8,800 ตัน เนื่องจากที่ผ่านมายังติดขัดปัญหาระเบียบพัสดุฯ ที่ต้องซื้อของราคาต่ำที่สุด แต่มีความคุณภาพสูงสุด รวมทั้งทำระบบประกันรายได้ของชาวสวนยางพารา โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้ กระทรวงจะนำเสนอในที่ประชุม ครม.ในวันที่ 20 พ.ย.นี้” นายกฤษฎาระบุ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"