ก่อนจะปลดล็อก 'กัญชา' พัฒนา 'กัญชง' ไปถึงไหนแล้ว?


เพิ่มเพื่อน    

    ขณะที่มีข่าวร้อนๆ เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวที่จะปลดล็อกให้ใช้ “กัญชา” เพื่อการแพทย์ได้ ผมไปดูการปลูก “กัญชง” มาครับ
    คำว่ากัญชงไม่มีในภาษาทางการ มีแต่ “เฮมพ์” หรือ Hemp ซึ่งเป็นตระกูล Cannabis เหมือนกับกัญชาแต่มีปริมาณสารเสพติดหรือ THC ต่ำกว่ากัญชามาก จึงไม่เข้าข่ายยาเสพติดอันตราย แต่ก็ยังอยู่ในการควบคุม
    กัญชงถือเป็น Cannabis ชนิดย่อยของพืชกัญชา
    ผมไปเยี่ยมสถานีเกษตรหลวงปางดะ ที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ที่วิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์กัญชงเพื่อนำมาผลิตสินค้าที่ใช้เส้นใยเพราะมีคุณภาพดี มีความยืดหยุ่น แข็งแรง และทนทานสูง
    ที่กรุณาอธิบายที่มาที่ไปของกัญชงให้ผมฟังคือ ดร.สริตา ปิ่นมณี นักวิจัย 5 และ ดร.รัตญา ยานะพันธุ์ นักวิจัยแห่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
    พอมีเรื่องกัญชาออกมาเป็นข่าวร้อนๆ ก็มี “นักฉวยโอกาส” แอบไปถ่ายรูปกับไร่กัญชงไปหลอกคนอื่นให้มาลงทุนกับพวกเขา จนเจ้าหน้าที่สถานีเกษตรฯ แห่งนี้ต้องจัดการปิดรั้วห้ามคนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามากระทำการอันน่าเชื่อได้ว่าจะเป็นการสร้างเรื่องบิดเบือนให้เสียหาย
    ดร.สริตาเล่าว่าก่อนจะมีการวิจัยกัญชงอย่างเป็นทางการนั้น เฮมพ์ถูกจัดเป็นพืชเสพติดเช่นเดียวกับกัญชา ทำให้เกิดปัญหามีการจับกุม ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์จากกัญชงได้
    ทั้งๆ ที่กว่า 30 ประเทศทั่วโลกผลิตเฮมพ์เชิงอุตสาหกรรมและพาณิชย์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ
    ต่อมาในปี พ.ศ.2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชเสาวนีย์ว่า
    “สมควรศึกษาและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเขาปลูกกัญชงเพื่อใช้เส้นใยผลิตเครื่องนุ่งห่มและจำหน่ายเป็นรายได้...”
    คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 1 มีนาคม 2548 มอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง  (องค์การมหาชน) และมูลนิธิโครงการหลวงเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานจนถึงวันนี้
    เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนของชื่อพืชทั้งสองชนิด หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวงในขณะนั้นได้เปลี่ยนชื่อจากกัญชงมาใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “เฮมพ์” (Hemp)
    ถึงปี 2554 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์เฮมพ์ที่มีปริมาณสารเสพติด  THC ต่ำจากกรมวิชาการเกษตร 4 พันธุ์ และนำไปขยายเพื่อใช้ต่อยอดการวิจัยในทุกๆ ด้าน รวมทั้งมีระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม
    แต่การปลูกเฮมพ์ยังต้องอยู่ภายใต้ระบบควบคุม มีข้อปฏิบัติและข้อบังคับต่างๆ ให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
    ชาวม้งปลูกเฮมพ์เพื่อเอาเส้นใยทอเสื้อผ้าเก็บไว้สวมใส่วันปีใหม่ และตามความเชื่อดั้งเดิมชาวม้งเอาเส้นด้ายที่ทำจากเส้นใยเฮมพ์มัดมือให้เด็กเกิดใหม่
    ชาวม้งที่เสียชีวิตแล้วศพต้องใช้เครื่องแต่งกาย รองเท้าและเชือกมัดศพที่ทำจากเฮมพ์
    หลายประเทศใช้เฮมพ์ทำเสื้อเกราะกันกระสุน และใช้เป็นวัสดุธรรมชาติเพื่อผลิตชิ้นส่วนตกแต่งในรถยนต์ราคาแพง
    การวิจัยพบว่ายังสามารถนำมาสกัดน้ำมันเพื่อผลิตเป็นอาหารสุขภาพได้ด้วย
    นอกจากนี้เฮมพ์ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำมาใช้ซ้ำได้ อีกทั้งยังนำมาทำพลาสติกชีวภาพ  (biodegradable plastics) ทำอาหาร น้ำมันซึ่งเชื่อว่ามีสาร anti-oxidant สูงอีกด้วย 
    ปริมาณสาร THC ของเฮมพ์กำหนดไว้ต่ำกว่า 1.0% ขณะที่กัญชามีสารนี้เกิน 10% ดังนั้นจึงเป็นพืชคนละตัวแม้จะอยู่ในตระกูลเดียวกันก็ตาม
    เฮมพ์ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้มีพันธุ์ RPF1, RPF2, RPF3 และ RPF4 มีปริมาณสาร THC ต่ำกว่า 0.3%  ดำเนินการผลิตในพื้นที่ของเกษตกรในพื้นที่ สวพส. หรือมูลนิธิโครงการหลวง มีเจ้าหน้าที่ควบคุมให้ได้เมล็ดพันธุ์ตามมาตรฐาน สำหรับจ่ายแจกให้เกษตรกรใช้เป็นพันธุ์ปลูกต่อไป
    อุปสรรคสำคัญของการพัฒนาเฮมพ์ในประเทศไทยคือกระบวนการขออนุญาตของหน่วยงานรัฐที่มีสิทธิ์ขอปลูก
    เพราะต้องผ่านคณะกรรมการระดับอำเภอ ผ่านคณะกรรมการระดับจังหวัด เข้าคณะกรรมการอาหารและยา และต้องผ่านการอนุมัติของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข
    รวมระยะเวลาขออนุญาตเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการวางแผนปลูกเพื่อพัฒนาและวิจัย
    ยิ่งถ้าหากจะผลักดันให้กัญชงเป็นพืชเพื่อการพาณิชย์ สามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้ หากกฎระเบียบยังเป็นเช่นนี้อยู่ก็ยังห่างจากความจริงมากมายทีเดียว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"