ธนาคารกลางควรเล่น เงินดิจิทัลหรือไม่...แค่ไหน?


เพิ่มเพื่อน    

     ธนาคารกลางควรจะเล่นกับสกุลเงินดิจิทัลมากน้อยแค่ไหน?
    นั่นเป็นประเด็นที่คริสตีน ลาการ์ด ผู้อำนวยการ IMF ตั้งไว้ในคำปราศรัยของเธอที่สิงคโปร์เมื่อเร็วๆ นี้ ในโอกาสไปเปิดงาน Fintech Festival 2018 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
    เว็บไซต์ ThaiPublica แปลปาฐกถาของเธอไว้ค่อนข้างละเอียด ขอนำเอาอีกบางตอนมาบันทึกเอาไว้เพื่อชักชวนให้เราได้ช่วยกันวิเคราะห์และประเมินร่วมกัน
    ลาการ์ดบอกว่า บางความเห็นคิดว่ารัฐควรจะถอยห่างออกไป
    “ผู้ให้บริการทางการเงินบอกว่า ตนเองเสี่ยงน้อยกว่าธนาคาร เพราะพวกเขาไม่ได้ให้กู้ยืมเงิน แค่ถือเงินทุนของลูกค้าในบัญชีและทำหน้าที่ดูแลการชำระเงินระหว่างกันในเครือข่าย ในมุมนี้ คริปโตเคอเรนซีมองหาการวางรากฐานความเชื่อใจลงในเทคโนโลยีใหม่นี้ ตราบใดที่มันยังโปร่งใส และคุณก็เป็นพวกบ้าเทคโนโลยี คุณก็อาจจะเชื่อมั่นการให้บริการของพวกเขา” เธอบอก
    แต่ลาการ์ดบอกว่า เธอไม่ได้เห็นพ้องกับความเชื่อแบบนั้นทั้งหมด 
    เธอยืนยันว่า การกำกับดูแลองค์กรเหล่านี้ที่เหมาะสมยังคนเป็นเสาหลักของความไว้เนื้อเชื่อใจ
    แต่เธอก็มีคำถามสำคัญหลายข้อ
    “คำถามคือ เราควรไปต่อมากกว่านี้หรือไม่? ไปเหนือจากการกำกับดูแล เรายังควรให้รัฐเป็นผู้เล่นหลักในตลาดสำหรับเงินหรือไม่? เราควรแค่ปิดช่องว่างในระบบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการหายไปของเงินสดเท่านั้นหรือไม่? 
    หรือถามให้ชัดเจนกว่านั้น “ธนาคารกลางควรจะผลิตสกุลเงินดิจิทัลหรือไม่?”
    ซึ่งก็อาจจะเป็นเหรียญโทเคนที่รัฐรับประกันหรือบัญชีโดยตรงไปยังธนาคารกลาง เปิดช่องให้ผู้คนและธุรกิจสามารถชำระเงินรายย่อยกันโดยตรงผ่านธนาคารกลาง? 
    ผอ.ไอเอ็มเอฟบอกว่า แม้ว่าเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันก็เป็นดิจิทัลแล้ว แต่สกุลเงินดิจิทัลจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของรัฐ เหมือนกับเงินสดในปัจจุบัน แทนที่จะเป็นเจ้าหนี้กับธนาคารหรือธุรกิจเอกชนอย่างที่บัญชีเงินฝากเป็น 
    “และนี่ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์ หลายธนาคารกลางทั่วโลกกำลังพิจารณาแนวคิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา จีน สวีเดน และอุรุกวัย พวกเขากำลังเปิดรับการเปลี่ยนแปลงและแนวคิดใหม่ ซึ่งจริงๆ ก็รวมไปถึงไอเอ็มเอฟด้วย วันนี้ไอเอ็มเอฟเผยแพร่งานวิจัยใหม่เกี่ยวกับข้อดีและเสียของสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง ที่มันจะมีบทบาทหลักอยู่ที่การใช้ภายในประเทศ...”
    ลาการ์ดเสนอว่า ธนาคารกลางควรจะพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะออกสกุลเงินดิจิทัล และมันอาจจะเป็นบทบาทของรัฐในการผลิตเงินเหล่านี้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพราะเงินเหล่านี้จะสามารถบรรลุเป้าหมายสาธารณะ 3 ประการ 
    1) การเข้าถึงระบบการเงินอย่างทั่วถึง 
    2) ความปลอดภัยและการดูแลผู้บริโภค ที่เอกชนยังไม่สามารถทำได้ 
    3) ความเป็นส่วนตัวของการชำระเงิน
    ลาการ์ดอธิบายเพิ่มเติมอย่างนี้
    ในประเด็นแรก การเข้าถึงระบบการเงินอย่างทั่วถึง หรือ Financial inclusion ที่ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลได้นำเสนอบทบาทที่เด่นที่สุดของมัน ผ่านความสามารถที่จะเข้าถึงผู้คนและธุรกิจในพื้นที่ห่างไกลและชายขอบต่างๆ 
    เรารู้ว่าปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ก็ไม่ได้อยากวิ่งเข้าไปให้บริการคนยากจนและคนชายขอบเหล่านี้ และนี่จึงเป็นจุดที่สำคัญ เพราะเงินสดอาจจะไม่ได้เป็นทางเลือกในโลกอนาคตอีกต่อไป ถ้าหากคนส่วนใหญ่เริ่มหันมาใช้เงินดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับเงินสดในปัจจุบันจะค่อยๆ หายไป และทำให้คนชายขอบเหล่านี้ถูกทิ้งเอาไว้
    แล้วถ้าบอกว่าอุดหนุนคนเหล่านั้น ด้วยการคงระบบเงินสดเอาไว้? 
    แต่นั่นหมายความว่าชีวิตทางเศรษฐกิจของคนเหล่านั้นจะถูกตัดขาดจากศูนย์กลางทันที แน่นอนว่าการนำเสนอสกุลเงินดิจิทัลไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงคำตอบเดียว มันอาจจะมีหนทางสำหรับรัฐบาลที่จะกระตุ้นให้เกิดคำตอบขึ้นในภาคเอกชน ด้วยการให้ทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดี
    ประเด็นที่ 2 ความปลอดภัยและการดูแลผู้บริโภคนี่เป็นเหมือนข้อโต้แย้งของเดวิตและยักษ์โกไลแอท ในวันเก่าๆ เหรียญและธนบัตรอาจจะเป็นตัวตรวจสอบและจำกัดอำนาจของธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจข้ามชาติ เช่น ธนาคาร บริษัทชำระเงิน ผู้ให้บริการโครงข่ายต่างๆ ง่ายๆ ด้วยการเสนอตัวเงินสดเป็นทางเลือกของการบริการที่ต้นทุนต่ำและใช้ได้ทุกที่ในพื้นที่นั้นๆ
    แต่ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟก็เป็นห่วงว่าเมื่อเงินสดหายไป อำนาจที่มากเกินไปเหล่านี้อาจจะตกลงไปอยู่ในมือของเอกชนรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย และทำให้ระบบการชำระเงินค่อยๆ เข้าสู่ระบบผูกขาดในที่สุด เพราะยิ่งคุณให้บริการลูกค้ามากเท่าไหร่ การให้บริการนั้นก็ยิ่งถูกและมีประโยชน์มากขึ้น  
    แต่ในช่วงเริ่มต้น เอกชนเหล่านี้อาจจะลงทุนเกี่ยวกับความปลอดภัยต่ำไป เพราะพวกเขาก็ไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริงของสังคมหากระบบการชำระเงินเกิดล่มขึ้นมา
     ความยืดหยุ่นของระบบชำระเงินก็อาจจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะกระบวนการชำระเงินที่เกิดขึ้นสั้นลง และอาจจะหยุดทำงานได้ง่ายๆ หากกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งมีปัญหา ลองนึกถึงการโจมตีทางไซเบอร์ การล้มละลาย หรือธุรกิจที่ถอนเงินออกจากพื้นที่
    “การกำกับดูแลอาจจะไม่สามารถดูแลข้อเสียเหล่านี้ได้ แต่สกุลเงินดิจิทัลเสนอข้อได้เปรียบในฐานเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสำรองของระบบเศรษฐกิจ และมันอาจจะสามารถเร่งการแข่งขันของระบบด้วยการนำเสนอบริการที่ต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพกว่า เหมือนกับที่เงินกระดาษเคยทำมาก่อนหน้านี้” ลาการ์ดบอก
    ประเด็นสุดท้ายคือ เรื่องความเป็นส่วนตัว แน่นอนว่า เงินสดเปิดช่องให้เราชำระเงินโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน 
    “เราใช้เงินสด เพราะมันปกป้องความเป็นส่วนตัวของเรา รวมไปถึงการเปิดช่องให้เกิดการจารกรรมออนไลน์ด้วย ลองนึกถึงตัวอย่างง่ายๆ ว่าหากมีข้อมูลจากการใช้จ่ายออนไลน์ว่าคนที่ซื้อเบียร์และพิซซ่าเป็นโหลๆ มักจะผิดนัดชำระหนี้มากกว่าประชาชนที่ซื้อบร็อกโคลี และน้ำแร่ คุณจะทำอย่างไรที่จะซื้อเบียร์และพิซซ่ามารับประทานโดยไม่ต้องการให้คะแนนเครดิตลดลงไป? ทุกวันนี้เราชักเงินสดออกมา แต่พรุ่งนี้ล่ะ? ระบบชำระเงินดิจิทัลจะผลักคุณไปหาตู้ผักแทนหรือไม่? และธนาคารจะสามารถกระโดดเข้ามาช่วยเหลือและให้บริการสกุลเงินดิจิทัลที่ปิดบังตัวตนได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ 
    แน่นอนว่าทำไม่ได้ การทำแบบนั้นคงเป็นบ่อเงินบ่อทองของพวกอาชญากร”
(พรุ่งนี้ : ข้อบกพร่องของเงินสกุลดิจิทัลของธนาคารกลาง)
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"