ประโยชน์ของ Internet of Things (IoT)


เพิ่มเพื่อน    

   Internet of Things (IoT) คือการที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เชื่อมโยงส่งข้อมูลถึงกันโดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบบอัตโนมัติ หรือกึ่งอัตโนมัติ มนุษย์สามารถสั่งการควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านการเชื่อมต่อดังกล่าว เช่น สั่งโอนเงินธนาคารผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ตั้งค่าให้ชำระเงินในเวลาที่กำหนดแบบอัตโนมัติ อุปกรณ์สวมข้อมือที่สามารถส่งข้อมูลสุขภาพถึงสถานพยาบาลทุกวัน ข้อมูลสุขภาพถูกระบบติดตามตลอดเวลา หัวใจเต้นช้าลง ความดันโลหิตสูงขึ้น ผู้ป่วยได้รับการดูแลใกล้ชิดแม้อยู่บ้าน 
ประโยชน์ที่จะได้ :
    ประการแรก ประสิทธิผลสูงสุด
    ประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลคือประโยชน์ที่เอ่ยถึงมากสุด เช่น ระบบจะตรวจสอบที่จอดรถจุดใดว่าง สามารถแนะนำให้ไปจอดจุดใกล้สุด ตรงความต้องการมากที่สุด ช่วยประหยัดน้ำมัน ประหยัดเวลา ไม่เพียงแค่นั้นระบบสามารถ “จอง” จุดจอดให้ด้วย หากเสียค่าจอดระบบจะหักเงินอัตโนมัติหลังลูกค้าเลือกแพ็กเกจจอดรถที่ต้องการ
    ด้านการปลูกผัก/เลี้ยงสัตว์ ระบบจะตรวจจับทุกอย่างที่เกี่ยวข้องและประมวลผลทุกอย่างเข้าด้วยกัน เช่น ความชื้นในดิน อุณหภูมิของน้ำ ความสว่าง แรงลม ภาวะความเครียดของสัตว์ เพื่อให้การปลูกผัก/เลี้ยงสัตว์ได้ผลสูงสุด ประหยัดมากสุด (ประหยัดค่าน้ำ ปุ๋ย ไฟฟ้า โตไว)
    การผลิตแบบทันเวลาพอดี (JUST-IN-TIME : JIT) ระบบผลิตแบบทันเวลาพอดีมีมานานแล้ว เนื่องจากสามารถคาดคะเนว่าต้องผลิตเท่าไหร่ ลดปริมาณสินค้าคงคลัง ระบบ IoT จะเก็บข้อมูลพฤติกรรมการซื้อสินค้าต่างๆ ซื้อเมื่อไหร่ ราคาเท่าใด เคยซื้ออะไรบ้าง จึงประเมินได้ว่าแต่ละคนในแต่ละวันจะบริโภคอะไร ปริมาณเท่าไหร่ ยี่ห้ออะไร IoT คือ JIT ที่ทำงานประมวลผลรายวินาทีหรือนาที ทำให้ได้ JIT ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 
    ประการที่ 2 “ตัดเสื้อพอดีตัว การตลาดพอดีคน”
    ยกตัวอย่างรองเท้ากีฬา หลายคนมีรองเท้ากีฬาเพื่อวิ่งออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามแต่ละครั้งที่ใส่ใช่ว่าเพื่อวิ่งเสมอไป บางครั้งอาจแค่เดินเร็ว บางคนแค่เดินชมสวน ฯลฯ ทุกวันนี้มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกมากมายสำหรับสุภาพบุรุษและสตรี มีหลายขนาด หลายคุณภาพ แบบที่ดีกว่าคือการตัดเฉพาะเพื่อผู้บริโภคแต่ละคนอย่างเจาะจง
    การใส่ชิปในรองเท้าจะรวบรวมข้อมูลการใช้ทุกครั้ง รู้ว่าผู้ใส่ใส่เพื่อการใด วิ่งเร็วเท่าไหร่ แต่ละครั้งเดินไกลแค่ไหน แรงกระแทกทั้งจากพื้นดินกับน้ำหนักผู้สวมใส่รุนแรงเพียงไร สุดท้ายได้ข้อมูลว่ารองเท้าที่เหมาะแก่ผู้นั้นควรเป็นอย่างไร พื้นส้นเท้าควรหนากี่นิ้ว ทำจากวัสดุอะไร ได้รองเท้าที่ตอบโจทย์ผู้ใส่แต่ละคนมากที่สุด
    ไม่เพียงแค่นั้น เมื่อรองเท้าเริ่มสึก บริษัทสามารถส่งข้อมูลถึงเจ้าของรองเท้าโดยตรง แนะนำให้เปลี่ยนคู่ใหม่ คู่ที่ปรับความหนาของแผ่นยางส้นเท้า ขนาดเท้า ฯลฯ ให้เหมาะสมตรงกับความเปลี่ยนแปลง เช่น เน้นเดินมากกว่าวิ่ง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
    นำเสนอรูปแบบสีสันที่คิดว่าชอบมากที่สุดและสอบถามลูกค้าอีกครั้งทางออนไลน์ พร้อมโปรโมชั่นพิเศษสำหรับรองเท้าคู่ใหม่ด้วยราคาโดนใจ ผ่อน 0 เปอร์เซ็นต์นาน 4 เดือน เพราะบริษัทรู้ข้อมูลการจับจ่าย รู้รสนิยมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคคนนั้นๆ
    นี่คือการใช้หลักตัดเสื้อพอดีตัว การตลาดพอดีคนกับ IoT
    ประการที่ 3 ช่วยงานวิจัยทางการแพทย์
    เซ็นเซอร์ที่ติดกับร่างกาย การรับรู้ข้อมูลว่าผู้ป่วยบริโภคอะไรในแต่ละวัน กิจกรรมที่ทำเหล่านี้จะให้คำตอบว่าทำไมจึงป่วย คนแบบไหนอายุยืนมากกว่า สามารถประเมินได้ว่าแต่ละคนน่าจะป่วยเป็นโรคใดเมื่ออายุเท่าไร น่าจะมีชีวิตยาวนานกี่ปี ให้คำแนะนำเพื่อสุขภาพแต่ละคนอย่างเจาะจง
    ประการที่ 4 ระบบเตือนภัย
    ทุกวันนี้มีระบบเตือนมลพิษทางอากาศอยู่แล้ว ระบบในอนาคตจะส่งคำเตือนถึงแต่ละคนเมื่อกำลังจะไปหรือเข้าใกล้สถานที่มลพิษสูง พร้อมคำแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงอย่างไร
    เด็กเล็ก ผู้สูงวัย ผู้ป่วยภูมิแพ้ ผู้อ่อนไหวกับมลพิษจะได้รับคำเตือนเป็นพิเศษ
    ประการที่ 5 รู้ความคิดความต้องการของมนุษย์
    ทุกวันนี้หากใครค้นหาสินค้าในอินเทอร์เน็ท ระบบจะจดจำว่าคุณค้นหาสินค้าอะไร ค้นถี่แค่ไหน (มีความตั้งใจแค่ไหน) พฤติกรรมการค้นสอดคล้องกับการซื้อมากน้อยเพียงไร (เช่น ค้นหาโทรศัพท์มือถือระดับราคา 1 หมื่นบาท สุดท้ายสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจริง)
    ระบบสามารถจดจำกว่าซื้อโทรศัพท์มือถือครั้งล่าสุดเมื่อใด บัดนี้กำลังค้นหาสินค้านี้อีกรอบ มีความเป็นไปได้ว่ากำลังคิดจะซื้อใหม่ 
    จะเห็นว่าด้วยการหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต ประวัติการซื้อ ทำให้ IoT รู้ว่าเขาผู้นั้นกำลังคิดอะไร การตลาดในอนาคตอาจเป็นการที่บริษัทโทรศัพท์มือถือส่งโฆษณาตรงถึงผู้บริโภคคนนั้น เสนอสินค้าในราคาพิเศษ เช่นเดียวกับที่บริษัทคู่แข่งรับรู้ข้อมูลโฆษณาดังกล่าวจึงรีบเสนอสินค้าคุณภาพใกล้เคียงในราคาที่น่าจูงใจกว่า
    ไม่เพียงเท่านั้น หลายบริษัทอาจร่วมมือเสนอแพ็กเกจสินค้าพร้อมๆ กันหลายตัวในวันที่เงินเดือนออก เพื่อให้ส่วนลดสูงสุด โดยอาศัยการประมวลผลจาก IoT
    ประการที่ 6 ข้อมูลระดับองค์กร ประเทศ โลก
    เมื่อรวบรวมข้อมูลทุกหน่วยเข้าด้วยกัน ผู้บริหารองค์กรจะได้รับข้อสรุปการประมวลเป็นรายนาทีหรือชั่วโมง เป็นข้อมูลที่ครบถ้วนทุกอย่างทุกด้าน รู้ทันทีว่าวันนี้บริษัทกำไรเท่าไหร่ ควรเพิ่มหรือลดกำลังผลิตอย่างไร 
    ถ้าเป็นระดับประเทศ จะรู้ว่าวันนี้มีผู้ป่วยระยะสุดท้ายกี่ราย คนกินยาตรงเวลากี่คน เก็บภาษีได้กี่บาท มีผลต่อระดับ GDP ประเทศอย่างไร ปริมาณฝนที่ตกวันนี้จะเพิ่มความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมเพียงไร ได้คำแนะนำว่าควรบริหารประเทศอย่างไร 
    ข้อมูลระดับโลกคือการรวมข้อมูลระดับประเทศเข้าด้วยกัน ช่วยประเมินพฤติกรรมประชากรโลกวันนี้จะทำให้โลกร้อนเร็วขึ้นเท่าใด น่าจะเกิดภัยพิบัติที่เมืองใดประเทศใด
    หลายประเทศกำลังออกแบบหรือกำลังสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) หนึ่งในความพิเศษคือเมืองที่ส่งเสริมระบบ IoT ข้อมูลรายละเอียดทุกอย่างที่อยู่ในเมืองถูกเก็บรวบรวมและประมวลผลตลอดเวลา อีกไม่นานเราจะเห็นผลงานความอัจฉริยะดังกล่าว ข้อดีข้อเสียที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่น่าติดตาม
รู้ความเป็นไปทุกอย่าง ประเมินผล คาดการณ์ทุกเรื่อง :
    ประวัติศาสตร์โลกบันทึกว่ามนุษย์ในยุคดึกดำบรรพ์หวาดกลัวต่อปรากฏการณ์ธรรมชาติ แผ่นดินไหว ฟ้าผ่า น้ำท่วม ต่อมาเริ่มเรียนรู้ว่าน้ำมากช่วงไหน น้ำน้อยฤดูใด มนุษย์เริ่มควบคุมความเป็นไปของธรรมชาติ เริ่มสร้างระบบชลประทาน สามารถกักเก็บน้ำ สร้างฝายป้องกันท่วม 
    ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีช่วยให้มนุษย์เข้าใจและเข้าควบคุมมากขึ้นตามลำดับ เราสร้างฝนเทียมยามแล้ง สร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดใหญ่ มีระบบป้องกันน้ำท่วมเมือง ฟ้าผ่าไม่ใช่เรื่องน่ากลัวหรืออธิบายไม่ได้อีกต่อไป สร้างตึกสูงที่ทนต่อแผ่นดินไหว 
    ไม่เพียงควบคุมสิ่งแวดล้อมภายนอก มนุษย์ยังพยายามควบคุมความเป็นไปของร่างกาย หายารักษาตั้งแต่สมุนไพรจนถึงสังเคราะห์ยาเคมี ศึกษายีน ตัดต่อพันธุกรรม ค้นคว้ายาที่เข้ารักษาถึงระดับเซลล์ หรือส่วนของเซลล์
    Internet of Things (IoT) คือความก้าวหน้าอีกขั้น เพราะระบบจะเข้าถึงอย่างลึกถึงระดับเซลล์และครอบคลุมเกินกว่าที่มนุษย์จะรู้และเข้าใจได้ด้วยตัวเอง รวบรวมข้อมูลของทุกคน ข้อมูลทุกอย่างของชุมชน ตรวจวัดข้อมูลสิ่งแวดล้อมต่างๆ แล้วประมวลทุกอย่างเข้าด้วยกัน เพื่อให้รู้ว่ากำลังเกิดอะไร คาดการณ์อนาคตตั้งแต่ระดับบุคคลจนถึงระดับโลก
    IoT จึงเป็นเหมือนผู้รู้ปัจจุบัน ประเมินอนาคตและให้คำแนะนำว่าแต่ละเรื่องควรดำเนินการอย่างไร และพึงเข้าใจว่าการใช้งานอาจเป็นทางบวกหรือลบ ขึ้นกับว่ายึดมุมมองใด เป้าหมายการนำไปใช้.
-----------------------------
ภาพ : Internet of Things (IoT)
ที่มา : https://www.freepik.com/free-vector/internet-of-things-flat-icons-composition_1538483.htm
-----------------------------
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"