เจรจาสันติสุขใต้ ต้องระดมความคิดทุกฝ่าย


เพิ่มเพื่อน    

    การไปตั้งวงสนทนากับหลายๆ วงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้ได้รับทราบรายละเอียดบางเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการเจรจาสันติสุขระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายเห็นต่างที่น่าสนใจหลายประเด็น
    ผมเล่าให้ผู้เกี่ยวข้องทราบถึงท่าทีของนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ของมาเลเซีย ที่บอกผมว่าท่านมีความตั้งใจจริงจังที่จะช่วยเป็น "ผู้อำนวยความสะดวก" ระหว่างสองฝ่ายในไทยเพื่อให้การพูดจามีความคืบหน้าอย่างจริงจัง
    อีกทั้งคุณอันวาร์ อิบราฮิม "รักษาการนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย" ก็ยืนยันกับผมอย่างนั้น จึงเป็นนิมิตหมายที่เป็นไปทางบวก
    แน่นอนว่าเราต้องผลักดันให้การเจรจาเป็นไปในทิศทางที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดผลอย่างจริงจัง โดยความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านทางใต้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความพยายามเท่านั้น
    ขณะเดียวกันรายงานของ "สำนักข่าวอิศรา" ที่ผมเอารายละเอียดมาเล่าในคอลัมน์เมื่อวาน ก็ดูเหมือนจะชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าน่าจะมีความคืบหน้าที่น่าสนใจบางประเด็นเช่นกัน
    ที่น่าติดตามอีกด้านหนึ่งของรายงานชิ้นเดียวกันนี้บอกว่ายังอีกความเคลื่อนไหวหนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้  พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขภาคใต้คนใหม่ ได้เริ่มเปิดตัวเปิดวงหารือกับกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมทั้งกลุ่มสื่อมวลชน เพื่อรับฟังความเห็นที่เป็นแนวทางสู่สันติสุขที่จะเกิดขึ้นจากโต๊ะพูดคุย
    รายงานชิ้นนี้บอกต่อว่า
    "เราคุยเรื่องนี้กันมา 3-4 ปีก็ยังเผชิญหน้าด้วยความรุนแรงอยู่ จำต้องคุยกับทุกกลุ่มเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้ง ผมจะคุยเมื่อกลุ่มก่อความรุนแรงมาคุยกับผม คุยทั้งกลุ่มมาราปาตานี กลุ่มปาตานีพลัส คนที่คุมกำลัง คุยอย่างไม่เป็นทางการและอาจไม่จบที่โต๊ะเจรจา เพราะถ้าไม่คุยใต้โต๊ะให้เรียบร้อยอาจไม่ถูกนำมาคุยบนโต๊ะ การไปพูดคุยครั้งนี้ไม่ใช่การเจรจาหยุดยิง เป็นการพูดคุยเพื่อออกจากความขัดแย้ง ไม่ใช้ความรุนแรง รับฟังข้อเสนอจากปากเขา ต้องสื่อสารไปยังผู้เห็นต่างและประชาชนว่าต้องการลดการเผชิญหน้าและออกจากความรุนแรง นี่เป็นเจตนารมณ์ของผม" พล.อ.อุดมชัยกล่าวตอนหนึ่ง
    เขายังบอกว่าเรื่องใหญ่ที่สุดของปัญหาภาคใต้ขณะนี้คือ การสื่อสารกับคนทั้งประเทศให้ได้รับรู้ และให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในสิ่งที่ทำอยู่ ได้ช่วยกันผลักดัน ซึ่งสื่อมวลชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการสื่อสาร ช่วยกันหาแนวทางสื่อสารที่ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมรับรู้ว่าเรื่องราวของพี่น้องชายแดนใต้คือเรื่องของคนทั้งประเทศ
    สำหรับความเห็นของคนทำสื่อในพื้นที่มีข้อเสนอที่หลากหลาย เพาซี พะยิง กลุ่มเฌอบูโด ผู้ผลิตสื่ออิสระกล่าวว่า ต้องสร้างพื้นที่กลางให้ทุกคนได้ใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างปลอดภัย มีการสื่อสารแบบคู่ขนาน  แถลงให้ประชาชนได้รับทราบถึงความคืบหน้าในการดำเนินงาน
    ตูแวตานียา มือรีงิง จากสำนักข่าวช่อง 3 มาเลเซีย บอกว่าควรนำข้อเสนอแนะเชิงบวกสู่โต๊ะพูดคุยในสิ่งที่ประชาชนและฝ่ายที่เห็นต่างต้องการ โดยเฉพาะสิ่งที่รัฐไทยทำได้และเห็นผลการเปลี่ยนแปลง  ต้องสื่อสารให้มีการรับรู้อย่างทั่วถึงในพื้นที่ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ สื่อใหม่ เพราะทุกคนอยากเห็นความสงบสุข  มีอาชีพและรายได้ มีความปลอดภัยในชีวิต
    ขณะที่พัชรา ยิ่งดำนุ่น จากสถานีวิทยุกระจายเสียง ม.อ.ปัตตานี เสนอว่าต้องทำให้วาระการพูดคุยเป็นประเด็นสื่อสารของคนสามจังหวัด รัฐต้องสื่อสารอย่างจริงจัง สร้างสภาวะให้ผู้คนรู้สึกเป็นการพูดคุยที่เสรี ทุกอย่างต้องเชื่อมไปกับกระบวนการและสันติภาพ
    มูฮัมหมัด ดือราแม จากสำนักข่าวอามาน บอกว่า การพูดคุยมีต้นทุนที่สามารถทำให้สำเร็จได้  สันติภาพไม่ใช่การเปลี่ยนสนามแข่งขันมาเป็นสนามรบ สายสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ตัดไม่ขาด ต้องสร้างความรู้สึกความเป็นเจ้าของร่วมกัน รัฐต้องสร้างช่องทางการสื่อสารและรายงานความคืบหน้าให้ประชาชนได้รับรู้
    หากสัญญาณใหม่เหล่านี้นำไปสู่การร่วมกันหาทางออกอย่างจริงจัง ไม่แน่ ...เราอาจเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำในอีกไม่นานเกินรอก็ได้
    เพราะนี่คือความหวังของทุกคนที่ผมได้แลกเปลี่ยนความเห็นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"