ปลุกทวงคืนอำนาจ ทักษิณขยับรับปลดล็อกพรรค-จุดเริ่มต้นฉีกรธน.60


เพิ่มเพื่อน    

     “ประยุทธ์” ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่ง 22/2561 ปลดล็อกคำสั่ง-ประกาศ 9 ฉบับแล้ว ทั้งเรื่องทำกิจกรรม ชุมนุม 5 คน และธุรกรรมการเงิน แต่คดียังต้องเดินต่อ “วิษณุ” แจงยิ่งกว่าปล่อยผี ทำอะไรก็ได้มากกว่ามีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ไม่ต้องแจงเรื่องใช้เงิน ระบุเหตุแทรกแซงศาลให้เว้นโทษไม่ได้ แต่ชี้ช่องนำคำสั่งไปต่อสู้ได้ กกต.คาดสัปดาห์นี้สรุปผลบัตรเลือกตั้งเอาอย่างไร “บิ๊กตู่” ลั่นยังไม่มีใครมาสู่ขอไปอยู่บัญชีนายกฯ  
     เมื่อวันอังคารที่ 11 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่ง
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยมีผลบังคับใช้แล้ว
    ทั้งนี้ เนื้อหาของคำสั่งดังกล่าวมีทั้งสิ้น 4 ข้อ ที่สำคัญคือ ข้อ 1 ที่ให้ยกเลิกคำสั่งและประกาศ คสช.ต่างๆ ประกอบด้วย 1.คำสั่ง คสช.ที่ 10/2557เรื่อง ห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินหรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคล เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม ลงวันที่ 24 พ.ค.2557 เฉพาะ 2.ในข้อ 1 ซึ่งในประกาศ คสช.ที่ 10/2557 คือ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ปัจจุบันเป็นประธานยุทธศาสตร์ชาติการเลือกตั้ง พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) 
    2.คำสั่ง คสช.ที่ 26/2557 เรื่องห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินหรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลเท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม ลงวันที่ 27 พ.ค.2557 3.ประกาศ คสช.ฉบับที่ 39/2557 เรื่องการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่มารายงานตัวต่อ คสช. ลงวันที่ 25 พ.ค.2557 4.ประกาศ คสช.ฉบับที่ 40/2557 เรื่องการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่ถูกกักตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 15 ทวิ ลงวันที่ 25 พ.ค.2557 
    5.ประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 เรื่องให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ 7 มิ.ย.2557 เฉพาะในข้อ 2 ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้ต่อเนื่องต่อไปโดยมิได้สะดุดลงจนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก  ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุม หรือดำเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง และการดำเนินการเพื่อการจัดตั้งหรือจดทะเบียนพรรคการเมืองให้ระงับไว้เป็นการชั่วคราว รวมทั้งให้ระงับการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองไว้เป็นการชั่วคราวด้วย ในกรณีมีข้อสงสัยให้หารือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 
บิ๊กนักการเมืองรอดโซ่ตรวน
    6.คำสั่ง คสช.ที่ 80/2557 เรื่อง ให้บุคคลปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ลงวันที่ 28 มิ.ย.2557 ซึ่งคำสั่งนี้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 18 ราย คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์, นายชูศักดิ์ ศิรินิล, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา, นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นางธิดา โตจิราการ, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายจุติ ไกรฤกษ์, นายศิริโชค โสภา, นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ, นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข 
     7.คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เม.ย.2558 เฉพาะในข้อ 12 มีเนื้อหาระบุว่า ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย
     เป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขตามข้อ 11 วรรคสอง ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2529
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    8.คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2560 เฉพาะในข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 7 ซึ่งเนื้อหาข้อ 4 ระบุว่า ในการดำเนินการตามมาตรา 140 และมาตรา 141 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ห้ามมิให้พรรคการเมืองตามมาตรา 140 จัดให้มีการประชุมใหญ่ตามมาตรา 141 (4) รวมทั้งการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองและตัวแทน พรรคการเมืองประจำจังหวัดตามมาตรา 141 (5) การประชุมสมาชิกพรรคการเมือง หรือการดำเนินการอื่นใดในทางการเมืองนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในคำสั่งนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก คสช. ทั้งนี้ ให้นำข้อห้ามตามข้อ 2 แห่งประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ลงวันที่ 7 มิ.ย.2557 และข้อ 12 แห่งคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ลงวันที่ 1 เ.ม.ย.2558 มาใช้บังคับ
     ส่วนข้อ 5 มีเนื้อหาว่า เพื่อให้การจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่สามารถดำเนินการทางธุรการและมีโอกาสเตรียมการเพื่อเข้าสู่ช่วงเวลาการทำกิจกรรมทางการเมืองไปพร้อมกับพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นก่อนแล้ว ให้ผู้ที่ประสงค์จะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ดำเนินการตามหมวด 1 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2561 แต่การประชุมเพื่อยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา 10 ต้องได้รับอนุญาตจาก คสช.และให้ดำเนินกิจกรรมได้เท่าที่ได้รับอนุญาตหรือตามเงื่อนไขที่ คสช.กำหนด และข้อ 7 ในกรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือคำสั่งนี้ ให้หารือ กกต.หรือ คสช.แล้วแต่กรณี
     9.คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ 14  ก.ย.2561 เฉพาะในข้อ 6 ที่มีเนื้อหาว่า พรรคการเมืองจะดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ภายในพรรคการเมืองและสมาชิกของพรรคการเมืองของตน โดยวิธีผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่การดำเนินการนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง ทั้งนี้ กกต.และ คสช.อาจกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์หรือการติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือสั่งให้มีการระงับการดำเนินการดังกล่าวก็ได้
    ทั้งนี้ การยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 39/2557, ประกาศ คสช.ฉบับที่ 40/2557 และคำสั่ง คสช.ที่ 80/2557 ให้ยกเลิกเฉพาะในส่วนที่กำหนดห้ามบุคคลหรือให้บุคคลใดละเว้นการเคลื่อนไหวหรือประชุมทางการเมือง หรือห้ามการดำเนินการช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลใดตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวที่ห้ามหรือให้ละเว้นในเรื่องดังกล่าวด้วย ซึ่งการยกเลิกประกาศและคำสั่ง 9 ฉบับ ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดีการดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้ และในกรณีที่เห็นสมควรนายกฯ อาจเสนอให้ คสช.แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
ยิ่งกว่าปล่อยผี
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ อธิบายถึงคำสั่ง คสช.ที่ 22/2561 ว่าขณะนี้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมได้ทุกอย่าง อย่างการประชุมสมาชิกพรรค ส่วนที่ต้องยกเลิกถึง 9 ฉบับนั้น มีคำสั่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพียง 2 ฉบับ แต่ที่ปลดมีทั้งเรื่องการเงินอะไรต่างๆ ด้วย โดยตอนนี้พรรคการเมืองสามารถลงพื้นที่พบปะประชาชนได้ ส่วนการหาเสียงจะเริ่มได้ก็ต่อเมื่อพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส่วนจะหาเสียงอย่างไร ให้เป็นไปตามวิธีการที่ กกต.กำหนด 
    “ทำไปเถอะ อยากทำอะไรก็ทำได้ทั้งนั้น และถ้าจะพูดว่าห้ามหาเสียงก็เป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะหากพูดว่าห้ามหาเสียง ก็ต้องพูดว่าหาเสียงแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คำตอบคือควรมีความผิด แต่มันไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ดังนั้นเอาเป็นว่าสิ่งที่เรียกว่าหาเสียง จะเริ่มก็ต่อเมื่อมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งแล้วคิดค่าใช่จ่ายตั้งแต่วันนั้น ก่อนหน้านั้นไม่คิดค่าใช่จ่าย วันนี้คุณจะขึ้นป้ายคัตเอาต์อะไรก็ทำได้ แต่เมื่อมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ก็ต้องเอาลงเป็นค่าใช้จ่าย” นายวิษณุกล่าว 
    เมื่อถามว่า คำสั่งปลดล็อกฉบับนี้ถือเป็นการปล่อยผีให้พรรคการเมืองใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า แล้วแต่คุณจะเรียก เพราะปล่อยหมดแล้วจนไม่มีอะไรเหลือ และดีกว่าช่วงที่ พ.ร.ฎ.ให้เลือกตั้งเสียอีก เพราะต้องเข้าไปอยู่ในกฎเกณฑ์ตามกฎหมาย ส่วนพรรคการเมืองจะบอกว่าสนับสนุนให้ใครเป็นนายกฯ อยากพูดก็พูดไป
    ขณะที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.กล่าวเรื่องนี้ว่า ยังไม่ได้อ่านอย่างละเอียด จึงยังไม่ขอให้ความเห็นได้ว่าพรรคการเมืองดำเนินการใดได้บ้าง อยากขอกลับไปอ่านรายละเอียดและทำความเข้าใจให้เกิดความชัดเจนก่อน แต่การที่คำสั่งออกมาในวันนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ ถือว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสม
    ส่วนนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์เฟซบุ๊กว่า การที่ คสช.จำต้องปลดล็อก ไม่ใช่เขามีความกรุณาต่อเรา แต่เป็นการเอาสิทธิขั้นพื้นฐานของเราที่เขาช่วงชิงจากเราไปเป็นระยะเวลาเกือบ 5 ปีคืนกลับมาให้บางส่วนต่างหาก ซึ่งต้องขอแสดงความยินดีกับพี่น้องชาวไทยด้วย ที่วันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความหวังที่เราจะได้รับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคกลับคืนมา ถึงแม้ว่าอาจไม่เหมือนเดิมเหมือนเมื่อครั้งได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 เพราะรัฐธรรมนูญนี้ตั้งใจควบคุมและจำกัดสิทธิของประชาชนตามมาตรฐานสากล ดังนั้นเราต้องร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญฉบับถ่วงความเจริญของประเทศฉบับนี้ โดยเริ่มต้นก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ด้วยความรัก ความสามัคคีของคนไทยที่หัวใจเป็นไทอย่างแท้จริง และจุดมุ่งหมายที่วางไว้คงไม่ไกลเกินมือของพวกเรา ขอเป็นกำลังใจให้คนไทยทุกคน 
“ผมจะขอทำหน้าที่ในฐานะที่เคยรับใช้ประเทศไทยมา และใจก็ยังไม่ได้จากไปไหนครับ” นายทักษิณระบุ
    นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เท่าที่ได้ดูคำสั่งคราวๆ ก็เป็นการคลายล็อกให้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ รวมถึงการปลดล็อกเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งตรงนี้ก็น่าจะเกี่ยวเนื่องกับกรณีที่มีการยื่นฟ้องศาลปกครองอยู่ แต่น่าสังเกตว่ายังไม่มีการปลดล็อกการให้อำนาจพิเศษกับฝ่ายทหาร เช่น อำนาจการเรียกตัวมาปรับทัศนคติมาพูดคุย ส่วนการยกเลิกคำสั่งที่ 3/2558 คือเรื่องการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน ตรงนี้เขายกเลิกไป แต่ไปเขียนต่อท้ายไว้ว่าไม่กระทบถึงการกระทำ หรือการดำเนินคดีใดๆ ที่ได้กระทำไปก่อนหน้านี้ 
     “พวกผมคาดเดาไว้แล้วว่าเขาต้องเขียนมาแบบนี้ ซึ่งคดีที่พวกผมโดนกันก็สู้กันต่อไป ออกมาแบบนี้ก็เป็นไปตามที่คาด ไม่ได้วิตกกังวลอะไร รู้สึกเฉยๆ เพราะควรจะยกเลิกทั้งหมดไปตั้งนานแล้ว” นายชูศักดิ์กล่าว
    นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า การปลดล็อกจะทำให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้มากขึ้น โดยเราจะดำเนินการตามที่ คสช.มีคำสั่งออกมา 
    ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า เป็นสิ่งที่สมควร เราได้เรียกร้องมาโดยตลอด
อนค.โวยต้องปลดคดี
    ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) โพสต์เฟชบุ๊กในหัวข้อ "ปลดล็อกที่ไม่ปลดล็อก" ว่าแม้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.บางฉบับไปแล้ว แต่ประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย กลับยังคงถูกล็อกด้วยโซ่ตรวนในคดีการเมืองเหมือนอาชญากร ทั้งๆ ที่ คสช.ต่างหากที่ละเมิดกฎหมายสูงสุดของประเทศ ฉีกรัฐธรรมนูญมีความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 
    “คำสั่งหัวหน้า คสช.ล่าสุด เมื่อยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. ที่กำหนดความผิดและโทษไปแล้ว ตามหลักกฎหมายอาญาและรัฐธรรมนูญ การดำเนินคดีต่างๆ ต้องสิ้นสุดลงด้วย แต่กลับจงใจเขียนยกเว้นไว้ว่า คดีใดที่ดำเนินอยู่ก็ให้ดำเนินคดีต่อไป การเขียนยกเว้นไว้เช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติมองประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช.เป็นฝ่ายตรงข้าม ต้องดำเนินคดีให้หลาบจำ” นายปิยบุตรกล่าว และว่า เรายืนยันว่าประชาชนที่ถูกดำเนินคดีการเมืองในยุค คสช. ต้องได้รับความยุติธรรม ต้องไม่ถูกดำเนินคดีต่อไป
    น.ส.พรรณิการ์ วาณิช โฆษกพรรค อนค. ระบุว่า การปลดล็อกไม่ใช่เรื่องน่าดีใจหรือเฉลิมฉลองอะไร  เพราะ คสช.ไม่มีความชอบธรรมในการห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆ อันได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
    ในช่วงเย็น นายวิษณุชี้แจงประเด็นคดีความในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ที่ยังอยู่ว่า คดีความต่างๆ ยังไม่ได้หายไป เพราะมันแล้วแต่ศาล หากศาลจะไปยกฟ้องหรืออะไรก็แล้ว แต่จะไปออกคำสั่งให้คดีหายไปไม่ได้ ส่วนที่เปรียบเทียบกับการรัฐประหารว่าทำสำเร็จกลับไม่มีความผิดนั้น หากรัฐประหารไม่สำเร็จผิดกฎหมาย  แต่ถ้าทำสำเร็จไม่ผิด เพราะถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เป็นคนละอย่างกัน ซึ่งคดีเมื่อเข้ากระบวนการยุติธรรมแล้ว คสช.ไม่สามารถแทรกแซงได้ แต่ถ้าจะเอาเงื่อนไขเหล่านี้ไปแก้ต่างในศาลนั้นทำได้
    สำหรับกรณีการตัดชื่อและโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ไม่ได้เป็นคนสั่งเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่อง กกต. วันนั้นคุยกับคนที่เสนอมา โดยแค่พูดความคิดตนเองกับเขา เขาเป็นคนถาม จึงตอบไปก็แค่นั้นเอง โดยไม่ได้สั่ง กกต. ส่วนจะมีชื่อหรือไม่มีชื่อผู้สมัครหรือไม่เป็นเรื่องของ กกต. ไม่เกี่ยวกับตนเอง เพราะไม่ได้เกี่ยวกับกลไกการเลือกตั้งอะไรสักอย่าง วันนั้นไปในฐานะหัวหน้า คสช.ที่จำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพของประเทศให้เรียบร้อย จะพูดอะไรไม่ได้เลยหรือ
    เมื่อถามถึงการเรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 แก้บัตรเลือกตั้งในเป็นพรรคเดียวเบอร์เดียว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ใช้ เรื่องบัตรออกแบบกันเองไม่ได้หรืออย่างไร ตอนนี้ก็เห็นในสื่อว่าเสนอให้มี 2 แบบให้เลือก ส่วนจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ กกต. การเลือกตั้งทั้งหมด กกต.เป็นผู้ดำเนินการ เป็นเรื่องของเขา ส่วนมาตรา 44 ที่จะใช้เกี่ยวกับการเลือกตั้งคือใช้ปลดล็อก 
    นายวิษณุกล่าวในประเด็นนี้ว่า ทราบข้อกังวล แต่เป็นเรื่อง กกต. รัฐบาลไม่ควรไปพูดอะไร และยืนยันรัฐบาลไม่เคยพูด ไม่เคยสั่งอะไรทั้งสิ้น การประชุมระหว่าง คสช.กับพรรคการเมือง มีคนพูดถึงข้อกังวลเกี่ยวกับความสับสนเรื่องบัตรเลือกตั้งที่แต่ละเขตใช้เบอร์ไม่เหมือนกัน นายกฯ จึงสรุปตอนจบว่า หากกลัวว่าเบอร์จำไม่ได้ ก็ต้องหาทางจำให้ได้ ซึ่งต้องเป็นเรื่องของผู้สมัครเองที่ต้องช่วยรณรงค์เรื่องนี้ให้ด้วย ส่วนที่ฝ่ายการเมืองเสนอให้แก้ไขมาตรา 48 ใช้เบอร์เดียวกันทั่วประเทศ หากจะยื่นต้องส่งมาที่ คสช. ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหา ซึ่งไม่ทราบว่ามีใครยื่นอะไรมาหรือยัง
บัตรเลือกตั้งจบสัปดาห์นี้
    นายอิทธิพรยืนยันว่า กกต.จะพิจารณาเรื่องบัตรเลือกตั้งให้ได้ข้อยุติในเร็ววันนี้ ซึ่งคงใช้เวลาพิจารณาไม่นาน โดยหลักพิจารณาจะนำแนวปฏิบัติที่เคยดำเนินการมา พร้อมกับคำนึงถึงความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ที่ปรากฏออกมาด้วย โดยยืนยันว่าการพิจารณาของ กกต.ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ต้องมีเหตุผลชี้แจงได้
    “ผมไม่กังวลกรณี กกต.ถูกวิจารณ์ทั้งเรื่องแบ่งเขตและบัตรเลือกตั้ง เพราะเราทำตามหน้าที่และเคารพในข้อวิจารณ์ เพราะเป็นเรื่องปกติ” ประธาน กกต.กล่าว
    ด้านนายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต.กล่าวว่า สำนักงานเตรียมไว้ 2 รูปแบบ คือบัตรที่มีความพร้อมสมบูรณ์ ทั้งหมายเลข ชื่อ และโลโก้พรรค และบัตรที่มีเพียงหมายเลขผู้สมัครอย่างเดียว ซึ่งจะรวบรวมข้อดีข้อเสียเสนอต่อ กกต.ภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นจะนำรูปแบบไปจัดพิมพ์ โดยจะเริ่มพิมพ์ในวันที่ 20 ม.ค.2562  และคาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 2 วันจะส่งบัตรล็อตแรกไปยังสถานทูตและสถานกงสุล และคาดว่าการนำส่งบัตรจะแล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 26 ม.ค.2562 
    “เรามองข้ามประชาชน ประชาชนเขาไม่ได้เป็นอย่างที่วิจารณ์ เขารู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะเลือกใคร จะลงคะแนนให้ใคร อยากให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายไปถามประชาชน เพราะสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากคือใกล้เลือกตั้งแล้ว แต่ยังไม่อ่านข้อกฎหมายให้ละเอียด" นายณัฏฐ์กล่าว
    นายณัฏฐ์ยังกล่าวถึงปฏิทินเลือกตั้งว่า หาก พ.ร.ฎ.ประกาศออกมาในวันที่ 2 ม.ค.2562 ในวันที่ 4 ม.ค.2562 กกต.จะประกาศกำหนดให้วันที่ 24 ก.พ.2562 เป็นวันเลือกตั้ง และวันที่ 14-18 ม.ค.2562 เป็นวันสมัครรับเลือกตั้ง และกำหนดวันลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในและนอกราชอาณาจักรพร้อมกัน คือตั้งแต่วันที่ 10-24 ม.ค.2562 ส่วนการใช้สิทธินอกราชอาณาจักรให้สถานทูตและสถานกงสุลเป็นผู้กำหนด ส่วนการรายงานผลเลือกตั้งนั้น หลังปิดลงคะแนนในเวลา 17.00 น. และคาดว่าไม่เกิน 22.00 น. สามารถสรุปผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการได้ หากคำนวณเป็นก็จะรู้ทันทีว่าใครจะเป็นนายกฯ 
“เราจะพูดได้ 100% เมื่อมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งแล้ว เพราะ กกต.มีอำนาจประกาศกำหนดวันเลือกตั้งหลังมี พ.ร.ฎ. ซึ่งประธาน กกต.ก็ปรารถนาให้เลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. ไม่อยากให้เลื่อนอีกแล้ว ซึ่งจากการหารือรัฐบาลก็กำหนดให้มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งในวันที่ 2 ม.ค. แต่ขยับได้ถึงวันที่ 4 ม.ค.” นายณัฏฐ์กล่าวตอบข้อถามว่ายืนยันได้ 100% หรือไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดในวันที่ 24 ก.พ.2562 
    ด้านนายธนา ชีรวินิจ โฆษกพรรค ปชป. กล่าวถึงเรื่องบัตรเลือกตั้งว่า อยากให้ กกต.ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์จัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 ที่ กกต.ถูกศาลพิพากษาให้มีความผิด พ้นจากตำแหน่งและยกเลิกการเลือกตั้งวันดังกล่าว โดยในการประชุมวันที่ 19 ธ.ค.นี้ พรรคจะเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1.ขอให้ กกต.ทำหน้าที่ให้สุจริตเที่ยงธรรม 2.ขอให้ กกต.ยืนหยัดหลักการขององค์กรอิสระ และ 3.ขอให้ กกต.สร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือกลับมาสู่ กกต.อีกครั้ง 
    ร.ท.ปรีชาพลกล่าวเรื่องนี้ว่า ควรยึดหลักสากล ถ้าจะเปลี่ยนแปลงก็ควรเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ไม่ใช่แย่ลง    นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสาน พปชร. ยืนยันว่า พรรคไม่ได้รู้เห็นกันกับ กกต.ในเรื่องนี้ และจากที่คุยกับว่าที่ ส.ส.กว่า 30 คน ก็เห็นตรงกันว่าต้องใส่ชื่อพรรคพร้อมโลโก้พรรค
บิ๊กตู่เผยยังไม่มีใครมาสู่ขอ
    สำหรับความเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะการตัดสินใจเกี่ยวกับกรณีพรรคการเมืองจะเสนอชื่อ เป็นแคนดิเดตนายกฯ นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่มีใครมาขอ เมื่อไหร่เขาควรจะขอ เขามีวันเวลาในการเสนอชื่อนายกฯ เมื่อไหร่ เขาคงขอตอนนั้น แต่จะขอหรือเปล่ายังไม่รู้ แล้วจะตอบรับใครหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ สื่อจะถามทำไมนักหนา แต่ถ้าเขาไม่มาขอ ก็เหมือนลูกสาว ถ้าไม่มีคนมาขอจะแต่งงานได้หรือไม่
    ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการ พปชร.กล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลาการเสนอชื่อ และยังมีเวลา ซึ่งพรรคมีกระบวนการที่จะเสนอชื่อนายกฯ และพรรคจะทำไพรมารีโหวตก่อน ส่วนจะเสนอกี่รายชื่อ ก็ขึ้นกับคณะกรรมการบริหารพรรค 
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้งดูแลพื้นที่ภาคเหนือ พปชร. กล่าวว่า จะส่งผู้สมัครครบทั้ง 64 เขต และตั้งเป้าได้ ส.ส.ภาคเหนือเป็นอันดับหนึ่ง ได้ ส.ส.เกิน 40 คนขึ้นไปแน่นอน
    นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ อดีตโหร คมช. กล่าวว่า ในปีหน้าหลังจากเลือกตั้งไทยจะเข้าสู่ยุคศิวิไลซ์  ประเทศมีแต่ความเจริญก้าวหน้า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ต่อไปอีกอย่างน้อย 2 สมัย หรือไม่ต่ำกว่า 10 ปี 
ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์ ดวงไม่ได้เป็นนายกฯ
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวประเด็นนี้ว่า เป็นเรื่องของโหรวารินทร์ เขาบอกแล้วมันต้องเป็นเช่นนั้นหรือ มันต้องแล้วแต่ประชาชน เพราะเขาเป็นคนเลือกตั้ง ไม่ใช่โหรวารินทร์เป็นคนเลือก
    ส่วนพรรค ทษช. คณะกรรมการบริหารพรรคประชุมและแต่งตั้งคณะทำงานในหลายตำแหน่ง โดย ร.ท.ปรีชาพลระบุว่า พรรคจะประชุมเตรียมความพร้อมของผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และตัวแทนพรรคประจำจังหวัดวันที่ 13 ธ.ค. ที่เมืองทองธานี
    สำหรับกรณี ศ.ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการอิสระ ระบุ คสช.ต้องการสืบทอดอำนาจ และไม่ต่างจากระบอบทักษิณนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นเรื่องของท่าน เขาพูดมาตลอด 40 ปีอยู่แล้ว อยากให้ไปดูวิธีการเลือกตั้งว่าต่างกันตรงไหน แล้ววันนี้ปัญหาประเทศมันต่างจากเดิมหรือไม่ หากยังพูดอยู่เหมือนเดิม ก็เป็นการเอาความคิดแบบเดิมมาฝังหัวทุกวัน ไม่ค่อยให้ความสนใจ ถ้าดีจริงทำได้จริงมันจบมานานแล้ว ประเทศไทยคงไม่มีปัญหาเช่นนี้
     นายสุริยะกล่าวว่า เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของท่าน ไม่ไปตอบโต้
     ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สมาชิกพรรค ทษช. และแกนนำ นปช. กล่าวว่า เคารพในการแสดงความเห็นของนายธีรยุทธ แต่ไม่ได้สะท้อนจุดยืนหรืออุดมการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด ยังแทงกั๊กเหมือนเสื้อที่ชอบใส่ โดยนายธีรยุทธเมื่อเห็นชัดว่าเผด็จการจงใจสืบทอดอำนาจ สิ่งที่ควรทำคือชวนประชาชนต่อต้านอย่างถึงที่สุดผ่านการเลือกตั้ง ไม่ใช่ฟันธงเพิ่มน้ำหนักว่าเขาทำสำเร็จแน่ แล้วขุดระบอบทักษิณขึ้นมาอธิบายว่าเลวร้ายเท่ากันหรือมากกว่า เติมความชอบธรรมให้อีก ทั้งที่ระบอบดังกล่าวไม่มีอยู่จริง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"