หากไม่ปรับไม่เปลี่ยน มหาวิทยาลัยก็กลายเป็นตึกร้าง


เพิ่มเพื่อน    

     เมื่อวานผมเขียนถึงคนชื่อ Salman Khan ที่ทำนายว่าจากนี้ไปคนไม่ต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ปริญญาจะไร้ความหมาย และวิถีแห่งการเรียนการสอนจะเปลี่ยนไปอย่างหนักหน่วงรุนแรง
    ผมอยากให้คนไทยได้ตื่นตัวและรีบปรับตัวให้ทันกับแนวโน้มใหม่นี้อย่างรวดเร็วและจริงจัง
     Salman Khan เป็นนักศึกษาอัจฉริยะ ผู้แตกฉานหลากหลายศาสตร์ที่มีสอนในสถาบันการศึกษา
    เขาเป็นนักวิเคราะห์การเงินอเมริกันเชื้อสายอินเดีย-บังกลาเทศ 
    เป็นบัณฑิต 3 ปริญญาตรีจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สาขาวิทยาศาสตร์ เอกคณิตศาสตร์, วิศวกรรมสาขาไฟฟ้า และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ 
    หลังจากติวหลานสาวด้วยตัวเองระยะหนึ่งก็ตัดสินใจอัดใส่วิดีโอเอาขึ้น YouTube จนกลายเป็นที่ฮือฮา และพัฒนาเป็นการสอนต่อแบบเร่งรัดในเว็บไซต์ชื่อ Khan Academy 
    ที่เป็นจุดเด่นก็คือเขาตั้งใจสอนฟรี กลายเป็นโรงเรียนออนไลน์ใหญ่ที่สุดในโลก
    วันหนึ่ง Bill Gates แห่ง Microsoft เห็นเข้าก็สนใจและบริจาคเงินก้อนแรก 1.5 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 50 ล้านบาท จนทำให้เกิดเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก
    บิล เกตส์ ให้เงินสนับสนุนต่อเนื่องอีกหลายปี ต่อมา Google ก็ยังเข้ามาร่วมสนับสนุนเงินและให้ใช้ระบบ Google Cloud ในการโฮสต์เว็บไซต์และข้อมูลต่างๆ อีกด้วย
    ทุกวันนี้ Salman Khan เติบโตกลายเป็นเจ้าของธุรกิจการศึกษาสมัยใหม่เต็มตัว และเปิดโรงเรียน Off-line ของตัวเองชื่อ Khan Lab School
    ปัจจุบัน Khan Academy มีคลิปสอนวิชาต่างๆ กว่า 5,000 คอร์ส รวม 20,000 กว่าคลิป ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิศวกรรม การเงิน ครอบคลุมระดับอนุบาลจนถึงอุดมศึกษา วิดีโอที่ทำออกมามีไม่น้อยกว่า 65 ภาษา 
    Khan Academy ภาษาไทยเกิดด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิศักดิ์พรทรัพย์ และมูลนิธิไทยคม
     ที่น่าสนใจคือ รูปแบบของการเรียนการสอนออนไลน์แบบนี้มีแบบฝึกหัดให้นักเรียนทำด้วยตนเอง ส่วนครูก็สามารถนำไปใช้เป็นสื่อการสอน เป็นบริการช่วยสังคมระดับโลกที่น่าชื่นชม
    ว่ากันว่าแต่ละวัน บทเรียนต่างๆ ของ Khan Academy มากกว่า 1,000 ล้านบทเรียนจะผ่านสายตาผู้ชม และทุกเดือนมีครูประมาณ 2 ล้านคน นักเรียนประมาณ 40 ล้านคน เข้ามาใช้งานในห้องเรียนดิจิทัลแห่งนี้
    รูปแบบการเรียนการสอนแบบนี้แหละครับที่กำลังจะกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ประเทศไทยจะต้องเรียนรู้และปรับมาใช้อย่างรวดเร็วและจริงจัง
    แม้ว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ของไทยจะยัง “ดื้อเงียบ” ไม่ยอมปรับตัวอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่สัญญาณความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเด่นชัด เห็นไฟแดงโร่ให้เห็นทั่วไป แต่การปรับตัวก็ยังช้าและเฉื่อยแฉะ
    ผมคุยกับนักวิชาการหลายมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่ยอมรับว่าแรงต่อต้านมิได้มาจากนักศึกษาเอง คนที่ไม่ยอมปรับไม่ยอมเปลี่ยนคือตัวอาจารย์เองต่างหาก
    เหตุผลมีหลายประการ แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยหลักคือการที่อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังอยู่ใน “comfort zone” ของตัวเอง ยังเลือกจะอยู่ใน “เขตปลอดภัยและคุ้นเคย” ของตัวเอง
    ระบบมหาวิทยาลัยปัจจุบันก็เอื้อต่อการที่อาจารย์จะรักษาสถานภาพเดิม ไม่จำเป็นต้องฟังเสียงหรือนโยบายจากสภามหาวิทยาลัย หรือแม้จากตัวอธิการบดีเอง เพราะโครงสร้างการบริหารทุกวันนี้อำนาจไปตกอยู่ที่ตัวอาจารย์และคณบดีมากกว่าอธิการบดี
    แรงกดดันที่จะทำให้อาจารย์ต้องเปลี่ยนต้องมาจากนักศึกษาเองที่จะต้องแสดงตนให้ชัดว่าการเรียนการสอนแบบเดิมมิอาจจะเป็นที่ยอมรับได้อีกต่อไป
    การเรียนการสอนแบบ flipped classroom หรือ “ห้องเรียนกลับด้าน” แม้จะเป็นที่รับทราบกันทั่วไปในแวดวงมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังมีการนำมาใช้เฉพาะบางส่วนบางคณะเท่านั้น
    รูปแบบ flipped classroom หมายถึงการที่อาจารย์กับนักศึกษาตกลงกันว่าห้องเรียนต้องไม่ใช่เป็นที่อาจารย์เล็กเชอร์อีกต่อไป นักศึกษาสามารถอ่านและหาข้อมูลเองจากที่บ้านหรือนอกห้องเรียน ส่วนห้องเรียนนั้นจะต้องเป็นจุดที่อาจารย์กับนักศึกษาแลกเปลี่ยนความเห็น วิเคราะห์ ถกแถลง และขยายผลจากตำราหรือบทเรียน
    การจะนำรูปแบบใหม่เช่นนี้มาใช้ได้ แปลว่าอาจารย์จะต้องทำการบ้านมากกว่าเดิม จะต้องทำหน้าที่เป็น coach มากกว่าเป็น lecturer และจะต้องยอมรับว่าบ่อยครั้งนักศึกษาอาจจะรู้มากกว่าตัวเอง
    วิธีคิดหรือ mindset อย่างนี้เกิดขึ้นได้ยากหากอาจารย์มหาวิทยาลัยวันนี้ยังไม่เข้าใจปรัชญาแบบของ Salman Khan ที่เขียนเล่าไว้ในคอลัมน์เมื่อวานและวันนี้
    แต่หากไม่ปรับไม่เปลี่ยน การล่มสลายของสถาบันที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยก็จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"