กกต.หวดพรรคเก่า เร่งเปิดสาขา-ตัวแทน/อึ้ง!มีแค่'ปชป.'ส่งลงส.ส.ได้


เพิ่มเพื่อน    


    “ประยุทธ์” เปิดใจถึงอนาคตการเมืองอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อตัดสินใจ เผยหากลงสนามการเมืองจะเลือกพรรคที่เสียสละ ต่อยอดสิ่งที่ทำมา เตือนทุกพรรคอย่าเอารัฐธรรมนูญมาเล่นแง่ ต้องเคารพประชามติไม่ใช่ล้มเลิกหมด “กกต.” เผยพรรคเก่ามีแค่ ”ประชาธิปัตย์” ที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.ได้เพราะมีทั้งสาขา-ตัวแทนพรรคครบตามกฎหมาย พรรคเพื่อแม้วพร้อมใจประสานเสียงชูนโยบายประชาธิปไตยสู้เผด็จการ!
    เมื่อวันอังคารที่ 22 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงบทบาทและอนาคตทางการเมืองหลังเลือกตั้งว่า เรื่องนี้ได้บอกหลายครั้งแล้วอยู่ในช่วงการตัดสินใจว่าควรอยู่ทำงานต่อหรือไม่ หากอยู่ต่อจะอยู่ได้ด้วยอะไร ฉะนั้นกำลังดูว่าถ้าต้องอยู่จะต้องทำอย่างไร อันแรกพรรคการเมืองต้องมาเชิญก่อน และจะตอบรับใครหรือเปล่าก็ต้องคิดดู ถ้าคิดว่าจะต้องอยู่ต่อเพื่อทำงานต่อก็คงต้องอยู่พรรคใดพรรคหนึ่ง ทั้งนี้ต้องเป็นพรรคที่ทำงานด้วยความตั้งใจ เสียสละอย่างแท้จริง และทำให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้า ไม่ใช่ล้มล้างทุกอย่างที่ทำมาทั้งหมด มันเสียเวลาเปล่า มีหลายอย่างที่สำเร็จมา
    เมื่อถามว่าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในเวลานี้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่ายังไม่ได้รับการติดต่อจากพรรค พปชร. ส่วนกรณีที่ พปชร.ชูนโยบายแปลงที่ดิน ส.ป.ก.เป็นโฉนดนั้นอยู่ในขั้นตอนการหารือ สิ่งที่บอกได้ในตอนนี้คือระมัดระวังหน่อย การจะเอาที่ดิน ส.ป.ก.ออกเป็นโฉนดเหมาะสมหรือไม่ ได้เตือนไปแล้วผ่านทางสื่อและอะไรต่างๆ ขอให้ทุกคนระมัดระวังเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นที่ดินเหล่านี้จากที่ใช้ทำการเกษตรจะไปเป็นอย่างอื่นหมด แต่เรากำลังหาวิธีการ พยายามทำให้ที่ดินบางส่วนเหล่านี้ที่สามารถทำกิจการอื่นได้มากกว่าการเกษตร จะหามาตรการอย่างไรให้สามารถทำได้ 
    นายกฯ ยังชี้แจงถึงหากพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ รัฐบาลจะยังเดินสายประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) อีกหรือไม่ เพราะหลายพรรคกังวลความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองว่า หลัง พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ เดี๋ยวคงออกมาเร็วๆ วันนี้ ฉะนั้นเรื่องการทำงานของรัฐบาลต้องเข้าใจว่ารัฐบาลนี้ต้องทำงาน และเป็นรัฐบาลที่มาด้วยวิธีพิเศษ สิ่งที่รัฐบาลนี้ทำคือ การแก้ปัญหาที่เป็นวาระแห่งชาติ หลายเรื่องทำสำเร็จไปแล้ว แต่อีกหลายเรื่องจำเป็นต้องวางพื้นฐานแก้ไขปัญหาด้านกฎหมายเพื่อขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่มีอยู่ในอดีตที่ผ่านมา เราอย่าไปมองเรื่องได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะรัฐบาลนี้ไม่ได้ทำเพื่อใครทั้งสิ้น ทำตามแนวทางนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดมาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่เช่นนั้นประชาชนจะไม่ได้รับการดูแลในช่วงนี้ 
“ได้แจกจ่ายเอกสารผลงานการดำเนินงานของรัฐบาลปีที่ 4 เล่มหนา ถ้าเอาผลงานมาดู 4 ปีจะเห็นว่ารัฐบาลทำอะไรมาบ้าง อย่าบอกว่ารัฐบาลไม่ทำอะไร ขอให้ไปหาดู เดี๋ยวจะแจกจ่ายกัน และยังมีคิวอาร์โค้ดสามารถเปิดดูผลงานรัฐบาลได้ด้วย” นายกฯ กล่าว
    พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงรัฐธรรมนูญว่า เรามีการปรับแก้มาหลายครั้งเต็มที ดังนั้นวันนี้เมื่อเขาร่างรัฐธรรมนูญมาแบบนี้เราต้องยอมรับ และไม่เคยไปเกี่ยวข้องกับตรงนี้ เป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการ เมื่อร่างมาก็มีการนำเอาบทเรียน ปัญหาอุปสรรคที่เคยเกิดขึ้นมาแก้ไขจนเป็นกติกาใหม่ออกมา ซึ่งหลายคนก็ไม่ยอมรับ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ผ่านการลงประชามติมาแล้ว ก็ต้องเคารพเสียงประชาชนด้วย และปฏิบัติตามกติกาใหม่นี้ให้ได้ จากนั้นก็มาคอยดูว่าจะมีอะไรที่ดีขึ้นบ้างหรือไม่ แก้ปัญหาเดิมๆ ได้หรือเปล่า ความขัดแย้งลดลงหรือไม่
เตือนอย่าเอา รธน.มาต่อสู้กัน
    "สิ่งสำคัญที่สุดเรามักให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญมากที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะเป็นกรอบสำคัญของประเทศ แต่กฎหมายลูกทุกคนไม่ค่อยสนใจ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ฎ. หรือ พ.ร.ก., กฎกระทรวง ไม่เคยสนใจเลย ทุกคนเอาแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญทั้ง 300 กว่ามาตรามาสู้กันอยู่แบบนี้ มันไม่ได้ ทุกคนต้องดูสิ่งที่รัฐบาลได้ทำมา ถ้าไม่ศึกษาก็ไม่สามารถปรับตัวเองได้ ไม่ใช่พูดกันไปเรื่อยเปื่อย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    พล.อ.ประยุทธ์เตือนว่า การหาเสียงต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณที่จะต้องระวังให้มากที่สุด ไม่ใช่โจมตีรัฐบาลนี้ แต่พอถึงรัฐบาลหน้าก็ทำนี่ทำโน่น ยืนยันรัฐบาลนี้ทำตามกฎหมายทุกประการ ขอร้องอย่าไปพูดจาอะไรที่ไม่ถูกกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการเงินการคลัง  เพราะ พ.ร.บ.การใช้จ่ายงบประมาณครอบคลุมไว้ทั้งหมดอยู่แล้ว ที่ออกมาพูดกันไปมาขณะนี้ไม่รู้ว่าทำได้หรือไม่ได้ ก็ขอให้ระมัดระวังในวันข้างหน้าด้วย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการออกระเบียบมาจำนวนมาก วันข้างหน้าหากถูกฟ้องขึ้นมาก็ถือว่าเป็นไปตามกฎหมายใหม่ทั้งสิ้น อย่าลืมว่าสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำหรือแก้ปัญหา ทั้งหมดก็เพื่อความสงบเรียบร้อย 
    “การค้าการลงทุนที่วันนี้มีการลงทุนไป 9 แสนกว่าล้านบาทในพื้นที่อีอีซี ดังนั้นถ้าทุกคนประกาศจะยกเลิกอีอีซี ขอถามว่าแล้วที่ลงทุนไปจะทำอย่างไร ทุกอย่างจะกลับมาสู่ที่เก่าทั้งหมด แล้วใครจะรับผิดชอบ กรุณาเตือนพรรคการเมืองด้วย อย่าลืมว่าการก่อสร้างบ้านของเรานี้อยู่ระหว่างการตอกเสาเข็ม  ต่อเติมพื้นล่างขึ้นมา แล้วพวกท่านยังจะมาทำลายรากฐานของมัน ทำลายกฎหมายทุกตัว แล้วประเทศจะไปได้หรือไม่หากทำเช่นนี้ ขอร้องว่าอย่าเพิ่งทำลายสิ่งเหล่านี้เลย เพียงแค่จะเอาชนะทางการเมืองกันอย่างเดียว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า อยากจะขอร้องตรงนี้จะทำให้เสียประโยชน์กับคนทุกฝ่าย ประชาชนทุกกลุ่มจะเสียหายกันไปทั้งหมด แล้วจะแก้กันอย่างไร หรือจะแก้ด้วยนโยบายที่พูดกันไปมาในวันนี้  แล้วมันจะแก้ได้จริงหรือไม่ เพราะถ้าแก้ได้จริงก็คงแก้กันมานานแล้ว เพราะทุกคนที่ออกมาพูดก็เคยอยู่ในการบริหารราชการแผ่นดินมาแล้วทั้งสิ้น หลายอย่างที่พูดออกมาก็แสดงให้เห็นว่าไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้รัฐบาลได้ทำไปแล้ว ออกมาพูดซ้ำ อยากให้ไปดูว่านโยบายของบางพรรคการเมืองซ้ำกับสิ่งที่รัฐบาลนี้ได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว แม้แต่ออกไปต่างประเทศก็พูดอยู่นั่น รถไฟฟ้าก็ไม่รู้ว่ายุทธศาสตร์เขามีอย่างไร ทำอะไรไปแล้วบ้าง สื่อมวลชนเองถ้ามัวแต่จะเอาแต่ข่าวความขัดแย้งมากๆ ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา
    นายกฯ เผยด้วยว่า จากการติดตามของฝ่ายความมั่นคงรายงานว่า มีคนที่มาร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งประมาณ 200-300 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการติดตามพฤติกรรมทางการข่าว มีการถ่ายรูป ก็หน้าตาทุกคนก็ชุดเดิม กลุ่มเดิมๆ ไม่มีกลุ่มอื่น เพราะฉะนั้นขอเพียงว่าอย่าให้ใครไปให้ความสนใจมากนักเลย เดี๋ยวก็เกิดความขัดแย้งกันอีก คนไม่ชอบเขาก็มี ไม่ใช่พอมีเรื่องมีราวขึ้นมาก็โทษฝ่ายรัฐดำเนินการอีก มันไม่ใช่ รัฐจะต้องรักษาความสงบให้ได้มากที่สุด
ปชป.พรรคเดียวทำตามกฎ
    ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด  ลงวันที่ 21 ม.ค.62 แจ้งหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณา ตามมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 เนื่องจากยังมีพรรคการเมืองทำหนังสือสอบถามเข้ามายัง กกต. โดยยืนยันว่าพรรคการเมืองสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องแจ้งต่อ กกต.ก่อนดำเนินการ ซึ่งก่อนหน้านี้ กกต.เคยตอบข้อสอบถามของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไปแล้ว
    มีรายงานจาก กกต.ถึงกรณีแจ้งเตือนไปยังพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง  2550 รวม 60 พรรคการเมืองให้เร่งปฏิบัติใน 4 เรื่องตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ให้ครบถ้วน ซึ่งมีเพียง 2 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยใหม่ที่ได้ดำเนินการครบถ้วน และอีกเงื่อนไขสำคัญที่พรรคการเมืองทั้งใหม่และเก่า ซึ่งมีทั้งสิ้น 104 พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้ ก็คือต้องจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดอย่างน้อย 1 แห่งในจังหวัดนั้นๆ ก็พบว่าพรรคการเมืองทยอยรายงานการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง และแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดมายัง กกต.แล้ว โดย ณ วันที่ 21 ม.ค.62 มีทั้งสิ้น 39 พรรคการเมือง ซึ่งแต่ละพรรครายงานเข้ามามีเพียง ปชป.พรรคเดียวที่มีทั้ง 2 ประเภทครบใน 77 จังหวัด โดยมีสาขาพรรคการเมือง 8 สาขา ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 69 แห่ง ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ นั้นยังมีไม่ครบถ้วน 
    โดยพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ยังมีไม่ครบถ้วน มีอาทิ พรรคเพื่อไทย มีสาขาพรรค 4 สาขา ตัวแทนพรรคการเมือง 26 แห่ง, พรรคภูมิใจไทย มีสาขาพรรค 3 สาขา ตัวแทนพรรคการเมือง 58 แห่ง, พรรคพลังประชารัฐ มีสาขาพรรค 1 สาขา ตัวแทนพรรคการเมือง 30 แห่ง, พรรคเพื่อชาติ มีสาขาพรรค 4  สาขา ตัวแทนพรรคการเมือง 21 แห่ง, พรรคประชาชนปฏิรูป มีสาขาพรรค 4 สาขา ตัวแทนพรรคการเมือง 14 แห่ง, พรรคเสรีรวมไทย มีสาขาพรรค 4 สาขา ตัวแทนพรรคการเมือง 21 แห่ง, พรรคประชาธิปไตยใหม่ มีสาขาพรรค 6 สาขา ตัวแทนพรรคการเมือง 1 แห่ง และพรรคไทยรักษาชาติ ยังมีเพียงสาขาพรรค 3 สาขา
    “ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ระบุให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครของพรรคการเมืองต้องรับฟังความเห็นจากหัวหน้าสาขาพรรค ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิก เพื่อประกอบการพิจารณาส่งผู้สมัคร โดยตามกฎหมายพรรคการเมืองจะตั้งสาขาพรรคได้ต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัด ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป ส่วนถ้าใช้วิธีตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ก็ต้องมีสมาชิกพรรคซึ่งมีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งอยู่ในจังหวัดนั้นตั้งแต่ 101 คนขึ้นไป แต่ด้วยเวลาที่จำกัดในการหาสมาชิกและการตรวจสอบกับระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคของ กกต.เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสมาชิกซ้ำซ้อนจนทำให้ขาดคุณสมบัติ จึงทำให้ทุกพรรคการเมืองขณะนี้เกิดปัญหายังไม่สามารถจัดตั้งสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้ครบถ้วนตามกฎหมายกำหนดเพื่อให้มีสิทธิ์ส่งสมัครรับเลือกตั้งทั้งที่ใกล้จะประกาศ พ.ร.ฎ.อีกไม่นานนี้”   
    สำหรับความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ นั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดตัวนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พท.ว่าไม่ทราบ และไม่รู้ว่า พท.จะมีข้อยุติเรื่องผู้สมัครอย่างไร ส่วนกรณีนายชัชชาติประกาศว่าจะกวาดที่นั่งในสภา 375 ที่นั่งนั้นก็ไม่ทราบและไม่กังวล เพราะหากเอาที่ทุกพรรคประกาศที่นั่งออกมารวมกัน ตอนนี้คงต้องสร้างรัฐสภากันใหม่อีกรอบหนึ่ง
    ต่อมานายอภิสิทธิ์พร้อมคณะไปเปิดตัวนางฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตคลองสามวา และเปิดศูนย์อำนวยการพรรค โดยยืนยันว่า ปชป.พร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และไม่ต้องถามแล้วว่าพรรคจะไปร่วมกับใคร แต่ให้ถามว่าใครจะมาร่วมกับ ปชป. 
จี้ กกต.สอบเก็บบัตร ปชช.
    นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ปชป.ที่ออกมาแฉเรื่องการเก็บบัตรประชาชนว่า ไม่ได้มีเฉพาะนายนิพิฏฐ์พูดเท่านั้น แต่หลายพรรคออกมายืนยันเหมือนกัน จึงอยากให้ กกต.ได้เข้าไปดู เพราะถ้าเราสามารถปราบปรามไม่ให้มีเหตุการณ์แบบนี้ในการเลือกตั้งก็จะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจมากขึ้น 
    ส่วนที่พัทลุงนายนิพิฏฐ์ พร้อมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พัทลุงอีก 3 พรรคทั้งพลังธรรมใหม่, ไทยรักษาชาติ  และชาติไทยพัฒนา ได้นัดประชุมร่วมกันในกรณีการเก็บบัตรประชาชน โดยยืนยันว่าจะรวบรวมหลักฐานไปยื่นหนังสือร้องเรียน กกต.กลางและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยไม่มอบหลักฐานให้ กกต.พัทลุง  เพราะไม่ไว้ใจในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งเรียกร้องให้นายกฯ ใช้มาตรา 44 เข้ามาจัดการและปฏิรูปเรื่องนี้ด้วย
    ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรค พท.นั้น นายชัชชาติพร้อมคณะได้ลงพื้นที่ จ.มหาสารคาม และได้ขึ้นเวทีปราศรัยที่ศูนย์ประสานงานพรรค เขต 3 อ.พยัคฆภูมิพิสัย โดยระบุว่าที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยพิสูจน์มาแล้วว่า ถ้าเอาคนที่มีประสบการณ์และทำเป็นจะแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้เป็นการแข่งระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการ พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต้องได้อย่างน้อย 375 เสียง เพื่อให้มากกว่า ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ฝ่ายประชาธิปไตยจะแพ้ไม่ได้ ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่พรรคเพื่อไทย แต่หมายถึงอนาคตของประเทศ อนาคตของความเป็นประชาธิปไตย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ยืนยันว่านโยบายแบ่งปันกำไรข้าวทำได้ เพราะนโยบายจำนำข้าวและประกันราคาข้าวนั้นอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ ส่วนที่นายกฯ ติงว่าทำไม่ได้นั้น ได้สอบถามทีมยุทธศาสตร์และนักวิชาการของพรรคแล้วว่าทำได้แน่นอน ก็ขนาดอ้อยยังทำได้ มีพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลมาคุมการแบ่งกำไร บังคับใช้มาตั้ง 30 กว่าปี ทำไมข้าวถึงทำไม่ได้ มั่นใจว่าไม่ได้ขายฝันใคร
    ที่ จ.นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) เป็นประธานเปิดสำนักงานศูนย์ประสานงานพรรคชาติพัฒนา และปราศรัยนโยบายพรรค No problem รวมทั้งชูผลงานของพรรคตั้งแต่สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ สมัยเป็นนายกฯ ซึ่งถือเป็นยุคทองด้านเศรษฐกิจ และเป็นผู้วางพื้นฐานในการพัฒนานครราชสีมา 
ด้านความเคลื่อนไหวของ พปชร. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งภาคอีสาน ยังคงเดินสายลงพื้นที่ในภาคอีสาน โดยกล่าวถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.ว่า ขณะนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กำลังศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของพรรค โดย พปชร.ยังยึดหลักเรื่องกรรมสิทธิ์ยังเป็น ส.ป.ก.เหมือนเดิม ดังนั้นข้อห่วงใยที่หลายฝ่ายมองว่าที่ดินจะตกเป็นของนายทุนนั้นเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน
    นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรค พปชร.กล่าวว่า หลังพรรคได้ส่งแกนนำลงพื้นที่จังหวัดภาคกลาง เหนือ และอีสานต่อเนื่อง ได้รับการตอบรับอย่างมาก โดยสิ่งที่ประชาชนชื่นชอบก็คือ นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่พรรคจะต่อยอดให้ดีขึ้นอีก รวมถึงสวัสดิการด้านอื่นๆ และประชาชนอยากให้พรรคเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะได้ทำนโยบายดังกล่าวให้ต่อเนื่อง นอกจากนั้นชาวบ้านอยากให้บ้านเมืองสงบ 
พปชร.โต้เดือด
    นายธนกรยังตอบโต้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หัวหน้าทีมปราศรัยพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาระบุว่า พปชร.จะได้ ส.ส.ไม่ถึง 150 เสียง หากเกินจะให้ไปด่าหน้าบ้าน 3 ชั่วโมงว่า ร.ต.อ.เฉลิมเพิ่งไปปราศรัยได้  3-4 จังหวัดจะทราบได้อย่างไร เอาเวลาไปเคลียร์ใจกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยดีกว่า และหาก ร.ต.อ.เฉลิมชอบเป็นนักพยากรณ์มาก ช่วยทำนายหน่อยว่านายวัน อยู่บำรุง จะได้เป็น ส.ส.หรือไม่ และคงไม่มีไปยืนด่าได้ 3 ชั่วโมง คงมีแต่ ร.ต.อ.เฉลิมเท่านั้นที่ทำได้ และตนเองก็ไม่กล้าด่าเพราะยังอยากไปหาเพื่อนแถวทองหล่ออยู่ 
    นายธนกรยังตอบโต้คุณหญิงสุดารัตน์ ที่ออกมาตอบโต้นายสมศักดิ์ว่าเลือกเพื่อไทยไม่มีความขัดแย้ง สงบแบบมีคุณภาพ ไม่ใช่สงบแบบกระเป๋าแฟบ ว่าประชาชนทราบดีว่าบ้านเมืองขัดแย้งเพราะพรรคใคร คุณหญิงสุดารัตน์อย่าความจำสั้น ใครพยายามออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยนำมาซึ่งความขัดแย้ง จน พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาแก้ปัญหา และกระเป๋าชาวบ้านไม่แฟบ เพราะนายกฯ ให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ค่าตอบแทน อสม. เบี้ยสูงอายุ นอกจากนั้นประเทศสงบมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเมืองไทย  37 ล้านคน เงินเข้าประเทศ 2.7 ล้านล้านบาท แต่คนที่กระเป๋าตุงจริงๆ หนีไปอยู่ต่างประเทศหมดแล้ว
    ขณะที่นายสุทิน คลังแสง สมาชิกพรรคเพื่อไทย ตอบโต้นายสุริยะที่พาดพิงนายอดิศร เพียงเกษ  สมาชิกพรรค ว่านายสุริยะหลงประเด็น ที่จริงนายอดิศรท้วงติงความฝันหรือคาดหมายต่อจำนวน ส.ส.ของ พปชร.ควรจะได้ว่ามากเกินจริง ซึ่งเป็นความเห็นต่างกันปกติธรรมดา แทนที่นายสุริยะจะตอบโต้ด้วยการแสดงภูมิรู้เรื่องหลักการหรือแสดงตัวบ่งชี้ถึงค่านิยม กลับไปงัดเอาเรื่องส่วนตัวเรื่องบุญคุณซึ่งไม่ใช่สาระที่คนสนใจ 
    “ผมอยู่พรรคนี้มาก่อนนายสุริยะ เข้าใจดีว่าคนจะเป็นรัฐมนตรีเป็นการตัดสินใจของคณะผู้บริหารพรรค ไม่เชื่อว่านายสุริยะคนเดียวมีบารมีขนาดนั้น เพราะนายอดิศรเองเขาก็มีชื่อชั้น ทำประโยชน์ให้พรรคและมีความสามารถพอ ตำแหน่งประมาณนี้คงไม่ต้องไปพึ่งใคร” นายสุทินกล่าว
ชูเลือกฝ่ายประชาธิปไตย
    ส่วน ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) นำคณะลงพื้นที่ จ.นครปฐม  โดยย้ำว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีเพียง 2 ทางเลือกคือ จะเลือกฝ่ายประชาธิปไตยเข้ามาแก้ปัญหาประเทศ  หรือจะเลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยพรรคฝ่ายประชาธิปไตยต้องได้  ส.ส.รวมกันอย่างน้อย 376 ที่นั่ง จะได้ไม่ต้องมีข้อกังวลใดๆ ทั้งสิ้นต่อกระบวนการที่ผู้มีอำนาจเตรียมการไว้ และขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองประกาศจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ  หรือมีจุดยืนประชาธิปไตยเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ 
    นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียง ทษช.กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ กกต.ปฏิบัติหน้าที่ให้โปร่งใส ตรงไปตรงมา โดยเฉพาะการตรวจสอบนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่เดินทางไปพบอดีตนายกฯ ที่ต่างประเทศเข้าข่ายการถูกครอบงำหรือไม่ โดยเทียบเคียงกับพรรค พปชร.ที่ประกาศตลอดมาว่านโยบายและผลงานของรัฐบาลก็คือนโยบายพรรค พปชร. รวมถึงการสนับสนุนผู้มีอำนาจอย่างโจ่งแจ้ง ลักษณะเช่นนี้เป็นยิ่งกว่าการครอบงำ กกต.ต้องเตือนตัวเองให้มาก และตระหนักว่าประชาชนรู้เท่าทันและต้องการความชัดเจนจาก กกต.ด้วย
    นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค ทษช.กล่าวถึงกระแสพรรคจะเสนอชื่อนายวีรพงษ์ รามางกูร  หรือ ดร.โกร่ง อดีตรองนายกฯ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ว่า ยังไม่มีการติดต่อหรือทาบทามนายวีรพงษ์ตามข่าว โดยพรรคกำลังพิจารณาถึงผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขตและบัญชีรายชื่ออยู่ ซึ่งจะชัดเจนประมาณวันที่  23-24 ม.ค.นี้
    ขณะเดียวกันนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ (พ.พ.ช.) พร้อมนายจตุพร  พรหมพันธุ์, นายยงยุทธ ติยะไพรัช กองเชียร์พรรคเพื่อชาติ และคณะได้ลงพื้นที่ภาคอีสานวันที่ 4 ซึ่งนายจตุพรย้ำว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้พรรคการเมืองจำเป็นต้องแตกตัวเป็นพรรคเล็กพรรคน้อยรวมถึง พ.พ.ช. ซึ่งเราจะแข่งขันอย่างเต็มที่ส่งผู้สมัครครบทั้ง 350 เขต เพราะสิ่งสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้อยู่ตอนหาเสียงเลือกตั้ง แต่อยู่ที่ผลการเลือกตั้ง คะแนนของพรรคฝั่งประชาธิปไตยทุกพรรคจะนำมาเทรวมกัน เป็นการเพิ่มคะแนนเสียงให้ฝ่ายประชาธิปไตยมากกว่าตัดคะแนน ซึ่งถ้าเราไม่ปรับตัวให้เท่าทันก็อาจจะแพ้ ดังสุภาษิตที่ว่าหนามยอกเอาหนามบ่ง ฝั่งตรงข้ามทำอย่างไรเราก็ทำเช่นนั้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"