ปาบึกถล่มนครศรีฯ รัฐบาลตั้งวอร์รูมรับมือ'บิ๊กตู่'เผยร.10ทรงห่วงใย


เพิ่มเพื่อน    


    กรมอุตุฯ ออกประกาศ "ปาบึก" ถล่มนครศรีธรรมราชค่ำวันศุกร์นี้ ทำให้ฝนตกหนักมากเป็นบริเวณกว้าง ตะลุมพุกอพยพคนออกทั้งหมด อ่าวไทยคลื่นสูง 5 เมตร รัฐบาลตั้งวอร์รูมเกาะติดสถานการณ์ 24 ชั่วโมง "บิ๊กตู่" เผยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด พระราชทานความห่วงใยมายังทุกคน เหล่าทัพเตรียมยุทโธปกรณ์พร้อมรับมือ เรือเฟอร์รี เครื่องบิน หยุดหมดเพื่อความปลอดภัย 
    กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนเมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 3 มกราคม 2562 ว่า พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 500 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือที่ละติจูด 6.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 104.3 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 
    พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยอย่างช้าๆ และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช ในช่วงค่ำของวันที่ 4 มกราคม   จะมีผลกระทบต่อภาคใต้ในช่วงวันที่ 3-5 มกราคม ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง โดยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ มีผลกระทบดังนี้
    ในวันที่ 3 มกราคม จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรง บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
    ในช่วงวันที่ 4-5 มกราคม บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรงบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล 
    สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 3-5 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากลมแรงและคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรงดการเดินเรือตั้งแต่วันที่ 3-5 มกราคม 
    ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 
    ที่ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ทำเนียบรัฐบาล เย็นวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประชุมติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือพายุโซนร้อน “ปาบึก” ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
เตรียมรับมือ 24 ชั่วโมง
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ต้องร่วมมือกัน ซึ่งทราบว่าแต่ละหน่วยงานได้มีการเตรียมแผนกันไว้อย่างดี ทั้งหมดต้องการให้ประชาชนคลายความวิตกกังวล ยืนยันเราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ซึ่งวันนี้เราใช้ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร เตรียมรับมือ 24 ชั่วโมง นายกฯ ในฐานะผู้รับผิดชอบการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหลักในการดำเนินการและเป็นผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยครั้งนี้ 
    และจากการรับฟังรายงานของแต่ละหน่วยงาน ค่อนข้างครอบคลุมอยู่แล้วในการเตรียมรับมือ ตอนนี้สถานการณ์ยังไม่เกิดขึ้นรุนแรง แต่ขอให้ทุกหน่วยเตรียมความพร้อม ส่วนเรื่องการสื่อสาร ตนกังวลตรงนี้ต้องใช้ส่วนทหารไปช่วยบ้าง ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีการสื่อสารทางวิทยุ บางทีโทรศัพท์อาจใช้ไม่ได้ ประชาชนไม่รู้จะติดต่อทางไหน กรณีที่โทรทัศน์ไฟดับดูไม่ได้ ดังนั้นควรมีการสื่อสารผ่านช่องทางวิทยุได้ด้วย
    นายกฯ กล่าวอีกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้มาหลายวัน หลังทราบว่าจะมีสถานการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เราคาดหวังว่าจะไม่รุนแรงมากนัก อย่างไรก็ตาม เราประมาทไม่ได้ ต้องมีการเตรียมความพร้อม ขอขอบคุณทุกคน และขอให้ยึดแนวทางหรือพระราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่รับสั่งไว้ว่า การทำงานใดๆ ก็ตาม จะต้องมีการจัดทำแผนงาน แผนเผชิญเหตุต่างๆ ให้ครบถ้วน เมื่อถึงเวลาเราจะสามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ต้องมีแผนหลัก แผนรอง ทำให้ครบ ขณะนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด พระราชทานความห่วงใยมายังทุกคน
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอประชาชน ข้าราชการทุกหน่วยงาน ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น ขอให้ปลอดภัยและดูแลประชาชนให้ดีที่สุด ขอเดชะพระบารมีอันแผ่ไพศาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ตลอดจนพระสยามเทวาธิราช และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ ปกป้องคุ้มครองให้คนในชาติของเราปลอดภัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับสั่งไว้ว่า เราไม่สามารถบังคับธรรมชาติได้ แต่เราต้องรู้เราจะอยู่กับธรรมชาติได้อย่างไร เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้ อันนี้เขาเรียกว่า เมื่อสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง โลกเปลี่ยนแปลง หลายอย่างพร้อมที่จะเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ จากนั้นนายกฯ ได้สอบถามผู้ว่าฯ มีใครหนักใจหรือไม่ ก่อนกล่าวต่อไปว่า ซึ่งต้องหนักใจ เพราะตนยังหนักใจ เพราะประชาชนคือเป้าหมายของเรา
สั่งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดเตรียมพร้อม
    “อยากให้รู้ว่านายกรัฐมนตรีห่วงใย และขอฝากคนไทยทุกคนให้ช่วยส่งกำลังใจไปยังเจ้าหน้าที่และประชาชนภาคใต้ ให้ผ่านพ้นภัยพิบัติโดยเร็วที่สุด ขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ตรากตรำมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนปีใหม่มาจนถึงหลังปีใหม่ นี่คือข้าราชการของแผ่นดิน ขอให้ทุกคนทำงานให้ดีที่สุด เพื่อประชาชน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
    ด้าน พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงจังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ได้จัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบูรณาการประสานงานกับกองอำนวยการป้องกันสาธารณภัยของทุกเหล่าทัพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการจัดการน้ำ ซึ่งจะได้เร่งติดตามรายงานอย่างใกล้ชิดจากกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อทุกหน่วยงานจะได้ประเมินความเสี่ยงและเตรียมความพร้อมทั้งด้านข้อมูลและการปฏิบัติ เพื่อลดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนอย่างดีที่สุด
    สำหรับการเตรียมการป้องกันผลกระทบกับประชาชนทางทะเล จังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลได้มีการประกาศห้ามเดินเรือ และได้ประสานการทำงานร่วมกับกองทัพเรือในการจัดเตรียมเรือเพื่อเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีเกาะท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ เกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุย เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ได้เร่งการขนย้ายนักท่องเที่ยวให้เสร็จภายในค่ำวันนี้ 
    นอกจากนี้ จังหวัดที่จะได้รับผลกระทบในช่วงแรกของพายุดังกล่าวคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช บริเวณอำเภอปากพนัง อำเภอท่าศาลา และอำเภอสิชล เป็นต้น ก็ได้ดำเนินการอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายจากภัยที่อาจเกิดขึ้น
    สำหรับบรรยากาศการรับมือพายุปาบึกในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หมู่บ้านแหลมตะลุมพุก ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง พื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากพายุ  ชาวบ้านเริ่มอพยพไปอยู่อำเภอปากพนัง ศูนย์กีฬาเทศบาลเมืองปากพนัง และสถานที่ปลอดภัยที่ทางราชการเตรียมไว้ แต่ยังมีชาวบ้านส่วนหนึ่งยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ เพราะหลายครอบครัวเป็นห่วงทรัพย์สินภายในบ้าน 
    นายสมนึก ซ้วนลิ่ม อายุ 65 ปี ชาวอำเภอปากพนัง เล่านาทีที่พายุแฮเรียตถล่มบ้านแหลมตะลุมพุกว่า ขณะนั้นตนอายุประมาณ 7-8 ขวบ สามารถรับรู้ถึงมหันตภัยที่เกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ โดยก่อนเกิดพายุแฮเรียตจะถล่มบ้านแหลมตะลุมพุกนั้น มีฝนตกลงมาตลอดทั้งวัน ส่วนท้องฟ้าสีแดง และมีลมกระโชกแรงรอบทิศทางเหมือนวงจักร และมีทะเลหนุนสูงขึ้นชายฝั่งกว่า 1 เมตร ไม่สามารถเดินออกไปชายหาดได้ ส่วนสัตว์ทะเล พวกปลา กุ้ง หมึก ลอยขึ้นมาบนชายฝั่งจำนวนมาก ส่วนบ้านของตนได้รับความเสียหายทั้งหลัง
ร้านอาหารตะลุมพุกปิดหนีปาบึก
    สำหรับร้านอาหารบริเวณชายหาดแหลมตะลุมพุกทั้งหมด เจ้าของร้านได้ปิดร้านหนีพายุ โดยมีการเก็บข้าวของไว้ในร้าน และอพยพหนีไปอยู่บ้านญาติในตัวอำเภอปากพนัง เพื่อความปลอดภัย ทำให้บรรยากาศบริเวณหาดแหลมตะลุมพุกเงียบเหงาเหมือนป่าช้า  ส่วนสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข ก็ไม่พบแม้แต่ตัวเดียว 
    ในขณะที่ท้องทะเลพบว่ามีคลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร ความแรงของคลื่นค่อนข้างแรง ซัดเข้าหาชายฝั่ง ประกอบกับระดับน้ำทะเลเริ่มหนุนสูงซัดชายฝั่ง เหลือประมาณ 4-5 เมตร คลื่นทะเลจะถึงร้านอาหารริมหาด ส่วนริมชายหาดมีเศษกิ่งไม้ซากสิ่งสกปรกถูกคลื่นพัดขึ้นมาเกยชายหาดเป็นจำนวนมาก ส่วนบนท้องฟ้าค่อนข้างมืด มีฝนตกลงมาเล็กน้อย สลับกับลมกระโชกเล็กน้อยถึงปานกลาง
    ทั้งนี้ บรรยากาศทั่วไปท้องฟ้าทั่วจังหวัดนครศรีธรรมราชมืดครึ้ม ฝนตกตลอดเวลา หนักบ้างเบาบ้างหลายอำเภอ ในขณะที่ ต.ปากนคร อ.เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ติดอยู่ริมทะเลอ่าวไทย ทางอำเภอและ จนท.ท้องถิ่นและมูลนิธิต่างๆ เร่งอพยพชาวบ้าน 2,000 คนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปอยู่ที่โรงเรียนท่านครญาณวโรภาสแล้วเช่นกัน
    ที่มณฑลทหารบกที่ 41 ค่ายวชิราวุธ อ.เมืองฯ จ.นครศรีธรรมราช พล.ต.สิทธิพร มุสิกะสิน รองแม่ทัพภาคที่ 4/รองผู้บัญชาการ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 4 เป็นประธานตรวจความพร้อมของศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 4 ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการตรวจสภาพความพร้อม พร้อมทั้งยุทโธปกรณ์ในการช่วยเหลือประชาชนเข้าร่วมการซักซ้อมอย่างพร้อมเพรียงกัน
    ในการนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งการให้ศูนย์บรรเทา สาธารณภัย กองทัพภาคที่ 4 จำนวน 22 ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมของกำลังพล เครื่องมือในการเข้าให้การช่วยเหลือประชาชน 
    สำหรับพื้นที่ชายทะเลตลอดแนวชายฝั่งของจังหวัดสงขลา คลื่นลมมีกำลังแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเริ่มส่งผลกระทบกับพื้นที่ชายทะเลบางจุดซึ่งเคยถูกคลื่นซัดเสียหายซ้ำซากทุกครั้ง เช่น ที่บริเวณถนนริมชายหาดหาดแก้วจุลดิศ ในอำเภอสิงหนคร ถูกคลื่นซัดซ้ำรอยเดิมเสียหายขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และห้ามรถผ่าน พร้อมทั้งมีการติดธงแดงตลอดแนวชายหาดเป็นจุดอันตราย ห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำอย่างเด็ดขาด ป้องกันการถูกคลื่นซัดเป็นอันตราย เช่นเดียวกับที่บริเวณหาดสมิหลา เขตเทศบาลนครสงขลา ได้มีการปักธงแดงห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำเช่นเดียวกัน
    รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานแจ้งความคืบหน้าสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึก ต่อการผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย ณ ปัจจุบัน ว่ามีการอพยพเจ้าหน้าที่แล้ว 2,635 คน และเหลือปฏิบัติหน้าที่อยู่ 246 คน การอพยพของเจ้าหน้าที่แต่ละบริษัทเป็นไปโดยสวัสดิภาพ โดยพายุอยู่ห่างจากแท่นบงกชประมาณ 500 กิโลเมตร คาดว่าจะผ่านแท่นในเวลา 04.00 น. ของวันที่ 4 ม.ค.62
เรือเฟอร์รีสมุยงดวิ่ง
     ด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ ขณะนี้ยังไม่มีการหยุดผลิตเพิ่มเติม ด้านไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์ทั้งในส่วนของสถานีผลิตไฟฟ้าและระบบส่ง และสำรองจากเชื้อเพลิงอื่นเพิ่มมากขึ้น ทั้งน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ 
    ขณะที่ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ งดให้บริการเดินเรือ      ตามประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ห้ามเรือทุกชนิดออกจากฝั่ง ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.2562 เวลา 24.00 น. ถึงวันที่ 5 ม.ค.2562 เวลา 10.00 น. เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากพายุที่พัดผ่านพื้นที่ภาคใต้ตอนบนและจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังนั้น บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) หรือ RP จึงของดให้บริการเดินเรือในเส้นทางต่างๆ ดังนี้
     วันที่ 3 ม.ค.2562 เส้นทางดอนสัก-เกาะสมุย, เกาะสมุย-ดอนสัก และดอนสัก-เกาะพะงัน ให้บริการเดินเรือเที่ยวสุดท้ายเวลา 18.00 น. เส้นทางเกาะพะงัน-ดอนสัก ให้บริการเดินเรือเที่ยวสุดท้ายเวลา 17.00 น.            เส้นทางเกาะสมุย-พะงัน ให้บริการเดินเรือเที่ยวสุดท้ายเวลา 12.00 น.
    เส้นทางเกาะพะงัน-เกาะสมุย ให้บริการเดินเรือเที่ยวสุดท้ายเวลา 14.00 น. วันที่ 4 ม.ค.2562 งดให้บริการเดินเรือตลอดทั้งวัน วันที่ 5 ม.ค.2562 งดให้บริการเดินเรือตั้งแต่เวลา 05.00-10.00 น.
    ขณะที่ผู้ประกอบการเดินเรือเฟอร์รีข้ามฟากเส้นทางพัทยา-หัวหิน ยังคงจอดเทียบท่าที่สะพานท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ จ.ชลบุรี โดยได้ปิดการให้บริการเป็นการชั่วคราว เนื่องจากอาจเกิดปัญหาความไม่สะดวกสบายและความปลอดภัยกับผู้โดยสารในการเดินเรือข้ามฟาก ซึ่งแม้พื้นที่หัวหินจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็อาจประสบกับปัญหาคลื่นลมมรสุมที่พัดแรงจนทำให้การเดินเรือเป็นไปด้วยความยากลำบากได้
    นายเอกราช คันธโร ผอ.สำนักงานเจ้าท่าพัทยา กล่าวว่า สำหรับกรณีดังกล่าว ปัจจุบันทางเจ้าท่าพัทยาได้ชักธงแดงเพื่อห้ามเรือเล็กออกจากฝั่ง เนื่องจากคาดว่าในทะเลจะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อย่างไรก็ตาม สำหรับเรือเฟอร์รีข้ามฟากนั้น แม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ซึ่งอาจได้รับผลจากคลื่นลมกลางทะเล และอาจสร้างปัญหาต่อการเดินเรือได้ จึงได้หยุดการเดินเรือชั่วคราว อย่างไรก็ตาม กรณีนี้จะมีการประเมินสถานการณ์วันต่อวันว่าจะอนุญาตให้เดินเรือหรือไม่ ซึ่งหากสถานการณ์ไม่รุนแรงอะไร หรือเข้าสู่ภาวะปกติเรือก็จะกลับมาให้บริการเหมือนปกติเช่นเดิม
    ส่วนบางกอกแอร์เวย์สประกาศยกเลิกทุกเที่ยวบินที่เข้าและออกจากเกาะสมุย ในวันที่ 4 ม.ค.
สนามบินนครศรีฯ ปิด
    นายสุขสวัสดิ์ สุขวรรณโณ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชและสายการบินได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นสำคัญ จึงได้ประกาศยกเลิกทุกเที่ยวบินที่เข้า-ออกจากท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ของวันที่ 4 มกราคม จึงขอให้ผู้โดยสารที่จองตั๋วไว้แล้ว ให้โทร.สอบถามกับสายการบินได้โดยตรง
    ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชกล่าวว่า ปกติสนามบินนครศรีธรรมราชมีเครื่องบินเข้า-ออกวันละ 24 เที่ยว ผู้โดยสารวันละ 3,700 คน ทั้งนี้สามารถโทร.สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0-7545- 0545 ชั่วคราวแล้ว เนื่องจากเป็นเขตรอยต่อกับ จ.นครศรีธรรมราช ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก
    ที่ อ.ระโนด จ.สงขลา ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่าง อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรม ซึ่งคาดว่าจะเป็นพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบจากพายุ ล่าสุดตั้งแต่ช่วงเย็นที่ผ่านมา เริ่มมีการอพยพประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงติดชายทะเลในบางหมู่บ้านแล้วเช่นในพื้นที่หมู่ 1 บ้านท่าเข็น ต.คลองแดน อ.ระโนด มีการย้ายผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยไปอยู่ที่ศูนย์อพยพชั่วคราว ทั้งที่ อบต.คลองแดน และโรงเรียนบ้านคลองแดนแล้วเพื่อความปลอดภัย
    นอกจากนี้ ในบางหมู่บ้านของ ต.ท่าบอน และ ต.ปากแตระ อ.ระโนด ก็ได้สั่งการให้หน่วยงานในท้องถิ่นอพยพประชาชนไปอยู่ยังจุดที่กำหนดไว้ชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
    ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์รับมือพายุโซนร้อนปาบึก ศาลากลาง จ.ชุมพร อ.เมืองฯ จ.ชุมพร นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร, นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าฯ ชุมพร, นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าฯ ชุมพร พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ทหารจาก มทบ.44 หัวหน้าสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จ.ชุมพร สำนักงานสาธารณสุขชุมพร ประชาสัมพันธ์ จ.ชุมพร และนายธีรวัฒน์ ธีรรัฐพล ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยา จ.ชุมพร ร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือพายโซนร้อนปาบึก
    นายธีรวัฒน์ได้กล่าวบรรยายสรุปเกี่ยวกับการเคลื่อนตัวของพายุว่า ยังอยู่ในอ่าวไทย ห่างจากฝั่ง จ.ชุมพร ประมาณ 300 กิโลเมตร และจะส่งผลกระทบต่อ จ.นครศรีธรรมราช ส่วน จ.ชุมพร คงจะได้รับผลกระทบในช่วงเย็นวันที่ 4 มกราคม ถ้าไม่เปลี่ยนทิศทาง แต่มั่นในว่าพายุโซนร้อนปาบึกคงส่งผลกระทบต่อ จ.ชุมพร อย่างแน่นอน
    ด้านนายวิบูลย์กล่าวว่า ขอให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านระบบสื่อสารเป็น 3 ระบบ คือ ในไลน์สื่อสาร ระบบวิทยุสื่อสารทั้งของราชการ และนักวิทยุสมัครเล่น โดยต้องสื่อสารได้ระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ ตั้งแต่หมู่บ้านจนถึงระดับจังหวัด และการรับแจ้งเหตุจากประชาชน รวมถึงสื่อสารกับประชาชนได้ ส่วนการสั่งอพยพชาวบ้านไปอยู่ในที่ปลอดภัย ซึ่งจะเริ่มอพยพในวันพรุ่งนี้ หลังจากประเมินสถานการณ์กับผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาชุมพรในช่วงเช้า พร้อมทั้งขอให้ตรวจสอบความพร้อมของเครื่องมืออุปกรณ์ ยานพาหนะ กำลังคน และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบได้ทราบข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง
ชุมพรสั่งเรืองดออกจากฝั่ง
    “คาดว่า จ.ชุมพร คงจะได้รับผลกระทบในช่วงเย็นวันที่ 4 มกราคม ส่วนพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบคือ อ.ละแม อ.หลังสวน อ.ทุ่งตะโก อ.เมืองฯ และ อ.สวี ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้จุดที่พายุจะขึ้นสู่ฝั่ง ขณะนี้มีคำสั่งห้ามเรือทุกชนิด ทั้งเรือประมงขนาดใหญ่และเล็ก รวมทั้งเรือนำเที่ยวต่างๆ ห้ามออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด ขอให้โรงเรียนทุกโรงหยุดสอนในวันที่ 4 มกราคม หรือจนกว่าสถานการณ์จะปกติ เพื่อไม่ให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นห่วงบุตรหลานหากเกิดสถานการณ์รุนแรง ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังเกาะต่างๆ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจแล้ว ไม่พบว่ามีนักท่องเที่ยวติดค้างอยู่บนเกาะ” นายวิบูลย์กล่าว
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายวิบูลย์ได้ลงมาตรวจความพร้อมในเรื่องกำลังเจ้าหน้าที่ ยานพาหนะ เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดชุมพร
       นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้จังหวัดได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมความพร้อมมือผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก โดยสั่งการให้นำเครื่องจักรกล เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำ เข้าประจำจุดเสี่ยงภัย โดยเฉพาะในพื้นที่โซนใต้ของจังหวัด ทั้งอำเภอทับสะแก บางสะพาน และบางสะพานน้อย รวมทั้งจะมีการตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้าที่โรงเรียนบางสะพานวิทยา อำเภอบางสะพาน
       เขากล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกอำเภอเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุ เคลื่อนย้ายประชาชนไปยังที่ปลอดภัยกรณีเกิดเหตุวิกฤติในพื้นที่ และให้ประชาสัมพันธ์ผ่านทางวิทยุชุมชน เสียงตามสาย หอกระจายข่าวให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์เป็นระยะ เพื่อระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากฝนตกหนัก และลมกระโชกแรง โดยเฉพาะหมู่บ้านชายฝั่งทะเลที่อาจได้รับผลกระทบจากคลื่นลมแรง พร้อมขอให้ชาวประมงพื้นบ้านงดการออกเดินเรือในระยะนี้
       นอกจากนี้ ได้มีการนำรถแบ็กโฮเข้าประจำจุดบริเวณริมคลองบางสะพาน เพื่อกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำในช่วงที่เกิดน้ำป่าไหลหลาก เพื่อป้องกันปัญหาการกัดเซาะคอสะพานวังยาว บนเส้นทางถนนเพชรเกษม และทำให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้น
       น.ส.พรอุมา คงศรี นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการรักษาการ ในตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เปิดเผยว่า ทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ได้พิจารณาแล้วว่าเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จึงขอปิดการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันเป็นการชั่วคราว มีเวลากำหนด 2 วัน ระหว่างวันที่ 4-5 ม.ค.นี้ โดยได้ประกาศห้ามบริษัททัวร์นำเที่ยวต่างๆ รวมทั้งเรือท่องเที่ยวลงทะเลอย่างเด็ดขาด จนกว่าสภาพอากาศจะดีขึ้น เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงจะประกาศให้ทราบต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"