4 เมืองใหญ่นำร่องลดก๊าซเรือนกระจกในน้ำเสีย 


เพิ่มเพื่อน    

เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำเสีย ลดก๊าซเรือนกระจก


ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ดินถล่มคร่าชีวิต  การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นอีกมาตรการที่ช่วยบรรเทาภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อน 


จากผลกระทบที่ทวีความรุนแรงขึ้นไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25 % ภายในปี 2573   ซึ่งก๊าซเรือนกระจกส่วนหนึ่งเกิดจากน้ำเสียที่ไม่ได้รับการบำบัด โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกได้ระบุว่า การบำบัดน้ำเสียในเขตเทศบาลคิดเป็นร้อยละ 47.5 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนของเสียในประเทศไทยเลยทีเดียว หากมีการจัดการน้ำเสียที่เหมาะสมและรักษาแม่น้ำคูคลองไม่ให้เน่าเสียจะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย 


จากการตระหนักถึงความสำคัญของการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนน้ำเสีย โครงการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระบบน้ำและน้ำเสีย WaCCliM ประเทศไทย ทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การจัดการน้ำเสีย เพื่อปรับปรุงการจัดการน้ำเสียในพื้นที่นำร่อง   


ล่าสุดโครงการจัดงานนำเสนอผลความร่วมมือโครงการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระบบน้ำและน้ำเสีย WaCCliM ประเทศไทย จัดโดยองค์การจัดการน้ำ และโครงการ WaCCliM ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร เพื่อเผยแพร่ผลดำเนินงานและเปิดเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิด พร้อมหาแนวทางลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในน้ำเสียของไทย 


งานนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้แทนจากหน่วยงานจัดการน้ำเสียและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนจากสมาคมน้ำนานาชาติ สถาบันการศึกษาและองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่องค์การจัดการน้ำเสียจำนวน 80 คน           

ชีระ วงศบูรณะ รักษาการ ผู้อำนวยการองค์กรจัดการน้ำเสี


ชีระ วงศ์บูรณะ รักษาการ ผู้อำนวยการองค์กรจัดการน้ำเสีย (อจน.) กล่าวว่า องค์กรจัดการน้ำเสียเป็นหน่วยงานที่ดูแลภาพรวมน้ำเสียของไทย  ไอพีซีซีประเมินว่าในน้ำเสียมีก๊าซเรือนกระจกส่งผลต่อสภาวะโลกร้อน ในการบำบัดน้ำเสียใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน การเติมอากาศในน้ำก็ใช้เครื่องจักร ฉะนั้น การปรับปรุงเครื่องจักรจะทำให้ใช้พลังงานลดลง ปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทน ไนตรัสออกไซด์  และคาร์บอนจะลดลง  โครงการ WaCCliM ร่วมกับ อจน.เริ่มโครงการปี 2557  ผลดำเนินงาน 4 ปี เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง มีการฝึกอบรมพนักงาน และบุคคลภายนอก ในการใช้เครื่องมือประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นับเป็นโอกาสดีได้เสนอผลงานเป็นแนวทางให้หน่วยงานต่างๆ 


" การบำบัดน้ำเสียให้ได้คุณภาพต้องการมีส่วนร่วมของประชาชน ภาครัฐ เอกชน และเริ่มตั้งแต่ต้นทาง อุตสาหกรรมมีระบบบำบัดนำ้เสียมีประสิทธิภาพ ประชาชนไม่ทิ้งสิ่งสกปรกลงแม่น้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด ลดปริมาณน้ำเสีย ลดก๊าซเรือนกระจก     หรือถ้าจะปล่อยน้ำเสียต้องบำบัดเบื้องต้นเสียก่อน จำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบบำบัดน้ำเสียพันกว่าแห่ง มี อปท. 25 แห่ง ที่เราเข้าไปส่งเสริมระบบจัดการน้ำเสียให้ได้คุณภาพน้ำตามมาตรฐานที่กำหนด ต้องขยายงานต่อไป " ผอ. อจน. กล่าว 

ชุติมา จงภักดี ผู้จัดการโครงการ WaCCliM ประเทศไทย


ด้าน ชุติมา จงภักดี ผู้จัดการโครงการ WaCCliM ประเทศไทย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กล่าวว่า GIZ โฟกัสเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในภาพใหญ่สนับสนุนประเทศไทยกำหนดนโยบาย เกษตร พลังงาน และการจัดการน้ำ  สำหรับ WaCCliM อยู่ภายใต้แผนงานการปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับสากล ทำที่เม็กซิโก เปรู จอร์แดน ทำงานในกรอบที่คล้ายคลึงกันโดยมองวัฎจักรของน้ำ โดยไทยเน้นการจัดการน้ำเสียชุมชน ซึ่งต้องมองตั้งแต่การผลิต กระบวยการบำบัด การใช้พลังงาน และมองโอกาส หาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจก 


" GIZ หนุน อจน. ส่งเสริมมาตรการและประสิทธิภาพลดน้ำเสีย ลดก๊าซเรือนกระจก หวังว่าประสบการณ์ดำเนินงานตลอด 4 ปี จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่ทำงานเรื่องจัดการน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ " ชุติมา กล่าว 

กิตติศักดิ์ อันวีระวัฒนา ที่ปรึกษา โครงการ WaCCliM สรุปผล 4 พื้นที่นำร่อง


เจาะลึกถึงแนวทางลดก๊าซโลกร้อนในน้ำเสีย กิตติศักดิ์ อันวีระวัฒนา ที่ปรึกษา โครงการ WaCCliM ประเทศไทย กล่าวว่า  ในประเทศกำลังพัฒนาระบบน้ำและน้ำเสียเป็นสาขาที่มีการใช้พลังงานสูง ขณะเดียวกันมีศักยภาพลดปล่อยก๊าซในระบบน้ำและน้ำเสีย จากการใช้เครื่องสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพ การผลิตก๊าซชีวภาพจากกากตะกอนน้ำเสีย    เน้นวัฎจักรน้ำเมืองใหญ่ เช่น น้ำประปาลดการสูญเสีย น้ำเสียเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัด น้ำผ่านการบำบัดนำกลับมาใช้ใหม่  โครงการจะแนะนำเทคโนโลยีลดก๊าซในระบบน้ำเสีย หนุนมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 


นไทยมีการคัดเลือกพื้นที่นำร่อง 4 พื้นที่  ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่, เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี  ,เทศบาลเมืองกระบี่ จ.กระบี่และเทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา 


กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ไทยมีความท้าทายมาก เพราะมีระบบบำบัดน้ำเสียในอาคาร ทำให้มีความเข้มข้นของสารอินทรีย์ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ มาตรการนำกากตะกอนมาผลิตก๊าซชีวภาพ ทำได้ยากลำบาก มาตรการที่เป็นไปได้เหลือเพียงเพิ่มประสิทธิภาพบำบัดและเพิ่มการนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์  


อย่างไรก็ตาม เขาระบุพบปัญหาข้อมูลจัดการน้ำเสียไม่ครบถ้วน ทำให้การประเมินการปล่อยก๊าซยังไม่มีข้อจำกัด ทำให้ต้องสร้างเครื่องมือประเมินประสิทธิภาพการใช้พลังงานและก๊าซเรือนกระจก  (ECAM tool) จนขับเคลื่อนงานได้สำเร็จ


เวทีนี้ กิตติศักดิ์นำเสนอผลสรุปในพื้นที่นำร่องที่มีการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน  เริ่มจากเทศบาลนครเชียงใหม่ใช้เทคโนโลยีสระเติมอากาศสามารถบำบัดได้ 55,000 ลบ.ม.ต่อวัน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปี  1.8 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์   ช่วยก๊าซเรือนกระจกลดลงได้ 500,000 กิโลกรัมคาร์บอน   


เทศบาลเมืองแสนสุขมีคลองวนเวียน ใช้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสารอินทรีย์ในน้ำเสีย มีการเติมอากาศช่วย สามารถบำบัดได้ 24,000 ลบ.ม.ต่อวัน ลดปล่อยก๊าซได้ 69,000 กก.คาร์บอนต่อปี ถัดมาเทศบาลเมืองกระบี่เป็นสระเติมอากาศบำบัดได้ 12,000 ลบ.ม.ต่อวัน  ลดได้ถึง 1,000,000 กก.คาร์บอนต่อปี ขณะที่พื้นที่นำร่องเทศบาลนครหาดใหญ่เป็นบ่อผึ่งและบึงประดิษฐ์ บำบัดน้ำเสีย 138,000 ลบ.ม.ต่อวัน ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 6,000,000 ล้านตันคาร์บอน   


หากรวม 4 พื้นที่นำร่อง กิตติศักดิ์เผยว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 7.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอน นอกจากนี้ ได้มีการขยายผลการใช้งาน ECAM tool อีก 8 แห่ง 


" ปัญหาน้ำเสียเชียงใหม่ก็สาหัส เทศบาลเก็บรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่ระบบไม่หมด ยังมีน้ำเสียชุมชนไหลลงแม่น้ำ โดยเฉพาะคลองแม่ข่า ทางเทศบาลพยายามจัดการเพิ่มขึ้น โดยร่วมกับ อจน. ทุกเมืองใหญ่ต่างเผชิญปัญหาการจัดการน้ำเสีย ปฏิเสธไม่ได้ว่า มนุษย์เป็นตัวการก่อน้ำเสีย ในไทยเฉลี่ยผลิตน้ำเสีย 200  ลิตร ต่อคนต่อวันเลยทีเดียว " กิตติศักดิ์ ย้ำปัญหา  


นโยบายชาติที่ยังไม่ชัดเรื่องลดก๊าซในน้ำเสีย เป็นอีกประเด็นที่น่ากังวล      ที่ปรึกษา โครงการ WaCCliM ชี้ว่าปัจจุบันยุทธศาสตร์ชาติไม่พูดถึงการลดก๊าซเรือนกระจกจากระบบน้ำและลดใช้พลังงานในภาคน้ำเสียให้เด่นชัด ทั้งยุทธศาสตร์ชาติการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ,แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ,แผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ,แผนอนุรักษ์พลังงาน 20ปี, แผนแม่บทพลังงานทดแทนชาติ 15 ปี นอกจากนี้ ในบ้านเรายังมีข้อจำกัดแหล่งเงินทุนหนุนการลดก๊าซในภาคน้ำเสียชุมชนอีกด้วย   


" เราจึงมุ่งเป้าให้ อจน. สอดแทรกการลดก๊าซในแผนวิสาหกิจองค์การจัดการน้ำเสีย พ.ศ.2560-2564 และรายงานความยั่งยืนองค์การจัดการน้ำเสีย พ.ศ.2560 ซึ่งจะมีแผนงานลดปล่อยก๊าซจากระบบบำบัดน้ำเสียของ อจน.ครบทุกแห่ง " กิตติศักดิ์ กล่าว 


นอกจากนี้ เขา ระบุว่า WaCCliM ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ได้จัดทำการศึกษาศักยภาพลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคน้ำเสียชุมชนในไทย พบว่า แนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมจากการจัดการน้ำเสียชุมชน ในพื้นที่ที่มีระบบน้ำเสียรวมของชุมชน 101 แห่งภายในระยะเวลา 20 ปี 2560-2579 หากมีการจัดการระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนรวมในรูปแบบถูกต้องตามหลักวิชาการ ปรับปรุงรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น การปล่อยก๊าซจะลดลง 65-95% 


" การลดก๊าซจากน้ำเสีย ข้อมูลมีความสำคัญมาก แต่ละประเทศมีการจัดการแตกต่างกัน ต้องแนะนำมาตรการที่เหมาะสม สร้างความเข้าใจผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากมองการจัดการน้ำของเมือง น้ำเสียเป็นส่วนหนึ่ง หากเทศบาลต้องการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การจัดการน้ำเสียจะช่วยลดได้แน่นอน " กิตติศักดิ์ กล่าว

แคทเธอรีน ครอส ผู้จัดการแผนงานสมาคมน้ำนานาชาติ 


ด้าน แคทเธอรีน ครอส ผู้จัดการแผนงานสมาคมน้ำนานาชาติ กล่าวว่า ในการร่วมทำงานกับโครงการ WaCCliM อยากให้ขยายผลต่อไป และให้การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการน้ำ นำสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำลง ซึ่งมีกลไกหลายอย่าง รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำ การประเมิน คัดเลือกเทคโนโลีดำเนินการ นอกจากนี้ มีเว็บไซด์ ClimateSmartWater.org และจัดหาเครื่องมือให้ใช้  รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันตระหนักรู้ปัญหาโลกร้อนและมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ  ทั้งนี้ สมาคมยังต้องการความร่วมมือพร้อมฝึกอบรมการใช้งาน การแนะนำแหล่งทุน เพื่อช่วยกันปกป้องสภาพภูมิอากาศโลก 


ในงานมีการเสวนาความสำคัญต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการจัดการน้ำเสียในมุมมองวัฏจักรน้ำของในเมือง     ดร.ยุทธชัย สาระไทย นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า คพ.ร่างแผนแม่บทด้านการจัดการคุณภาพน้ำของประเทศระยะ20 ปี ( พ.ศ.2561-2580)   ขณะนี้ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว สำหรับมาตรการน้ำเสียชุมชนเน้นจัดการที่แหล่งกำเนิดบ้านเรือนและอาคารขนาดใหญ่ รวมถึงจัดการรวบรวมน้ำเสียเพื่อบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนในพื้นที่สำคัญ ซึ่งต้องเพิ่มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ มีพื้นที่ใหม่จะต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียรวมต่อไปในอนาคต     

    
สำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกไทย นักวิชาการคนเดิม กล่าวว่า คพ.ร่วมทำงานภายใต้แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี2564-2573 สาขาการจัดการของเสียชุมชน ปัจจุบันแผนดังกล่าวผ่านคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยในภาคของเสียตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 2 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า ภายใต้แผนจะมีลดก๊าซจากการจัดการขยะชุมชน 1.48 ล้านตันคาร์บอน และการจัดการน้ำเสีย  0.7 ล้านตันคาร์บอน ซึ่งรวมน้ำเสียอุตสาหกรรมกับน้ำเสียชุมชน 


ดร.ยุทธชัย เผยว่า การลดก๊าซเรือนกระจกในส่วนน้ำเสียชุมชน ได้เสนอตัวเลขลด  5 หมื่นตันคาร์บอนผ่าน 2 มาตรการหลัก คือ มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มพื้นที่รวบรวมน้ำเสียและเพิ่มโรงบำบัดน้ำเสียเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก มาตรการสนับสนุน จะต้องลดความสกปรกของน้ำ และการนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ นำกากตะกอนกลับมาใช้ประโยชน์ ซึ่งมาตรการอาจปรับปรุงได้ทุก 5 ปี 


" ปัญหาอุปสรรค คือ เงินลงทุนที่จะขยายพื้นที่ให้บริการ ขยายแนวเส้นท่อ และการก่อสร้างระบบ หากจะพิชิตเป้า ลดก๊าซ 5 หมื่นตันต้องรวบรวมน้ำเสียให้ได้  3 แสนคิวต่อวัน  ใช้งบลงทุนอีก 40,000 ล้านบาท เพื่อให้ได้ระบบบำบัดน้ำเสียใหม่  " ดร.ยุทธชัย ย้ำเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ มีข้อจำกัด  


อย่างไรก็ตาม ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เตรียมออกมาตรการบำบัดน้ำเสียของครัวเรือนขนาด 10 ลบ.ม.ต่อวัน ผ่านมาตรฐานถังบำบัดน้ำเสียติดตั้งบ้านเรือน หากมีการใช้จะเพิ่มประสิทธิภาพแก้น้ำเสียในพื้นที่ห่างไกล ชุมชนต้นน้ำ ทำให้การบำบัดน้ำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เห็นว่า  โปรแกรม ECAM tool  ของโครงการ WaCCliM จะช่วยให้ท้องถิ่นประเมินการจัดการน้ำเสียชุมชนได้ด้วยตนเอง คพ.ได้หารือกับ GIZ จะผลักดันขับเคลื่อนต่อไป 


ในเวทีเดียวกัน ผศ.ดร.ชลอ จารุสุทธิรักษ์ คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร​ กล่าวว่า แนวโน้มการจัดการน้ำเสียชุมชนในประเทศไทยดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องการรวบรวมน้ำเสียของประเทศไทยมีเพียง 30-50% น้ำเสียที่ไม่ได้รวบรวม ก็มีโอกาสเกิดก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย   


" อจน.ไม่ได้ดูแลระบบบำบัดน้ำเสียทั่วประเทศ ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำเสีย แต่บางหน่วยงานไม่ได้ผนวกเรื่องการลดก๊าซ จำเป็นต้องกระจายความรู้ เป็นงานท้าทาย และเป็นปัจจัยความสำเร็จ นอกจากนี้ กลไกทางการเงินก็สำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย  ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนในประเทศและต่างประเทศ กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก  กองทุนภูมิอากาศ หากหน่วยงานใดที่มีปัญหา อาจทำโครงการ นำเสนอ ช่วยขับเคลื่อนได้ นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของสถาบันการศึกษา จะช่วยฝ่ายนโยบายและภาครัฐได้มากขึ้น  " ผศ.ดร.ชลอ กล่าวทิ้งท้าย 

 

เทศบาลนครเชียงใหม่ใช้เทคโนโลยีสระเติมอากาศบำบัดน้ำเสียลดปล่อยก๊าซ
 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"