ชูความสำเร็จ"งดเหล้าเข้าพรรษาโพธิ์ศรีสุวรรณ"


เพิ่มเพื่อน    

จากการทำงานแบบมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ ต.เสียว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จนเกิดคนต้นแบบงดเหล้าเข้าพรรษา มีเทศกาลงานบุญประเพณีปลอดเหล้าต้นแบบมากถึง 13 งาน ปีใหม่ สงกรานต์ บั้งไฟ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า งานศพ งานบวช งานแต่ง งานบุญข้าวประดับดิน งานลอยกระทงไม่มีน้ำเมามาเกี่ยวข้อง

           

อีกผลงานน่าภาคภูมิใจ 10 ปีของการขับเคลื่อนงานบุญปลอดเหล้า ช่วยประหยัดเม็ดเงินกว่าร้อยล้านบาท ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่หยุดขยายผล เพราะมีเป้าหมายชวนตำบลและอำเภออื่นร่วมลดพฤติกรรมดื่มเหล้ามากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

           

ความสำเร็จในการดำเนินงานงดเหล้าของชาวศรีสะเกษ ส่งผลให้ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ระดับชมเชย จากโครงการพัฒนาเครือข่ายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงงดเหล้าเข้าพรรษาพื้นที่ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ โดยนางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. พร้อมด้วยนายจันทร์ โต๊ะสิงห์ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จ.ศรีสะเกษ นายบำรุง เป็นสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสานตอนล่าง และนายวิษณุ ศรีทะวงษ์ ผู้จัดการแผนนโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ร่วมรับรางวัลในงานสัมมนาวิชาการและมอบรางวัลเลิศรัฐ (GOOD GOVERNANCE FOR BETTER LIFE) ประจำปี พ.ศ.2561 "ภาครัฐ เพื่อประชาชน" จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันก่อน

           

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ กล่าวว่า สสส.เริ่มโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาตั้งแต่ปี 2546 ถือว่าประสบความสำเร็จ ปัจจุบันมีหลายหน่วยงาน บริษัทห้างร้านที่ สสส.ไม่ได้สนับสนุนงบประมาณ แต่ดำเนินงานงดเหล้าเข้าพรรษาผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย กลายเป็นวัฒนธรรมที่สังคมไทยปฏิบัติเมื่อถึงวันเข้าพรรษา อีกทั้งประชาชนงดเหล้าเข้าพรรษาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในปี 2561 นี้ สสส.ขยายผลปฏิบัติการในระดับพื้นที่ 155 อำเภอ ใน 74 จังหวัด โดยนำพื้นที่ต้นแบบ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ มาดำเนินงาน เพื่อให้เกิดชุมชนปลอดเหล้าเข้าพรรษาที่ไม่แพ้ตำบลเสียว

           

"จุดเด่นของ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ ทำงานมา 10 ปีจนสำเร็จ มีกระบวนการทำงานตั้งแต่ก่อนเข้าพรรษา เตรียมพร้อมชุมชน เตรียมร้านค้าส่งเสริมคนลด ละ เลิกดื่มสุรา ระหว่างพรรษา มีกิจกรรมช่วย ชม เชียร์ต่อเนื่องให้ผู้ปฏิญาณตนงดเหล้าครบพรรษาเพื่อสุขภาพและสังคม หลังออกพรรษา มีกิจกรรมเชิดชูคนหัวใจหินเพื่อยกย่องให้กำลังใจที่งดเหล้าครบ 3 เดือน และชวนงดต่อตลอดชีวิต หรือลดปริมาณการดื่มลง ซึ่งจากการทำงานอย่างเข้มแข็งของ ต.เสียว เกิดชุมชนปลอดเหล้าเข้าพรรษา ไม่มีการดื่ม ร้านค้าชุมชนงดขายแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด" นางสาวรุ่งอรุณกล่าว

           

สำหรับรางวัลเลิศรัฐ ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม นางสาวรุ่งอรุณกล่าวว่า เป็นบทพิสูจน์ชัดเจนการมีส่วนร่วมของประชาชนสำคัญมาก ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่ดีขึ้น ทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา ครอบครัว ชุมชน พื้นที่ตัวอย่างอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณนี้เริ่มจากขับเคลื่อนบุญประเพณีปลอดเหล้า แม้หยุดการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก ชุมชนก็ยืนได้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม สสส.เห็นว่าเครือข่ายสุขภาวะอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณเป็นพันธมิตรสำคัญ สามารถค้นหาและพัฒนานวัตกรรมลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ๆ โดยใช้ฐานคิดของวัฒนธรรมชุมชน ก็ยินดีสนับสนุนการจัดการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาแอลกอฮอล์ของศรีสะเกษต่อไป

           

งานในพื้นที่แก้ปัญหาแอลกอฮอล์เข้มข้นจริงจังแค่ไหน เชื่อมประสานทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนงานอย่างไรจนสามารถคว้ารางวัลมาครอง

           

นายจันทร์ โต๊ะสิงห์ กล่าวว่า จากการค้นหาสภาพปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่ พบเรื่องเหล้าส่งผลกระทบใหญ่มาก ชาวตำบลเสียวพูดคุยและตัดสินใจเอาเรื่องเหล้าออกจากงานบุญประเพณี ต่อมาได้พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้งานบุญประเพณีปลอดเหล้า มีการถอดบทเรียนเป็นคู่มือทำงานงดเหล้าชื่อว่า "คนพันธุ์เสียว งดเหล้าเข้ากระดูกดำ" และ "ชุมชนคนสู้เหล้าตำบลเสียว" การทำงานมีชุมชน แกนนำชุมชน นายอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน วัด โรงเรียน ร้านค้า สถานประกอบการ เข้ามามีส่วนร่วม

           

"ความสำเร็จที่ได้เกิดงานบุญประเพณีปลอดเหล้า 5 หมู่บ้าน ไม่มีการดื่ม และขายเหล้าทุกชนิดตลอดเข้าพรรษา 10 ปี ประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่า 109 ล้านบาท เรามีเป้าหมายจะขยายผลทั้ง 17 หมู่บ้านเต็มพื้นที่ตำบลเสียว ขยายบุญปลอดเหล้าให้ครอบคลุมงานฮีต 12 คลอง 14 รวมถึงส่งต่อแนวคิดไปตำบลส้มป่อย ตำบลโคกเพช และตำบลสร้างปี รวมถึงขยายสู่ระดับจังหวัด ซึ่งมีงานงดเหล้าขับเคลื่อนอยู่แล้ว ศรีสะเกษเคยติดอันดับ 5 จังหวัดที่มีความถี่ในการดื่ม ผลจากการทำงานเวลานี้ขยับลงมาอันดับ 35 แล้ว" นายจันทร์ กล่าว

           

ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานมีไว้ให้ฝ่าฟัน ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า การเคลื่อนงานงดเหล้าในระยะแรกยากมาก คนในชุมชนติดปากการดื่มเหล้าเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ แต่เมื่อเราเริ่มงาน มีการศึกษา วิเคราะห์ ตีความแล้ว วัฒนธรรมเป็นสิ่งดีงามและพัฒนาให้งอกเงย ขณะที่เหล้าก่อผลกระทบต่อครอบครัว ทรัพย์สิน เป็นตัวการทะเลาะเบาะแว้ง จากนั้นทำงานยึดโยงวัฒนธรรมชุมชน สร้างต้นแบบ มีการประเมินผล จนยืนยันว่างดเหล้าลดรายจ่ายครัวเรือนได้จริงๆ และทำให้ชุมชนสามัคคีปรองดอง ส่วนอุปสรรคตอนนี้เป็นเรื่องเด็กและเยาวชนที่มีสิ่งเร้าชักจูงให้ดื่มเหล้า-เบียร์ รวมถึงการทำงานร่วมกับร้านค้าระดับจังหวัดยังไม่ประสบผลสำเร็จมากขึ้น แต่ก็สู้อยู่ตลอด

           

"เหนือกว่ารางวัลที่ได้รับ อยากถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานในพื้นที่สู่ชุมชนและจังหวัดอื่น อย่าท้อถอย งานบุญปลอดเหล้าทำไม่ง่ายเหมือนทวนกระแสตลอดเวลาจนทุกวันนี้ ฝากชุมชน คนศรีสะเกษ รวมถึงเครือข่ายงดเหล้าทั่วประเทศ เชื่อมประสานพลังกัน และภาคภูมิใจกับสิ่งที่ทำเพื่อลดพิษภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงขอบคุณ สสส.มีส่วนช่วยสนับสนุนทั้งงานวิชาการและงบประมาณเพื่อเสริ่มศักยภาพงานในชุมชนท้องถิ่น" นายจันทร์กล่าวให้กำลังใจ พร้อมย้ำชัดความสำเร็จเกิดจากกลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานต่างๆ เป็นสำคัญ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"