ถ้าธนาคารกลางทำเรื่องเงินดิจิทัล จุดอ่อนอันพึงระวังมีอะไร?


เพิ่มเพื่อน    

    เขียนมาสองวันในคอลัมน์นี้ว่าด้วยความเห็นของคริสตีน ลาการ์ด ผู้อำนวยการ IMF ในเรื่องเงินสกุลดิจิทัลกับบทบาทของธนาคารกลาง ซึ่งมีความน่าสนใจมากเพราะกำลังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันในหลายวงการ รวมถึงในไทยเราด้วย
    เว็บไซต์ ThaiPublica ได้แปลคำปราศรัยของเธอที่เปิดงาน Fintech Festival 2018 ของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ ผมจึงขออนุญาตนำบางตอนมาเล่าต่อให้ฟัง
    ประเด็นหลักอีกข้อหนึ่งในบทวิเคราะห์ของเธอคือ "ข้อบกพร่องของสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง”
    ลาการ์ดบอกว่าข้อบกพร่องที่ชัดเจนอย่างแรกคือ ความโปร่งใสทางการเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน อีกประการคือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากนวัตกรรม 
    เรื่องวินัยทางการเงินทำให้เราต้องเลือกระหว่างความเป็นส่วนตัวกับความโปร่งใสทางการเงิน และเราจะหาทางสายกลางได้หรือไม่? 
    เธอบอกว่า
    ธนาคารกลางอาจจะออกแบบสกุลเงินให้ตัวตนของผู้ใช้บริการได้รับการยืนยันจากตัวผู้ใช้บริการเองเท่านั้น ผ่านกระบวนการตรวจสอบและธุรกรรมที่เคยทำไปต่างๆ และตัวตนเหล่านี้จะต้องไม่ถูกเปิดเผยให้แก่บุคคลที่ 3 หรือรัฐบาล ยกเว้นแต่จะมีความจำเป็นทางกฎหมาย 
    “ดังนั้นเมื่อพวกเราซื้อพิซซาหรือเบียร์ ร้านค้า ธนาคาร นักการตลาด จะต้องไม่รู้ว่าพวกเราคือใคร  และรัฐบาลก็ควรจะไม่รู้ด้วยอย่างน้อยในเบื้องต้น แต่เพื่อควบคุมการฟอกเงินและอาชญากรต่างๆ ระบบควรจะทำงานอยู่เบื้องหลัง และถ้ามีข้อสงสัยเกิดขึ้นก็เป็นไปได้ที่จะสามารถเปิดเผยตัวตนเพื่อตรวจสอบ โดยอาศัยอำนาจทางกฎหมายเป็นหลัก" เธอบอก
    ประเด็นที่ 2 คือความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน
    ลาการ์ดมีความเห็นว่าสกุลเงินดิจิทัลอาจจะสร้างแรงกดดันต่อเงินฝาก แต่ถ้าสกุลเงินดิจิทัลสามารถทำตัวเหมือนกับเงินฝากได้เพียงพอ เพราะพวกมันปลอดภัยมาก สามารถถือครองได้อย่างไม่จำกัด จ่ายได้ทุกจำนวน และอาจจะเสนอดอกเบี้ยให้ด้วย ถ้าเป็นแบบนี้ทำไมต้องมีบัญชีเงินฝากต่อไป? 
    แน่นอนว่าแบบนี้ธนาคารคงไม่ยืนดูเฉยๆ โดยไม่ทำอะไร พวกเขาย่อมแข่งขันด้วยการให้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและบริการที่ดีขึ้นด้วยซ้ำ
    แล้วในกรณีของการแห่ถอนเงิน? 
    เธอบอกว่า "มันยังคงอยู่ แต่ลองพิจารณาถึงว่าปัจจุบันผู้คนแห่ไปถอนเงินเพราะพวกเขาเชื่อว่า เงินสดจะให้บริการแบบมาก่อนได้ก่อน แต่สกุลเงินดิจิทัลกลับให้ความปลอดภัยได้มากกว่า เนื่องจากมันกระจายและจัดการได้ง่ายกว่าเงินสด ยิ่งไปกว่านั้นหากผู้ฝากเงินหันไปหาสินทรัพย์ต่างประเทศ พวกเขาก็น่าจะระมัดระวังสกุลเงินดิจิทัลมากกว่า และในหลายประเทศก็มีทางเลือกที่จะให้เงินเหล่านี้หันไปหา เช่นกองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเท่านั้น ดังนั้น ประเด็นที่ยกมาว่าสกุลเงินดิจิทัลจะกระทบกับเสภียรภาพระบบการเงินก็อาจจะยังไม่มีมากนัก”
    ประเด็นสุดท้ายในเรื่องความเสี่ยงของนวัตกรรม 
    ที่ระบุว่าถ้าสกุลเงินดิจิทัลกลายเป็นที่นิยมมากเกินไป มันอาจจะไปกีดกันนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ นั่นคือบทบาทของเอกชนจะเป็นอะไร หากธนาคารกลางให้บริการทุกอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่กระเป๋าเงินไปจนถึงเงินและการชำระเงิน
    เธอเสริมว่า "แต่ถ้าหากธนาคารกลางหันมาหาความร่วมมือกับเอกชนแทน ทั้งธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ และบอกว่าคุณทำหน้าที่ให้บริการลูกค้า เก็บรักษาความมั่งคั่งให้เขา เสนอดอกเบี้ยให้ ให้คำแนะนำ ให้สินเชื่อ แต่เมื่อเป็นเรื่องของการชำระธุรกรรม เราจะทำเอง”
    ความร่วมมือแบบนี้มีหลายรูปแบบ ธนาคารอาจจะบริหารจัดการสกุลเงินดิจิทัล เหมือนกับที่ธนาคารปัจจุบันทำกับเงินสดอย่างเหรียญและธนบัตร หรือประชาชนอาจจะมีบัญชีเงินฝากที่ธนาคาร แต่เมื่อเป็นเรื่องของการชำระเงินระหว่างกันค่อยเป็นการชำระผ่านสกุลเงินดิจิทัล เหมือนกับที่กำลังเป็นอยู่ในระบบชำระเงินปัจจุบัน แต่แค่เร็วกว่าในแค่ช่วงเสี้ยววินาที 
    และแน่นอนทั้งหมดเกือบจะไม่มีค่าใช้จ่ายและทำได้ทุกเวลา
    ลาการ์ดเห็นว่าข้อได้เปรียบแบบนี้ชัดเจน การชำระเงินจะรวดเร็วทันที ปลอดภัย ค่าใช้จ่ายน้อย และกึ่งๆ ไม่เปิดเผยตัวตน เหมือนกับที่พวกคุณต้องการ โดยธนาคารกลางจะทำหน้าที่การชำระเงินเอาไว้ พร้อมกับดูแลระบบการชำระเงินได้ ขณะเดียวกันธนาคารกลางจะสามารถเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาดได้อีกด้วย โดยเอกชนจะต้องแข่งขันกันสร้างประสบการณ์แก่ลูกค้าที่ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด 
    และมองอีกมุม ธนาคารกลางควรจะเน้นบทบาทที่มีความได้เปรียบอยู่ในปัจจุบัน คือให้บริการระบบการชำระเงินหลังบ้าน (back-end settlement) ซึ่งจะทำให้ความร่วมมือของรัฐและเอกชนออกมาในรูปแบบที่ดีที่สุด
    “โดยสรุปแล้ว วันนี้ดิฉันได้พยายามจะประเมินกรณีต่างๆ ที่เป็นไปได้ของสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง ทั้งในมุมของบทบาทใหม่ที่วิวัฒนาการมาของเงิน รวมไปถึงเป้าหมายสาธารณะต่างๆ ของเศรษฐกิจ สารที่อยากจะสื่อออกไปคือว่าถ้าหากประเด็นไหนยังไม่ชัดเจน เราควรจะศึกษามันมากขึ้น อย่างจริงจัง อย่างระมัดระวัง และอย่างสร้างสรรค์” ลาการ์ดสรุป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"