ความเหลื่อมล้ำ : บทเรียนจากประท้วง เสื้อกั๊กสีเหลืองฝรั่งเศส


เพิ่มเพื่อน    

    เหตุประท้วงรุนแรงที่กรุงปารีสของ "คนเสื้อกั๊กสีเหลือง" เป็นบทเรียนสำหรับคนทุกวงการ เพราะนี่ไม่ใช่การจัดตั้งของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ไม่ใช่การรวมตัวของนักเคลื่อนไหว และไม่ใช่ผลงานขององค์กรทางการเมืองหรือสังคมใดๆ
    หากแต่เป็นการแสดงความเห็นของชาวบ้านผ่าน Social Media ต่อสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นมากขึ้น เพราะนักการเมืองและชนชั้นนำเพิกเฉยต่อปัญหาของชนชั้นกลางและรากหญ้าที่ไม่ได้ประโยชน์จากแนวโน้ม "โลกาภิวัตน์" หรือ "การค้าเสรี"
    เป้าของคนต่อต้านคือ Elite และ Establishment
    คำว่า Elite หมายถึงคนกลุ่มที่มีสิทธิพิเศษเหนือคนทั่วไป เป็นปัญญาชน นักธุรกิจ และนักการเมืองที่ได้เปรียบคนอื่นๆ เพราะมีอำนาจต่อรองมากกว่า มีโอกาสสร้างประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจมากกว่าคนอื่นๆ ส่วน Establishment หมายถึงสถาบันการเมืองและสังคมที่กุมอำนาจ กำหนดชะตากรรมของประเทศชาติ เป็นกลุ่มคนที่มีสิทธิพิเศษในระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ เพราะการปฏิรูปที่แท้จริงเกิดขึ้นไม่ได้ตราบที่คนเหล่านี้ยังกำกับควบคุมกลไกของอำนาจรัฐ
    การประท้วงที่ฝรั่งเศสขยายตัวบานปลายไปในอีกหลายประเทศในยุโรป เช่น เบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ รวมถึงประเทศอื่นๆ ในยุโรปเพราะมีพื้นฐานของปัญหาที่ละม้ายกัน
    ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงได้รับการเลือกตั้งมาเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสด้วยภาพลักษณ์ของนักการเมืองรุ่นใหม่ อายุน้อยที่สุดตั้งแต่นโปเลียน แต่เอาเข้าจริงๆ เขาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของ  "สถาบันดั้งเดิม" อยู่ดี มาครงประกาศว่าเขากล้าที่จะทำในสิ่งที่ผู้นำฝรั่งเศสคนก่อนๆ ไม่กล้าคิดไม่กล้าทำ เช่นหนึ่งในโครงการลดโลกร้อนตาม Paris Agreement คือการเก็บภาษีคาร์บอนเพิ่มกับคนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งหมายถึงการเก็บภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้นเพื่อลดการใช้รถยนต์ 
    ผู้ประท้วงในฝรั่งเศสพ่นสีเขียนว่า "มาครง = หลุยส์ที่ 16" มีความหมายว่า มาครงต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดภาษีบริษัทห้างร้าน อีกทั้งยังลดภาษีภาษีทรัพย์สิน จากเดิม 33% เหลือ 25%  เหตุผลของผู้นำคนนี้คือต้องการให้บริษัทหรือเจ้าของธุรกิจมีกำไรมากขึ้น จะได้รับคนทำงานเพิ่มขึ้น 
    แต่ผู้ประท้วงโวยทันทีว่านี่คือนโยบายช่วยคนรวยชัดๆ 
    อีกด้านหนึ่งมาครงปฏิรูประบบเงินบำนาญผู้สูงอายุ อ้างว่าเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณลง 6  หมื่นล้านยูโร ไม่ให้งบประมาณขาดดุลเกิน 3% ของจีดีพีตามแนวทางของสหภาพยุโรป 
    เท่านั้นแหละ ชนชั้นคนทำงานก็ตีความว่ามาครงต้องการจะ "ช่วยคนรวย เหยียบย่ำคนจน"
    ผลที่ตามมาก็คือค่าครองชีพในกรุงปารีสสูงอย่างน่ากลัว ชนชั้นรายได้ต่ำถึงปานกลางมีชีวิตรันทด  เป็นสาเหตุที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยอพยพจากปารีสไปอยู่ต่างจังหวัดเพื่อความอยู่รอดของตนเอง การมีชีวิตในจังหวัดนอกเมืองหลวงเมื่อไม่มีการขนส่งมวลชนสะดวกสบายเหมือนในปารีส ส่วนใหญ่จึงต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว 
    การใช้รถยนต์หมายถึงการต้องใช้น้ำมัน พอรัฐบาลขึ้นภาษีน้ำมันก็เท่ากับซ้ำเติมให้ผู้คนเดือดร้อนหนักยิ่งขึ้น พอคนใส่เสื้อกั๊กสีเหลืองประท้วงกันทั่วประเทศ รัฐบาลออกมากล่าวหาว่าเป็นฝีมือของมืออาชีพที่ต้องการก่อความไม่สงบและเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินสาธารณะ
    ยิ่งพูดอย่างนั้นยิ่งทำให้ผู้คนโกรธหนักขึ้น เพราะการประท้วงครั้งนี้ต้องถือว่าเป็นเรื่องชาวบ้านจริง ๆ ไม่มีประเด็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา 
    แต่ไปๆ มาๆ เมื่อเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นว่า คนจากพรรคฝ่ายซ้ายไม่ว่าจะพรรคคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม พลังสาธารณรัฐและพลเมือง สีเขียวหรือจากฝ่ายขวา เช่นพรรครวมพลังมวลชน  พลังเพื่อฝรั่งเศส พลังสาธารณรัฐแห่งชาติ ฯลฯ ต่างก็รวมตัวกันออกมาประท้วงอย่างพร้อมเพรียงกัน
    ทำให้มีคนเปรียบเทียบการประท้วงครั้งนี้กับการก่อหวอดครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส
    ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี 1789 ที่จบลงด้วยการประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระมเหสีมารี อังตัวแน็ต
    หรือการประท้วงใหญ่ครั้งต่อมาในปี 1848  และ 1968 อันเป็นการก่อหวอดของนักศึกษาที่ลามไปถึงคนทำงานและชาวไร่ชาวนา จนประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกลล์ต้องขู่ว่าจะลาออกจึงสงบลง
    แต่ครั้งนี้ผู้ประท้วงไม่พอใจเพียงแค่ว่ารัฐบาลตกลงจะระงับการขึ้นภาษีน้ำมัน 6 เดือน เพราะกระแสเรียกร้องล่าสุดต้องการให้ประธานาธิบดีมาครงลงจากตำแหน่งด้วย
    นี่คือวิกฤติการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของการเมืองยุคใหม่ที่กำลังลามในยุโรปอีกหลายประเทศ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"