เหลียวหลัง 14 ตุลา 16 - พฤษภา 35 ระวัง 'คสช.' ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย


เพิ่มเพื่อน    

    ประวัติศาสตร์การเมืองของไทยในอดีต มีหลายเหตุการณ์ที่ผู้มีอำนาจถูกคัดค้านโดยเริ่มจากจุดเล็กๆ และขยายวงบานปลายจนกลายเป็นวิกฤติ และเกิดความรุนแรงจนต้องสูญเสียเลือดเนื้อชีวิตและทรัพย์สิน เพียงแค่การตัดสินใจผิดพลาดของผู้นำด้วยความเหลิงอำนาจ 


    ย้อนกลับไปดูบันทึกการเมือง 2 เหตุการณ์  โดยเหตุการณ์แรกคือ 14 ตุลาคม 2516 เริ่มขึ้นวันที่ 6  ตุลาคม 2516 ธีรยุทธ บุญมี และพวกราว 20 คนเดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ แต่ รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร นอกจากไม่ตอบสนอง ยังไม่พูดให้ชัดเจนว่าจะให้ใช้รัฐธรรมนูญเมื่อใดและจะให้เลือกตั้งปีไหน อีกทั้งตำรวจยังจับกุมผู้แจกใบปลิวเรียกร้องไป 13 คน จึงเป็นที่มาของ
     "13 กบฏรัฐธรรมนูญ"
    จอมพลถนอมได้ปฏิวัติตัวเองวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ยกเลิกสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.ต่างพ้นสภาพต้องกลับบ้าน เช่น นายชวน หลีกภัย ส.ส.ตรัง, นายอุทัย พิมพ์ใจชน ส.ส.ชลบุรี เป็นต้น 
    ตั้งแต่ต้นปี 2516 เรื่อยมามีความอื้อฉาวในรัฐบาลหลายกรณีเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจโดยมิชอบของทหาร เช่น การล่าสัตว์ทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ, อธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหงลบชื่อนักศึกษา 9 คนออกจากการเป็นนักศึกษา เนื่องจากเป็นคนจัดทำหนังสือเสียดสีจอมพลถนอม กิตติขจร ฯลฯ 
    เหตุการณ์คุกรุ่นเมื่อมีการจับกุม 13 กบฏรัฐธรรมนูญ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการชุมนุมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันที่ 9 ตุลาคม เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม และเคลื่อนออกจากธรรมศาสตร์ในวันที่ 13 ตุลาคม มีคนเข้าร่วมจำนวนมากกระทั่งที่สุดนำไปสู่จลาจล ผู้ชุมนุมจำนวนมากเสียชีวิตและบาดเจ็บพิการจากการปราบปรามของตำรวจทหาร กลายเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
    จอมพลถนอม, จอมพลประภาส จารุเสถียร, พันเอกณรงค์ กิตติขจร และครอบครัว เดินทางออกนอกประเทศ ทั้ง 3 คนถูกยึดทรัพย์และถูกเรียกขานมาจนถึงปัจจุบันว่าเป็น "3 ทรราช"
    เหตุการณ์ต่อมาคือระหว่าง 17-19 พฤษภาคม 2535 จุดเริ่มต้นมาจากการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ด้วยการสนับสนุนของพรรคการเมืองต่างๆ ภายหลังการเลือกตั้งวันที่ 22 มีนาคม 2535 และ พล.อ.สุจินดาได้กล่าวว่า เสียสัตย์เพื่อชาติ ทั้งที่เคยแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงถูกโจมตีว่าเป็นการ ตระบัดสัตย์ หลัง รสช.เข้ายึดอำนาจการปกครองจาก พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534
    การไม่รักษาคำพูดนำไปสู่การอดข้าวประท้วงของ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร ตามมาด้วยการอดข้าวของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง โดยมีข้อเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกจากตำแหน่งและต้องมาจากการเลือกตั้งโดยมีการชุมนุมต่อต้านรายวัน 
    ต่อมาผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนออกจากสนามหลวงมาตามถนนราชดำเนิน ตำรวจทหารจับกุม พล.ต.จำลองกลางที่ชุมนุม กระทั่งได้เกิดเหตุปะทะกันระหว่างตำรวจทหารกับผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 17-19  พฤษภาคม 
    เหตุการณ์สงบลงด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพลเอกสุจินดา และพลตรีจำลองเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จากนั้น พล.อ.สุจินดาได้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ
    มาถึงรัฐบาล คสช.ที่นับจากวันรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มาถึงวันนี้เกือบ 4 ปีเต็มกำลังถูกรุมเร้าด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ทั้งการเลื่อนโรดแมปจากเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์  ประกาศจะเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ข่าวอื้อฉาวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กรณีนาฬิกาเพื่อนและแหวนเพชรแม่ ความเดือดร้อนจากปัญหาปากท้องของประชาชน ความล้มเหลวเรื่องการปฏิรูป การจับกุมตั้งข้อหาผู้ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและต้องการให้จัดเลือกตั้งตามโรดแมป ไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง และปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯ คนนอกเพื่อสืบทอดอำนาจ คสช. เพราะรัฐธรรมนูญได้ปูทางไว้แล้วและพรรคเกิดใหม่กำลังเป็นฐานการเมืองให้ ฯลฯ
    โดยมีการโยงว่าพฤติกรรมของ พล.อ.ประยุทธ์คล้ายกับผู้นำในอดีตดังที่กล่าวมา ประกอบกับการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จทางกฎหมายมิให้ฝ่ายต่อต้านเคลื่อนไหวเรื่องช่วงเวลาเลือกตั้งที่อาจเลื่อนไปเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หลังแก้ พ.ร.ป.ส.ส.ขยายเวลาออกไป 90 วัน ซึ่งอาจนานเกินจนคนที่ไม่พอใจจะทนรอได้  
    ความร้อนแรงของสถานการณ์การเมืองในเดือนแห่งความรัก กำลังสั่นคลอนเสถียรภาพและความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อ คสช.และรัฐบาล บิ๊กตู่ เข้มขึ้นเรื่อยๆ
    ประวัติศาสตร์อาจไม่ซ้ำรอยก็ได้ หาก “บิ๊กตู่” หัวหน้า คสช.และรัฐบาลกำกับดูแลแม่น้ำสายต่างๆ และเจ้าหน้าที่รัฐให้ปรับตัวได้ทันเวลา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"