สถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทย การบริโภคยาสูบของคนไทยลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่า ๒๐ ปี


เพิ่มเพื่อน    

     ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในช่วง พ.ศ.๒๕๓๔-๒๕๕๘ แนวโน้มการสูบบุหรี่ลดลงตามลำดับ จากจำนวน ๑๒.๒๖ ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๓๒.๐๐ ของประชากรไทยใน พ.ศ.๒๕๓๔ เหลือ ๑๐.๙๐ ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๑๙.๙๐ ของประชากรใน พ.ศ.๒๕๕๘
    สถานการณ์ในช่วงเวลาตั้งแต่การก่อตั้ง สสส. จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๔๔-๒๕๕๘) อัตราการสูบบุหรี่ลดลงตามลำดับ โดยลดลงจากร้อยละ ๒๕.๔๗ ใน พ.ศ.๒๕๔๔ เป็นร้อยละ ๑๙.๙๐ ของประชากรใน พ.ศ.๒๕๕๘ และมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากหลายมาตรการต่อเนื่อง เมื่อมีการประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.๒๕๖๐ ที่เพิ่มประสิทธิภาพและการควบคุมยาสูบมากขึ้น อาทิ การห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิงรวมถึงสื่อออนไลน์ การจำกัดอายุผู้ซื้อ จำกัดสถานที่สูบและจำหน่าย คาดว่าจะส่งผลต่อการลดการเข้าถึงยาสูบของประชากรไทย ซึ่งจะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงในอนาคตต่อไป
    ใน พ.ศ.๒๕๕๘ ประเทศไทยมีประชากรอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป ๕๕.๐๕ ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูบบุหรี่ จำนวน ๑๐.๙๐ ล้านคน โดยอัตราการสูบบุหรี่ของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ๒๒ เท่า และเมื่อเปรียบเทียบอัตราการสูบบุหรี่ระหว่าง พ.ศ.๒๕๕๖ กับ พ.ศ.๒๕๕๘ พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของเพศหญิงลดลงจากร้อยละ ๒.๑๐ ใน พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นร้อยละ ๑.๘๐ ใน พ.ศ.๒๕๕๘ แต่ในเพศชายอัตราการสูบบุหรี่กลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ ๓๙.๐๐ ใน พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นร้อยละ ๓๙.๓๐ ใน พ.ศ.๒๕๕๘
    เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ เปรียบเทียบข้อมูลระหว่างปี พ.ศ.๒๕๕๖ และ ๒๕๕๘ จะพบว่าในกลุ่มอายุ ๑๕-๑๘ ปี กลุ่มอายุ ๒๕-๔๐ ปี และกลุ่มอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลง โดยพบว่า กลุ่มอายุ ๑๕-๑๘ ปี มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงจากร้อยละ ๘.๔๓ ใน พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นร้อยละ ๗.๙๒ ใน พ.ศ.๒๕๕๘ สำหรับกลุ่มอายุ ๒๕-๔๐ ปี มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงจากร้อยละ ๒๔.๕๕ ใน พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นร้อยละ ๒๓.๒๓ ใน พ.ศ.๒๕๕๘ และสำหรับกลุ่มอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงจากร้อยละ ๑๔.๒๕ ใน พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นร้อยละ ๑๓.๙๕ ใน พ.ศ.๒๕๕๘ ส่วนกลุ่มอายุ ๑๙-๒๔ ปี และกลุ่มอายุ ๔๑-๕๙ ปี มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยพบว่า ในกลุ่มอายุ ๑๙-๒๔ ปี มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๑๙.๘๕ ใน พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นร้อยละ ๒๐.๒๐ ใน พ.ศ.๒๕๕๘ และในกลุ่มอายุ ๔๑-๕๙ ปี มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๒๑.๑๘ ใน พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นร้อยละ ๒๒.๕๓ ใน พ.ศ.๒๕๕๘
    สถานการณ์นี้สะท้อนถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนามาตรการและกลไกต่างๆ โดยเฉพาะกฎหมายให้สามารถแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทบทวนและบังคับใช้มาตรการและกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่อย่างเป็นรูปธรรม และปรับปรุงกฎหมาย นโยบายการควบคุมยาสูบให้ทันสมัย ตอบสนอง ต่อสถานการณ์ทางสังคม เพื่อสกัดกั้นการเกิดนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ตลอดจนการสนับสนุนการชวนเลิกบุหรี่ในชุมชนและการให้บริการเลิกบุหรี่ในโรงพยาบาล โดยผลักดันการให้ยารักษาการติดนิโคตินที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพอยู่ในบัญชียาหลักให้มากขึ้น ช่วยลดนักสูบหน้าเก่า ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ สร้างสิ่งแวดล้อมปลอดภัยจากควันบุหรี่ ซึ่งขณะนี้ สสส.และภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐและนอกภาครัฐ กำลังพยายามดำเนินการด้วยวิธีต่างๆ เพื่อลดและป้องกันการบริโภคยาสูบของเยาวชนไทยให้เป็นผลต่อไป ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะทำให้รัฐบาลสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ได้
    เดินหน้าสร้างสังคมไทยปลอดควันบุหรี่ สร้างความยั่งยืนทางสุขภาพ
    สถานการณ์และความสำคัญ
    “บุหรี่” ยังคงเป็นภัยคุกคามสุขภาพ โดยทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่กว่า ๖.๓ ล้านคนต่อปี สำหรับประเทศไทย จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติครั้งล่าสุดใน พ.ศ.๒๕๕๘ พบว่า ประชากรไทยอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป จำนวน ๕๔.๘ ล้านคน สูบบุหรี่ร้อยละ ๑๙.๙ หรือประมาณ ๑๐.๙ ล้านคน เป็นเพศชายร้อยละ ๓๙.๓ เพศหญิงร้อยละ ๑.๘ โดยอัตราการสูบบุหรี่ของเพศชายมากกว่าเพศหญิง ๒๑.๘ เท่า
    “บุหรี่เข้าถึงและหาซื้อง่าย” ในแต่ละปีมีเด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจรการเสพติดบุหรี่จำนวนมาก ที่น่ากังวลคือ ข้อมูลจากการสำรวจการบริโภคยาสูบในเด็กนักเรียน อายุ ๑๕-๑๗ ปีในสถานศึกษาและพื้นที่โดยรอบในเขตบริการสาธารณสุข ๑๒ เขตทั่วประเทศของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๕๘ พบว่า เด็กไทยสูบบุหรี่ครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๗.๘ ปี และเริ่มสูบเป็นนิสัย หรือสูบเป็นประจำเมื่ออายุ ๑๙.๕ ปี โดยพบผู้ที่สูบบุหรี่อายุน้อยที่สุดเพียง ๖ ปี
    ความสูญเสียจากการสูบบุหรี่เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ด้วยการไม่สูบบุหรี่ ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย จึงได้ร่วมแสดงเจตนารมณ์ด้วยการร่วมกันตั้งเป้าหมายลดการบริโภคยาสูบ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใน พ.ศ.๒๕๗๓ โดยสมัชชาองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) กำหนดให้ทุกประเทศลดอัตราสูบบุหรี่ร้อยละ ๓๐ ให้ได้ภายใน พ.ศ.๒๕๖๘ เพื่อลดการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยประเทศไทยต้องลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ให้เหลือ ๙ ล้านคนใน พ.ศ.๒๕๖๘ หรือลดผู้สูบบุหรี่ลงให้ได้โดยเฉลี่ย ๑.๓ แสนคนต่อปี แนวทางการลดจำนวนคนสูบบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือ การใช้มาตรการทางภาษีและกฎหมาย ที่จะสามารถควบคุมและป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
    กฎหมายควบคุมยาสูบของไทย พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.๒๕๓๐ และพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นกฎหมายที่ใช้มากว่า ๓๐ ปี ส่งผลให้มาตรการการควบคุมต่างๆ ไม่ทันต่อสถานการณ์ทางสังคมและกลยุทธ์การส่งเสริมการขายของอุตสาหกรรมยาสูบที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มาตรการควบคุมและบทลงโทษต่างๆ มีความอ่อนแอ ที่สำคัญส่งผลให้อัตราการสูบบุหรี่ยังสูงมาก โดยยาสูบเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย หรือภาระโรคอันดับที่ ๒ ของประชากรไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่สามารถเพิกเฉยได้
    สร้างสังคมแห่งความเข้าใจ : กฎหมายควบคุมยาสูบฉบับใหม่
    บทบาทการดำเนินงานของ สสส.
    แผนควบคุมยาสูบ สสส.ได้ร่วมขับเคลื่อนงานเพื่อปกป้องประชากรไทยให้พ้นจากพิษภัยของบุหรี่ท่ามกลางกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบที่เจาะกลุ่มเป้าหมายหลักในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อมาทดแทนลูกค้าเก่าที่สูงวัยและเสียชีวิตไปจำนวนมาก หากเจาะกลุ่มเป้าหมายในกลุ่มเด็กและเยาวชนได้ก็จะมีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น และพัฒนาเป็นผู้เสพติดบุหรี่ สสส.จึงสนับสนุนกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ทบทวนแก้ไขร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... ให้มีความทันสมัย ทันสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการปกป้องเยาวชนไม่ให้เป็นนักสูบหน้าใหม่
    สสส.มีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนกลางประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการควบคุมการบริโภคยาสูบต่างๆ อาทิ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ เครือข่ายหมออนามัย มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มูลนิธิเพื่อนหญิง ร่วมสนับสนุนผลักดันให้ ร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ ฉบับใหม่ ที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุขมีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคม เนื่องจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกฎหมายบางส่วน มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะสมาคมการค้ายาสูบไทย (สคยท.) และสมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบไทย ภายใต้การสนับสนุนของบริษัทบุหรี่ ได้ออกมาคัดค้านร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
    สสส.และภาคีเครือข่ายยังร่วมกันวางแผนขับเคลื่อน จัดทำข้อมูลวิชาการสนับสนุนประเด็นต่างๆ ที่บรรจุในร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ รวมถึงใช้การสื่อสารผ่านวิธีการ ช่องทางต่างๆ อาทิ การเข้าพบผู้กำหนดนโยบาย การจัดเวทีเสวนาและการแถลงข่าว การจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างกระแสสังคม เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไปรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่
    ผลการดำเนินงาน
    การประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.๒๕๖๐ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ซึ่งเป็นความพยายามในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ใช้เวลายาวนานกว่า ๗ ปี ผ่านการประชุมคณะกรรมการพิจารณากฎหมายถึง ๖๖ ครั้ง โดย สสส.มีบทบาทที่สำคัญ ดังนี้
    ๑.สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดทำสมุดปกขาวข้อเท็จจริงและความจำเป็นของ ร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของทุกภาคส่วนในสังคมไทยในการสนับสนุนให้ร่างพระราชบัญญัติฯ ได้รับการพิจารณาตามกระบวนการทางกฎหมาย
    ๒.จัดทำเอกสาร “๑๐ เหตุผลที่ประเทศไทยจำเป็น ต้องออกกฎหมายบุหรี่ฉบับใหม่” เพื่อสื่อสารให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติผ่านขั้นตอนการพิจารณาตามกฎหมายและมีผลบังคับใช้
    ๓.จัดกิจกรรมรณรงค์และสนับสนุน เพื่อสร้างความเข้าใจและสื่อสารในวงกว้างมากกว่า ๓๐ ครั้ง อาทิ ๑) แถลงข่าว “ขอมอบ ๑๕ ล้านรายชื่อ สนับสนุนรัฐบาลในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่” ๒) แถลงข่าว “แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขอาวุโส หนุนกฎหมายบุหรี่ใหม่ เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย” เพื่อรวมพลังและแสดงจุดยืนในการผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติฯ มีผลบังคับใช้ มอบรายชื่อผู้ลงนามสนับสนุนให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติออกกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากพิษภัยของการสูบบุหรี่
    จากความร่วมมือของ สสส.และภาคีเครือข่ายสนับสนุนข้อมูลวิชาการ และการจัดกิจกรรมรณรงค์ขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอร่างกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ นำไปสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐ และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๐ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐
    ร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็งไร้ควัน
    บทบาทการดำเนินงานของ สสส.
    “ชุมชน” ถือเป็นรากฐานสำคัญของประชากร หากชุมชนเข้มแข็งจะส่งผลให้คนในชุมชนเข้มแข็ง เพราะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพจะสำเร็จได้ยากและไม่ยั่งยืนหากไม่ได้รับความร่วมมือที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะพฤติกรรมการเลิกสิ่งที่ทำลายสุขภาพ เนื่องจากมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ การเลิกบุหรี่ที่มีเรื่องของสารนิโคตินมาเป็นตัวทำให้เกิดพฤติกรรมเสพติด
    “ผู้สูบบุหรี่” จำเป็นต้องมีตัวช่วยเพื่อให้สามารถเลิกสูบได้อย่างถาวร ในการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ถือเป็นหน่วยงานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้ชิดชุมชนที่สุด เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกัน บำบัดรักษาและฟื้นฟู ซึ่งกลยุทธ์การสร้างเสริมสุขภาพ ตามกฎบัตรออตตาวา ระบุว่า “การใช้ชุมชนเป็นฐานสามารถควบคุมการบริโภคยาสูบได้” จึงมีการประยุกต์อย่างน้อย ๒ กลยุทธ์ คือ ๑) การพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ ๒) การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล เพื่อเข้าถึงผู้สูบบุหรี่และช่วยให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ
    แผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมสุขภาวะ สสส.ได้ดำเนินโครงการ “การบูรณาการกิจกรรมควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐานในงานประจำของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” โดยมีชุมชนเป็นฐานสำคัญในการทำงาน โดย สสส.ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำงานเชิงรุกกับพื้นที่ สร้างความร่วมมือให้บุคลากรสาธารณสุขเข้ามาร่วมทำงาน ทำให้เห็นความสำคัญในการทำให้ประชาชนเลิกบุหรี่ พร้อมเชื่อมโยงบูรณาการงานเข้ากับการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมถึงการนำองค์ความรู้ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ อาทิ การนวดกดจุดสะท้อนเท้าช่วยเลิกบุหรี่ สมุนไพร รวมถึงสื่อและอุปกรณ์ต่างๆ ที่โดดเด่นในโครงการ คือ การใช้เครื่องเป่าคาร์บอนมอนอกไซด์ในปอด ที่ทำให้ชุมชนเกิดการตื่นตัวและเข้าร่วมโครงการมากขึ้น
    ผลการดำเนินงาน
    ๑.พัฒนาเสริมศักยภาพของคนทำงาน เสริมพลังให้มีความศรัทธา และเชื่อมั่นในความสามารถของตน ในการเป็นจุดจัดการเพื่อควบคุมยาสูบในชุมชน ด้วยการทำงานแบบเพื่อนช่วยเพื่อนมีระบบพี่เลี้ยงระหว่างหน่วยงานวิชาการภายนอกและหน่วยงานในระดับจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อสนับสนุนข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับบุหรี่ โดยมีการดำเนินงานที่สนับสนุนให้ประชาชนเลิกบุหรี่ ดังนี้
    ๑.๑ จัดหน่วยเคลื่อนที่คัดกรอง และช่วยเลิกบุหรี่ไปทุกหมู่บ้าน โดยบูรณาการกับกิจกรรมอื่นๆ ของ รพ.สต. ได้แก่ ตรวจวัดความดัน เบาหวาน สารเคมีในเลือด และการฉีดวัคซีน
    ๑.๒ บูรณาการการชักชวนให้เลิกบุหรี่และสนับสนุนการช่วยเลิกบุหรี่ ในบริการผู้ป่วยนอก คลินิกโรคเรื้อรังใน รพ.สต. และคลินิกเด็กดีเพื่อชวนผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ให้เลิก
๑.๓ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ออกพื้นที่ชักชวนผู้สูบบุหรี่ให้เลิกบุหรี่ (อสม. ๑ คนต่อผู้สูบบุหรี่ ๔ คน)
    ๑.๔ จัดกิจกรรมช่วยเลิกโดยมีทางเลือกที่หลากหลาย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ เพื่อลดการใช้ยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง อาทิ สมุนไพร กานพลู มะนาว นวดกดจุดเท้า
    ๑.๕ สนับสนุนให้ อสม.ติดตามผลอย่างต่อเนื่องและเก็บบันทึกข้อมูลการเลิกบุหรี่ในระดับบุคคล
    ๑.๖ มีการชมเชยผู้ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ และยกย่องเป็นบุคคลต้นแบบ
    ๒.เกิดพื้นที่ที่มีการลด ละ เลิกบุหรี่ในพื้นที่ดำเนินงานใน ๖ จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ครอบคลุม รพ.สต. ๑๒๑ แห่ง รวมหมู่บ้าน๘๖๓ แห่ง ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงโครงการเลิกบุหรี่ในรูปแบบต่างๆ จำนวน ๖๙๑,๐๐๐ คน จากการสำรวจข้อมูลหรือฐานข้อมูลของพื้นที่สามารถเข้าถึงผู้สูบบุหรี่จำนวน ๑๐๐,๓๔๐ คน
    ๒.๑ มีผู้สูบบุหรี่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ๒๕,๒๙๒ คน หรือร้อยละ ๒๕.๒ จากผู้สูบบุหรี่ที่โครงการเข้าถึง โดยสามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ๙,๑๓๓ คน หรือร้อยละ ๓๖.๑ และมีผู้ที่เลิกไม่ได้แต่ลดปริมาณการสูบลง ๙,๑๓๐ คน หรือร้อยละ ๓๖.๐ ซึ่งเมื่อรวมผู้ที่ลด ละ และเลิกบุหรี่ได้ถึง ๑๘,๒๖๓ คน หรือร้อยละ ๗๒.๑
    ๒.๒ พัฒนาพื้นที่ต้นแบบบูรณาการควบคุมยาสูบ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในพื้นที่ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน ๒ แห่ง คือ รพ.สต.บ้านพังสิงห์ และ รพ.สต.บ้านไม้แดง ครอบคลุมหมู่บ้าน ๑๔ แห่ง ประชากร ๑๖,๘๗๕ คน โดยมีผู้สูบบุหรี่ที่ได้รับการคัดกรอง ๒,๒๑๓ คน มีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการเลิกบุหรี่ ๑,๑๒๕ คน และสามารถ เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ๘๐๔ คน โดยผู้ที่เลิกสูบบุหรี่มีสุขภาพที่ดีขึ้น และมีเงินออมเพิ่มขึ้นจากการลดการซื้อบุหรี่
    สสส.ร่วมขับเคลื่อนให้สังคมไทยปลอดควันบุหรี่มาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยดำเนินการครอบคลุมทุกมิติทั้งเชิงโครงสร้างและเชิงสังคมชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นฐานรากของสังคมไทยให้มีความเข้มแข็งและเข้าถึงการบริการเลิกบุหรี่ได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.๒๕๖๐ จนสำเร็จมีผลบังคับใช้ถือเป็นมาตรการหนึ่ง ในการป้องกันสุขภาพของประชากรไทยให้ปลอดภัยจากบุหรี่ กฎหมายฉบับนี้มีความทันสมัยและได้รวมข้อแนะนำต่างๆ ขององค์การอนามัยโลก ภายใต้กรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลก ว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (The WHO Framework Convention on Tobacco Control : FCTC) ไว้อย่างครบถ้วน การออกกฎหมายฉบับนี้จึงสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยต่อการพัฒนาประเทศ และการใช้นโยบายภาครัฐ เพื่อสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย
    ผลการดำเนินงาน
    การบรรลุถึงสุขภาวะยั่งยืนของคนไทยทั้งชาติ ตามวิสัยทัศน์ของ สสส. เป็นภารกิจใหญ่หลวงและท้าทายยิ่ง วัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง สสส.ตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.๒๕๔๔ จึงได้แปลงออกสู่เป้าประสงค์ในการดำเนินงาน ๖ ประการ เพื่อเป็นการกำหนดจุดหมายปลายทางแห่งการทำงานของ สสส.ที่ตอบสนองต่อภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้อย่างครบถ้วน ดังนี้
    เป้าประสงค์ ๑ สานและเสริมพลังการดำเนินงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อให้บรรลุผลในการลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด การลดอุบัติเหตุจราจรและอุบัติภัย และสร้างสุขนิสัยในการออกกำลังกายและการบริโภคอาหารสุขภาพ
    เป้าประสงค์ ๒ พัฒนากลไกที่จำเป็นสำหรับการลดปัจจัยเสี่ยงนอกเหนือจากเป้าประสงค์ที่ ๑ โดย สสส.ลงทุนแต่น้อยในส่วนที่จำเป็นที่ก่อให้เกิดผลกระทบสูงและสร้างขีดความสามารถของบุคคลที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เยาวชน และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
    เป้าประสงค์ ๓ เพิ่มขีดความสามารถเชิงสถาบันและส่งเสริมบทบาทของชุมชนและองค์กรในการพัฒนาสุขภาวะองค์รวม หรือแก้ไขปัญหาสำคัญของตน โดยพัฒนากระบวนการ ต้นแบบ และกลไกขยายผลเพื่อมุ่งพัฒนาสังคมสุขภาวะในระยะยาวอย่างยั่งยืน
    เป้าประสงค์ ๔ สร้างค่านิยมและโอกาสการเรียนรู้ในการสร้างเสริมสุขภาวะให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อให้สังคมให้ความร่วมมือกับการรณรงค์เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ในการสร้างเสริมสุขภาพ
    เป้าประสงค์ ๕ ขยายโอกาสและพัฒนาศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาวะ
    เป้าประสงค์ ๖ เพิ่มสมรรถนะของระบบบริการและระบบสนับสนุนในการสร้างเสริมสุขภาวะ และเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการบริหารจัดการ
    ลดปัจจัยเสี่ยงหลัก
    กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ วางแนวทางจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้บรรลุผลในการลดปัจจัยเสี่ยงด้านการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อุบัติเหตุจราจร การขาดการมีกิจกรรมทางกาย และเพิ่มการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ โดยสนับสนุนหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงและภาคีเครือข่าย
    ในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๐ สสส.ได้ดำเนินงานตามเป้าประสงค์นี้ในแผนควบคุมยาสูบ แผนควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด แผนการจัดการความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม แผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ
    แผนควบคุมยาสูบ
    สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก
    สรุปเป้าหมายสำคัญ
    ๑.ลดความชุกการเสพยาสูบของประชากรไทย ใน พ.ศ.๒๕๖๐ ไม่เกิน ร้อยละ ๑๗.๘๐
    ๒.พัฒนามาตรการและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อแนวโน้มการลดลงของอัตราการสูบบุหรี่ในประชากรไทย ให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๒ อย่างน้อย ๑ เรื่อง
    ๓.พัฒนากลไกการดำเนินงานควบคุมยาสูบในระดับจังหวัดและพัฒนารูปแบบการบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบที่เข้มแข็งขึ้น ไม่น้อยกว่า ๕ จังหวัด
    ๔.สร้างองค์ความรู้จากการวิจัยที่จำเป็นสำหรับการควบคุมยาสูบของประเทศไทยไม่น้อยกว่า ๑๐ เรื่อง และส่งเสริมให้ประชากรไทยรับรู้และตระหนักถึงประเด็นการไม่สูบบุหรี่มากขึ้นอย่างน้อย ๒ ประเด็น
    ๕.ขยายเครือข่ายหน่วยการเลิกบุหรี่ที่มีคุณภาพมาตรฐานไม่น้อยกว่า ๔๐๐ แห่งสายด่วนเลิกบุหรี่แห่งชาติ สามารถให้บริการแก่ประชาชนทั้งเชิงรับและเชิงรุกโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า ๑๕,๐๐๐ ครั้งต่อเดือน มีผู้เสพติดบุหรี่ใช้บริการรับคำปรึกษาและป้องกันการสูบซ้ำโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ รายต่อเดือน และมีจำนวนผู้เลิกบุหรี่ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๒๐
    ๖.มีเวทีการทำงานเรื่องการควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยการมีส่วนร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข แหล่งทุน และศูนย์วิชาการประเด็นยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารและการมีกิจกรรมทางกาย
    การดำเนินงานตามแผนควบคุมยาสูบ
    แผนควบคุมยาสูบ วางยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ๘ ด้านสำคัญ ได้แก่ ๑) การป้องกันไม่ให้เกิดผู้บริโภคยาสูบรายใหม่ ๒) การส่งเสริมให้ผู้บริโภคลดและเลิกการใช้ยาสูบ ๓) การลดพิษภัยของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ๔) การสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ ๕) การสร้างเสริมความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินงานควบคุมยาสูบของประเทศ ๖) การควบคุมการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมาย ๗) การแก้ปัญหาการควบคุมยาสูบโดยใช้มาตรการทางภาษี และ ๘) การเฝ้าระวังและควบคุมอุตสาหกรรมยาสูบ
    ผลลัพธ์จากการดำเนินงานโดยสรุป มีดังนี้
    ๑.ลดความชุกการเสพยาสูบของประชากรไทยเหลือ ร้อยละ ๑๗.๔๐
    ๒.พัฒนารูปแบบการบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบที่เข้มแข็ง อย่างน้อย ๕ จังหวัด
    ๓.พัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการควบคุมยาสูบ ๑๑ เรื่อง
    ๔.ขยายเครือข่ายให้บริการเลิกบุหรี่ทั่วประเทศ รวม ๕๙๘ แห่ง
    ๑.พัฒนานโยบายและบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบ
    ๑.๑ สนับสนนุ ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการดำเนินงานควบคุมยาสูบในระดับจังหวัดรวม ๗๖ จังหวัด ทำให้เกิดกลไกการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบที่เข้มแข็ง ๕ จังหวัด ได้แก่ ๑) จังหวัดเชียงใหม่ มีการสร้างทีมเฝ้าระวังการกระทำผิดตามกฎหมายและออกสำรวจ ตรวจ เตือนร้านค้าต่างๆ ในงานบุญประเพณี ๒) จังหวัดภูเก็ต ให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังในระดับหมู่บ้าน 
    ๓) จังหวัดนราธิวาส กำหนดให้เจ้าของสถานที่ดำเนินการจัดสถานที่ของตนเองให้ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย ๔) จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษลงพื้นที่ตรวจจับบังคับใช้กฎหมายเหล้าและบุหรี่ โดยใช้ชื่อ “ฉก.พ่อเมือง” แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด และ ๕) จังหวัดอุดรธานี มีการประสานงานกับภาครัฐภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในการเฝ้าระวัง ควบคุม กำกับ และบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่สาธารณะต้นแบบปลอดบุหรี่
    ๑.๒ ร่วมกับสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ผลักดันให้การรถไฟแห่งประเทศไทยออกประกาศการรถไฟ คำสั่งฝ่ายบริการรถโดยสาร เรื่องห้ามสูบบุหรี่บนขบวนรถโดยสารและสถานีรถไฟทุกแห่ง เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนที่เดินทางโดยรถไฟ
    ๒.พัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรมช่วยสังคมไทยปลอดบุหรี่
    ๒.๑ ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดอบรมให้เยาวชนมีความรู้ ความตระหนักถึงพิษภัยบุหรี่ การสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ มีส่วนทำให้ผลสำรวจอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป โดยรวมใน พ.ศ.๒๕๖๐ ลดลงเป็นร้อยละ ๑๗.๔๐ ๑) เยาวชนที่เข้ารับการอบรมมีความตระหนักถึงพิษภัยยาสูบ ร้อยละ ๘๐ ๒) เกิดการจัดตั้งหน่วยลูกเสือต้านภัยยาเสพติด (บุหรี่) ในโรงเรียน ๑๓,๖๒๔ โรง และมีลูกเสือต้านภัยยาเสพติด (บุหรี่) ๖๖๔,๖๑๙ คน มีโรงเรียนที่เข้าร่วมการอบรมป้องกันยาเสพติด (บุหรี่) ๑๓,๕๒๒ โรง ๓) นักเรียน ๘,๒๒๐ คน จากโรงเรียน ๙๓ โรงได้รับการพัฒนาทักษะการปฏิเสธบุหรี่
    ๒.๒ สนับสนุนการจัดทำคู่มือ/แนวทางการให้บริการระบบบำบัดโรคเสพติดยาสูบ สำหรับผู้ให้บริการในโรงพยาบาล และคู่มือสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยบำบัดผู้เสพติดยาสูบในชุมชน ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานช่วยเหลือการเลิกสูบบุหรี่ได้ดีขึ้น
    ๒.๓ ร่วมกับศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ สนับสนุนทุนวิจัยในประเด็นที่สำคัญต่อการดำเนินงานควบคุมยาสูบ โดยดำเนินงานแล้วเสร็จได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทั้งในและต่างประเทศ รวม ๑๑ เรื่อง และนำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๖ ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ เพื่อให้ภาคีเครือข่ายได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อ
    ๒.๔ ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดประชุมและสนับสนุนงบประมาณภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือของประเทศไทยภายใต้กรอบองค์การอนามัยโลกประจำปี ค.ศ.๒๐๑๗-๒๐๒๑ ทำให้เกิดแนวทางการทำงานการควบคุมโรคไม่ติดต่อ โดยการมีส่วนร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขหน่วยงานภายนอกกระทรวง และศูนย์วิชาการ ในประเด็นพฤติกรรมเสี่ยงทั้ง ๔ ประเด็น คือ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารเพื่อสุขภาพ และออกกำลังกาย
    ๒.๕ ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ และสนับสนุนสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินโครงการการสร้างความรู้ด้านระบาดวิทยาของโรคไม่ติดต่อสำหรับประเทศไทย
    ๒.๖ บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักสุขภาวะชุมชน สสส. โดยสนับสนุนชุดความรู้เพื่อใช้เป็นฐานในการต่อยอดการทำงานควบคุมยาสูบให้แก่ภาคีเครือข่าย ทำให้เกิดนวัตกรรมในการดำเนินงานควบคุมยาสูบ ๕๐ แห่ง โดยมีพื้นที่ ๕ แห่งที่นำนวัตกรรมควบคุมยาสูบไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งมีการประเมินผลและถอดบทเรียนการใช้นวัตกรรม พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นต้นแบบการปฏิบัติตามมาตรการทางสังคมและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ผู้บริหารองค์กร/หน่วยงานสามารถเป็นต้นแบบของการไม่สูบบุหรี่ แกนนำและอาสาสมัครในทุกระดับเป็นผู้ไม่สูบบุหรี่และร่วมเป็นนักรณรงค์
    ๒.๗ สนับสนุนข้อมูลวิชาการประกอบการจัดทำร่างข้อเสนอยารักษาโรคเสพติดยาสูบเพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อขยายการเข้าถึงยาและเสริมประสิทธิภาพการบำบัดผู้ติดยาสูบ
    ๒.๘ ร่วมกับภาคีเครือข่ายสนับสนุนให้เกิดพื้นที่รูปธรรมในการจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมายกำหนด อาทิ คอนโดมิเนียม รถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์
    ๒.๙ สนับสนุนภาคเครือข่ายรณรงค์สร้างความตระหนักถึงประเด็นการไม่สูบบุหรี่ ๕ ประเด็น ได้แก่ บุหรี่ไฟฟ้า บ้านปลอดบุหรี่ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ การขยายพื้นที่ปลอดบุหรี่และสุราในรถไฟ และบุหรี่ : ภัยคุกคามต่อการพัฒนา รวมถึงมีการเผยแพร่และจัดทำข้อมูลข่าว รวม ๑๘๗ ชิ้นข่าว
    ๓.พัฒนากลไกควบคุมยาสูบระดับพื้นที่
    ๓.๑ สนับสนุนการดำเนินงานควบคุมยาสูบในระดับจังหวัด รวม ๗๖ จังหวัด ผ่านคณะกรรมการควบคุมยาสูบระดับจังหวัด ส่งผลให้มีกรณีตัวอย่ากลไกการดำเนินงานควบคุมยาสูบในระดับจังหวัด ๕ จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด เลย บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการควบคุมยาสูบอย่างเป็นทางการ รวมถึงมีการพัฒนาศักยภาพ ความรู้ และทักษะของบุคลากรเพื่อดำเนินงานควบคุมยาสูบในด้านการบังคับใช้กฎหมาย การให้บริการเลิกบุหรี่ การสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ และการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ทั้งในชุมชนและสถานศึกษา และได้ขยายผลโดยนำตัวอย่างกลไกไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมใน ๓ จังหวัด ได้แก่ ยโสธร ลำพูน และยะลา
    ๓.๒ บูรณาการการทำงานร่วมกับแผนเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. พัฒนาข้อมูล ซึ่งเป็นต้นทุนการทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยจัดทำและพัฒนากรอบตัวชี้วัดพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงเรียน และนำไปทดลองใช้ในโรงเรียนวัดชัฏใหญ่ ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินผล
    ๔.พัฒนาระบบการเข้าถึงบริการเลิกบุหรี่
    ๔.๑ สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (สายด่วนเลิกบุหรี่ ๑๖๐๐) ให้บริการเลิกบุหรี่แก่ประชาชน โดยให้บริการทั้งเชิงรับและเชิงรุก เฉลี่ยเดือนละ ๑๘,๙๙๔ ครั้ง มีผู้ใช้บริการที่เป็นผู้สูบเฉลี่ย ๕,๑๐๒ รายต่อเดือน มีการติดตามผู้รับบริการหลังจากที่ได้รับคำปรึกษา ๖ เดือน รวม ๓,๘๘๘ ราย ในจำนวนนี้มีอัตราการหยุดสูบได้ต่อเนื่อง ๖ เดือน รวม ๑,๖๐๑ ราย คิดเป็นร้อยละ ๔๑.๑๘
    ๔.๒ ร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ และวิชาชีพสุขภาพ พัฒนาแอปพลิเคชัน “คลินิกฟ้าใส” เพื่อเก็บข้อมูลการใช้บริการและเป็นเครื่องมือในการติดตามประเมินผลการบำบัดรักษาผู้ติดบุหรี่ของคลินิกฟ้าใส
    ๔.๓ ร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพแพทย์และวิชาชีพสุขภาพ ขยายเครือข่ายคลินิกฟ้าใส เพิ่มขึ้นอีก ๔๙ แห่ง จาก ๓๔๒ แห่ง เป็น ๓๙๑ แห่ง ขยายเครือข่ายร้านยาอาสาพาเลิกบุหรี่ เพิ่มขึ้นอีก ๑๐๗ แห่ง จาก ๑๐๐ แห่ง เป็น ๒๐๗ แห่ง โดยมีการจัดอบรมเภสัชกรร้านจำหน่ายยาให้มีความรู้และทักษะในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ติดบุหรี่ที่ต้องการเลิกบุหรี่ รวมถึงพัฒนาความร่วมมือในด้านการเรียนการสอนการควบคุมยาสูบกับคณะเภสัชศาสตร์ในประเทศสมาชิกของสหพันธ์เภสัชกรรมสมาคมแห่งเอเชีย (Federation of Pharmaceutical Association : FAPA) โดย FAPA ส่งนักศึกษามาฝึกงานด้านการให้บริการเลิกบุหรี่ในร้านยาเภสัชกรอาสาในประเทศไทย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"