รุมจวกคสช.อุ้มยื่นทรัพย์สิน


เพิ่มเพื่อน    

    “ป.ป.ช.” แจงยิบผลกระทบคำสั่งที่ 21/2561 เผยทำให้หลายเก้าอี้ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน ทั้ง “ธปท.-ก.ล.ต.-คปภ.-องค์การมหาชน” ส่วนกรรมการ “สภามหาวิทยาลัย-กองทุน”   ยังต้องลุ้นประกาศใหม่ “นักการเมือง” จวกถอยหลัง ศรีสุวรรณซัดตบหน้าประชาชน เป็นคำสั่งน่าผิดหวังตั้งแต่รัฐประหาร 22 พ.ค. 
    เมื่อวันพุธ ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 21/2561 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ลงในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 135 ตอนพิเศษ 314 ง 
    โดยนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 21/2561 มีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ 1.แก้ไขนิยามคำว่า ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ตามมาตรา 4 ในส่วนกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยตัดคำว่า กรรมการ และเพิ่มเติมข้อความเป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด 
ทั้งนี้ การแก้ดังกล่าวมีผลทางกฎหมายคือ กรรมการของหน่วยงานอื่นของรัฐไม่อยู่ในนิยามคำว่าผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนี้ จึงส่งผลให้ตำแหน่งกรรมการของหน่วยงานอื่นของรัฐตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 เป็นผู้ไม่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ต่อไป ซึ่งบุคคลดังกล่าวคือ บุคคลตามข้อ 4 (7) 7.8 ได้แก่ กองทุน, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), สถาบันคุ้มครองเงินฝาก, สถาบันพระปกเกล้า, สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ และองค์การมหาชน 
    “ป.ป.ช.มีอำนาจในการกำหนดตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงได้ โดยสามารถพิจารณากำหนดเฉพาะบางตำแหน่งที่มีความสำคัญ ซึ่งแตกต่างจากบทนิยามเดิมที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่สามารถพิจารณากำหนดบางตำแหน่งได้ จึงต้องประกาศทุกตำแหน่ง” นายวรวิทย์ระบุ 
    2.การยกเลิกข้อ 5 ของประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ซึ่งมีผลให้กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ได้ปรากฏชื่อตำแหน่งในประกาศดังกล่าวไม่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินจนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะประกาศกำหนดตำแหน่งเพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช.อยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.2561 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้า คสช.    
    “ตำแหน่งกรรมการของหน่วยงานอื่นของรัฐ เช่น กรรมการสภามหาวิทยาลัย กรรมการขององค์การมหาชน และกรรมการของกองทุนต่างๆ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย เพื่อพิจารณาว่าสมควรกำหนดให้เป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือไม่"
    นายวรวิทย์ยังชี้แจงว่า ตำแหน่งที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 หรือ 103 จะมีผลทางกฎหมายที่แตกต่างกันในสาระสำคัญ คือ กรณีเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 เฉพาะนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.), สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.), ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ, ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง, ผู้บริหารท้องถิ่น, รองผู้บริหารท้องถิ่น,  ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด เป็นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปตามมาตรา 106 แต่หากเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 103 ไม่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 106
    แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช.ระบุว่า สิ่งที่ตัดออกไป คือ คำว่า กรรมการ ซึ่งเดิมอยู่ในส่วนนิยามที่ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ ดังนั้นตำแหน่งกรรมการต่างๆ ที่ระบุไว้ในกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สถาบันคุ้มครองเงินฝาก สถาบันพระปกเกล้า สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ องค์การมหาชน นั้น จะต้องถูกตัดออกไปหมด แล้วให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปกำหนดตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐที่จะต้องยื่นตามมาตรา 102 นั้นอีกครั้ง ทั้งนี้ เน้นตัดเฉพาะคำว่า กรรมการ ในหน่วยงานอื่นซึ่งหมายถึงบอร์ดต่างๆ ไม่ใช่ส่วนราชการ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แล้วรอให้ป.ป.ช.ประกาศและกำหนดอีกครั้งหนึ่งก่อน 
    อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีคำว่า กรรมการ แล้ว ป.ป.ช.ก็จะสามารถกำหนดได้เพียงผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ ดังนั้นจะเหลือเพียงอธิการบดี เลขาฯ กองทุนต่างๆ ซึ่งตรงนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถเลือกกำหนดหรือไม่กำหนดก็ได้ตามที่ ป.ป.ช.เห็นความสำคัญ หลักมีอยู่เพียงจุดนี้จุดเดียวเท่านั้น ซึ่งก็ต้องรอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.วินิจฉัยในส่วนดังกล่าว  โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องรีบพิจารณาประกาศกำหนดดังกล่าวโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำเข้าหารือต่อที่ประชุมคณะกรรมการได้ภายในสัปดาห์หน้า สำหรับตำแหน่งกรรมการที่ถูกตัดทิ้งไปแล้วนั้น หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะกำหนดให้ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ อาจจะให้ยื่นตามมาตรา 103 ได้ (นั่นหมายความว่าให้ยื่นโดยไม่ถูกเปิดเผย) 
    การแก้ไขในครั้งนี้เป็นการแก้ไขเพียงบางส่วน อย่างที่กล่าวไปแล้วเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่มีหน้าที่ยื่นตามประกาศ ป.ป.ช. ที่ต้องยื่นก็ยังต้องยื่นอยู่ตามหลักการกฎหมายเดิม ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ หัวหน้าส่วนราชการ ปลัดกระทรวง ดังนั้นสิ่งที่กระทบจากการแก้ไขโดยมาตรา 44 คือหน่วยงานอื่นของรัฐเท่านั้น โดยเฉพาะคำว่า กรรมการ นอกนั้นไม่ได้รับผลกระทบเลย  
รมว.ศธ.ชี้อย่าเพิ่งดีใจ
    นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ต้องอ่านคำสั่งนี้ให้ดี เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ไม่ได้ระบุว่านายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ต้องยื่น แต่ได้ให้อำนาจ ป.ป.ช.ไปพิจารณาตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และแม้ว่าจะไม่อยู่ในกลุ่มผู้ดํารงตําแหน่งระดับสูง หาก ป.ป.ช.กำหนดให้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ก็ต้องยื่นตามที่ ป.ป.ช.กำหนด เพียงแต่จะไม่มีการเปิดเผยเป็นข้อมูลสาธารณะเท่านั้น
    นายศักรินทร์ ภูมิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะรองประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มองว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาของมหาวิทยาลัยไปได้มาก โดยเฉพาะในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนในมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่แสดงเจตจำนงขอลาออก ซึ่งยังมีเวลาพอสมควรที่จะให้คิดไตร่ตรองก่อน โดยขอให้รอประกาศ ป.ป.ช.ที่ชัดเจนก่อน ส่วน ทปอ.จะนัดหารือกันอีกหรือไม่นั้น ก็ขึ้นกับประธาน ทปอ.
    ด้านนายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) กล่าวว่า คำสั่ง คสช.ถือเป็นการปลดล็อกให้มหาวิทยาลัยทำงานต่อไปได้ โดยขอวิงวอน ป.ป.ช.ว่า หลังจากนี้ขอให้มีประกาศฉบับใหม่ที่ชัดเจนว่า กรรมการสภาฯ ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งปลายเดือนนี้ ทปอ.มทร.ก็จะหยิบเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินมาหารือกันอีกครั้ง  
    นายจุฤทธิ์  ลักษณวิศิษฏ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า รัฐบาลสอบตกเรื่องการปราบการทุจริต การปฏิรูปการปราบปรามการทุจริตไม่เคยเกิดขึ้นจริงในรัฐบาลนี้ เพราะการแจ้งบัญชีทรัพย์สินไม่ใช่การไล่จับผิด แต่เป็นการแสดงเจตนาว่าพร้อมรับการตรวจสอบตามระบบที่เป็นที่ยอมรับตามกฎหมาย  หากเราไม่เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันนี้ รัฐธรรมนูญปราบโกงก็จะเป็นได้แค่วาทกรรมรายวัน หรือเป็นได้แค่เครื่องมือที่จะนำไปต่อรองสำหรับผู้มีอำนาจเท่านั้น รวมไปถึงการใช้เพื่อต่อรองทางการเมือง และที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ ดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลกของไทยจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ในสายตาชาวโลกอีกด้วย 
    น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล รองโฆษกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวเช่นกันว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันจะไม่ใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ปัญหาเรื่องยื่นบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน แต่ให้ ป.ป.ช.นำเรื่องนี้ไปทบทวนก่อน แต่ในเวลาไม่ถึง 10 วัน กลับคำพูดออกมาตรา 44 มาเพื่อแก้ไขคำนิยามและตัดบางตำแหน่งออกให้ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน ทั้งที่จริงๆ แล้วบรรดาบุคคลที่รีบชิงลาออกก่อนคือบุคคลที่ ป.ป.ช.ต้องรีบตรวจสอบในข้อพิรุธว่า เหตุใดจึงรีบลาออกจากตำแหน่ง ไม่ยอมแสดงความบริสุทธิ์โดยการแสดงบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน 
อัดคำสั่ง"ปฏิรั่ว" 
    “ป.ป.ช.เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อปราบปรามคอร์รัปชัน และ คสช.ก็โฆษณาตัวเองมาตลอดว่าจะเดินหน้าปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน แต่กลับแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ เสมือนการรักษาผลประโยชน์ของพวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งบุคคลที่ได้รับการยกเว้นยื่นบัญชีทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่ใกล้กับรัฐบาลและ คสช.เกือบทั้งสิ้น”น.ส.ขัตติยากล่าว
    นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์สมาคมเรื่อง “ผิดหวัง คสช. อ่อนข้อปราบคอร์รัปชันด้วยการยกเว้นการแสดงบัญชีทรัพย์สินคนดี” ระบุว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการตบหน้าประชาชนคนไทยทั้งชาติอย่างรุนแรงที่ผิดหลงไปเชื่อถือเชื่อมั่นในการเข้ามาปฏิรูปประเทศของ คสช. เป็นคำสั่งที่น่าผิดหวังที่สุดเท่าที่ออกประกาศและคำสั่งมาตั้งแต่ทำรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา ทั้งที่เพิ่งพ้นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล 9 ธ.ค.เพียงไม่นาน ซึ่ง ป.ป.ช.และรัฐต้องเสียเงิน เสียเวลา จัดอีเวนต์เปลืองเงินแผ่นดินไปเป็นจำนวนมาก แต่ผลที่ได้กลับเป็นคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 21/2561 ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 โดยชัดแจ้ง
    “การออกคำสั่งครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มของนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่สวมหน้ากากอ้างเป็นคนดีของสังคมนั้น มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงแก้ไขและตัดสินใจของผู้นำของประเทศนี้เป็นอย่างมาก เพียงแค่ออกมาประกาศว่าจะลาออกจากตำแหน่งเพราะไม่อยากยื่นบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน ก็ทำให้หลักการดีๆ และข้อเรียกร้องปฏิรูปกลายเป็นปฏิรั่วไปได้เพียงชั่วพริบตาเดียว นี่คือการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง  นี่หรือคือการคืนความสุข” แถลงการณ์สมาคมฯ ระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"