กำนันรับเศรษฐกิจสาหัส โพลเชื่อฟื้นหลังเลือกตั้ง!


เพิ่มเพื่อน    

    "บิ๊กตู่" ยันยุทธศาสตร์ชาติทำเพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่สืบทอดอำนาจ ดักคอนักการเมืองอย่าหากินกับคนจน ลั่นจ้องล้มโครงการรัฐบาลไม่ง่าย  "จาตุรนต์" สับคลอดแผนแม่บทมัด รบ.หน้า อุ้มประยุทธ์นั่งนายกฯ 5-10 ปี "สุเทพ" เผย ศก.ฟุบเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า โพลชี้เศรษฐกิจไทยแย่ เชื่อดีขึ้นหลังเลือกตั้ง
    ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 36 เรื่อง “การปฏิรูปประเทศสู่ ไทยมั่งคั่ง ไทยมั่นคง ไทยยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า มีคนวิจารณ์ว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งไม่ใช่การหาเสียง เพราะเวลานี้มีคนที่รายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี 14.7 ล้านคน และจะให้ช่วยทั้งหมด 60 ล้านก็ไม่ไหว ถ้าอยากจะเอาใจคนก็ให้ไป แล้วคนก็รัก แต่ประเทศชาติเสียหายหรือไม่ บัตรประชารัฐต้องดูว่าเอาเงินในส่วนไหนมาให้ ในส่วนนี้ต้องไปช่วยอีกแบบ แต่ไม่ใช่เอาภาษีไปช่วยคนจนทั้งหมดอย่างที่วิจารณ์ เพราะภาษีมาจากหลายทาง ส่วนที่ออกมาบอกว่าจะล้มนั่นล้มนี่ 4 ปีที่ทำมาไม่ได้ง่ายนะ และขออย่ามองว่ารัฐบาลนี้ช่วยแต่คนรวยไม่ช่วยคนจน เพียงเพราะคิดเร็ว แต่ไม่เข้าใจปัญหา
    ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลแก้ปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนตามที่มีการร้องเรียนเข้ามา ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมาตนไม่ได้เก่ง แต่ยอมรับว่าปัญหาเยอะ และเหนื่อย มีรัฐมนตรีมาถามว่าเป็นผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) มาเป็นนายกฯ เป็นอย่างไร ตนก็ตอบว่าจะเป็นอย่างไร ก็เหนื่อยสิ เป็นมา 13 ปี แต่มีกำลังใจอยู่ แค่ไหนก็แค่นั้น ขึ้นอยู่กับประชาชน ถ้านึกถึงประเทศเหมือนตอนเป็น ผบ.ทบ. เสี่ยงแค่ไหนก็ต้องทำ เพราะเป็นหน้าที่ ถ้าไม่มีหน้าที่ก็ไม่ทำ และตนไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้ง ไม่ปฏิเสธประชาธิปไตย ตลอดเวลาทำงานเพื่อหยุดความขัดแย้ง พร้อมกับเดินหน้าตามโรดแมป 
    "ดังนั้นนักการเมืองที่จะเข้ามาต้องมองไปข้างหน้า อย่าใช้เรื่องความรวยมหาศาลหรือจนมหาศาลมาหากินทางการเมือง ซึ่งคนที่หาเสียงบอกว่าจะแก้ปัญหาอย่างโน้นอย่างนี้ต้องให้นักการเมืองและพรรคการเมืองอธิบายด้วยว่าปลดล็อกแล้วเขาจะทำอะไรให้ประเทศไทย ถ้าไม่มีวิธีการก็อย่าไปเชื่อ ไม่ใช่ข้อเท็จจริง และต้องให้บอกด้วยว่าจะแก้ไขปัญหาทุจริตอย่างไร เพราะไม่เช่นนั้นจะมาหากินกับคนยากคนจนที่คาดหวังว่าเลือก ส.ส.เข้ามาเพื่อแก้ปัญหา แล้วก็ผิดหวังทุกทีกลับไปเหมือนเดิม ส่วนที่บอกว่าการเลือกตั้งเงินจะสะพัดนั้น มาจากการเดินทางไปมาหาสู่ แต่ไม่อยากให้แพร่สะพัดด้วยเงินนอกระบบ 4-5 หมื่นล้านนั้นคงไม่ใช่เรื่องปกติ" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
    นายกฯ กล่าวว่า มีคนบอกว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทำเพื่อแสวงหาอำนาจ เป็นการผูกขาด ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ได้ทำเพื่อตน แต่ทำเพื่อประเทศ วันนี้เราเดินหน้าด้วยประชารัฐ ซึ่งมีนักธุรกิจและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่มีคนใช้เป็นจุดหากินทางการเมืองว่า คนรวยก็รวย คนจนก็ยิ่งจน นักการเมืองต้องมองไปข้างหน้า อย่าไปฟังติติงรัฐบาล ตนก็เลิกฟังแล้ว เสียเวลา ชอบถามยั่วอารมณ์ รู้ว่าตนยั่วขึ้นหรือไง ตนต้องทำตัวให้เย็นลง ขออย่างเดียว สัญญาว่าจะช่วยตน ข้าราชการก็ต้องช่วยกัน 
    "วันนี้พูดเสร็จกลับไปปวดหัวทั้งวัน ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสรื่นเริง หลายปีทำงานกลับบ้านเข้าทำเนียบฯ ไปต่างประเทศกลับบ้านเข้าทำเนียบฯ แต่บ่นไม่ได้ เขาบอกว่าคนเป็นนายกฯ ห้ามบ่น ต้องพูดเพราะๆ สวัสดีครับ ยิ้ม ใครจะถามอะไรก็แล้วแต่ ครับผมๆ เขาก็ถามผมคำเดิม คนแรกถามคำถาม พอคนที่สิบก็ถามคำถามแรก เขาบอกผมไม่ต้องตอบก็ได้ ถ้าไม่ตอบก็หาว่าผมงอน โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน "สัมมนาหอการค้าไทยทั่วประเทศ" ว่า ขณะนี้หอการค้าไทยได้จัดทำข้อสรุปและแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของหอการค้าทั่วประเทศเป็นสมุดปกขาว เสนอนายกฯ พิจารณาแนวทางในการบริหารประเทศ ประกอบด้วย ด้านการค้าการลงทุน ด้านการเกษตรและอาหาร และด้านท่องเที่ยวและบริการ 
    นายกลินท์ยังกล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองต่างออกมาหาเสียงว่าเศรษฐกิจไม่ดีในลักษณะการซ้ำเติมว่า หอการค้าอยากให้พรรคการเมืองโชว์นโยบายด้านเศรษฐกิจ 2 ด้าน คือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และการเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ พร้อมทั้งอธิบายแผนแบบรูปธรรมเพื่อที่จะให้เอกชนและประชาชนพิจารณาการตัดสินใจ ไม่ใช่ว่าพูดแบบลอยๆ ไม่มีหลักฐานว่าถ้าได้เข้ามาบริหารประเทศแล้วเศรษฐกิจจะดี ชาวบ้านจะมีรายได้สูง
    ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ 20 ปี กับการปฏิรูปประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ว่า จากนี้ยุทธศาสตร์ชาติจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่ต้องการความมั่นใจเกี่ยวนโยบายการค้าการลงทุน ก่อนตัดสินใจมาลงทุน เมื่อสามสัปดาห์ก่อนได้รับเชิญให้ไปบรรยายที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเซิ่นเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากถูกสอบถามเรื่องวันเลือกตั้งตามโรดแมปแล้ว นักลงทุนและผู้สื่อข่าวจีนยังสอบถามเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ที่เขาต้องการความเชื่อมั่นว่ามีรัฐบาลใหม่แล้วนโยบายต่างๆ จะเดินหน้าต่อ 
    ทั้งนี้ หากจะปรับเปลี่ยนต้องทำเหมือนตอนร่าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สามารถทำได้ ตรงนี้ทำให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เห็นได้จากกรณีเลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เข้าพบนายกฯ ได้เชิญให้ไทยเป็นสมาชิก จากเดิมที่เคยขอสมัครเป็นสมาชิก แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยเหตุผลที่เชิญเนื่องจากเห็นว่าไทยมียุทธศาสตร์ชาติและกำลังจะมีการปฏิรูปประเทศ และเพื่อสร้างความมั่นใจเขายังเชิญให้เราเป็นประธานร่วมในการประชุมโออีซีดีที่ประเทศเกาหลีใต้ในปีหน้า 
    ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "ยุทธศาสตร์ชาติกับการเลือกตั้ง" ว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพิ่งให้ความเห็นชอบ 23 แผนแม่บท นอกจากนี้ยังมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปร่างแผนเร่งด่วนระยะ 5 ปีขึ้นมา ซึ่งคือแผนสำหรับใช้กำกับรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง หากใครไม่ทำตามจะถูกเอาผิดลงโทษตามกฎหมาย ปัญหาคือยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทเหล่านี้ทำกันขึ้นมาโดยคนกลุ่มเล็กๆ แต่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เมื่อมีการลงรายละเอียดมากมายไปถึงขั้นจะทำอะไรอย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ และจะต้องแล้วเสร็จเมื่อไร ถ้าดีก็ดีไป แต่ถ้าไม่ดีขึ้นมา อาจจะเกิดความเสียหายใหญ่หลวง 
    นายจาตุรนต์ระบุว่า ในการหาเสียงเลือกตั้งที่จะมีขึ้น พรรคการเมืองอาจจะเสนอนโยบายที่ต่างกันในรายละเอียดได้ไม่มากเหมือนในอดีต แต่ความแตกต่างอย่างมากอาจเกิดขึ้นได้หากพรรคการเมืองบางพรรคประกาศว่าจะสานต่อยุทธศาสตร์ชาติทุกอย่างกับอีกฝ่ายหนึ่งอาจจะประกาศเข้าไปรื้อยุทธศาสตร์ชาติหรือยกเลิกเลย ส่วนอีกประเด็นที่สำคัญอย่างมากเช่นกันคือ ประชาชนจะต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เพื่อกำกับยุทธศาสตร์ชาติและบริหารประเทศอย่างที่ทำมาแล้วติดต่อกันไปอีก 5-10 ปีเป็นอย่างน้อยหรือไม่
    นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) แถลงว่า จากการเดินคารวะแผ่นดิน และได้พูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ทั้งกรุงเทพฯ ภาคใต้ และภาคกลางบางส่วน พบว่ามีเรื่องที่ต้องรายงานต่อสังคมคือปัญหาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งรายได้ไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต ส่วนบรรดาพ่อค้าแม่ค้าค้าขายตกต่ำ สำหรับต่างจังหวัดนั้นประสบปัญหาหนักกว่าคนกรุงเทพฯ เรียกว่าสาหัส เพราะคนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ได้รับผลกระทบมากจากภาวะพืชผลตกต่ำอย่างต่อเนื่องหลายปี ทำให้ครอบครัวเกษตรกรจนลง สรุปเศรษฐกิจระดับล่างของไทยไม่ดีอย่างมาก เรียกว่าซบเซา ดังนั้น รปช.จะนำปัญหาความทุกข์กำหนดเป็นนโยบายแก้ปัญหา โดยจะรณรงค์ยกระดับเป็นวาระของประเทศ เพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง
    ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย ในปี 2561” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.92 ระบุว่าภาพรวมเศรษฐกิจแย่ลง รองลงมา ร้อยละ 27.12 ระบุว่าภาพรวมเศรษฐกิจเท่าเดิม และร้อยละ 10.96 ระบุว่าภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนว่าหลังจากมีการเลือกตั้งในปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.16 ระบุว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น เพราะมีความมั่นใจต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รองลงมา ร้อยละ 31.60 ระบุว่าเศรษฐกิจไทยจะเหมือนเดิม ร้อยละ 4.56 ระบุว่าเศรษฐกิจไทยจะแย่ลง. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"