ผู้พิพากษา 'ศรีอัมพร' ยก 8 เหตุค้านร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ทำลายหลักถ่วงดุลตรวจสอบ


เพิ่มเพื่อน    

19 พ.ย.61 - ที่อาคารศาลอุทธรณ์กลาง ถ.รัชดาภิเษก นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ให้สัมภาษณ์ความเห็นถึงร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เคยสั่งการฝ่ายกฎหมายไปทบทวนรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งในเรื่องการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงควรพิจารณาว่าจะมีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจกันอย่างไร ซึ่งตนทราบว่าร่างดังกล่าวที่มีการแก้ไขแล้วจะถูกนำเสนอเข้า  ครม.ในวันที่ 30 พ.ย.นี้ ซึ่งจากการที่ตนได้อ่านร่างที่มีการแก้ไขไปแล้วพบว่า ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีหลักการและเหตุผล ดังต่อไปนี้

1. ร่าง พ.ร.บ.นี้ มีเจตนารมณ์ที่จะวางมาตรการป้องปรามการกระทำผิดทางไซเบอร์ ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของรัฐ เนื่องจากกระทรวงดิจิทัลฯ ผู้เสนอร่างอ้างเหตุผลว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความรุนแรงยากแก่การป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดไซเบอร์  จึงจำเป็นต้องออก พ.ร.บ.นี้

2. มีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงสร้างการทำงานของการใช้กฎหมายฉบับนี้ โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลสำนักงานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ขึ้น เพื่อควบคุมโครงสร้างการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ การวิจัยและพัฒนาความรู้ เพื่อป้องกันการกระทำผิดทางไซเบอร์ ตลอดจนการกำหนดโครงสร้างเงินเดือนและตำแหน่งของสำนักงานป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์

3. จัดให้มีคณะกรรมการป้องกันความปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติขึ้น ซึ่งมีชื่อว่า “กปช.” คณะกรรมการ กปช. นี้มีอำนาจมากในการกำกับดูแลเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงาน กปช.

4. มีการใช้อำนาจ กปช. และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่พบการกระทำความผิดหรือสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดทางไซเบอร์ มีอำนาจเรียกให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานของเอกชน ตลอดจนผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์ ระบบสารสนเทศ ระบบผู้ใช้บริการทางไซเบอร์ เช่น ADMIN PAGE ผู้ที่ประกอบธุรกิจบริการทางไซเบอร์ต้องเข้าพบและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานที่น่าสงสัยว่าเป็นการกระทำผิดหรือน่าสงสัยว่าจะกระทำผิดต่อเจ้าพนักงาน กปช. 

โดย กปช. มีอำนาจบังคับใช้หน่วยงานของรัฐและเอกชน ผู้ประกอบการเกี่ยวกับไซเบอร์ทำรายงาน โครงสร้าง ความเสี่ยงและแผนป้องกันการกระทำผิดทางไซเบอร์ส่งให้แก่  กปช. ตามที่ กปช. กำหนดหรือตามคำสั่งของ กปช. ซึ่งจะมีอำนาจให้เจ้าพนักงาน กปช. เข้าไปในเคหสถานตรวจยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์  SERVER หน่วยความจำ (HARD DRIVE) อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการทางไซเบอร์ เช่น WEBSITE ผู้ใช้บริการ  ADMIN เครื่องวิทยุโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยไม่จำต้องมีหมายค้น แม้ยังไม่มีคดีความหรือการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในคดีอาญา กปช. ก็มีอำนาจตรวจยึดอุปกรณ์ทางไซเบอร์เหล่านั้นได้ โดยอำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจที่สามารถใช้ได้อย่างไม่จำกัด  ไม่มีองค์กรฝ่ายตุลาการเข้ามาตรวจสอบหรือถ่วงดุล

มีบทกำหนดโทษตั้งแต่มาตรา 61 – 68 กรณีที่ผู้ดำเนินการทางไซเบอร์ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนไม่ดำเนินการส่งรายงานการควบคุมการทำงานของไซเบอร์ในความครอบครองของตน การขัดขวางไม่ยอมให้เจ้าพนักงานของ กปช. ตรวจยึดเครื่องอุปกรณ์ทางไซเบอร์ การที่บุคคลหรือนิติบุคคลปฏิเสธไม่ยอมบอกรหัสผ่าน เพื่อเปิดอุปกรณ์ทางไซเบอร์ กฎหมายนี้ให้นายกเป็นผู้รักษาการณ์

ซึ่งตนเห็นว่า ผลกระทบหากร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หากมีการใช้บังคับจะมีดังนี้ 
1.  เป็นการทำลายหลักการและโครงสร้างของระบบประชาธิปไตย
2.  ทำให้กระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และสิทธิความเป็นมนุษย์ สิทธิทางการเมือง สิทธิความเป็นส่วนตัวถูกทำลาย
3.  ทำให้กระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในระบอบประชาธิปไตยเกิดความล้มเหลว
4.  เป็นการทำให้โครงสร้างการปกครองจากนิติรัฐ  กลายเป็นรัฐตำรวจ ผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองและเป็นฝ่ายบริหารจะให้กฎหมายนี้ กำราบปราบปรามศัตรูทางการเมือง ศัตรูทางความคิดที่ไม่ตรงกับผู้ปกครองได้โดยง่าย
5.  ทำให้ประเทศชาติไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ  เพราะโครงสร้างระบอบประชาธิปไตยถูกบิดเบือนไป  เป็นระบบคณาธิปไตย เป็นการขัดต่อธรรมเนียมการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และวัฒนธรรมทางการเมืองที่ประเทศที่นิยมประชาธิปไตยถือปฏิบัติ
6.  เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนจากประเทศอื่น  เนื่องจากผู้ค้าและผู้มาลงทุน ไม่ไว้วางใจในการจะถูกล่วงละเมิดความลับทางการค้า ทางลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตร ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าและเครือข่ายการทำธุรกิจ
​7.  จะทำให้เป็นการบั่นทอนความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  เนื่องจากจะไม่มีนักลงทุนจากต่างประเทศที่กล้ามาลงทุนภายในประเทศ
8.  ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสื่อมทรามและไม่เชื่อมั่นในประเทศของเรา

โดยนายศรีอัมพร ยังระบุอีกว่า หากร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์มีผลบังคับ จะเป็นการทำลายหลักการและโครงสร้างระบอบประชาธิปไตย การที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ระดับปฎิบัติมากเกินไปในการจับ ค้น ขัง ยึดโดยไม่ผ่านกระบวนการศาล จะทำให้กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน สิทธิทางการเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิความเป็นส่วนตัว และจะทำให้กลายเป็นเครื่องมือปราบปรามฝ่ายตรงข้าม เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุน บั่นทอนความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แม้ร่างกฎหมายบอกว่า จะใช้วิธีการดังกล่าวกับกรณีกระทบความมั่นคงและเป็นเรื่องร้ายแรงเท่านั้น แต่คำว่า “ร้ายแรง” มันแค่ไหน เป็นดุลยพินิจหรือ ซึ่งดุลยพินิจแต่ละคนไม่เท่ากัน ไม่มีมาตรฐาน ไม่เหมือนระบบการตรวจสอบโดยศาล
 
ในช่วงการร่างกฎหมาย คณะผู้ร่างไม่ได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานศาลยุติธรรมเข้าไปรับฟังหรือให้ข้อมูล ทั้งที่มั่นมีประเด็นเกี่ยวกับการจับ การค้น การยึด ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้น และมีโทษทางอาญา หากให้ศาลมีอำนาจในการตรวจสอบการค้นการจับการขังการยึด ก็ควรเป็นศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจเหนือท้องที่เกิดเหตุหรือศาลอาญา และหากคณะผู้ร่างเชิญตัวแทนจากศาลยุติธรรม ตนก็พร้อมที่จะเป็นตัวแทนเข้าไปแสดงความคิดเห็น

นายศรีอัมพร กล่าวด้วยว่า ในต่างประเทศเรื่องกระบวนการยุติธรรมจะต้องผ่านศาล ไม่มีที่ไหนที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารตั้งแล้วมาดูแล ซึ่งความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ สามารถที่จะตรวจสอบไอพีได้ ที่ผ่านมา  ปอท.ก็มีการดำเนินการจับกุมได้ ซึ่งอยากถามว่า ก.ดิจิทัลฯ ไม่มีบุคลากรหรือเครื่องมือที่มีความสามารถเลยหรืออย่างไร ถึงมาผลักดันร่างกฎหมายลักษณะแบบนี้ การที่เราออกกฎหมายให้อำนาจความสะดวกแก่เจ้าพนักเจ้าหน้าที่ เท่ากับเราละเลย เพิกเฉยต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน การกระทำในลักษณะแบบนี้จะไม่สอดคล้องกับบริหารแบบประชาธิปไตย แต่จะเป็นลักษณะลัทธิเผด็จการ ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่านายกรัฐมนตรี เคยสั่งให้มีการทบทวนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เกี่ยวกับเรื่องหลักการถ่วงดุล ตรวจสอบ แต่ปรากฎว่าจากที่ตนอ่านร่างที่ว่ากันว่ามีการแก้ไขแล้ว ก็ไม่พบว่ามีหลักการที่จะตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของคณะกรรมการดังกล่าว อีกทั้งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีการพิจารณาออกมาจำนวนหลายร่าง มีก่รเชิญหน่วยงานอื่นๆ ไปร่วมประชุมแต่กลับไม่มีการเชิญสำนักงานศาลยุติธรรมไปร่วมประชุม

เมื่อถามว่าที่มีพยายามการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในช่วงนี้ จะถูกมองว่านำไปช่วงชิงความได้เปรียบในช่วงเลือกตั้งได้หรือไม่ นายศรีอัมพร ระบุว่า ยังไม่อาจที่สันนิษฐานอย่างนั้นได้ เราต้องเชื่อมั่นว่าทุกคนมีความสุจริต ความตั้งใจของ ก.ดิจิทัลฯ นั้น เป็นเจตนาดีในการปราบปรามการกระทำผิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการแถลงข่าวของนายศรีอัมพรในวันนี้ เป็นการแถลงข่าวในนามของนักกฎหมายมหาชนที่ศึกษากฎหมายระหว่างประเทศ ที่มีความเป็นห่วงต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่เกี่ยวข้องกับทางสำนักงานศาลยุติธรรม และไม่มีการพูดถึงเนื้อหาเกี่ยวกับคดีความ โดยในวันนี้มีการเชิญตัวแทนจากกระทรวงดิจิทัลฯ มาร่วมฟังการแถลงข่าว 2 คน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"