'ครม.'ทุ่ม4พันล. เติมบัตรคนจน! กดเงินได้อีก6ด.


เพิ่มเพื่อน    

    ครม.บิ๊กตู่เทอีก 4 พันล้าน ขยายเวลาเพิ่มเงินบัตรคนจนรายละ 100-200 บาทต่อไปอีก 6 เดือน  ขณะที่ชาวเหนือเฮลั่นรับ 10 โครงการโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 1.8 หมื่นล้าน
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง  ถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐว่า ที่ประชุม ครม.ได้มีการหารือถึงการพัฒนาบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อให้สามารถใช้จ่ายเป็นเงินสดได้ และนำไปใช้จ่ายอย่างอื่นตามที่ทุกคนต้องการ เป็นเงินจำนวนหนึ่งจากยอดที่ให้ไปทั้งหมด แต่จะต้องเหลือเงินจำนวนหนึ่งไว้ใช้ซื้อของในร้านค้าประชารัฐด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะนำไปใช้ซื้ออย่างอื่นหมด 
    "ผมเข้าใจดีถึงความจำเป็นของประชาชน ได้มีการประเมินการใช้จ่ายงบประมาณครั้งนี้ไป พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้บ้าง และบางส่วนที่ยกระดับไม่ได้ก็จะมีมาตรการอื่นเสริมเข้าไป" 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ได้มีการทบทวนการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 5 ปีที่ผ่านมา มีการประเมินแล้วเกิดผลอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน แผนแม่บท ซึ่งทุกกระทรวงจะต้องทำรายละเอียดมาว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง และแต่ละกิจกรรมทำให้เกิดอะไรขึ้นมาบ้าง นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดความเหมาะสม 
    ขณะที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบขยายเวลาโครงการมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 2 ต่อไป ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.62 หลังจากโครงการสิ้นสุดไปเมื่อเดือน ธ.ค.61 วงเงินเพื่อใช้ดำเนินการจำนวน 4,370 ล้านบาท เป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการ 4,145,397 ราย โดยจะใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายภายใต้กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก และให้กระทรวงการคลังดำเนินการเสนอขอรับจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เมื่อร่างพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมมีผลบังคับใช้
    นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า สำหรับโครงการระยะที่ 2 นี้ จะให้ประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาลงทะเบียนเพื่อเข้าอบรมพัฒนาคุณภาพชีวิต หลังผ่านการอบรมจะรับเงินเพิ่มจากระยะแรกที่หากมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินเพิ่มรายละ 200 บาทต่อเดือน จากโครงการระยะแรกได้รายละ 300 บาท รวมเป็น 500 บาทต่อเดือน 
    ส่วนผู้ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อผ่านการฝึกอบรมจะได้รับเงินเพิ่มรายละ 100 บาทต่อเดือน จากระยะแรกรับรายละ 200 บาท รวมเป็น 300 บาทต่อเดือน ซึ่งเงินที่ได้รับเพิ่มรายละ 200 บาท และ 100 บาท ในระยะที่ 2 นี้ ครม.เคยมีมติผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถเบิกออกมาใช้เป็นเงินสดได้ผ่านตู้เอทีเอ็มและสาขาของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้แล้วก่อนหน้านี้ 
    สำหรับเงินที่ได้รับในโครงการระยะที่ 1 รายละ 300 บาท และ 200 บาท มติ ครม.เดิมกำหนดให้จะต้องใช้จ่ายผ่านร้านค้าประชารัฐเท่านั้นมีระยะเวลาสิ้นสุดโครงการเดือน ก.ย.62
    นายพุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า ครม.ยังได้เห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายเงินในส่วนที่ได้รับในโครงการระยะที่ 1 รายละ 300 บาท และ 200 บาทต่อเดือน  ซึ่งเดิมกำหนดให้จะต้องใช้จ่ายผ่านร้านค้าประชารัฐเท่านั้น ปรับใหม่ให้สามารถเบิกเป็นเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มและสาขาของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ 200 บาท และ 100 บาทต่อเดือน เหลือเงินสำหรับที่จะต้องใช้จ่ายผ่านร้านค้าประชารัฐจำนวน 100 บาท โดยกำหนดให้เบิกเป็นเงินสดช่วงเวลาตั้งแต่เดือนก.พ.-เม.ย.2562 หรือเป็นเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ เหตุผลที่ให้ปรับเปลี่ยนมาเบิกเป็นเงินสดได้รายละ 200 บาท และ 100 บาทต่อเดือนรอบนี้ เนื่องจากเมื่อต้นปีมีผลสำรวจระบุว่า ประชาชนต้องการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าที่ไม่อยู่ในร้านค้าประชารัฐจำนวนมาก
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวด้วยว่า ขณะที่ความคืบหน้าของโครงการพบว่า จากจำนวนผู้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14.5 ล้านคน มีผู้เข้าร่วมโครงการระยะที่ 2 จำนวน 4,145,397 ราย ซึ่งได้รับการพัฒนาแล้วจำนวน 3,267,941 ราย และจากผลการติดตามความคืบหน้าการพัฒนาตนเองของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ข้อมูล ณ สิ้นปี 61 สามารถติดตามได้ จำนวน 2,607,195 ราย หรือคิดเป็น 80% ของผู้ที่พัฒนาแล้ว โดยพบว่าหลังเข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 30,000 บาทต่อปี จำนวน 1,566,353 ราย แบ่งเป็นจำนวนที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 1,451,237 ราย และรายได้เกินกว่า 100,000 บาทต่อปี จำนวน 115,116 ราย ส่วนผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ผ่านการพัฒนาแล้ว แต่ยังมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจำนวน 1,012,727 ราย คงเหลือ 1,040,842 ราย หรือคิดเป็น 50%
    นอกจากนี้ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ยังแถลงว่าที่ประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (ลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ซึ่งเป็นการประชุมก่อนการประชุม ครม.เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คณะรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้แทนภาคเอกชน ได้เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 จำนวน 10 โครงการ มูลค่ารวม 17,660 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 11 ตอนแยกภาคเหนือ-ขุนตาล จาก 4 ช่องจราจร เป็น 8 ช่องจราจร  ระยะทาง 3 กิโลเมตร จากเดิมใช้งบประมาณปี 2564 ปรับมาเป็นงบประมาณปี 2563 วงเงิน 100 ล้านบาท
    นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า 2.การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 116 ตอนป่าสัก-สะปุ๋ง-บ้านเรือน-สันป่าตอง จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 19.15 กม. งบประมาณ 850 ล้านบาท ดำเนินการปี 2564 3.ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 1035 ตอนวังหม้อพัฒนา-แจ้ห่ม ระยะทาง 95.31 กม. วงเงิน 3,300 ล้านบาท ดำเนินการปี 2564-2566 4.โครงการก่อสร้างส่วนขยายสะพานข้ามทางแยกต่างระดับ แยกภาคเหนือ จุดตัดทางหลวงหมายเลข 1 ตอนเกาะคา-สามัคคี กับทางหลวงหมายเลข 11 ตอนแยกภาคเหนือ-ขุนตานวงเงิน 100 ล้านบาท ดำเนินการปี 2563 5.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ทางหลวงหมายเลข 1136 ตอนเหมืองง่า-ลำพูน เพื่อเชื่อมทางเลี่ยงเมืองลำพูน สายเหมืองง่า-ท่าจักร และเชื่อมโยงจังหวัดเชียงใหม่ วงเงิน 300 ล้านบาท
    6.การก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่ริม ระยะทาง  42.95 กม. วงเงิน 6,971 ล้านบาท ดำเนินการปี 2563-2567 7.ก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองสันกำแพง ระยะทาง 16.32 กม. วงเงิน 4,268 ล้านบาท ดำเนินการปี 2563-2567 8.โครงสร้างก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าจังหวัดเชียงใหม่ (Truck Terminal) เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าในภูมิภาค ลดปริมาณรถบรรทุกในเขตเมือง วงเงิน 1,711 ล้านบาท ดำเนินการในปี 2562-2565 9.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเสริมสร้างให้ จ.เชียงใหม่ เป็นเมืองอัจฉริยะ “Smart Nimman” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำ เช่น การนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน การปรับปรุงทางเท้าวงเงิน 60 ล้านบาท และ 10.การแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณโดยรอบท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีการจราจรที่หนาแน่น เพื่อรองรับการปรับปรุง ขยายท่าอากาศยานฯ ในอนาคต ส่วนนี้ไม่ระบุวงเงิน
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า พร้อมกันนี้ให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญในพื้นที่ เช่น กระเทียม สับปะรด ลำไย เป็นต้น โดยบูรณาการแก้ไขปัญหาตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพดิน การจัดหาพันธุ์ที่เหมาะสม การเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบสู่เกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมแปรรูป การพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน การจัดหาตลาดที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศรองรับ ตลอดจนกวดขันการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรโดยผิดกฎหมายที่เข้มงวดยิ่งขึ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"