นายกฯจี้เร่งแก้ ฝุ่นแผ่คลุมเมือง


เพิ่มเพื่อน    


    นายกฯ ห่วงคนกรุงเจอฝุ่นละอองท่วมเมือง กำชับหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งแก้ไข เผยการตรวจวัดเมื่อวันอาทิตย์ พบค่าเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ รวมทั้งปริมณฑล กรมควบคุมโรคเตือนตำรวจจราจร วินมอเตอร์ไซค์ คือกลุ่มเสี่ยง ส่วนคนทั่วไปใช้ชีวิตได้ปกติ
    นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยสุขภาพอนามัยของประชาชน หลังพบว่าค่าฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานครเกินมาตรฐาน โดยได้กำชับให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขบรรเทาปัญหาทั้งเฉพาะหน้าและวางแผนป้องกันในระยะยาว
    ทั้งนี้ กทม.ได้รายงานว่า ได้สั่งการให้ 50 เขตล้างทำความสะอาดถนนและฉีดพ่นละอองน้ำในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น รวมทั้งใต้สถานีรถไฟฟ้า ควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะหรือเศษวัสดุต่างๆ อำนวยการจราจรให้เกิดความคล่องตัว เพื่อช่วยลดการปล่อยฝุ่นละอองบนท้องถนน พร้อมทั้งให้ดำเนินการ 1 เขต 1 ถนนอากาศสะอาด ปราศจากฝุ่นและมลพิษ คุมเข้มรถควันดำ และตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังบูรณการทุกหน่วย เช่น กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงสาธารณสุข กองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก เข้ามาดำเนินการร่วมกัน คาดว่า 2-3 วันนี้ สถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
    กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล วันที่ 23 ธันวาคมนี้ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 พบฝุ่นมีค่าระหว่าง 43-97 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มก./ลบ.ม.) ซึ่งค่ามาตรฐานอยู่ที่ 50 มก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพดีถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพื้นที่ที่ค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน ได้แก่ ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน, แขวงบางนา เขตบางนา, แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ, แขวงดินแดง เขตดินแดง, ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี, ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง, ริมถนนดินแดง เขตดินแดง, แขวงพญาไท เขตพญาไท, ต.นครปฐม อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม, ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง ปทุมธานี, ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง สมุทรปราการ, ต.ตลาด อ.พระประแดง สมุทรปราการ, ต.ปากน้ำ อ.เมือง สมุทรปราการ, ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง สมุทรปราการ, ริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 
    สำหรับค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ตรวจพบค่าระหว่าง 57-127 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (?g/m3) เกินมาตรฐานที่บริเวณ ต.ปากน้ำ อ.เมือง สมุทรปราการ, ริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
    นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรค เพื่อติดตามสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง และประชาสัมพันธ์ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากค่า PM 2.5 ในแต่ละจุดในแต่ละเวลามีความแตกต่างกัน ผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ ได้แก่ 1.ตำแหน่งที่อยู่หรือทำกิจกรรม 2.ช่วงเวลาและระยะเวลาที่สัมผัส 3.ชนิดของกิจกรรมที่ทำในพื้นที่ที่มีค่า PM 2.5 สูง เช่น ออกกำลังกาย ทำงานหนัก จะมีความเสี่ยงมากกว่า และ 4.ปัจจัยจากลักษณะบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และกลุ่มที่มีโรคประจำตัวที่ไวต่อผลกระทบ เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
    นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า การเลือกสวมใส่หน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขอแนะนำว่า ขอให้ประเมินความเสี่ยงของตนเองก่อน ซึ่งกลุ่มคนที่ประเมินว่ามีความเสี่ยงสูง คือผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่และช่วงเวลาที่มีค่า PM 2.5 สูง ตลอดจนกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น คนที่ต้องทำงานหนักกลางแจ้งเป็นระยะเวลานานๆ เช่น ตำรวจจราจรที่ทำงานกลางแจ้ง วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขับขี่นานๆ คนงานที่ทำงานที่ก่อให้เกิดฝุ่น เป็นต้น ควรป้องกันด้วยการสวมใส่หน้ากากที่มีความสามารถในการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ ตั้งแต่มาตรฐาน N95 ขึ้นไป ส่วนประชาชนทั่วไปที่ประเมินตนเองแล้วมีความเสี่ยงต่ำ อาจยังไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากชนิด N95 เนื่องจากสวมใส่อาจเกิดอาการอึดอัด ร้อน และไม่สามารถใส่ได้นาน ส่วนในกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวที่มีความไวต่อผลกระทบของผลละอองขนาดเล็ก ควรขอคำปรึกษากับแพทย์ประจำตัวหรือแพทย์เจ้าของไข้ ซึ่งจะให้คำแนะนำตามสภาพของโรค ระดับอาการที่เป็น และวิธีการรักษาที่ได้รับอยู่
    "สำหรับกลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไป สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันตนเองคือ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในปริมาณที่สูงเกินค่ามาตรฐาน หรือเข้าไปมีกิจกรรมที่ต้องใช้แรงกายมากเป็นระยะเวลานาน หรือทำกิจกรรมที่เอื้อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ" นพ.สุวรรณชัยกล่าว
    นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลโดยเร็ว ทั้งนี้ ประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ แต่ให้ตื่นตัวและติดตามข่าวสารเรื่องดังกล่าวจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และสามารถประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองได้ทาง https://goo.gl/forms/dy9MiavLOqE1JkQD3 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
    ต่อมาในช่วงบ่าย ที่บริเวณหน้าสวนลุมพินี นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ รองปลัด กทม. พร้อมด้วย พ.ต.ท.สมเกียรติ นนทแก้ว รอง ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายพินิต อารยะศิลปธร ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ตรวจเยี่ยมเจ้าหน้าที่ที่ฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองทางอากาศในพื้นที่วิกฤติ โดย กทม.ได้นำรถฉีดน้ำดับเพลิงแรงดันสูงมาใช้ในภารกิจนี้เป็นครั้งแรก สามารถฉีดพ่นน้ำได้สูงมากกว่า 30 เมตร คาดว่าจะช่วยลดฝุ่นละอองได้ โดยจะมีการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณดังกล่าว เพื่อประเมินสถานการณ์และประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นวันหยุด พบว่าปริมาณการใช้รถยนต์สัญจรบนถนนพระรามที่ 4 และถนนราชดำริน้อยลง อีกทั้งวันหยุดจะไม่มีการก่อสร้างด้วย จึงทำให้มีฝุ่นละอองน้อยลง อยู่ในระดับเกณฑ์มาตรฐาน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"