"สามัญชน"ชูขยายสิทธิเลือกตั้งเยาวชน-กลุ่มชาติพันธุ์


เพิ่มเพื่อน    

    “พรรคสามัญชน” หนึ่งในพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ที่ชูเอกลักษณ์โดดเด่นในความเป็นพรรคการเมืองของชาวบ้าน พรรคการเมืองของคนจนที่รวมตัวกันหลากหลายเครือข่ายให้มีพลังเป็นหนึ่ง พร้อมเข้าร่วมสู้ศึกเลือกตั้งที่จะถึงในวันที่ 24 ก.พ.2562 ด้วยความหวังที่จะให้มีผู้แทนราษฎรสามัญชนเป็นปากเสียงในสภา ชื่อของสมาชิกพรรคนี้ที่เราเห็นผ่านตาตามสื่อบ้าง อาทิเช่น “เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์” เป็นว่าที่หัวหน้าพรรค “ปกรณ์ อารีกุล” เป็นว่าที่โฆษกพรรค รวมถึงสมาชิกผู้ก่อตั้งที่โดดเด่นอย่าง “จอน อึ๊งภากรณ์” ผู้อำนวยการไอลอว์ และ “นิมิตร์ เทียนอุดม” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เป็นต้น
    นอกจากนี้ ในฐานะที่เป็นพรรคของสามัญชนคนธรรมดา ก็ย่อมเป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่อีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นลูกชาวบ้านหลานชาวนา ซึ่งมีความสนใจการเมืองไม่แพ้คนรุ่นใหม่หน้าใส ดูดีมีชาติตระกูลแบบในพรรคการเมืองอื่นที่เราเห็นกันได้ทั่วไป วันนี้เราจะไปรู้จักกับ “เอิร์ธ-สหชาติ วงษ์กะวัน” ตัวแทนคนรุ่นใหม่พรรคสามัญชน นักศึกษามหาวิทยาลัยที่กล้านำเสนอนโยบายทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ในรูปแบบที่รับรองได้ว่าแปลกใหม่ ไม่มีพรรคใดเคยกล้าเสนอเช่นนี้มาก่อน!
    นโยบายพรรคสามัญชนในส่วนของคนรุ่นใหม่นั้น “สหชาติ” เริ่มต้นด้วยการเสนอให้ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 ปี เหลือ 15 ปี รวมถึงยกเลิกเงื่อนไขอายุของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย เช่น การกำหนดอายุผู้ลงสมัคร ส.ส.  ที่ปัจจุบันกำหนดไว้ 25 ปีขึ้นไป เป็นไม่จำกัดอายุ เขายกตัวอย่างว่า ในสหรัฐอเมริกาเคยมีผู้มีอายุไม่ถึง 25 ปี ก็ลงสมัครรับตำแหน่งทางการเมืองได้ ชื่ออีธาน ซอเนอร์บอร์น อายุ 14 ปี ลงท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเวอร์มอน ในนามพรรคเดโมแครต ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ทุกคนมีสิทธิสมัครรับเลือกไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ แต่จะได้รับเลือกหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อยู่ที่วิจารณญาณของผู้ลงคะแนน คนรุ่นใหม่อาจจะมีความคิดที่ก้าวหน้ากว่า
    เมื่อถามว่าการลดอายุเลือกตั้ง คนจะมองว่าอายุน้อยวิจารณญาณอาจไม่พอหรือไม่ เขาตอบว่า การเมืองเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนก่อนอายุ 18 ปีอยู่แล้ว ยกตัวอย่างคนที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ชั้น ม.3 มีลูกแล้วต้องออกจากโรงเรียน นโยบายภาครัฐเรื่องคนท้อง สวัสดิการการเลี้ยงดูบุตรต่างๆ เขาได้รับผลกระทบแล้ว ถ้ามีพรรคไหนเสนอว่าการเลี้ยงดูบุตรรัฐจะจัดสวัสดิการให้ หรือให้เบี้ยเลี้ยง แต่เขาไม่มีสิทธิเลือกพรรคนั้น ไม่มีสิทธิเลือกในสิ่งที่เขาต้องการ ถ้าเราลดอายุเขาจะได้มีสิทธิเลือกตรงนั้นด้วย ส่วนวิจารณญาณจะเพียงพอหรือยัง เขาก็เลือกสิ่งที่เขาต้องการ เราเลือกพรรคเพราะเราชอบนโยบาย เราชอบคน เราก็มีสิทธิกา เขาอายุ 15 ปี ดูนโยบายฟังมา เขาชอบก็มีสิทธิเลือก เราไม่ควรจำกัดความว่าเด็กไม่มีสิทธิเลือกตั้ง
    ในประเด็นการเลือกตั้ง “สหชาติ” ยังเสนอไปถึงขั้นว่า ให้สิทธิลงสมัครรับดำรงตำแหน่งทางการเมืองแก่เยาวชนที่เคยทำผิดพลาดในอดีตด้วย เช่น คนที่ถูกศาลตัดสินว่าผิดถูกส่งเข้าสถานพินิจไปแล้ว ต่างจากปัจจุบันคนที่เคยได้รับโทษจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งรวมถึงเยาวชนกลุ่มนี้ด้วย
    สิทธิเลือกตั้งในมุมมองของเขา รวมไปถึงการสนับสนุนให้นักศึกษาเรียนต่างถิ่นมีสิทธิเลือกผู้แทนในท้องถิ่นที่ตนอยู่ โดยยกตัวอย่างว่า ผมเป็นคนกรุงเทพฯ แต่เรียนอยู่ จ.ชลบุรี เราก็ไม่มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนี้ ทั้งที่เราอยู่ตั้ง 4 ปี เราควรจะมีสิทธิเลือกผู้แทนตรงนั้น หรือนักศึกษาลูกแรงงานข้ามชาติ ก็ควรมีสิทธิเลือกผู้แทนในท้องที่ที่เขาอาศัยอยู่ และสนับสนุนให้เยาวชนชาติพันธุ์ย้ายถิ่น ที่ศึกษาหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทย มีสิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่นที่ตนอยู่ รวมถึงมีสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการพื้นฐานจากรัฐเท่าเทียมกับผู้ที่มีสัญชาติไทย ลูกหลานกลุ่มชาติพันธุ์เขาอาจไม่มีสัญชาติไทย แต่เขาอยู่ในเขตดินแดนไทยตามกฎหมาย ควรได้รับสวัสดิการเหมือนคนอื่น มีสิทธิเลือกตั้งเหมือนคนอื่น
    สำหรับนโยบายอื่นที่เกี่ยวกับเยาวชน เขาสนับสนุนให้เยาวชนรวมกลุ่มกันในสถานศึกษา เป็นองค์กรเชิงสหภาพ คล้ายสหภาพแรงงาน โดยบอกว่าปัจจุบันมีองค์กรของนักศึกษา เช่น สภานักเรียนในโรงเรียน องค์การนักศึกษา สภานักศึกษา แต่ว่ากฎระเบียบต่างๆ ถูกร่างโดยผู้บริหารสถานศึกษา เช่น กฎตัดผม แต่งกายที่ผู้ใหญ่ตั้งมา สภานักเรียนไม่มีส่วนตัดสินใจ มีหน้าที่แค่ทำตามอาจารย์ เป็นผู้ช่วยอาจารย์ฝ่ายปกครอง มหาวิทยาลัย กฎถูกกำหนดโดยสภามหาวิทยาลัย คณบดีอธิการบดี นักศึกษาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเลือก เราจะสนับสนุนให้เกิดองค์กรต่อรองกับผู้บริหาร ทั้งนี้ เขายังเสนอด้วยว่า นักศึกษาฝึกงานต้องได้รับค่าแรง สวัสดิการเหมือนเป็นพนักงานคนหนึ่ง เนื่องจากนักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน
    “ในนามตัวแทนของปีกเยาวชนคนรุ่นใหม่ของสามัญชน อยากจะบอกว่าสามัญชนเรามองคำว่าคนรุ่นใหม่ไม่ใช่มีแค่ภาพนักศึกษาชนชั้นกลาง นักศึกษามหาวิทยาลัย ไม่ใช่แค่เท่านั้น เรายังมองถึงเด็กแว้น กลุ่มชาติพันธุ์ นักศึกษาไทบ้าน นักศึกษาต่างจังหวัด หรือคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา กลุ่มเด็กอาชีวะ เรามองเขาเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เหมือนกันหมด เราไม่ควรแบ่งว่าภาพของคนรุ่นใหม่ต้องเป็นแบบที่เห็นในสื่อเท่านั้น ว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ ทุกคนที่ผมพูดมาเขาก็เป็นคนรุ่นใหม่เหมือนกัน หากคุณเชื่อในหลักการ 3 ข้อของพรรค ประชาธิปไตยจากฐานราก สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมเป็นธรรม ผมว่าเราร่วมงานกันได้ เพราะทุกคนคือสามัญชนเหมือนกัน ขอฝากสามัญชนไว้ด้วยละกันครับ” นายสหชาติ กล่าวทิ้งท้าย.

 

เอิร์ธ-สหชาติ วงษ์กะวัน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง ม.บูรพา เกิดวันที่ 24 ต.ค.2539 ภูมิลำเนาเดิมอยู่เขตบางนา กรุงเทพฯ เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา และลงสมัครรับเลือกตั้งองค์การนิสิตกับกลุ่มเพื่อนในชื่อ “พรรคลูกระนาด ม.บูรพา” ปัจจุบันเป็นนักกิจกรรมที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน หนุนเสริมขบวนการแรงงานและชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยมีวัตถุประสงค์ต้องการเห็นความเป็นธรรมในสังคม มีความเท่าเทียมกันในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"