ปุจฉา-วิสัชนากับ เจ้าของโนเบลที่ไฮฟา


เพิ่มเพื่อน    

    ระหว่างที่ผมไปเยือนอิสราเอลเมื่อเร็วๆ นี้ มีโอกาสปุจฉา วิสัชนากับเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี 2011 ที่เมืองไฮฟา ซึ่งตั้งอยู่เหนือสุดของอิสราเอล
    Prof Dan Shechtman แห่งมหาวิทยาลัย Technion หรือ MIT ของอิสราเอล...ท่านคือผู้เริ่มวิชา Entrepreneurship ที่มหาวิทยาลัยโด่งดังแห่งนี้ก่อนจะมีคำว่า startup ด้วยซ้ำ!
    ปีนี้ ศาสตราจารย์แดนอายุกว่า 80 แล้ว แต่ยังมีความกระตือรือร้นที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของอิสราเอลที่จะนำไปสู่การเป็นประเทศชั้นนำระดับโลกด้านนวัตกรรม
    แกบอกว่าแม้จะเป็นอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ แต่เห็นความสำคัญของการสร้าง “ผู้ประกอบการรุ่นใหม่” ที่มีความสามารถในการนำเอางานวิจัยมาสู่ตลาดเพื่อให้กลายเป็นของมีคุณค่ามากกว่าเป็นเพียงผลงานวิชาการเท่านั้น
    “ตอนแรกที่ผมเปิดสอนวิชา Entrepreneurship ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็มีคนตั้งคำถามเยอะว่ามันจะเหมาะจะควรหรือในเมื่อเราเป็นมหาวิทยาลัยที่หนักไปทางวิชาการ แต่ผมยืนยันว่าอนาคตของประเทศอิสราเอลจะเฟื่องฟูได้จะต้องสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่นำเอางานวิจัยสุดยอดไปทำให้เกิดเป็นธุรกิจให้ได้...พอเปิดคอร์สนี้ครั้งแรกก็มีนักศึกษามาลงทะเบียน 600 คน ต่อมาก็ขยายเป็นหลายพันจนกลายเป็นวิชาที่คนเรียนมากที่สุดวิชาหนึ่ง...”
    ศาสตราจารย์แดนเป็นนักเคมี ไม่มีพื้นทางด้านงานบริหารธุรกิจหรือการตลาด แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับคิดริเริ่มใหม่ๆ สำหรับนักคิดนักปฏิบัติของประเทศนี้
    “ผมก็เชิญคนเก่งๆ ด้านธุรกิจและการบริหารมาสอนซิครับ การที่ผมไม่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจไม่ได้แปลว่าผมจะไม่กล้าคิดไม่กล้าฝันที่จะเอาคนเก่งๆ ในวงการต่างๆ มาเป็นครู บทบาทของผมคือการประสานและสร้างความตระหนักในแวดวงคนรุ่นใหม่ให้สนใจการสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการเป็นผู้ประกอบการ แทนที่จะเป็นแค่นักวิชาการหรือทำงานรัฐบาล...”
    อาจารย์แดนเป็นที่เคารพนับถือของวงการทั้งวิชาการและ startups ของอิสราเอลวันนี้ เพราะยังมีความกระตือรือร้น ทดลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด
    วันนี้เราจึงเห็นบริษัทยักษ์ๆ ระดับโลกแห่กันมาตั้งหน่วยวิจัยและพัฒนาที่อิสราเอล โดยเฉพาะที่เมืองไฮฟาแห่งนี้
    ไม่ว่าจะเป็น IBM, Yahoo, Intel, Apple, Microsoft, HP, Amazon, Philips, Google, CISCO เป็นต้น
    ผมถามว่าทำไมบริษัทยักษ์เหล่านี้จึงต้องมาตั้งหน่วยงานที่ไฮฟา ถ้าอิสราเอลมีคนเก่งๆ ด้านต่างๆ มาก ไฉนธุรกิจระดับโลกเหล่านี้จึงไม่ซื้อตัวไปทำงานที่อเมริกาหรือยุโรป?
    คำตอบก็คือว่า คนเก่งๆ อิสราเอลบอกกับเจ้านายฝรั่งว่า พวกเขาต้องการจะกลับไปทำงานที่บ้าน เพราะมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์และนวัตกรรม อีกทั้งยังมีนักวิจัยที่อยู่กับมหาวิทยาลัยชั้นนำที่อิสราเอล
    ถึงขั้นที่คนระดับบริหารสัญชาติอิสราเอลที่ทำงานให้กับบริษัทเหล่านี้ในอเมริกาตั้งเงื่อนไขกับหัวหน้าได้ว่า ถ้าไม่ไปตั้งหน่วยวิจัยที่อิสราเอล พวกเขาจะออกจากบริษัทเพื่อกลับบ้านไปสร้างธุรกิจใหม่เอง
    เท่านั้นแหละ ผู้บริหารของธุรกิจไฮเทคใหญ่ๆ ระดับโลกจึงเห็นโอกาสที่จะระดมมันสมองสุดยอดของอิสราเอลด้วยการไปตั้งสาขาหรือศูนย์วิจัยที่ไฮฟา เพราะได้ทั้งความคิดใหม่ๆ และคนเก่งๆ ในที่เดียวกัน
    อีกทั้งไฮฟายังมีท่าเรือใหญ่ที่สุดของอิสราเอลริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นศูนย์ logistics ที่สำคัญ
    ที่สำคัญคือ การเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัย, ธุรกิจเอกชน, ผู้ประกอบการใหม่, startups และหน่วยงานรัฐบาล
    ทำให้เกิดการบูรณาการของทุกฝ่ายที่เกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมเป็นความจริงทางปฏิบัติ มิใช่เพียงแค่นโยบายสวยหรูบนกระดาษเท่านั้น
    ที่นี่มี “โซน startup” ที่รัฐบาลและเอกชนร่วมมือกันให้มีความสะดวกทั้งด้านพื้นที่และการลงทุนเพื่อส่งเสริมให้คนมีความคิดใหม่ๆ ได้แลกเปลี่ยนพบปะกันเอง...และที่สำคัญคือ มีกลไกที่ให้นักลงทุนมาเจอกับคนทำ startups ใหม่ๆ
    โดยที่รัฐบาลพร้อมจะเป็นหัวหอกในการลงทุนก้อนแรกให้กับโครงการ startups ที่พิสูจน์ตัวเองได้ว่ามีศักยภาพที่จะสร้างเป็นธุรกิจได้อย่างจริงจัง
    เมื่อทุกฝ่ายกระโดดลงมาทำกันอย่างจริงจัง ทุกอย่างวัดกันด้วยผลงานที่เป็นของจริงจัง ประเทศเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคและศัตรูก็กลายเป็นชาตินวัตกรรมระดับโลกได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"