"ศรีจ๋า..ศรีสะเกษ"


เพิ่มเพื่อน    

(รณิดา เหลืองฐิติสกุล หรือพี่อี๊ด ผู้พาทัวร์ศรีสะเกษ)

    ถ้าพูดถึง “ศรีสะเกษ” ใครๆ ก็มักจะนึกถึงอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร หลังจากนั้นอาจจะนึกไม่ออก แต่ทริปไปศรีสะเกษครั้งล่าสุดในธีม “อันซีน-ไทยเท่” และคอนเซ็ปต์ “ศรีจ๋า...ศรีสะเกษ #สวยไปเบิ่ง” เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็พบว่าศรีสะเกษมีวัดที่สวยงามอยู่หลายแห่ง มีปราสาท แล้วก็มีเมนูอาหารอีสานรสชาติเด็ดๆ อีกเพียบ
    แม้ว่าศรีสะเกษจะไม่ได้มีความศิวิไลซ์เท่าอุดรธานี ขอนแก่น แต่นี่กลับเป็นเสน่ห์อีกแบบ "รณิดา เหลืองฐิติสกุล" หรือ "พี่อี๊ด" หัวหน้าสำนักงาน จ.ศรีสะเกษ เล่าให้ฟังว่า ไม่ว่าจะมองไปทางไหนที่นี่ยังคงหลงเหลือภูมิปัญญาดั้งเดิมแฝงเอาไว้ในทั่วทุกพื้นที่ของจังหวัด เป็นถิ่นที่รวมมิตรวิถีชาติพันธุ์ไทยอีสาน-ลาว กูย เยอ ขแมร์ มีการแต่งกาย ประเพณีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น

(อาคารอุโบสถรูปทรงไทยประยุกต์ผสมศิลปะขอม ที่วัดหนองตะเคียน)

    เหมือนเป็นธรรมเนียมทุกครั้ง เวลาจะไปไหนมาไหน เจ้าบ้านก็มักจะพาไปกราบไหว้ขอพร สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองนั้นเพื่อความเป็นสิริมงคล ให้เดินทาง ท่องเที่ยวปลอดภัย เช่นเดียวกับพี่อี๊ด เจ้าถิ่น ก็พาพวกเราทัวร์ในเมือง พาไปไหว้ศาลหลักเมือง หลวงพ่อโต ที่วัดมหาพุทธาราม พระอารามหลวง ไหว้พระแม่ศรีสะเกษที่วงเวียนแม่ศรี ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกัน ก่อนจะเคลื่อนย้ายไปวัดหนองตะเคียน วัดที่รวมสถานที่สำคัญไว้ภายใน เช่น อาคารอุโบสถรูปทรงไทยประยุกต์ผสมศิลปะขอม ที่ด้านหน้าก่อสร้างใบเสมา 8 ต้น เรียงสวยงาม ด้านหลังอุโบสถ ประดิษฐานรูปปั้นสมเด็จพระบรมจักรทิพย์ไตรโลกนาถนวราชสถิตธรรม หรือพระเจ้าเลียบโลก และด้านข้างของอุโบสถมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยไว้ 28 องค์ แล้วก็มีสระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณใกล้เคียงกัน

(มองเห็นสามล้อปั่นพานักท่องเที่ยวชมรอบเมือง)

    ใช้เวลาชมความงดงามและสักการะสิ่งศักดิ์ ไปนั่งร้านกาแฟ เดินถ่ายรูปตามจุดต่างๆ ตลอดทั้งวัน มองเห็นพวกลุงปั่นสามล้อจอดอยู่หลายคัน บางคนเข้ามาพูดคุยกับพวกเรา บอกทั้งวันยังไม่ได้เงินสักบาท ได้ยินดังนั้นเพื่อนร่วมทริปจึงพากันอุดหนุนลุง ให้ลุงพาปั่นสามล้อชมเมืองในทันที ถ้ามีเวลาเหลือสักหน่อยเราก็กะว่าจะไปช่วยอุดหนุนต่อ แต่เวลาไม่พอก็ต้องเคลื่อนย้ายแล้วนี่สิ

(วัดพระธาตุสุพรรณหงส์สวยงามกลางน้ำแห่งแรกของโลก)

    วันรุ่งขึ้น เป็นการทัวร์วัดวาอารามอีกเช่นเคย แห่งแรกคือ "วัดพระธาตุสุพรรณหงส์" ที่บ้านหว้าน ต.หญ้าป้อง อยู่ในเขต อ.เมือง ทันทีที่ก้าวเท้าลงจากรถเราก็เห็นเรือสุพรรณหงส์ตั้งสง่าอยู่กลางน้ำ นับเป็นไฮไลต์ของวัดแห่งนี้ พี่อี๊ดบอกว่า เป็นวัดแห่งเดียวในโลกที่มีการสร้างเรือสุพรรณหงส์เป็นโบสถ์อย่างสวยงามอยู่กลางสระน้ำ ไม่เพียงเท่านี้ วัดยังเป็นศูนย์รวมคนในชุมชนบ้านหว้านและชุมชนใกล้เคียงให้มาร่วมกันทำบุญ สวดมนต์ไหว้พระ ทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งทุกวันอาทิตย์อีกด้วย

(ชาวบ้านรวมตัวทำบุญตักบาตที่วัดพระธาตุสุพรรณหงส์)

    โชคดีตอนที่ไปเป็นวันอาทิตย์พอดีเลยได้ร่วมทำบุญกับชาวบ้าน ได้ข้อมูลมาอีกว่า ปกติชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่นี่เยอะกว่านี้ แต่ช่วงนี้ชาวบ้านมีงานบายศรีสู่ขวัญลูกหลานไปเป็นทหารกันเกือบทั้งหมู่บ้าน คนเลยน้อยกว่าปกติ แต่สำหรับเราถือว่าไม่น้อยนะ ที่เห็นก็มีทั้งคุณตา คุณยาย มาพร้อมกับลูกหลาน แต่งกายด้วยชุดสุภาพเรียบร้อย เสื้อแขนยาว ผ้าถุงผ้าซิ่น ไม่ค่อยเห็นคนแต่งตัวด้วยชุดธรรมดา จะมีก็แต่คนต่างถิ่นอย่างพวกเรานี่แหละ
    พวกเราฝังตัวอยู่กับแม่ๆ ภายในศาลาฟังธรรม ทำพิธีกรรมทางศาสนาประมาณ 15-20 นาทีก็เดินออกมาจากศาลา ด้านนอกมีพื้นจัดเตรียมสำหรับนั่งตักบาตร เราและเพื่อนร่วมทริปก็มานั่งพับเพียบกับพื้นข้างๆ แม่ๆ พอลองนึกดูแล้วการทำบุญตักบาตรปกติในเมืองไม่มีนั่งพับเพียบแบบนี้ เห็นแต่ยืนตักบาตร ด้านหน้ามีโต๊ะเก้าอี้กั้น แต่ที่นี่ไม่มี ของที่ใส่ตักบาตรก็ใส่ในตะกร้าจักสาน

(เลือกซื้อสินค้าชาวบ้านที่ตลาดวัฒนธรรมโบราณวัดสุพรรณหงส์)

    พอตักบาตรเสร็จอีกมุมของวัดเป็นตลาดวัฒนธรรม มีสินค้าพื้นบ้านที่พ่อๆ แม่ๆ เก็บมาขาย เช่น พวกพืชผัก ของที่หาตามธรรมชาติ ปลาจากแม่น้ำมูล หอยขม ไก่ย่าง ข้าวจี่ และขนมโบราณอย่างขนมตดหมา ขนมครก แล้วก็มีผ้าไหมที่ทอโดยฝีมือชาวบ้าน เรากินอาหารเช้าที่นี่ด้วยเมนูกลางๆ อย่างก๋วยจั๊บ ต่อด้วยข้าวจี่ หมูปิ้ง ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอาหารที่หากินได้ทั่วไปในกรุงเทพฯ แต่บรรยากาศตอนกินไม่เหมือนกันแน่นอน กินไปก็มองดูเรือสุพรรณหงส์กลางน้ำไป คุยกับพ่อค้าแม่ขาย แค่นี้ฟินมากแล้ว ยิ่งมีลมเย็นๆ พัดมาเป็นสัญญาณลมหนาวแล้ว บอกได้เลยว่า หนังท้องตึง หนังตาหย่อน 

(ปราสาทเยอ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ศูนย์รวมของชาวเยอ)

    “บ้านปราสาทเยอ” โบราณสถานอายุนับร้อยปี ตั้งอยู่ที่ ต.ปราสาทเยอ อ.ไพรบึง เป็นหมู่บ้านของชาวเยอ ปราสาทเยอตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน รูปลักษณ์เป็นปราสาทหินศิลาแลงแบบขอม เล่ากันว่าสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่อเป็นธรรมศาลาที่พักรายทางในการออกตรวจเยี่ยมเมืองต่างๆ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นหินทราย ใช้ทำเสาโครงประตูและภาพจำหลัก กำแพงรอบนอกตัวปราสาทสร้างด้วยอิฐศิลาแลง แต่ปัจจุบันปราสาทเยออยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม เหลือแต่ซากอิฐทับถมเป็นกองสูง มีแต่ประตูซึ่งทำด้วยหินทราย 2 บานที่ยังไม่หักพัง และเห็นลวดลายเป็นรูปพระอิศวรทรงช้างสามเศียร ชาวบ้านที่นี่มีเรื่องเล่าต่อกันมาหลายเรื่อง แต่มีเรื่องหนึ่งที่เราจำได้ คือ เรื่องชุดประจำท้องถิ่น ที่เล่าว่า อดีตมีคนเห็นชุดวางอยู่ที่ปราสาทแห่งนี้ แล้วชาวบ้านมาขอยืมใส่ บางคนใส่แล้วก็เอามาคืน บางคนก็ไม่คืน วันต่อมาชุดที่คืนไปแล้วหายไปเลย ไม่มีใครรู้ว่าหายไปไหน ชาวบ้านเข้าใจว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ตรงนี้น่าจะโกรธที่มีคนยืมแล้วไม่คืน เลยไม่ให้ยืมอีก

(การแต่งกายชุดประจำถิ่นของชาวเยอ)

    พอพูดถึงเรื่องเครื่องแต่งกายประจำถิ่นแล้ว แม้ว่าเสื้อที่ชาวบ้านสวมใส่จะเป็นเสื้อทรงกระบอกธรรมดาๆ แต่ที่ไม่ธรรมดาอยู่ที่เม็ดกระดุม ถ้าเม็ดใหญ่หลายเม็ดแสดงว่าเป็นคนรวย ชาวบ้านบอกว่ากระดุมเม็ดเดียวแพงกว่าเสื้ออีก เม็ดหนึ่งราคาหลายพัน เมื่อก่อนถึงขนาดต้องขโมยกัน ทำให้ต้องคอยซ่อน ถ้าไม่มีงานสำคัญก็จะไม่ติดกระดุมมาเพราะกลัวหาย บางคนก็บอกว่าถ้าไปไหนไม่มีเงินเอากระดุมไปจำนำยังได้ 
    วิถีชีวิตของคนที่นี่ไม่ต่างจากชุมชนอื่นๆ คือมีการทอผ้า ทำขนม เราได้ยินคนที่นี่คุยกันเป็นภาษาเยอ ภาษาในกลุ่มมอญกับเขมร ก็แอบฟังว่าเขาคุยอะไรกัน เท่าที่ได้ยินภาษาเยอไม่คล้ายภาษาอีสานเลยสักนิด

(พักผ่อนใต้เรือนโบราณหมู่บ้านนวัตวิถีโอท็อป บ้านโนนสว่าง)

    หมู่บ้านถัดไปที่ไปเยือนก็คือ "หมู่บ้านนวัตวิถีโอท็อป บ้านโนนสว่าง" อยู่ที่ อ.พายุห์ บรรยากาศโดยรวม แล้วเหมือนมาดื่มด่ำกับบรรยากาศของท้องนาโดยเฉพาะ แต่ก่อนจะไปนาที่หมู่บ้านเขามีศูนย์รวมทอผ้าไหม แล้วก็มีตลาดโบราณเหมือนอย่างวัดพระธาตุสุพรรณหงส์ ขายสินค้าพื้นบ้านเหมือนกัน ขอบอกว่าไก่ย่างที่ตลาดแห่งนี้อร่อยมาก ถัดจากตลาดโบราณจะมีบ้านไม้ยกใต้ถุนสูงรูปทรงบ่งบอกว่าอายุนับร้อยปีมาแล้ว เป็นสถานที่ค้าขายสินค้าโอท็อปผ้าไหม และเป็นเรือนพักผ่อนหย่อนใจแขกผู้มาเยือนหมู่บ้าน ชาวบ้านที่นี่ก็ต้อนรับแบบกันเองเหมือนเราเป็นลูกหลานอีกคน สักพักชาวบ้านชวนไปนั่งอีแต๊ก

(นั่งรถอีแต๊กไปนา บ้านโนนสว่าง)

    ได้นั่งรถอีแต๊กกับเพื่อนๆ ร่วมทริป ระหว่างทางที่รถวิ่งก็มีเพื่อนบ้านขอขึ้นมานั่งด้วยประมาณสองคน ลุงคนขับอีแต๊กใจดีมาก พอถึงกลางนาพี่อีกคนที่มาด้วยกัน ขอลองขับเอง ลุงก็ใจดีให้ลอง ให้ขับ หลังจากนั่งอีแต๊กมาสักพัก ตรงกลางนาก็มีห้วยทา แหล่งหาปลาของชาวบ้าน มีสะพานข้ามและมีแพไม้ไผ่อยู่กลางน้ำ สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะไปล่องแพหาปลา บนสะพานยังมีศาลานั่งพัก เวลาลมพัดโกรกเอนไหวไปมา แอบกลัวเล็กน้อย แต่ว่าบรรยากาศดี ถ้าได้ข้าวเหนียว ปลาย่าง ส้มตำ มานั่งทานที่นี่ช่วงกลางวันจะดีมาก แต่ถ้าจะมานั่งรถอีแต๊ก คราวหน้าขอมาช่วงบ่ายละกัน เพราะว่าแดดแรงไปหน่อย

(เดินเล่นบนสะพานห้วยทาของบ้านโนนสว่าง)

    ศรีสะเกษยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกเยอะมาก นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราหยิบมาเล่า ในตอนแรกที่ตั้งคำถามว่าไปศรีสะเกษจะไปทำอะไร ตอนนี้ต้องกลับมาคิดใหม่แล้วว่าจะไปตรงไหนของศรีสะเกษก่อนดี เพราะที่ไปมาก็ยังไปไม่ครบเลย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"