ตื่นสั่งบูรณาการ แก้ไขฝุ่นละออง เริ่มทำฝนหลวง


เพิ่มเพื่อน    

    "บิ๊กตู่" สั่งทุกหน่วยบูรณาการแก้ปัญหาฝุ่นละออง แนะ ปชช.ไม่จำเป็นให้อยู่แต่ภายในบ้าน "กรมควบคุมมลพิษ" รายงานค่า PM 2.5 กทม.-ปริมณฑลเกินค่ามาตรฐาน ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 18 พื้นที่ "กรมฝนหลวงฯ" เตรียมปฏิบัติการฝนหลวง 15-18 ม.ค.นี้ "ทัพภาค 1" ส่งรถฉีดน้ำเช้าเย็นทั่วกรุง "สธ." ยันยังไม่พบผู้ป่วยรุนแรง "กรีนพีซ" เผยกรุงเทพฯ ติดอันดับ 9 เมืองหลวงอากาศแย่สุด
    เมื่อวันที่ 14 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพพื้นที่ กทม.และปริมณฑลว่า ได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานครไปดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยให้มีการฉีดน้ำและรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงสวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งให้สำรวจว่าต้นตอมาจากไหน ซึ่งทุกหน่วยงานมีการรณรงค์และเตรียมการไว้แล้ว แต่วันนี้จะต้องมาบูรณาการร่วมกัน เนื่องจากเป็นปัญหาที่เราต้องดูแลสุขภาพของประชาชน
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในเรื่องของฝนหลวงก็ได้มีการเตรียมการ แต่ก็ต้องใช้เวลา บางทีถ้าทำไปแล้วลมไม่เป็นไปในทิศทางที่กำหนดฝนก็ไม่ตก ต้องดูปริมาณความชื้นในอากาศด้วย ซึ่งรัฐบาลและทุกส่วนราชการก็จะทุ่มเทดูแลและแก้ไขปัญหา เบื้องต้นให้ฉีดน้ำในพื้นที่เสี่ยงแล้ว
    "สิ่งที่เป็นต้นตอของปัญหามีหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งโรงงานอุตสากรรม การจราจร การเผาไร่นาต่างๆ ทุกคนมีส่วนช่วยทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง ก็ต้องช่วยกันแก้ปัญหาร่วมกับรัฐบาลด้วย รัฐบาลและทุกส่วนราชการก็จะทุ่มเทดูแลและแก้ไขปัญหา เบื้องต้นให้ฉีดน้ำในพื้นที่เสี่ยงแล้ว จะปล่อยให้รัฐบาลทำงานคนเดียวไม่ได้" นายกฯ กล่าว
    นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ได้รับรายงานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าได้ประสานงานกับ กทม.และ 5 จังหวัดปริมณฑล เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง  ล่าสุด กทม.ได้สั่งการให้ทุกเขตกวาดล้างถนนอย่างเข้มข้นทุกวัน จัดอุปกรณ์ฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อลดฝุ่น  ตรวจวัดควันดำ ควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง รวมทั้งประสานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เพื่อทำฝนเทียมในพื้นที่เสี่ยงในวันที่มีสภาพอากาศเอื้ออำนวย
    นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ข้อควรปฏิบัติของประชาชนคือจะต้องติดตามข่าวสารจากกรมควบคุมมลพิษอย่างใกล้ชิด โดยพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองหนาแน่นก็ขอให้ประชาชนอยู่ภายในบ้าน หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยคุณภาพดีที่สามารถป้องกันฝุ่นได้ในระดับสูง ส่วนหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาที่มีขายทั่วไปนั้นก็สามารถป้องกันได้ดีระดับหนึ่ง
    "ขอให้ประชาชนควรหมั่นสังเกตอาการทางสุขภาพเบื้องต้น เช่นเมื่อมีอาการไอหรือระคายเคืองตา มากผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
ทำฝนหลวงลดฝุ่นละออง
    ขณะที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานสถานการณ์ PM 2.5 พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล วันที่ 14 ม.ค.62 เวลา 12.00 น. พื้นที่ริมถนนตรวจวัดได้ระหว่าง 55-78 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เกินค่ามาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) 18 พื้นที่ ส่วนพื้นที่ทั่วไป ตรวจวัดได้ระหว่าง 46-82 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ  เกินค่ามาตรฐาน 12 พื้นที่
    "โดยรวมปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กรมควบคุมมลพิษขอความร่วมมือประชาชนงดการเผาในที่โล่งทุกประเภท และงดการใช้รถยนต์ควันดำอย่างเด็ดขาด ท่านสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศของหน่วยงานราชการได้ทางแอปพลิเคชัน Air4Thai และเว็บไซต์ http://air4thai.pcd.go.th และสถานการณ์คุณภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดของกรุงเทพมหานคร  bangkokairquality.com" รายงานของกรมควบคุมมลพิษระบุ
    นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ในระยะนี้ กทม.และปริมณฑลมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่ง คพ.ได้ประสานหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งให้ความช่วยเหลือในการทำฝนเทียมเพื่อลดฝุ่นมาตลอด ทราบว่ากรมฝนหลวงฯ ก็ติดตามปัญหาเพื่อดำเนินการช่วยเหลืออยู่ ซึ่งมีปัจจัยทั้งด้านความชื้นและทิศทางลม หากในอากาศมีความชื้นไม่เพียงพอก็ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่คาดว่าในวันที่ 15 ม.ค.นี้อาจมีโอกาสจะทำฝนเทียมได้ 
    อธิบดี คพ.กล่าวว่า ได้ประสานกองบัญชาการตำรวจจราจรตรวจจับรถควันดำบนเส้นทางจราจร  ร่วมกับ ขสมก.ให้ตรวจรถโดยสาร ขสมก.ในอู่ต่างๆ พร้อมร่วมประชุมและประสาน กทม.เพื่อดำเนินการตามมาตรการและแนวทางดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 ทั้งสั่งให้ทุกเขตกวาดล้างถนนอย่างเข้มข้นทุกวัน รวมทั้งประสานกระทรวงสาธารณสุขเตรียมแจกหน้ากากอนามัยให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยง
    นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงฯ มีแนวโน้มขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวงเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในพื้นที่ กทม.ระหว่างวันที่ 15-18 ม.ค.นี้ โดยจะตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วที่ จ.ระยอง ด้วยเครื่องบินคาซา 2 ลำ เนื่องจากช่วงดังกล่าวมีแนวโน้มจะทำได้ เพื่อแก้ไขสถานการณ์มลพิษฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
    ด้าน พล.อ.ท.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ในฐานะโฆษกกองทัพอากาศ (ทอ.) กล่าวว่า พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ.ห่วงใยเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM  2.5 ในอากาศ ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จึงได้สั่งในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพอากาศ ให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศจัดเครื่องบิน BT-67  จำนวน 2 เครื่อง จากกองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก เข้ามาเตรียมพร้อม ณ ที่ตั้งกองบิน 6 ดอนเมือง  และเตรียมทำการบินโปรยน้ำลดฝุ่นละอองในอากาศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล
    "เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2ก หรือเครื่องบิน BT-67 สังกัดกองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก เป็นเครื่องบินที่กองทัพอากาศใช้ในการสนับสนุนภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง การบินควบคุมไฟป่า และการบินโปรยน้ำลดหมอกควัน/ฝุ่นละออง ซึ่งในส่วนของการบินโปรยน้ำแต่ละเที่ยวบินจะบรรทุกน้ำได้เที่ยวละประมาณ 3,000 ลิตร ทำการโปรยน้ำเป็นละอองลงมาจากความสูงเหนือพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งละอองน้ำจะเกิดการกระจายตัวครอบคลุมบริเวณกว้าง และจับตัวกับฝุ่นละอองเพื่อบรรเทาความรุนแรงของปัญหา  โดยน้ำที่นำมาใช้เป็นน้ำสะอาดและโปรยลงมาเป็นละอองน้ำ จึงจะไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน" โฆษก ทอ.กล่าว
ระดมฉีดน้ำทั่วกรุงเช้าเย็น
    พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก (ทบ.) กล่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.
สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบกเข้าสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ในการคลี่คลายปัญหาฝุ่นละอองให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด พร้อมสั่งการให้กองทัพภาคที่ 1 กรมการทหารช่าง และหน่วยทหารของกองทัพบกในพื้นที่ กทม.เตรียมรถบรรทุกน้ำและรถดับเพลิงจำนวน 60 คัน พร้อมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง
    พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติพร้อมสนับสนุนการแก้ปัญหาฝุ่นละออง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด การตรวจจับรถที่ก่อให้เกิดมลภาวะมากขึ้น เช่น การปล่อยควันดำ หรือนำรถที่มีอายุเกินกำหนดมาใช้ ตลอดจนให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดระเบียบและควบคุมยานพาหนะที่ใช้บนท้องถนนอันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาหมอกควันพิษ     
    พล.ท.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นประธานปล่อยแถวรถยนต์ฉีดน้ำเพื่อลดระดับความเข้มข้นของฝุ่นละออง บริเวณพื้นที่รอบเขตพระราชฐานและพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น จตุจักร  บางขุนเทียน ปทุมวัน และสวนลุมพินี  โดยจะทำการฉีดน้ำในตอนเย็นเวลา 18.00 น. และตอนเช้าเริ่มเวลา 05.00 น. 
    ทั้งนี้ กองทัพภาคที่ 1 จัดรถบรรทุกน้ำ 26 คันออกล้างพื้นถนน ทางเดินเท้า และฉีดรดน้ำต้นไม้ในพื้นที่ต่างๆ ทั่ว กทม. รวมทั้งแจกหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นละอองให้ประชาชนใน 7 พื้นที่ ได้แก่  1.บริเวณรอบงานอุ่นไอรัก 2.บริเวณสวนลุมพินี 3.บริเวณราชประสงค์ 4.บางขุนเทียน 5.ธนบุรี 6.บางคอแหลม 7.บางกะปิ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.ต่อเนื่องถึงวันพุธที่ 16 ม.ค.62
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สธ.มอบให้กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพ และให้ความรู้ในการป้องกันตนเองจากสภาพอากาศที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด
    "ข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยาที่ได้รับรายงานในโรงพยาบาลเครือข่ายกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 3 ส.ค.61 - 7 ม.ค.62 ไม่พบว่ามีผู้ป่วย 3 กลุ่มโรคที่เฝ้าระวังสูงขึ้นผิดปกติ  หรือพบเป็นกลุ่มก้อนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้แก่ หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และไม่มีรายงานผู้ที่มีอาการรุนแรง" ปลัด สธ.กล่าว
    นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีหน้ากากอนามัย เอ็น 95 ขาดตลาดว่า มีหน้ากากอย่างหนึ่งที่สามารถใช้แทนหน้ากากอนามัยเอ็น 95 ราคาพอๆ กัน คือหน้ากากที่ใช้ป้องกันพิษ แต่เหมาะสำหรับคนที่ต้องรับควันพิษมากกว่า เช่น ตำรวจจราจร คนทั่วไปไม่มีความเสี่ยงไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้ อย่างไรก็ตามการใช้หน้ากากอนามัยเอ็น 95 ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ดี แต่ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก คนที่ควรจะใช้หน้ากากชนิดนี้ควรเป็นคนที่ทำงานกลางแจ้งในพื้นที่เสี่ยง อาทิ กรรมกรก่อสร้าง จักรยานยนต์รับจ้าง และบรรดาพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่ มากกว่า 
    "ปัญหาฝุ่นละอองไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา และไม่ได้เกิดขึ้นทุกพื้นที่ ถ้าอยู่ในบ้านหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากพื้นที่เสี่ยงที่ค่าฝุ่นละอองไม่เกิน" รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว
    วันเดียวกัน ทวิตเตอร์ "@greenpeaceth" หรือกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย)  องค์กรรณรงค์อิสระระดับโลก (Greenpeace Thailand) เปิดเผยสถิติการจัดอันดับเมืองหลวงที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก พร้อมด้วยแฮชแท็ก #ขออากาศดีคืนกลับมา และ #RightToCleanAir  โดยระบุข้อความว่า กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ติดอันดับ 1 ใน 10 อยู่ในลำดับที่ 9 ของเมืองหลวงที่คุณภาพอากาศเลวร้าย โดยอันดับ 1.นิวเดลี ประเทศอินเดีย 2.ธากา ประเทศบังกลาเทศ 3.โกกาตา  ประเทศอินเดีย 4.เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน 5.กาฏมาณฑุ ประเทศเนปาล 6.อูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย 8.หูอัน ประเทศจีน 9.กทม. และ 10.ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"